ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 9 วรรณคดีและวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์

1. ประวัติ ความเป็นมาของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.1-4)
          สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่1-2 บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองและมีการพัฒนาด้านต่างๆขึ้นตามลำดับ ในช่วงต้นมีการนำวัฒนธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมาใช้ในการสร้างวรรณคดี ต่อมาเริ่มมีการรับวัฒนธรรมต่างประเทศ จนเกิดวรรณคดีที่เป็นลักษณะของการแปลและดัดแปลงวรรณคดี
          ในสมัยนี้เรียกได้ว่าเป็นสมัยแห่งการบุกเบิกวรรณคดี วรรณคดีเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ วรรณคดีไทยได้เจริญสืบเนื่องจากรัชกาลที่2 มาจนถึงสมัยรัชกาลที่3และ4ตามลำดับ โดยกวีที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่นั้นสืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่2 และมีกวีใหม่ๆอีกหลายท่านที่รังสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า ในสมัยรัชกาลที่3 เป็นต้นมา วรรณคดีเรื่องยาวเริ่มเลือนหายไป วรรณคดีที่ปรากฏเริ่มมีขนาดเนื้อหาสั้นลง โดยในสมัยรัชกาลที่3 นั้นเรียกได้ว่า “ยุคทองของวรรณคดี”
          วรรณคดีที่สำคัญในสมัยนี้มีหลายเรื่อง โดยเรื่องที่ผู้สอนนำมาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และศึกษาเบื้องต้น คือ เสภาขุนช้างขุนแผน ซึ่งเป็นวรรณคดีเอกของไทย วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดแห่งกลอนเสภา และ เรื่องอิเหนา ซึ่งวรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดแห่งบทละครรำ

2. ขุนช้างขุนแผน
          ขุนช้างขุนแผน วรรณคดีชั้นครูของไทย ทั้งในด้านการใช้ภาษา เนื้อหา รวมไปถึงกลวิธี             การประพันธ์ที่กวีได้รังสรรค์ขึ้น ทำให้วรรณคดีเรื่องนี้เป็นวรรณคดีเอกที่มีคุณค่ามาก โดยเสภาขุนช้างขุนแผนนั้น มีการสันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเสวยราชย์ ทรงพระราชนิพนธ์ตอนขุนช้างขอนางพิม และตอนขุนแผนพาวันทองหนี สุนทรภู่แต่งตอนกำเนิดพลายงาม นอกจากนั้นยังมีกวีอื่นๆช่วยกันแต่งอีก แต่ไม่สามารถหาหลักฐานได้แน่ชัด (เปลื้อง ณ นคร, 2515,  น. 366)

          2.1 รูปแบบคำประพันธ์
                    เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นคำประพันธ์ ประเภทกลอนเสภา  43  ตอน ลักษณะคำประพันธ์กลอนเสภาเป็นกลอนสุภาพ สัมผัสของคำประพันธ์ คือ คำสุดท้ายของวรรคต้น ส่งสัมผัสไปยังคำใดคำหนึ่งใน  5 คำแรกของวรรคหลังสัมผัสวรรคอื่นและสัมผัสระหว่างบทเหมือนกลอนสุภาพ โดยการเสนอผลงานของกวี กวีใช้วิธีการบรรยาย พรรณนา สลับกับบทสนทนาของตัวละคร ซึ่งบทสนทนาจะไม่ได้แยกให้เห็นชัดเจน แต่อยู่ในบทร้อยกรอง ดังตัวอย่าง
                             จะกล่าวถึงพลายแก้วแววไว         เมื่อบิดาบรรลัยแม่พาหนี
                   ไปอาศัยอยู่ในกาญจน์บุรี                     กับนางทองประศรีผู้มารดา
                   อยู่มาจนเจ้าเจริญวัย                          อายุนั้นได้ถึงสิบห้า
                   ไม่วายคิดถึงพ่อที่มรณา                       แต่นึกนึกตรึกตรามากว่าปี
                   อยากจะเป็นทหารชาญชัย                             ให้เหมือนพ่อขุนไกรที่เป็นผี
                   จึงอ้อนวอนมารดาได้ปรานี                   ลูกนี้จะใคร่รู้วิชาการ
                   พระสงฆ์องค์ใดวิชาดี                          แม่จงพาลูกนี้ไปฝากท่าน
                   ให้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์                      อธิษฐานบวชลูกเป็นเณรไว้ ฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 37)




                   2.1.1 ภาษา
                              ขุนช้างขุนแผน เป็นวรรณคดีที่ได้รับความนิยม เนื่องจากเนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน อ่านง่าย ภาษาเข้าใจง่าย ด้วยกวีใช้คำในภาษามาตรฐาน 
          คำในภาษามาตรฐาน ในเรื่องนี้ที่ปรากฏจะมีทั้งภาษาสุภาพ และคำราชาศัพท์  ดังนี้
                             2.1.1.1 ภาษาสุภาพ ตัวอย่าง
                             นางแก้วกิริยากับวันทอง                      น้ำตานองอาบน้ำทั้งสองศรี
                    สะอื้นถอนใจใหญ่ให้รอรี                               อำลาสามีแล้วเดินไป
                    ครั้นถึงสองนางย่างเข้าห้อง                             จัดแจงข้าวของหาช้าไม่
                    หมากบุหรี่ผ้าผ่อนท่อนสไบ                             ที่นอนหมอนมุ้งได้ไปตามมี
                                                                              (กรมศิลปากร, 2546, น. 143)              
                             2.1.1.2 คำราชาศัพท์ ตัวอย่าง
                             ครานั้นพระยารามจัตุรงค์                    กราบลงแล้วทูลขมีขมัน
                    ขอเดชะพระองค์ทรงธรรม์                             อันชีวันอยู่ใต้พระบาทา
                    ข้าพเจ้าได้ทราบเนื้อความไว้                           เมื่อครั้งขุนไกรดับสังขาร์
                    มีบุตรชายคนหนึ่งพึ่งคลอดมา                          อายุได้สักห้าปีปลาย
                    ทองประศรีหนีจากเมืองสุพรรณ                       พาลูกน้อยนั้นไปสูญหาย
                    มิได้รู้เห็นว่าเป็นตาย                                    แต่ระคายว่าอยู่กาญจนบุรีฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 142)

                   2.1.2 โวหาร
                             ในเรื่องนี้ กวียังได้ใช้โวหารที่หลากหลาย ทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสจากการอ่านวรรณคดีเป็นอย่างมาก โวหารที่ปรากฏในเรื่อง มีดังนี้
                             2.1.2.1 สมนัย  ตัวอย่าง
                             โอ้แสนสุดสวาทของพี่เอ๋ย           อย่าคิดเลยพี่หาเป็นเช่นนั้นไม่
                   อันตัวเจ้าเท่าเทียมกับดวงใจ                  สิ้นสงสัยแล้วเจ้าอย่าเสียดแทง
                   พี่รักเจ้าเท่ากับเมื่อแรกรัก                    ด้วยประจักษ์เห็นใจไม่กินแหนง
                   สิ่งใดมิได้ระแวงแคลง                         พี่จะแจ้งจริงเจ้าอย่าเศร้าใจ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 113)


                             2.1.2.2 อุปนัย ตัวอย่าง
                             ขุนแผนจึงตอบเจ้าวันทอง           น้องเอ๋ยข้าวตังยังไม่สิ้น
                   ถ้ารักกันเหมือนกระนั้นที่บ้านถิ่น             จะคะนึงถึงกินไปไยมี
                   เจ้ารักพี่เหมือนที่พี่รักน้อง                     ก็จะลืมแสบท้องเหมือนเช่นพี่
                   เสบียงติดมาแต่บ้านกาญจน์บุรี               เมื่อคืนนี้พี่ไปก็ลืมคิด
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 74)

                             2.1.2.3 อติพจน์  ตัวอย่าง
                             เจ็บใจไม่น้อยสักร้อยเท่า            ดังใครเอาดาบฟาดให้ขาดวิ่น
                   สายทองกับอีปลีทั้งอีจีน                      ปีนเรือลงมาด้วยมาช่วยกู
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 230)

          2.2 เนื้อหา
          เรื่องราวในเรื่องขุนช้างขุนแผน แบ่งออกเป็นทั้งหมด 43 ตอน โดยแต่ละตอนกวีใช้เหตุการณ์สำคัญที่ปรากฏในเรื่องมาตั้งเป็นชื่อตอน ดังนี้
          ตอนที่ 1 กำเนิดขุนช้างขุนแผน เนื้อเรื่องกล่าวถึง ครอบครัวของทั้งสามตัวละครหลัก คือ              ขุนช้าง นางพิมพิลาไลย และพลายแก้ว(ขุนแผน) โดยสมัยเด็กนั้นขุนช้างเกิดมาหัวล้าน  ทั้งสามคนเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็ก  ครั้งหนึ่งทั้งสามเล่นเป็นผัวเมียกัน โดยนางพิมและขุนช้างเล่นเป็นผัวเมียกัน แล้วพลายแก้ว(ขุนแผน)ไปแย่งนางพิมมา
          ตอนที่ 2 พ่อขุนช้างขุนแผน ครอบครัวของทั้งสามคน ล้วนประสบเหตุร้ายเช่นเดียวกัน คือ ผู้นำครอบครัว(พ่อ)ตาย พ่อของขุนช้าง คือ ขุนศรีวิไชย ถูกโจรปล้นและฆ่าตาย พ่อของนางพิมคือพันศรโยธาตายด้วยพิษไข้ และขุนไกรพ่อของพลายแก้ว ตามเสด็จพระพันวษา ขุนไกรไปต้อนควายแต่พลั้งมือฆ่าควายตาย จึงทำให้ถูกประหาร นางทองประศรีแม่พลายแก้วจึงต้องพาพลายแก้วหนีไปกาญจนบุรี
          ตอนที่ 3 พลายแก้วบวชเณร เมื่อทั้งสามคนโตขึ้น ขุนช้างแต่งงานกับนางแก่นแก้ว แต่ต่อมานางแก่นแก้วก็เสียชีวิต  ส่วนพลายแก้วนั้นเมื่ออายุ 15 ปี นางทองประศรีแม่ของพลายแก้วได้พาพลายแก้วไปบวชเรียนกับท่านขรัววัดส้มใหญ่ จากนั้นจึงไปเรียนต่อที่วัดป่าเลไลย ด้วยความที่พลายแก้วหรือเณรแก้วเทศน์ได้ไพเราะ วันหนึ่งเมื่อสมภารป่วยจึงให้เณรแก้วเทศน์แทน นางพิมได้ฟังเทศน์ก็เกิดศรัทธาจึงเปลื้องสไบถวาย ขุนช้างเมื่อเห็นนางพิมทำเช่นนั้นจึงเปลื้องผ้าขาวม้าวางทับบนสไบเพื่อถวายด้วย
          ตอนที่ 4 พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม เณรแก้วหลงรักนางพิม ตั้งแต่วันที่เทศน์ จึงวางแผนให้ชีต้นสึกให้ จากนั้นจึงนัดพบนางพิมที่ไร่ฝ้าย นางพิมตกเป็นของพลายแก้ว จากนั้นพลายแก้วจึงกลับวัดและให้ชีต้นบวชให้ต่อ
          ตอนที่ 5 ขุนช้างขอนางพิม ขุนช้างไปทาบทามเพื่อสู่ขอนางพิมกับนางศรีประจันแม่ของนางพิม นางสายทองพี่เลี้ยงนางพิมสงสารนางพิมจึงลอบไปหาเณรแก้วที่วัด โดยเข้าไปในกุฏิของเณรแก้ว ขณะที่พูดคุยกันเณรแก้วได้ลวนลามนางสายทอง สมภารจับได้จึงไล่เณรแก้วออกจากวัด เณรแก้วจึงต้องหนีไปอยู่วัดแค
          ตอนที่ 6 พลายแก้วเข้าห้องนางสายทอง ขุนช้างเข้ามาสู่ขอนางพิมอีกครั้ง นางพิมด่ากระทบขุนช้างจึงถูกนางศรีประจันตี นางพิมเสียใจมากจึงชวนนางสายทองไปหาเณรแก้ว เณรแก้วรับปากจะสึกไปหานางพิมในตอนกลางคืน เมื่อตกดึกเณรแก้วจึงขอให้สมภารสึกให้ เพื่อมาหานางพิม  และในวันนั้นพลายแก้วได้เข้าห้องนางสายทองด้วย  จากนั้นพลายแก้วจึงออกเดินทางไปกาญจนบุรีเพื่อหานางทองประศรีมารดา
          ตอนที่ 7 พลายแก้วแต่งงานกับนางพิม พลายแก้วขี่ผีพรายไปหานางทองประศรีที่กาญจนบุรี เพื่อขอให้ไปสู่ขอนางพิม นางทองประศรีไปสู่ขอนางพิมกับนางศรีประจัน นางศรีประจันยกนางพิมให้ด้วยความยินดี พลายแก้วจึงปลูกเรือนเพื่อเป็นเรือนหอ จากนั้นพลายแก้วได้เชิญขุนช้างมาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว เมื่อถึงวันแต่งงาน พลายแก้วกับนางพิมมีความสุขมาก
          ตอนที่ 8 พลายแก้วถูกเกณฑ์ทัพ ขณะนั้นได้เกิดเหตุการณ์เมืองเชียงทองไปเข้ากับเชียงใหม่ พระพันวษาพระมหากษัตริย์นึกถึงขุนไกรผู้มีฝีมือซึ่งเคยไปรบ ขุนช้างได้ทีจึงรีบบอกว่าพลายแก้วลูกชายขุนไกรมีความสามารถไม่แพ้ผู้เป็นพ่อ พระพันวษาจึงเรียกพลายแก้วไปช่วยรบ
          ตอนที่ 9 พลายแก้วยกทัพ ก่อนที่พลายแก้วจะไปรบ  ได้ปลูกต้นโพธิ์ไว้ โดยอธิษฐานว่าถ้าตนเองตายให้ต้นโพธิ์ตายตาม จากนั้นจึงออกเดินทางไปรบที่เมืองเชียงทอง พลายแก้วสามารถนำทัพตีเมืองเชียงทองได้
          ตอนที่ 10 พลายแก้วได้นางลาวทอง แสนคำแมน ผู้นำหมู่บ้านจอมทอง เห็นพลายแก้วมีความสามารถ จึงยกลูกสาวคือนางลาวทองให้พลายแก้ว
          ตอนที่ 11 นางพิมเปลี่ยนชื่อวันทอง ขุนช้างลวงว่าพลายแก้วตาย ขณะที่พลายแก้วไปรบนั้น นางพิมเป็นไข้ อาการหนักมาก เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “วันทอง” ฝ่ายขุนช้าง ได้ออกอุบายลวงทุกคนว่าพลายแก้วตายโดยนำกระดูกใส่หม้อมาให้ทุกคนดู แต่นางพิมไม่เชื่อ นางพิมจึงไปดูต้นโพธิ์ที่พลายแก้วปลูกไว้ปรากฏว่าต้นโพธิ์ตาย เนื่องจากขุนช้างได้ลอบมาทำลายต้นโพธิ์
          ตอนที่ 12 นางศรีประจันยกนางวันทองให้ขุนช้าง นางศรีประจันกลัวนางวันทองจะกลายเป็นม่ายหลวง จึงยกนางวันทองให้ขุนช้างวัง ขุนช้างจึงเร่งปลูกเรือนหอ เมื่อถึงวันแต่งงาน          นางวันทองไม่ยอมเข้าหอกับขุนช้าง
          ตอนที่ 13 พลายแก้วได้เป็นขุนแผน ขุนช้างได้นางวันทอง เมื่อพลายแก้วเดินทางกลับมา พระพันวษาได้แต่งตั้งให้พลายแก้วเป็นขุนแผน หลังจากนั้นขุนแผนได้ไปหานางวันทอง นางวันทองฟ้องขุนแผนเรื่องขุนช้าง ขุนแผนโกรธมากจะไปจัดการขุนช้าง นางลาวทองที่ตามมาด้วยรีบมาห้าม เมื่อนางวันทองเห็นนางลาวทอง นางวันทองเสียใจมาก พูดจาประชดประชัดขุนแผน และเหน็บแนมนางลาวทอง  นางลาวทองจึงเหน็บแนมกลับไปบ้าง นางวันทองโมโหมากจึงปรี่จะไปตบ แต่กลับถูกขุนแผนขัดขวาง ขุนแผนโมโหนางวันทองที่อาละวาด จึงชักดาบออกมาจะฟันนางวันทอง นางวันทองรีบขึ้นเรือนด้วยความกลัวและความเสียใจ  ในคืนนั้นนางวันทองถูกขุนช้างใช้กำลังปลุกปล้ำจนตกเป็นของขุนช้างในที่สุด
          ตอนที่ 14 ขุนแผนบอกกล่าว วันหนึ่งขุนแผนเกิดคิดถึงนางวันทอง จึงขึ้นเรือนขุนช้าง เมื่อขึ้นมาบนเรือนเห็นนางวันทองนอนอยู่กับขุนช้าง ขุนแผนโกรธมาก ขุนแผนชวนนางวันทองกลับไปอยู่ด้วยกัน แต่นางวันทองน้อยใจขุนแผน จึงไม่ยอมไป
          ตอนที่ 15 ขุนแผนต้องพรากนางลาวทอง พระพันวษาเรียกขุนแผนและขุนช้างเข้าเฝ้าเพื่อมอบหมายภารกิจ  กระทั่งวันหนึ่งนางลาวทองไม่สบายมาก ขุนแผนจึงฝากเวรไว้กับขุนช้าง ครั้นเมื่อพระพันวษาถามหาขุนแผน ขุนช้างจึงใส่ไฟขุนแผนหาว่าหนีกลับบ้านหาเมีย พระพันวษาโกรธมากจึงให้นางลาวทองมาอยู่ในวัง เพื่อแยกกับขุนแผน
          ตอนที่ 16 กำเนิดกุมารทองบุตรนางบัวคลี่ ขุนแผนแค้นขุนช้างมาก จึงคิดจัดการขุนช้าง แต่ตนเองไม่มีของวิเศษใดๆ ขุนแผนจึงต้องหาของวิเศษให้พร้อม คือ ดาบ ม้า และกุมาร จากนั้นขุนแผนจึงวางแผนเข้าไปในซ่องของหมื่นหาญ จนหมื่นหาญไว้ใจขนาดยกลูกสาวคือนางบัวคลี่ให้ จนเมื่อนางบัวคลี่ท้อง ขุนแผนไม่ยอมทำงานใดๆ วันๆเอาแต่นั่งกินนอนกิน จนหมื่นหาญไม่พอใจ ในที่สุดหมื่นหาญวางแผนให้นางบัวคลี่วางยาเพื่อฆ่าขุนแผน  แต่โหงพรายกระซิบบอกขุนแผนเสียก่อน ขุนแผนจึงฆ่านางบัวคลี่ แล้วผ่าท้อง เพื่อนำเด็กมาทำเป็นกุมาร ต่อมาขุนแผนได้ดาบฟ้าฟื้นและม้าสีหมอกมาตามลำดับ
          ตอนที่ 17 ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างได้นางแก้วกิริยา ขุนแผนเดินทางไปแก้แค้นขุนช้าง เมื่อไปถึงเรือนขุนช้าง ขุนแผนได้เข้าห้องนางแก้วกิริยา และได้นางแก้วกิริยาเป็นเมีย ต่อมาจึงได้ไปยังห้องขุนช้าง และพาตัวนางวันทองหนีไปด้วยกัน
          ตอนที่ 18 ขุนแผนพานางวันทองหนี ขุนแผนพานางวันทองหนีเข้าป่า เพื่อไปใช้ชีวิตในป่า
          ตอนที่ 19 ขุนช้างตามนางวันทอง ขุนช้าง ออกตามหาขุนแผนและนางวันทอง แต่ปรากฏว่าเมื่อเจอขุนแผน ขุนช้างสู้ไม่ได้จึงต้องหนี
          ตอนที่ 20 ขุนช้างฟ้องว่าขุนแผนเป็นขบถ ขุนช้างร้องเรียนต่อพระพันวษาว่าขุนแผนเป็นขบถ พระพันวษาโกรธมากจึงสั่งให้ทุกเมืองตามจับขุนแผน
          ตอนที่ 21 ขุนแผนลุแก่โทษ หลายเดือนผ่านไปในป่า นางวันทองท้องแก่มาก ขุนแผนจึงพานางวันทองไปพักกับพระพิจิตร แต่ต่อมาขุนแผนกลัวพระพิจิตรจะต้องคดีไปด้วย จึงไปมอบตัว
          ตอนที่ 22 ขุนแผนชนะความขุนช้าง เมื่อขุนแผนมอบตัว พระจมื่นศรีได้เล่าความจริงที่เกิดขึ้นให้พระพันวษาฟัง เมื่อพระพันวษาไต่สวนทั้งหมด จึงให้ขุนแผน ชนะความขุนช้าง
          ตอนที่ 23 ขุนแผนติดคุก ขณะที่ขุนแผนอยู่กับนางวันทองและนางแก้วกิริยา อยู่มาวันหนึ่งขุนแผนเกิดคิดถึงนางลาวทองที่อยู่ในวัง จึงทูลขอนางลาวทองกับพระพันวษา ทำให้พระพันวษาโกรธมาก จึงสั่งขังขุนแผน นางแก้วกิริยาตามไปดูแลขุนแผนในคุก ในขณะที่นางวันทองท้องแก่ ไม่สะดวกที่จะตามไปดูแล วันหนึ่งขณะที่นางวันทองกำลังจะไปเยี่ยมขุนแผน ขุนช้างได้มาลอบฉุดนางวันทองไปอยู่ด้วย
          ตอนที่ 24 กำเนิดพลายงาม นางวันทองต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับขุนช้าง จนคลอดลูก ชื่อ “พลายงาม” เมื่อพลายงามเติบใหญ่ ขุนช้างคิดฆ่าพลายงามด้วยรู้ว่าไม่ใช่ลูกของตน พลายงามจึงต้องหนีไปอยู่กับย่าคือนางทองประศรี พลายงามได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆจนโตเป็นหนุ่ม  จากนั้นพลายงามได้เข้าถวายตัวต่อพระพันวษา
          ตอนที่ 25 เจ้าล้านช้างถวายนางสร้อยทองแก่พระพันวษา ขณะที่กรุงศรีอยุธยาบ้านเมืองสงบสุขอยู่นั้น เจ้าพิไชยจากเมืองเชียงใหม่ อยากได้ลูกสาวเจ้าล้านช้าง เมื่อเจ้าล้านช้างรู้จึงโกรธมาก เนื่องจากเจ้าพิไชยอายุมากแล้ว และมีเมียหลายคน เจ้าล้านช้างจึงคิดยกนางสร้อยทองให้พระพันวษา
          ตอนที่ 26 เจ้าเชียงใหม่ชิงนางสร้อยทอง ฝ่ายเจ้าพิไชย ได้ส่งสายสืบไปเมืองล้านช้าง จนรู้ความจริง จึงได้วางแผนชิงตัวนางสร้อยทองระหว่างเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา
          ตอนที่ 27 พลายงามอาสา เจ้าพิไชยได้เขียนสารท้าทายอยุธยา พระพันวษาโกรธมาก      พลายงามจึงอาสาไปรบและขอให้ขุนแผนออกไปรบด้วยกัน ขณะนั้นนางแก้วกิริยาซึ่งตามไปดูแลขุนแผนในคุก ได้คลอดลูกชายชื่อ “พลายชุมพล”
          ตอนที่ 28 พลายงามได้นางศรีมาลา ระหว่างการเดินทางไปเชียงใหม่ ขุนแผนพาพลายงามมาพักที่บ้านพระพิจิตร พลายงามได้พบลูกสาวพระพิจิตรคือนางศรีมาลาก็หลงรัก จึงร่ายมนตร์สะเดาะกลอนเข้าหานางศรีมาลา  และได้นางศรีมาลาเป็นเมีย ขุนแผนกลัวผู้ใหญ่จะผิดใจกัน จึงรีบบอกกล่าวสู่ขอนางศรีมาลาให้พลายงามก่อนจะออกเดินทางไปเชียงใหม่
          ตอนที่ 29 ขุนแผนแก้พระท้ายน้ำ เมื่อเดินทางถึงเมืองเชียงใหม่ ขุนแผนและพลายงามได้ปลอมตัวเข้าไปช่วยคนไทย ที่ถูกจับขัง และได้สู้รบกับไพร่พลของเจ้าเมืองเชียงใหม่
          ตอนที่ 30 ขุนแผนพลายงามจับเจ้าเชียงใหม่ ขุนแผนและพลายงามสามารถฝ่าไพร่พลเข้าไปถึงตัวของเจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ร้องขอชีวิตและสัญญาจะถวายเครื่องบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งคืนนางสร้อยทองให้ และให้นางสร้อยฟ้าลูกสาวของตนไปด้วย
          ตอนที่ 31 ขุนแผนพลายงามยกทัพกลับ ขุนแผนและพลายงามจึงยกทัพกลับ ระหว่างทางได้แวะพักที่บ้านพระพิจิตร พลายงามก็ได้ลอบเข้าห้องนางศรีมาลาอีกครั้ง
          ตอนที่ 32 ถวายนางสร้อยทองสร้อยฟ้า ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้ของขุนแผนและพลายงาม พระพันวษาจึงเลื่อนตำแหน่งให้พลายงามเป็น “จมื่นไวยวรนารถ” และมอบนางสร้อยฟ้าให้พลายงามหรือหมื่นไวย
          ตอนที่ 33 แต่งงานพระไวย(พลายงาม) พระไวยหรือพลายงามไม่สามารถปฏิเสธการแต่งงานกับนางสร้อยฟ้าได้ ดังนั้นในงานแต่งงานของพระไวย พระไวยจึงแต่งเมีย2คน คือนางศรีมาลาและนางสร้อยฟ้า
          ตอนที่ 34 ขุนช้างเป็นโทษ ในงานแต่งพระไวย ได้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างพระไวยและขุนช้าง ขุนช้างจึงเข้าเฝ้าพระพันวษา ให้เอาผิดพระไวย แต่เมื่อพระพันวษาไต่สวนเรื่องราวตั้งแต่อดีตระหว่างพระไวยและขุนช้าง จนถึงตอนที่ขุนช้างจะฆ่าพระไวย พระพันวษาจึงตัดสินให้ขุนช้างถูกจำคุก นางวันทองสงสารขุนช้างมากจึงไปขอให้พระไวยยอมความ พระไวยจึงต้องเข้าไปขอพระพันวษาอีกครั้ง จนขุนช้างได้ปล่อยตัวอิสระ
          ตอนที่ 35 ขุนช้างถวายฎีกา อยู่มาวันหนึ่งพระไวยคิดถึงนางวันทองผู้เป็นมารดา จึงไปลักพาตัวแม่มาจากขุนช้าง ขุนช้างจึงถวายฎีกาต่อพระพันวษา พระพันวษาจึงเรียก ขุนช้าง ขุนแผน นางวันทอง และพระไวย มาไต่สวน  ท้ายสุดพระพันวษาให้นางวันทองเลือกว่าจะอยู่กับใคร นางวันทองตัดสินใจไม่ได้ พระพันวษาโมโหมาก จึงสั่งประหารนางวันทอง
          ตอนที่ 36 ฆ่านางวันทอง เมื่อถึงวันประหารนางวันทอง พระไวยเข้าไปขอชีวิตแม่กับพระพันวษา จนพระพันวษายกโทษให้ พระไวยจึงรีบควบม้า และโบกธง ไปยังลานประหาร แต่ปรากฏว่าเพชฌฆาตเข้าใจผิด นึกว่าพระไวยมาเร่ง จึงรีบประหารนางวันทองทันที
          ตอนที่ 37 นางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์ เมื่อเสร็จสิ้นงานศพนางวันทอง นางสร้อยฟ้าเมียอีกคนหนึ่งของพระไวย เกิดความน้อยใจพระไวย เพราะพระไวยรักนางศรีมาลามากกว่า นางสร้อยฟ้าจึงขอให้เถรขวาดทำเสน่ห์ ให้ จนพระไวยหลงเสน่ห์นาง
          ตอนที่ 38 พระไวยถูกเสน่ห์ เมื่อพระไวยหลงเสน่ห์นางสร้อยฟ้า จึงทำให้ทะเลาะกับนางศรีมาลา จนถึงขั้นลงไม้ลงมือ พลายชุมพลเข้าไปห้ามก็ถูกลูกหลงไปด้วย พลายชุมพลคิดว่าพระไวยถูกเสน่ห์เป็นแน่ จึงไปตามขุนแผนให้ลงมาช่วย
          ตอนที่ 39 ขุนแผนส่องกระจก ขุนแผนลงมาหาพระไวย แต่กลับถูกพระไวยพูดจาไม่ดีด้วย ครั้นขุนแผนให้พระไวยส่องกระจกดูตนเอง พระไวยก็ไม่ฟัง ขุนแผนโมโหมากจึงเดินทางกลับไป ฝ่ายพลายชุมพลเมื่อเห็นว่าขุนแผนผู้เป็นบิดาไม่สามารถช่วยพระไวยได้ จึงได้เดินทางไปอยู่กับตายายที่สุโขทัย และได้บวชเรียนที่นั่น
          ตอนที่ 40 พระไวยแตกทัพ วันหนึ่งพระพันวษาได้มอบหมายให้ขุนแผนไปจัดการซ่องโจร ซึ่งซ่องโจรนั้นคือพลายชุมพลที่ปลอมตัวมา เพื่อล่อให้ขุนแผนมาหา พลายชุมพลจับขุนแผนได้ พระพันวษาจึงต้องเรียกให้พระไวยไปช่วย ปรากฏว่าขณะที่ต่อสู้กันพระไวยเห็นขุนแผนและพลายชุมพลร่วมมือกันสู้กับตน พระไวยจึงรีบไปทูลพระพันวษา
          ตอนที่ 41 พลายชุมพลจับเสน่ห์ นางสร้อยฟ้าเริ่มกลัวสิ่งที่ตนทำจะมีคนล่วงรู้ จึงคิดฆ่านางศรีมาลา ขณะนั้นขุนแผนและพลายชุมพลได้เดินทางมาหานางศรีมาลา พลายชุมพลตามจับตัวเถรขวาดได้และสามารถแก้มนต์ได้สำเร็จ เมื่อความจริงปรากฏนางสร้อยฟ้ากลับไม่ยอมรับ และหาว่าพลายชุมพลเป็นชู้กับนางศรีมาลา นางศรีมาลาจึงขอลุยไฟพิสูจน์พร้อมกับนางสร้อยฟ้า
          ตอนที่ 42 นางสร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ ในพิธีลุยไฟ นางศรีมาลาเดินลุยไฟได้โดยไม่ร้อน ขณะที่นางสร้อยฟ้าเดินไม่ได้เพราะร้อนมาก พระพันวษาจึงสั่งประหารนางสร้อยฟ้า แต่นางศรีมาลาขอให้ไว้ชีวิตนางสร้อยฟ้าเนื่องจากนางสร้อยฟ้าท้อง 7 เดือน นางสร้อยฟ้าจึงถูกเนรเทศกลับบ้านเมืองตนเอง ต่อมาไม่นานนักนางสร้อยฟ้าคลอดลูก ชื่อ “พลายยง” ส่วนนางศรีมาลาคลอดลูก ชื่อ “พลายเพชร”
          ตอนที่ 43 จระเข้เถรขวาด ภายหลังจากที่เถนขวาดหนีไป เถนขวาดได้กลับไปอยู่เชียงใหม่ แต่ยังคงเจ็บแค้นหลายชุมพลอยู่ เถนขวาดจึงแปลงร่างเป็นจระเข้ออกอาละวาด จระเข้ตัวนี้ไม่มีใครสามารถปราบได้ พลายชุมพลจึงอาสาไปปราบ ท้ายสุดพลายชุมพลจับเถนขวาดได้ จึงนำตัวเถนขวาดมาถวายพระพันวษา พระพันวษาสั่งประหาร แต่ด้วยความที่เถนขวาดเป็นคนมีคาถาอาคม ดาบปกติไม่สามารถทำอะไรเถนขวาดได้ ขุนแผนจึงมอบดาบฟ้าฟื้นให้พลายชุมพลฆ่าเถนขวาด จากนั้นพระพันวษาเลื่อนตำแหน่งให้พลายชุมพล และสั่งให้ปลูกบ้านให้พลายชุมพลอาศัยอย่างเป็นสุขสืบไป

                    2.2.1 ตัวละคร
                             เรื่องขุนช้างขุนแผน มีตัวละครมากมาย ได้แก่ ตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะที่คล้ายพฤติกรรมของคนจริง(round) เช่น ขุนช้าง ขุนแผน นางวันทอง นางทองประศรี นางศรีประจัน เป็นต้น ตัวละครเหล่านี้มีอารมณ์ต่างๆในหลายมุมที่คล้ายพฤติกรรมของคนจริง ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง เกลียด เคียดแค้น เป็นต้น ขณะเดียวกันกวีก็ได้สร้างตัวละครสมมติขึ้นมา ให้แสดงพฤติกรรมที่คล้ายคน นั่นคืออมนุษย์และสัตว์ เช่น ผี เปรต ม้าสีหมอก เป็นต้น
                             ตัวละครต่างๆที่ปรากฏในเรื่องนี้นั้น กวีได้เลือกประเภทตัวละครไว้หลากหลาย ทั้งตัวละครที่เป็นนามธรรม เทวดา อมนุษย์ เช่น ม้าสีหมอก ผีโหงพราย กุมาร เป็นต้น โดยแนวการสร้างตัวละคร กวีใช้หลายวิธี ส่วนมากจะสร้างให้สมจริง มีบุคลิกและอารมณ์ที่หลากหลาย ส่วนการสร้างแบบเหนือจริง เห็นได้จากการที่กวีสร้างให้ขุนแผนมีความสามารถมาก เก่งกล้า จนไม่มีใครทำอะไรได้ นอกจากนี้กวียังสร้างให้อมนุษย์มีลักษณะแบบบุคลาธิษฐาน คือทำพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ ผนวกกับความเหนือจริง คือสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ดังใจ โดยวิธีการสร้างตัวละครนั้น กวีใช้วิธีการที่หลากหลายทั้งใช้พฤติกรรมของตัวละครเอง  ใช้การบรรยาย  นอกจากนี้กวียังใช้ปฏิกิริยาของตัวละครอื่นสร้างตัวละครนั้น

                   2.2.2 ฉาก สถานที่
                             สถานที่ต่างๆที่กวีเอ่ยถึงในเรื่องนั้น เป็นสถานที่จริง เช่น กรุงศรีอยุธยา สุพรรณบุรี  กาญจนบุรี เมืองเชียงใหม่ เป็นต้น โดยกวีได้นำชื่อสถานที่ที่มีอยู่จริงมาใช้เป็นฉากในการดำเนินเรื่อง  ในส่วนของเวลานั้น ในเรื่องนี้เป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่บอกเวลาเป็นตัวเลข ซึ่งกวีบอกเวลาไว้อย่างชัดเจน คือ ศ.๑๔๗ ปี
                             ในการสร้างฉาก กวีสร้างฉากให้เหมือนจริง โดยนำชื่อสถานที่จริงมาใช้  ในเรื่องนี้กวียังใช้คำบอกเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่ากี่วัน วันที่เท่าไหร่ กวีใช้การบอกเวลาแบบตรงไปตรงมา

                   2.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             กลวิธีที่สำคัญที่ช่วยทำให้เรื่องขุนช้างขุนแผนมีความน่าสนใจ และเกิดความสมจริง คือการลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง  โดยกวีเปิดเรื่องด้วย บทไหว้ครู จากนั้นจึงบรรยายและพรรณนาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ สภาพบ้านเมือง แล้วจึงกล่าวถึงการกำเนิดตัวละครหลัก คือ ขุนช้าง ขุนแผน นางพิม ซึ่งในส่วนนี้กวีได้กล่าวไว้ในเรื่องเลยว่าจะกล่าวถึงการกำเนิดคน
                             การดำเนินเรื่อง กวีใช้วิธีเล่าเรื่องตามลำดับเวลา แต่มีการสลับเหตุการณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยใช้คำ “มาจะกล่าวบทไป,มาจะกล่าวถึง”เพื่อสลับเหตุการณ์ ถ้าในตอนนั้นกวีจะกล่าวถึงใคร จะใช้คำว่า “จะกล่าวถึง”ตามด้วยชื่อ นอกจากนี้กวียังใช้วิธีการเล่าย้อนหลัง แต่ไม่มากเท่าการเล่าสลับเหตุการณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน
                             การปิดเรื่อง กวีปิดเรื่องด้วยความสุข ด้วยการที่พระพันวษาเลื่อนตำแหน่งให้พลายชุมพล และปลูกบ้านเรือนให้

          2.3 แนวคิด
                    แนวคิดที่ปรากฏในขุนช้างขุนแผนนั้น แบ่งออกเป็นแนวคิดหลัก คือ การสงคราม และความรัก ส่วนแนวคิดย่อย ในขุนช้างขุนแผน มีหลายแนว เช่น ชีวิตครอบครัว ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ความรักของแม่-ลูก เป็นต้น
                    จะเห็นได้ว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้กวีมุ่งนำเสนอชีวิตของคน ที่มีความรัก  โลภ โกรธ หลง อย่างไม่สิ้นสุด ทำให้ชีวิตของคนไม่มีความสุข หรือมีความสุขอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
          2.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   2.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             ขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีที่มีเนื้อหาหลากหลาย ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตของคน ที่มีทั้งความรัก โลภ โกรธ หลง อย่างไม่สื้นสุด ทำให้ท้ายสุดของชีวิตไม่มีความสุขหรืออาจมีความสุขเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น วรรณคดีเรื่องนี้จึงให้ข้อคิดกับผู้อ่านในด้านการใช้ชีวิตให้ถูกทำนองคลองธรรม ไม่โลภ ไม่หลง ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขสงบในชีวิต ดังตัวอย่าง
                             ซึ่งเจ้าเปรียบเทียบคิดจิตมนุษย์     หาสิ้นสุดความโลภลงได้ไม่
                   เหมือนของกินหารู้สิ้นไปเมื่อไร               เป็นวิสัยสังเกตแก่ฝูงคน
                   ถึงนั่นหน่อยนี่หน่อยอร่อยรส                 ปรากฏก็แต่ข้าวแลเป็นต้น
                   ดุจความเสน่หาจลาจล                        ร้อนรนก็ที่รักกำเริบใจ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 72)      

                   2.4.2 คุณค่าทางปัญญา
                             วรรณคดีเรื่องนี้ให้ความรู้ในการศึก สงคราม ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ทั้งด้านกลศึก ด้านจิตวิทยา หรือแม้กระทั่งด้านการบริหารคนจากบทบาทของผู้นำในเรื่อง นอกจากนี้ ผู้อ่านยังได้ความรู้ในด้านการใช้ชีวิต เพราะตัวละครในเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดบุคลิกลักษณะ อารมณ์ ที่คล้ายกับคนจริง

                   2.4.3 คุณค่าทางอารมณ์
ในเรื่องนี้ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลายของคน ทั้งอารมณ์เศร้า อารมณ์โกรธ อารมณ์รัก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

          2.4.3.1 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า  เช่น
                   เจ้าพลายงามความแสนสงสารแม่   ชำเลืองแลดูหน้าน้ำตาไหล
          แล้วกราบกรานมารดาด้วยอาลัย   ลูกเติบใหญ่คงจะมาหาแม่คุณ
          แต่ครั้งนี้มีกรรมจะจำจาก           ต้องพลัดพรากแม่ไปเพราะอ้ายขุน
          เที่ยวหาพ่อขอให้ปะเดชะบุญ       ไม่ลืมคุณมารดาจะมาเบือน
          แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก              คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน
          จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน      จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว
          แม่วันทองของลูกจงกลับบ้าน       เขาจะพาลว้าวุ่นแม่ทูนหัว
          จะก้มหน้าลาไปมิได้กลัว            แม่อย่ามัวหมองนักจงหักใจ ฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 159)

                                      ครานั้นจึงโฉมนางวันทอง  อยู่ในห้องโหยหวนละห้อยหา
                             โอ้พ่อพลายแก้วแววตา              มรณาแน่แล้วฤๅอย่างไร
                             วันพ่อม้วยมุดสุดชีวิต                เมียจะฝันสักนิดก็หาไม่
                             ลางร้ายก็ไม่มีให้แจ้งใจ              บ่าวไพร่ไปด้วยไม่เห็นมา
                                                                    (กรมศิลปากร, 2546, น. 196)

                             2.4.3.2 ตัวอย่าง อารมณ์โกรธ เช่น
                                       หมื่นหาญโมโหโกรธา      ชี้หน้าว่าเหวยเฮ้ยอ้ายสถุล
                             มึงอกตัญญูไม่รู้คุณ                   เสียแรงพ่อขนขุนมาเท่าไร
                             กูให้กินข้าวน้ำทุกค่ำเช้า             แต่ลูกสาวในอกยังยกให้
                             มึงยังทรยศขบถใจ                   ครั้งนี้กูไม่ไว้ชีวิตมึง ฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 21)

                             2.4.3.3 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                      จะกล่าวถึงโฉมเจ้าขุนช้าง คะนึงนางพิมน้อยละห้อยหา
                             แต่เช้าค่ำคร่ำครวญทุกเวลา         ตั้งแต่มาจากบ้านศรีประจัน
                             ไม่เป็นกิน นอนแต่ร้อนรัก           อกจะหักใจรัญจวนป่วนปั่น
                             มิได้มีความสบายมาหลายวัน        แทบจะกลั้นใจตายไม่วายคิด
                             อยู่ในห้องร้องไห้พิไรร่ำ              ทุกค่ำเช้าเฝ้านอนแต่ถอนจิต
                             ทำไฉนจะได้แอบแนบชิด            กับเจ้าพิมนิ่มสนิทของพี่เอา
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 100)    

2.4.4 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                    วรรณคดีเรื่องนี้เป็นวรรณคดีชั้นครูที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยในหลายๆด้าน ทั้งด้านประเพณี พิธีกรรม การใช้ชีวิต ความเชื่อต่างๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ปรากฏทั้งในวังและในหมู่ชาวบ้าน โดยในเรื่องนี้มีบทบาทของไสยศาสตร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ในทุกจังหวะชีวิต ตั้งแต่การเกิด การดูดวง  การตั้งชื่อตามเวลาตกฟาก ลางบอกเหตุต่างๆ การดูดวงก่อนออกรบ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ กวียังได้สร้างตัวละครที่มีอิทธิฤทธิ์มีมนตร์ต่างๆมากมาย ซึ่งมนตร์เหล่านี้คือบทบาทของไสยศาสตร์ ที่ปรากฏตลอดเรื่อง

                   2.4.5 คุณค่าทางจินตนาการ
                             กวีร้อยเรียงเรื่องราวจากจินตนาการ โดยถ่ายทอดเรื่องราวให้สมจริงและเหนือจริง เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับผู้อ่าน ความเหนือจริงในเรื่องนี้เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละคร คือจากคนแปลงร่างเป็นสัตว์ จะเห็นได้จากเถรขวาด ที่แปลงร่างเป็นจระเข้ และในตอนที่เถนขวาดกับพลายชุมพลต่อสู้กัน ก็มีการแปลงร่าง เป็นสัตว์หลายๆชนิด เช่น ช้าง เสือ ลิง งูเห่า เป็นต้น

                   2.4.6 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             2.4.6.1 การเล่นคำ
                             ในเรื่องนี้กวีเล่นคำโดยการใช้คำซ้ำ นำคำที่มีเสียงคล้ายกันมาเขียนคู่กัน ซ้ำเสียง สัมผัสเสียง ดังนี้
                                      2.4.6.1.1 ตัวอย่าง การสัมผัสอักษร เช่น
                                      พิลึกล้นท้นท่วมทั่วจังหวัด ลมก็พัดเป็นระลอกกระฉอกฉาน
                             พวกทัพไทยต่างคนตะลนตะลาน   ตะเกียกตะกายว่ายซานขึ้นต้นไม้
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 96)
                            
                                      2.4.6.1.2 ตัวอย่าง สัมผัสสระ เช่น
                                      จะกล่าวถึงเจ้าจอมหม่อมขุนช้าง    ความสมัครรักนางให้ป่วนปั่น
                             แต่เวียนคิดถึงพิมนิ่มนวลจันทร์               ตั้งแต่วันฟังเทศน์ไม่บรรเทา
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 82)

                                      2.4.6.1.3 ตัวอย่าง การซ้ำคำ เช่น
                                      บ้างอยู่ด้วยรากไม้ไพลว่าน บ้างอยู่ด้วยโอมอ่านพระคาถา
                             บ้างอยู่ด้วยเลขยันต์น้ำมันทา       บ้างอยู่ด้วยสุราอาพัดกิน
                             บ้างอยู่ด้วยเขี้ยวงาแก้วตาสัตว์      บ้างอยู่ด้วยกำจัดทองแดงหิน
                             บ้างอยู่ด้วยเนื้อหนังฝังเพชรนิล     ล้วนอยู่สิ้นทุกคนทนศาสตรา
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 89)



                             2.4.6.2 น้ำเสียง
                                       ในเรื่องนี้ กวีใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย เช่น น้ำเสียงเศร้า น้ำเสียงน้อยใจ          น้ำเสียงประชดประชัน น้ำเสียงตักเตือน น้ำเสียงโกรธ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                                      2.4.6.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงเศร้า เช่น
                                                นางพิมพับกับอกเฝ้าสะอื้น ไม่ฝ่าฝืนสร่างสมประดีได้
                                      น้ำตาตกซกซกกระเซ็นไป           ร่ำไรห่วงผัวจะจากพิม
                                       จะเดินไปได้ฤๅถึงเชียงทอง           จะพังพองสองเท้าพ่อนิ่มนิ่ม
                                       จะระบมบอบบางทั้งกลางริม       อกพิมนี้จะพังด้วยผักรัก
                                       ใครจะช่วยบ่งหนามที่เหน็บเนื้อ     เมียนี้อาลัยเหลือเพียงอกหัก
                                       ไปด้วยจะได้ช่วยพ่อบ่งชัก          อนาถนักพ่อไปนอนอยู่กลางไพร
                                                                             (กรมศิลปากร, 2546, น. 149)

                                      2.4.6.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงน้อยใจ เช่น
                                                เจ็บใจไม่น้อยทั้งถ้อยคำ    ทิ่มตำแดกดันรำพันว่า
                                      แค้นคำน้ำตาลงคลอตา              สะบัดหน้าแน่ะเจ้าไม่จำคำ
                                      วันวิวาทกันกับลาวทอง             แผดร้องโรมโรมพิไรร่ำ
                                      กั้งกางขวางไว้มิให้ทำ                ซ้ำไล่จะฟันให้บรรลัย
                                      แค้นใจข้าจึงไปผูกคอตาย           สายทองมาบอกยังด่าให้
                                      ขึ้นช้างพานางลาวทองไป           ดังพระสุธนได้มโนห์รา
                                      ข้านอนกับขุนช้างก็จริงอยู่          แต่ได้สู้รบกันเป็นหนักหนา
                                      เสียตัวชั่วใช่จะตื่นตา                เพราะพรายเขาเข้ามาสะกดไว้
                                      ถ้าผัวเมตตามาปกป้อง              วันทองฤๅใครจะทำได้
                                      เจ้าลอยช้อนเอาปลาที่หน้าไซ       เพราะใจของเจ้าไม่เมตตา
                                                                             (กรมศิลปากร, 2546, น. 48)

                                      2.4.6.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงประชดประชัน เช่น
                                                รู้แล้วว่าชู้เจ้าเศรษฐี        มั่งมีเงินทองจะกองให้
                                      เงินทองจะพร่องไปเมื่อไร            ช่างว่าได้พูดพร่ำจะทำคุณ
                                      ขุนแผนนี้มันแกนทุกสิ่งอัน          ของกำนัลไม่มีใครเกื้อหนุน
                                      ผัวเจ้ามีทรัพย์นับพันดุล             เป็นเจ้าคุณอยู่แล้วแต่ผัวนาง
                                                                             (กรมศิลปากร, 2546, น. 49)

                                      2.4.6.2.4 ตัวอย่าง น้ำเสียงตักเตือน เช่น
                                                ครานั้นฝ่ายว่าพระหมื่นศรี ฟังวาทีพลันตอบขุนแผนว่า
                                      เจ้าก็เป็นคนดีมีปัญญา              ช้าช้าไว้สักปีดีกระมัง
                                      เหมื่อนดับไฟไม่ทันจะสิ้นเปลว      ด่วนเร็วจะกำเริบเมื่อภายหลัง
                                      มิใช่อยู่อื่นไกลอยู่ในวัง               ห้ามประตูกักขังทุกเวลา
                                       ไม่เข้านอกออกในเหมือนใครอื่น    จะตื่นอะไรไปหนักหนา
                                       ชู้ผัวหาไหนใครจะมา                ช้าช้าสักหน่อยก็เป็นไร ฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 139)

                                       2.4.6.2.5 ตัวอย่าง น้ำเสียงโกรธ เช่น
                                                ยิ่งคิดดั่งจิตจะจากร่าง     อ้ายขุนช้างเจ้ากรรมมันทำได้
                                      ถ้ามิทดแทนทำให้หนำใจ            บรรลัยเสียยังดีกว่ามีชนม์
                                      กูจะไปลักวันทองของกูมา           ถ้าติดตามแล้วจะฆ่าเสียไปป่น
                                      เกรงแต่จอมนรินทร์ปิ่นภูวดล       จะให้ยกรี้พลติดตามไป
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 1)       

                                                ครานั้นพระองค์ทรงธรณี  ได้ฟังจมื่นศรีแถลงสาร
                                       ฉุนพิโรธพระพักตร์เผือดเดือดดาล  อ้ายนี่หาญเห็นกูนี้ใจดี
                                      ครั้นขุนเพชรขุนรามตามออกไป     บังอาจใจฆ่าคนเสียป่นปี้
                                      กูก็งดอาญาไม่ฆ่าตี                  ซ้ำยกอีกวันทองให้แก่ตัว
                                      ยังลวนลามตามขออีลาวทอง        จองหองไม่คิดผิดท่วมหัว
                                      พูดเล่นตามใจไม่เกรงกลัว           เพราะตัวอีลาวทองต้องอยู่วัง
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 140)






3. อิเหนา
          อิเหนาฉบับที่ผู้เขียนได้ศึกษานี้เป็นอิเหนาฉบับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อใช้เล่นละครหลวง โดยเป็นฉบับที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ เนื่องจากมีเนื้อความ สำนวนโวหาร ไพเราะ เหมาะสมที่จะเล่นละคร

          3.1 รูปแบบคำประพันธ์
                    อิเหนาจึงจัดอยู่ในวรรณคดีประเภทบทละคร ซึ่งเป็นบทละครรำการเสนอผลงาน
ของกวีนั้น กวีเสนอผลงานในรูปแบบของร้อยกรอง ซึ่งเป็นบทละครรำ ใช้การบรรยายหรือพรรณนา
เรื่องราวประกอบกับบทสนทนาของตัวละครในเรื่อง แต่เป็นบทสนทนาที่ไม่ได้มีเครื่องหมายคำพูด     ดังตัวอย่าง
                             เมื่อนั้น                     ระเด่นจินตะหรามารศรี
                   จึงตรัสเรียกสองราชเทวี             มานั่งถึงที่นะทรามวัย
                   ให้ยกพานสลามาสู่                  โฉมตรูโอภาปราศรัย
                   เจ้าพลัดพรากจากนิเวศน์เวียงชัย   จำไกลบิตุเรศมารดา
                   อย่าคิดรังเกียจเดียดฉันท์            เราจะร่วมรักกันไปวันหน้า
                   เหมือนพี่น้องร่วมท้องอุทรมา        เป็นชีวาเดียวกันจนวันตาย ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 219)

                   3.1.1 ภาษา
                             การใช้ภาษาในเรื่องอิเหนานี้ กวีใช้ภาษามาตรฐาน ซึ่งเป็นคำธรรมดาที่ชาวบ้านก็สามารถเข้าใจได้โดยง่าย ดังตัวอย่าง
                                      บัดนั้น                      หญิงชายชาวเมืองน้อยใหญ่
                             เห็นรูปทรงปันหยีก็ชอบใจ          ให้คิดรักใคร่ผูกพัน
                             บ้างว่าเหมือนอสัญแดหวา          หยาดฟ้ามาแต่สรวงสวรรค์
                             ถ้าได้เหมือนโฉมอุณากรรณ         เป็นคู่ตุนาหงันข้าชอบใจ
                             เสียดายเป็นชายทั้งสองข้าง         จะได้นางที่งามไหนมาให้
                             ลางคนว่าบุญเราพ้นไป              จึงได้มาเห็นเป็นขวัญตา
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 611)


                   3.1.2 โวหาร
          กวีได้ใช้โวหารที่หลากหลาย เพื่อสร้างอรรถรสให้เกิดแก่การอ่านของผู้อ่าน ดังนี้

                             3.1.2.1 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                       อันสี่ธานีราชฐาน                    กว้างใหญ่ไพศาลนักหนา
                             เทเวศร์นฤมิตด้วยฤทธา                       สนุกดั่งเมืองฟ้าสุราลัย
                                                (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 2)

                                       เมื่อนั้น                               องค์ประไหมสุหรีเสนหา
                             อยู่เย็นเป็นสุขทุกเวลา                        ประมาณเดือนหนึ่งมาก็มีครรภ์
                             ยิ่งผุดผาดผิวผ่องละอององค์                  ดั่งอนงค์นางฟ้ากระยาหงัน
                             เมื่อจวนจะถ้วนกำหนดนั้น                             ให้บังเกิดอัศจรรย์จลาจล
                             พสุฑสะเทือนเลื่อนลั่น                        เป็นควันตลบทั้งเวหน
                             มืดมิดปิดแสงพระสุริยน                       ฟ้าลั่นอึงอลนภาลัย
                             แลบพรายเป็นสายอินทรธนู                  สักครูก็เกิดพายุใหญ่
                             ไม้ไหล้ลู่ล้มระทมไป                           แล้วฝนห่าใหญ่ตกลงมา
                             เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงฟ้าฟาดสาย                 แต่มิได้อันตรายจักผ่า
                             เย็นทั่วฝูงราษฎร์ประชา                      ทั้งเจ็ดทิวาราตรีฯ
                                                (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 10)

                                       เมื่อนั้น                               สองนางแน่งน้อยเสน่หา
                             ได้ฟังดั่งจะม้วยชีวา                           กัลยาครวญคร่ำรำพัน
                                              (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 257)

                             3.1.2.2 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                       พระองค์ดั่งดวงทินกร      ทรงเดชขจรทุกแห่งหน
                             พระโอรสยศยิ่งภูวดล                เหมือนเมฆเกลื่อนกล่นเข้าบังไว้
                                                (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 11)


                                       ครั้นอ่านเสร็จสิ้นในอักษร           เร่าร้อนหฤทัยดังไฟผลาญ
                             ให้อาศัยที่จะไกลเยาวมาลย์                  จะเบือนบิดคิดอ่านเห็นสุดที
                                                (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 70)

                                       ดวงเอยดวงยิหวา                    ถามอย่างนางฟ้ากระยาหงัน
                             นวลละอองผ่องพักตร์ผิวพรรณ               ดั่งบุหลันทรงกลดหมดมลทิน
                             งามเนตรดั่งเนตรมฤคมาศ                    งามขนงวงวาดดั่งวงศิลป
                             อรชรอ้อนแอ้นดั่งกินริน                       งามสิ้นทุกสิ่งพริ้งพร้อม
                                                 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 82)

                                       เมื่อนั้น                               ระเด่นมนตรีเฉิดฉัน
                             แจ้งว่าบิตุรงค์ทรงธรรม์                       ใช้ให้ดะหมังนั้นไปนัดการ
                             จัดแจงที่จะแต่งสยุมพร                       พระเร่งร้อนฤทัยดังไฟผลาญ
                             แต่โศกาครวญคร่ำรำคาญ                    จะคิดอ่านผ่อนผันฉันใดดีฯ
                                                (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 91)

                             3.1.2.3 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
                                       เมื่อนั้น                               ระตูขัดแค้นแสนศัลย์
                              กระทืบบาทกราดกริ้วคือเพลิงกัลป์           จึ่งกระชั้นสีหนาทตวาดไป
                                               (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 105)

                             3.1.2.4 ตัวอย่าง อุทาหรณ์ เช่น
                                       เมื่อนั้น                               ย่าหรันจึงกล่าวสนองไข
                             น้องคิดมืดมนเป็นพ้นไป                       อุปไมยเหมือนผงเข้าตา
                                         (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย,  2553, น. 703)

          3.2 เนื้อหา
                    เรื่องอิเหนา เริ่มจากวงศ์เทวา ทั้งสี่ คือท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี่ โดยที่ท้าวกุเรปันและท้าวดาหา ได้หมั้นหมายลูกชายและลูกสาวไว้ด้วยกัน แต่เมื่อลูกชายของท้าวกุเรปันคืออิเหนาเติบใหญ่ขึ้น อิเหนากลับผิดคำสัญญาด้วยการไปอยู่กินกับนางจินตระหราลูกของท้าวหมันหยา ทำให้ท้าวดาหาโกรธมาก ประกาศยกนางบุษบาลูกสาวให้กับใครก็ตามที่มาขอ              จรกาซึ่งมีลักษณะเรียกได้ว่ารูปชั่วตัวดำได้ข่าวจึงไปขอนางบุษบา แม้ว่าท้าวดาหาไม่เต็มใจให้ก็ต้องยกให้เนื่องจากได้ลั่นวาจาไปแล้ว ในขณะนั้นท้าวกะหมังกุหนิงก็ได้มาขอนางบุษบาเช่นกัน แต่ปรากฏว่าท้าวดาหายกให้จรกาไปแล้ว ท้าวกะหมังกุหนิงจึงยกทัพมา ท้าวกุเรปันส่งอิเหนาไปช่วยรบ ในขณะที่กษัตริย์วงศ์เทวาอีก2องค์ ก็ส่งทัพไปช่วยรบเช่นกัน ปรากฏว่าเมื่ออิเหนามาถึงและช่วยรบได้สำเร็จ อิเหนาได้เห็นหน้านางบุษบา อิเหนาหลงรักทันที และคิดหาหนทางจะชิงนางบุษบาจากจรกา ในวันแต่งงานของบุษบาและจรกา อิเหนาจึงวางแผนเผาเมืองดาหาแล้วจึงพานางบุษบาหนีไป แต่ด้วยเคราะห์กรรม เทวดาจึงลักพาตัวนางบุษบาไป และให้นางบุษบาแปลงร่างเป็นชาย
                    อิเหนาออกตามหาบุษบาไปถึงเมืองประมอตัน ซึ่งนางบุษบาหรืออุณากรรณ ได้กลายเป็นลูกบุญธรรมของเจ้าเมือง ทั้งสองจำกันไม่ได้ เนื่องจากอิเหนาก็แปลงเป็นโจรป่าชื่อปันหยี จนในที่สุดประสันตาและสังคามาระตาได้แสดงหนังใหญ่เรื่องราวของอิเหนาและบุษบาให้ดู นางบุษบาจำได้ ทั้งสองจึงได้แต่งงานกันในที่สุด

                   3.2.1 ตัวละคร
                             ในเรื่องอิเหนา ปรากฏตัวละครทั้งที่เป็นคนสมมติและเทวดา คนสมมติได้แก่ อิเหนา บุษบา ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง ท้าวสิงหัดส่าหรี่ เป็นต้น โดยที่กวีได้สร้างตัวละครเหล่านี้ให้มีพฤติกรรมคล้ายคนจริง คือยังคงมีความรัก โลภ โกรธ หลง อยู่ในตนเอง จึงทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความสมจริงของเรื่องราว
                             การสร้างตัวละครต่างๆในเรื่อง กวีใช้กลวิธีการสร้างที่หลากหลายเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการที่กวีใช้บทสนทนาเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอผลงาน ดังนั้นในบทสนทนานั้นก็จะสามารถสื่อถึงลักษณะนิสัยของตัวละครได้เช่นกัน ในบางครั้งกวีก็นำเสนอด้วยคำรำพึงของตัวละคร หรือให้ตัวละคนอื่นพูดถึง

                   3.2.2 ฉาก สถานที่
                             ฉากที่ปรากฏในเรื่องนั้น กวีได้สร้างให้เกิดความสมจริง โดยเป็นฉากที่มาจากจินตนาการและประสบการณ์ของกวีเอง เช่น ฉากวัด วัง บ้าน ชุมชน ป่า เป็นต้น ในส่วนเวลาและสถานที่นั้น กวีได้ระบุอย่างชัดเจน ดังตัวอย่าง
                             สิบวันดั้นเดินในไพรพง              ก็สิ้นดงตกทุ่งกรุงดาหา
                    แลไปเห็นกำแพงพารา                        ทั้งมหาปราสาทเรียงรัน
                    จึงยับยั้งฟังองค์พระทรงยศ                   จะกำหนดให้ตั้งค่ายมั่น
                    กองทัพนับแสนแน่นอนันต์                   พร้อมกันหยุดอยู่ที่ชายไพร
                                           (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 245)
                   3.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             กวีมีการลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ตั้งแต่การเปิดเรื่อง ด้วยการแนะนำวงศ์   เทวา เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่านก่อน เนื่องจากในเรื่องมีตัวละครเป็นจำนวนมาก จากนั้นกวีดำเนินเรื่องด้วยการบรรยายหรือพรรณนาเรื่องราว ในบางตอนมีการเล่าเรื่องสลับเหตุการณ์ไปมาในแต่ละที่

          3.3 แนวคิด
                    ในเรื่องอิเหนานี้ แม้ว่ากวีจะประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นบทละครรำ แต่กวีได้นำเสนอแนวคิดที่แทรกไว้ในเรื่องอย่างแยบคาย โดยแนวคิดหลักคือตัณหา เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวาย ซึ่งการที่อิเหนาปฏิเสธบุษบา แต่เมื่อได้พบกลับรู้สึกหลงรักและอยากได้คืนมา ดังนั้นอิเหนาจึงเป็นตัวละครที่สร้างให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องและนำไปสู่เรื่องราววุ่นวายต่างๆ

          3.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   3.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             เรื่องอิเหนา กวีได้สอดแทรกข้อคิดทางศีลธรรมไว้ในเรื่องได้เป็นอย่างดี โดยกวีนำเสนอเรื่องของ “ตัณหา” ผ่านลักษณะนิสัยของตัวละครหลายตัวละคน ซึ่งจากตัณหานี่เองได้นำไปสู่ความขัดแย้ง และความวุ่นวายต่างๆในเรื่อง ดังนั้นเมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้ จึงทำให้ได้ข้อคิดจากพฤติกรรมของตัวละคร และจะได้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ไม่ปล่อยให้ตัณหา เข้าครอบงำจนเกิดความวุ่นวายในชีวิต

                   3.4.2 คุณค่าทางอารมณ์
                             อารมณ์ที่ปรากฏในเรื่องนั้น มีทั้งอารมณ์เศร้า อารมณ์สุข อารมณ์ประชด หรือแม้กระทั่งอารมณ์รัก ซึ่งมีทั้งความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก และความรักของหนุ่มสาว ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             3.4.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       พระกรก่ายพักตราจาบัลย์ หวั่นถวิลถึงจินตะหรา
                             ป่านฉะนี้โฉมตรูอยู่พารา            จะนิทราหลับแล้วฤๅฉันใด
                             เจ้าจะมีมิตรจิตคิดคำนึง             รำลึกถึงพี่บ้างฤๅหาไม่
                             เห็นทีขนิษฐายาใจ                   จะโหยหาอาลัยถึงพี่ชาย
                             แต่ครุ่นครวญรวนเรคะเนนึก        จนยามดึกเดือนส่องแสงฉาย
                             พระเผยม่านสุวรรณพรรณราย      ลมชายตามช่องมาต้ององค์
                             น้ำค้างพร่างพรมสุมามาลย์          แบ่งบานแย้มกลีบกลิ่นส่ง
                             หอมละม้ายคล้ายกลิ่นโฉมยง       พระเคลิ้มองค์หลงขับขึ้นฉับพลัน ฯ
                                           (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 126)

                             3.4.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                       เมื่อนั้น                     บุษบาเศร้าหมองไม่ผ่องใส
                             ทอดองค์ลงทรงโศกาลัย             ทรามวัยโศกศัลย์รำพันทูล
                             พระจะซัดน้องไว้ผู้เดียวนี้           เหมือนแกล้งตัดไมตรีให้เสื่อมสูญ
                             อยู่หลังตั้งแต่จะอาดูร               เพิ่มพูนทุกข์เทวษถึงภูมี
                             พระจะพรากจากไปอย่าให้ช้า      พอเย็นลงจงมาให้ถึงนี่
                             แม้นมิสมสัญญาพาที                น้องนี้จะแบหลาลาตาย
                             ทูลพลางนางทรงแสนเทวษ         ชลนานองเนตรไม่ขาดสาย
                             เพียงจะสิ้นวิญญาณ์ชีวาวาย        โฉมฉายระทดระทวยองค์ ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 508)

                                       เมื่อนั้น                     ระตูเศร้าสร้อยละห้อยไห้
                             กอดราชธิดาโศกาลัย                ว่าพ่อเองผิดไปนะลูกรัก
                             ทุจริตคิดร้ายต่อเขาก่อน            จึงเดือดร้อนกรรมเวรเห็นประจักษ์
                             หากเจ้าช่วยไว้ด้วยใจภักดิ์           คุณของลูกรักเป็นพ้นไป
                             ถึงว่าย่าหรันสามีเจ้า                คุณของเขาก็มีเป็นข้อใหญ่
                             พ่อสิ้นคิดเคียดรังเกียจใจ            แต่นี้ไปจะสมัครภักดี
                             เจ้าจงไปบอกเขาเล่าแถลง          ให้จะแจ้งคำบิดาว่าแต่กี้
                             อันเมืองมะงาดาธานี                แต่นี้ยอมออกแก่เขานั้น ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 869)

                                       เมื่อนั้น                     ทั้งหกกษัตริย์หมองศรี
                             ต่างกอดลูกรักไว้ทันที               ภูมีร่ำไรไปมา
                             อนิจจาเป็นกรรมวิบาก              ตั้งแต่จากช้านานพึ่งเห็นหน้า
                             รอดตายจึงได้พบลูกยา              ว่าพลางวันทาทูลไป
                             ซึ่งพระองค์โปรดเกศทั้งนี้            พระคุณหาที่สุดไม่
                             ขอเอาพระเดชภูวไนย               ปกไปกว่าจะม้วยชีวี
                             แม้นจะส่งลูกรักของข้า              ไปให้มิสาระปันหยี
                             พระองค์ผู้ดำรงธรณี                 จงมีมิตรภาพกรุณา
                             โปรดช่วยโอวาทฝากฝัง             ถ้าผิดพลั้งจงโปรดเกศา
                             ล้วนไกลบิตุเรศมารดา               ไม่มีที่พึ่งพาผู้ใด ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 891)
         
                             3.4.2.3 ตัวอย่าง อารมณ์โกรธ เช่น
                                       เมื่อนั้น                     ปันหยีแค้นขัดอัชฌาสัย
                             ยิ่งพิโรธโกรธกริ้วคือไฟ              จะเข้าไปในทวารา
                             เห็นบานประตูปิดมิดมั่น             กลอนลั่นลงเขื่อนไว้แน่นหนา
                             จึงสั่งบังคับโยธา                     ให้ประดาปืนยิงทันใด ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 766)

                                       เมื่อนั้น                     โฉมยงหลงหนึ่งหนัดมารศรี
                             ครั้นรู้เรื่องราวข่าวคดี               ว่าปันหยีไปได้แอหนังมา
                             นั่งเฝ้าเล้าโลมกันอยู่                 โฉมตรูขัดแค้นเป็นหนักหนา
                             จึงเรียกระเด่นรัตนา                 เข้ามาแล้วบอกความไป
                             เห็นแล้วฤๅกะกังปันหยี              ช่างไปได้นางชีมาแต่ไหน
                             เฝ้านั่งโลมเล้าเอาใจ                 เหตุผลก็ไม่มาบอกกัน
                             เดิมน้องจะแบหลาพระมาห้าม      ให้ระงับดับความโศกศัลย์
                             จะฟังเหตุมาเล่าเปล่าทั้งนั้น         ไปพัลวันนางชีไม่นำพา
                             น้องจะครองชีวิตไว้ไย               แม้นม้วยบรรลัยเสียดีกว่า
                             ว่าพลางนางทรงโศกา               กัลยาขัดแค้นแสนทวี ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 815)

                   3.4.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             วรรณคดีเรื่องนี้เป็นวรรณคดีต่างชาติ ดังนั้นผู้อ่านจะได้เรียนรู้ทั้งวัฒนธรรม ประเพณีของไทยและของต่างชาติ คือ ชวา ที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ดังนี้
                             3.4.3.1 ตัวอย่าง การแต่งกายของชาวชวา เช่น
                                      ทรงสุคนธ์รวยรินกลิ่นเกลา          สอดใส่สนับเพลางอนระหง
                             ภูษาเขียนสุวรรณกระสันต์ทรง               ฉลององค์ตาดปัดปีกแมงทับ
                             ห้อยหน้าซ่าโบะครุยแครง                    เจียระบาดทองแล่งเลื่อมสลับ
                             ปั้นเหน่งเพชรพรรณรายสายบานพับ         ตาบประดับทับทรวงดวงจินดา
                             ทองกรแก้วกุดั่นบรรจง                       ธำมรงค์เพชรพรายทั้งซ้ายขวา
                             ทรงห้อยสร้อยสนจำปา                       แล้วลีลามาเกยกิริณี ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 695)

                   ในเรื่องนี้ยังปรากฏบทบาทของไสยศาสตร์ ตั้งแต่เริ่มเรื่อง คือเรื่องของการนิมิต หรือความเชื่อเรื่องของความฝัน ว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิด ความเชื่อเรื่องเวทย์มนต์คาถา รวมไปถึงเครื่องรางต่างๆ แม้กระทั่งความเชื่อเรื่องคำทำนายก็มีปรากฏตลอดเรื่อง

                             3.4.3.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องของความฝัน เช่น
                                      เมื่อนั้น                     องค์ประไหมสุหรีเฉิดฉัน
                             ร่วมภิรมย์สมสุขด้วยทรงธรรม์      เมื่อจวนจะมีครรภ์พระลูกรัก
                             ราตรีเข้าที่พระบรรทม              ด้วยบรมนรินทร์ปิ่นปัก
                             บังเกิดนิมิตฝันอัศจรรย์นัก          ว่านงลักษณ์นั่งเล่นที่ชาลา
                             มีพระสุริยงทรงกลด                 ชักรถมาในเวหา
                             แจ่มแจ้งแสงสว่างทั้งโลกา           ตกลงตรงหน้านางรับไว้
                             ครั้นนิทราตื่นฟื้นองค์                ให้หลากจิตพิศวงสงสัย
                             จึ่งทูลพระภัสดาทันใด               โดยในนิมิตเยาวมาลย์ ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2557, น. 52)

                   3.4.4 คุณค่าทางจินตนาการ
                             กวีใช้จินตนาการเป็นวัตถุดิบสำคัญในการร้อยเรียงเรื่องราว ดังจะเห็นได้จากการที่กวีสร้างตัวละครสมมุติ คือ เทวดา และมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละครในเรื่อง โดยที่ตัวละครนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกตัวละครหนึ่ง หรือมีการแปลงร่างนั่นเอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                             3.4.4.1 ตัวอย่าง การแปลงร่าง เช่น
                                       เมื่อนั้น                               ระเด่นดาหยนคนขยัน
                             เข้าใจในทีพระทรงธรรม์                      กับพี่เลี้ยงพากันออกมา
                             เร่งให้ผูกอาชาที่นั่ง                            แล้วสั่งโยธีถ้วนหน้า
                             จงทำเป็นชาวพนาวา                          ดัดลิ้นพูดจาพาที
                             อันพระสุริย์วงศ์ทรงเดช                       แปลงเพศเป็นชาวพนาศรี
                             ทรงนามมิสาหรังปะรังตี                       ปันหยีกศมาหรังฤทธิรณ
                             ระเด่นดาหยนพระวงศา                       ผลัดชื่อกุดาระมาหงน
                             พวกพี่เลี้ยงเสานาสามนต์                      ต่างคนหารือให้ชื่อกัน
                             ตำมะหงงชื่อสุหรันดากา                      ปูนตาชื่อตาระมาหงัน
                             ยะรุเดะพี่เลี้ยงพระทรงธรรม์                  ชื่อมาหงันเอ็งหรูกูดา
                             อันกะระตาหลาพี่เลี้ยงนี้                      ชื่อกุดาส่าหรีกันตะหรา
                             ประสันตาชื่อกุดาระมายา                    เสนาเปลี่ยนชื่อทุกคนไป ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 141)

                                      ว่าแล้วองค์ท้าวเทเวศร์               จึงจำเริญพระเกศสายสมร
                             ประทานกริชอันเรืองฤทธิรอน                จารึกนามกรในกริชนั้น
                             อุณากรรณกระหมันวิยาหยา                  มิสาเหรนดุหวาเฉิดฉัน
                             แล้วทรงเครื่องอย่างชายพรายพรรณ         เทวัญประสิทธิ์ประสาทพร ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 523)

                   3.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             3.4.5.1 การเล่นคำ
                                      การเล่นคำ คือการนำคำมาสร้างให้เกิดความสนุก หรือแสดงความสามารถในการเล่นคำของกวี ดังตัวอย่าง
                                      3.4.5.1.1 ตัวอย่าง การซ้ำคำ เช่น
                             ว่าพลางทางชมคณานก             โผนผกจับไม้อึงมี่
                   เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                       เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
                   นางนวลจับนางนวลนอน                     เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
                   จากพรากจับจากจำนรรจา                   เหมือนจากนางสการะวาตี
                   แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง                        เหมือนร้างห้องมาหยารัศมี
                   นกแก้วจับแล้วพาที                           เหมือนแก้วพี่ทั้งสามทั้งความมา
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 264)



                             3.4.5.2 น้ำเสียง
                                      การใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับเรื่อง เป็นอีกกลวิธีหนึ่งที่กวีใช้ในเรื่องน้ำเสียงที่ปรากฏในเรื่องนี้ มีดังนี้
                                      3.4.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงประชดประชัน เช่น
                                                เมื่อนั้น                      โฉมยงองค์ประไหมสุหรี
                                       เห็นอิเหนาเข้ามาอัญชลี             จึงมีมธุรสพจนา
                                       นี่หาว่าชีวันไม่บรรลัย               จึงได้เห็นพักตร์โอรสา
                                       มิเสียแรงกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา       เสน่ห์ก็ไม่เสียทีฯ
                                                (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 86)

                                                 เมื่อนั้น                     โฉมยงองค์ระเด่นจินตะหรา
                                       ค้อนให้ไม่แลดูสารา                 กัลยาคั่งแค้นแน่นใจ
                                       แล้วว่าอนิจจาความรัก              พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
                                       ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป          ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
                                       สตรีใดในพิภพจบแดน               ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า
                                       ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา             จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์
                                               (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 255)
                  
                                       3.4.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงโมโห เช่น
                                                เมื่อนั้น                     ระตูขัดแค้นแสนศัลย์
                                      กระทืบบาทกราดกริ้วคือเพลิงกัลป์ จึ่งกระชั้นสีหนาทตวาดไป
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 105)

                                       3.4.5.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงเชิงหยอกเอิน เช่น
                                                บัดนั้น                      ประสันตาลิ้นลมคมสัน
                                      ยิ้มพลางทางว่าแก่เพื่อนกัน         คืนนี้อัศจรรย์ประหลาดใจ
                                      แต่พลบค่ำย่ำฆ้องจนตีสิบเอ็ด       ใครยังรู้ว่าเสด็จไปข้างไหน
                                      ดูดู๋ช่างไม่ระวังระไว                 ให้พระไปแต่ลำพังไม่บังควร
                                             (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 156)


                                       3.4.5.2.4 ตัวอย่าง น้ำเสียงคับแค้นใจ เช่น
                                                เมื่อนั้น                     ทั้งสองสุดามารศรี
                                      ได้ฟังอนุชาพาที                     เทวีแค้นขัดแล้วตรัสไป
                                      แม้นไหว้ระเด่นบุษบา               ก็ดีกว่าหาน้อยใจไม่
                                      ควรที่จะเป็นข้าช่วงใช้               ด้วยเนื่องในสุริย์วงศ์เทวา
                                      ..................................                  .......................................
                                      ..................................                  .......................................
                                      ไม่เจ็บช้ำน้ำใจได้เป็นน้อย           ทีนี้คนจะพลอยเย้ยหยัน
                                      อัปยศอดสูแก่พงศ์พันธุ์              จะดูหน้านางนั้นฉันใด
                                      จะเล็กกว่าหรือกระไรก็ไม่แจ้ง      จนอยู่ไม่รู้แห่งที่จะไหว้
                                      สองนางขัดแค้นแน่นฤทัย           ชลนัยนหลหลั่งลงพรั่งพรายฯ
                                              (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 172)

                                       3.4.5.2.5 ตัวอย่าง น้ำเสียงเหน็บแนม เช่น
                                                เมื่อนั้น                     พระองค์ทรงพิภพดาหา
                                      ฟังสุหรานากงนัดดา                 จึงมีบัญชาว่าไป
                                      อันกะหรัดตะปาตีจะมาช่วย        พอจะเห็นจริงด้วยไม่สงสัย
                                      แต่อิเหนาเขาจะมาทำไม            ผิดไปเจ้าอย่าเจรจา
                                      พระเชษฐาให้สารไปกี่ครั้ง           เขายังไม่จากหมันหยา
                                      จนสลัดตัดการวิวาห์                 ศึกติดพาราก็เพราะใคร
                                               (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 249)










สรุป
         วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์มีความหลากหลาย ดังจะเห็นได้จากวรรณคดีทั้งสองเรื่องที่ปรากฏในบทนี้ ขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีประเภทกลอนเสภา ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากใช้ภาษามาตรฐาน เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน อ่านเข้าใจได้ง่าย ประกอบกับมีโวหารที่หลากหลาย ทำให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสจากการอ่าน แนวคิดที่ปรากฏในเรื่องนั้นมีทั้งการสงคราม ชีวิตครอบครัว ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ความรักของแม่ลูก ในขณะที่เรื่องอิเหนา ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นยอดแห่งกลอนบทละครรำ เรื่องนี้ผู้อ่านจะได้รับรู้วัฒนธรรมของต่างชาติ คือ ชวา ผ่านเรื่องราวในเรื่อง ด้วยภาษามาตรฐานและโวหารที่หลากหลาย จึงทำให้เรื่องอิเหนาได้รับความนิยมเช่นกัน นอกจากนี้อิเหนายังได้สอดแทรกข้อคิดทางธรรมะไว้ คือเรื่องของ “ตัณหา” ซึ่งเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายที่เกิดขึ้น

คำถามทบทวน
        








 
เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม1. กรุงเทพฯ:  พิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม2. กรุงเทพฯพิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม3. กรุงเทพฯพิมพ์ไทยพิมพ์.
เปลื้อง ณ นคร. (2515). ประวัติวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่7). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
พุทธเลิศหล้านภาลัย,พระบาทสมเด็จพระ. (2553). อิเหนา (พิมพ์ครั้งที่18). กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต.
_______. (2557). อิเหนา (พิมพ์ครั้งที่ 17). กรุงเทพฯ: แสงดาว.


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง