ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้
                   1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)
                   2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)
                   3. การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)
                   4. การสร้างตัวละคร (characterization)
                   5. การสร้างฉาก (Scene)
                   6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)
                   7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)
          ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป

1.การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)
          วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมาปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น
1.1 จินตนาการ วรรณคดีหลายเรื่อง ผู้ประพันธ์จะเสริมเติมแต่งตามจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ของตน เพื่อให้วรรณคดีเรื่องนั้นๆ มีความน่าสนใจ ซึ่งจินตนาการของผู้ประพันธ์มีส่วนสำคัญที่สร้างอารมณ์ ความรู้สึกร่วม และสร้างความสนุกสนานให้กับผู้อ่านวรรณคดีบางเรื่องที่นำเสนอเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น ผู้อ่านจะไม่ค่อยสนใจนัก

                    1.2 ธรรมชาติ ธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบที่ผู้ประพันธ์สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเรื่องราวได้ทั้งสิ้น โดยวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้น ผู้ประพันธ์อาจนำมาใช้เป็นแนวเรื่องหลักของเรื่องก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพียงฉาก ประกอบเพื่อให้เกิดความสมจริง
              1.3 สังคมและวัฒนธรรม วัตถุดิบข้อนี้จะละไปเสียไม่ได้ เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรมอยู่ทั้งนั้น โดยในบางครั้งอาจเป็นเรื่องของความคิดความเชื่อของคนในสังคม ค่านิยม ความดีงามต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่มาจากวัตถุดิบข้อนี้
                    1.4 อัตชีวประวัติและชีวประวัติ วรรณคดีในรูปแบบอัตชีวประวัติและชีวประวัติ มีปรากฏมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีวรรณคดีประเภทนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัตถุดิบข้อนี้ผู้ประพันธ์อาจใช้การศึกษาเพื่อสร้างตัวละครให้เกิดความสมจริงตามชีวประวัติ        ของตัวละคร หรืออาจจะเขียนในเชิงสารคดีก็มีปรากฏอยู่
                    1.5 ศาสนา ความเชื่อทางศาสนามีปรากฏในวรรณคดีหลายเรื่อง โดยที่บางเรื่องนำเรื่องราวทางศาสนามาเป็นแนวเรื่องหลัก เพื่อเน้นให้คนในสังคมตระหนักถึงการทำดี ละเว้นความชั่ว ซึ่งนอกจากความเชื่อทางศาสนาแล้วนั้น ยังมีประเพณี พิธีกรรมทางศาสนา ที่ผู้ประพันธ์นำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างวรรณคดี
                    1.6 วรรณคดีต่างภาษา วัตถุดิบในข้อนี้ แสดงให้เห็นอิทธิพลของภาษาอื่น หรือ
วัฒนธรรมประเทศอื่น ที่เข้ามาในประเทศไทย โดยวรรณคดีหลายๆเรื่องที่เรียกได้ว่าเป็น  วรรณคดีชั้นเอกของชาตินั้นๆ นักประพันธ์ก็อาจจะนำมาแปล หรือใช้แนวเรื่องของชาตินั้น        แต่นำมาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพสังคมในประเทศของตน
                    1.7 ตำนาน หรือ นิทานชาวบ้าน นักประพันธ์หลายท่านได้นำตำนานต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในวรรณคดี เพื่อทำให้วรรณคดีเรื่องนั้นมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น แม้กระทั่งนิทานชาวบ้าน             ก็เป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่นักประพันธ์จะนำมาร้อยเรียงเรื่องราวให้น่าสนใจยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอผลงานต่อไป
                    1.8 ผลของการศึกษาค้นคว้า วัตถุดิบข้อนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้รับความนิยม แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานประพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวที่ เกี่ยวข้องกับสังคม ในบางครั้งนักประพันธ์ก็มีการศึกษาจากผลการศึกษาค้นคว้าของผู้อื่น เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในการนำไปเรียบเรียงเรื่องราว ให้น่าสนใจ และมีความสมจริง

          นอกจากวัตถุดิบที่กล่าวมาแล้ว นักประพันธ์แต่ละคนอาจมีวัตถุดิบอื่นๆอีกหลากหลายที่นำมาใช้เป็นต้นทุนในการเขียน เพื่อให้สามารถที่จะเขียนเรื่องราวหรือกำหนดแนวเรื่องต่อไปได้

          จากการที่ผู้สอนได้ศึกษาวรรณคดีสมัยต่างๆ พบว่านักประพันธ์ส่วนใหญ่จะใช้มากกว่า   1 วัตถุดิบ สำหรับประพันธ์วรรณคดีในแต่ละเรื่อง เช่น

          เรื่องมัทนะพาธา
                   บทละครพูดซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรากฏวัตถุดิบที่สำคัญในเรื่องมัทนะพาธา เช่น จินตนาการ ธรรมชาติ สังคมวัฒนธรรม เป็นต้น โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้มากที่สุดคือ จินตนาการ ซึ่งกวีได้สร้างฉาก สร้างเรื่องราวบน      สวรรค์ บนโลก เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆให้สนุกสนานและน่าสนใจ
                                                 (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551)

          เรื่องไตรภูมิพระร่วง
                   ไตรภูมิพระร่วง หรือบางเล่มเขียนว่า เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา เป็นวรรณคดีที่สำคัญทางพุทธศาสนา โดยพญาลิไท ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้น วัตถุดิบที่สำคัญในเรื่องไตรภูมิพระร่วง คือ ศาสนาและจินตนาการ  โดยผู้เขียนได้นำหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธมาประกอบเรื่องราว มีการแทรกประวัติสาวกของพระพุทธเจ้า
                   ส่วนจินตนาการนั้น ผู้เขียนได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับคนในทวีปต่างๆ ลักษณะของคนในทวีปต่างๆ เขาพระสุเมรุ เป็นต้น
                                                                                      (พญาลิไทย, 2527)

2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)
          ผู้ประพันธ์วรรณคดี จะต้องกำหนดแนวเรื่องของวรรณคดีนั้น ก่อนที่จะลงมือสร้างสรรค์ การศึกษาแนวเรื่องจะทำให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งนักเขียนแต่ละคนมีวิธีกำหนดแนวเรื่องหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นอาจให้ความสำคัญต่างกัน ในที่นี้จะขอเรียกว่า แนวเรื่องหลัก และแนวเรื่องย่อย เช่น
          2.1 การกำหนดแนวเรื่องที่เน้นอารมณ์ของเรื่องเป็นหลัก 
                   จากการศึกษาของผู้สอนพบว่า วรรณคดีไทยส่วนใหญ่จะใช้แนวเรื่องประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากแนวเรื่องประเภทนี้จะเน้นอารมณ์ที่มากระทบจิตใจของผู้อ่านเป็นหลัก ซึ่งสามารถสร้างสรรค์งานได้หลากหลาย และทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ตามไปกับเรื่อง ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์โศกเศร้า อารมณ์ขัน เป็นต้น ตัวอย่าง วรรณคดีที่ใช้ความสะเทือนอารมณ์เป็นแนวเรื่อง เช่น เรื่องลิลิตพระลอ
                   แนวเรื่องในลิลิตพระลอนั้น แนวเรื่องหลักที่ปรากฏจะเน้นในอารมณ์รัก คือ ความรักของแม่ ซึ่งแนวเรื่องนี้ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นผ่านตัวละครที่แสดงเป็นแม่ คือ  พระนางบุญเหลือที่รักลูกชายคือพระลอมาก และ พระนางดาราวดีที่รักลูกสาว คือพระเพื่อนพระแพงมาก  อีกแนวเรื่องหลักที่ปรากฏคือ ความรักของหนุ่มสาว ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆตามมาในเรื่อง
                                                                                      (กรมศิลปากร, 2506)

          2.2 การกำหนดแนวเรื่องด้วยการที่ผู้เขียนเจาะจงลักษณะของเนื้อหา
                   แนวเรื่องประเภทนี้จะเกี่ยวข้องกับการเมือง ศาสนา สังคมวัฒนธรรม เป็นต้น         โดยวรรณคดีที่ใช้แนวเรื่องประเภทนี้ก็มีเป็นจำนวนมาก เช่น สามกรุง
                   แนวเรื่องที่ปรากฏในเรื่องสามกรุง แนวเรื่องหลักที่ปรากฏ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ชาติไทย และการเมืองการปกครองในประเทศไทย ส่วนแนวเรื่องรองหรือแนวเรื่องย่อย ได้แก่ สภาพสังคม วิถีชีวิตของคนไทย ความเชื่อของคนไทย
                                                       (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505)

          2.3 การกำหนดแนวเรื่องด้วยการใช้แนวเรื่องแบบฉบับ (Type)
                   แนวเรื่องประเภทนี้จะกำหนดรูปแบบแนวเรื่องไว้อย่างชัดเจน เช่น แนวเรื่องวีรบุรุษ เรื่องโรบินฮู๊ด เฮอร์คิวลิส ไกรทอง เป็นต้น

          2.4 การกำหนดแนวเรื่องด้วยการใช้นามธรรมเป็นแนวเรื่อง
                   วรรณคดีไทยใช้นามธรรมเป็นแนวเรื่องหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ความดีความชั่ว  
ความกตัญญู  ความเพียร เป็นต้น ตัวอย่างเรื่อง มหาภารตยุทธ
                    โดยแนวเรื่องหลักในมหาภารตยุทธ คือ อิทธิพลของกิเลสมนุษย์ ธรรมมะชนะอธรรม ผลของความดีและความชั่วจากการกระทำของมนุษย์  ส่วนแนวเรื่องย่อย ในมหาภารตะยุทธ มีหลายแนว เช่น ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ความรักของพ่อแม่(ทุรโยธน์-ท้าวธฤตฺราษฎร นางกุนฺตี-เหล่าปาณฑพ) ความรักหนุ่มสาว (นางเทราปที-เหล่าปาณฑพ) ความรักของพี่น้อง(เหล่าปาณฑพ)            ความอดทน ความกตัญญู เป็นต้น
                                                                     (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาศัย, 2555)

3. การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)
          พล็อต หรือ โครงเรื่อง หรือ การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง ทั้งสามคำนี้ล้วนใช้ในความหมายเดียวกัน ในเอกสารประกอบการสอนเล่มนี้ จะขอใช้คำว่าการลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง เพื่อให้เข้าใจตรงกัน
          การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง จะเริ่มตั้งแต่การที่ผู้เขียนวางว่าจะเปิดเรื่องอย่างไร จะเรียงลำดับเหตุการณ์ต่อไปเช่นไร และจะปิดเรื่องด้วยวิธีการใด ทั้งสามส่วนที่เป็นสิ่งที่ผู้ประพันธ์จะวางลำดับเหตุการณ์ไว้ เพื่อสามารถนำไปสร้างสรรค์งานซึ่งวิธีการเรียงลำดับเหตุการณ์ในเรื่องนั้น มีหลายวิธี เช่น
          3.1 การลำดับเหตุการณ์โดยการเรียงตามปฏิทินหรือตามลำดับเวลา
                   การลำดับเหตุการณ์แบบนี้ คือการเล่าเรื่องราวไปตามลำดับเหตุการณ์ใดเกิดก่อน เหตุการณ์ใดเกิดหลัง โดยการเรียงลำดับเหตุการณ์แบบนี้จะปรากฏมากในวรรณคดีประเภทสารคดี ตำรา จดหมายและบันทึก เช่น เรื่องศิลาจารึกพ่อขุนตามคำแหง ไตรภูมิพระร่วง ไกลบ้าน เป็นต้น
          3.2 การลำดับเหตุการณ์โดยการเล่าเรื่องย้อนหลัง
                   การลำดับเหตุการณ์แบบนี้ จะเปิดเรื่องด้วยบทสรุปของเรื่องก่อน แล้วจึงเล่าไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
          3.3 การลำดับเหตุการณ์โดยการเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนกลางของเรื่อง
                   การลำดับเหตุการณ์แบบนี้จะเปิดเรื่องด้วยตอนกลางของเรื่อง ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญจากนั้นจึงใช้วิธีเล่าย้อนหลัง เพื่อเติมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน แล้วดำเนินเรื่องต่อไปตามเหตุการณ์จนจบ เช่น เรื่องมหาภารตยุทธ นิทานเวตาล เป็นต้น
          3.4 การลำดับเหตุการณ์โดยการเติมเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้านั้น
                   การลำดับเหตุการณ์แบบนี้จะใช้การเติมเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิด แต่จะเกิดแน่ๆในตอนใดตอนหนึ่งข้างหน้าลงไปด้วย ซึ่งในวรรณคดีไทยหลายเรื่องใช้การฝันถึงเหตุการณ์ที่จะเจอในอนาคต หรือการนิมิต  เช่น ขุนช้างขุนแผน มัทนะพาธา เป็นต้น
          3.5 การลำดับเหตุการณ์โดยการสลับเหตุการณ์
                   การลำดับเหตุการณ์แบบนี้ จะใช้ในกรณีที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์อีกสถานที่หนึ่ง ที่เกิดขึ้นในเวลาตรงกัน เช่น เรื่องสามกรุง เรื่องอิเหนา เป็นต้น


สรุป  
          กลวิธีของการประพันธ์ที่ผู้เรียนได้ศึกษาในบทนี้ คือ การศึกษาวัตถุดิบ(material) แนวเรื่อง (theme) และการลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง(plot) โดยผู้เรียนจะเห็นได้ว่าการศึกษาวัตถุดิบซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนย่อยที่นักประพันธ์ใช้เพื่อเรียบเรียงเรื่องราว จะทำให้ผู้เรียนได้เห็นถึงวิธีการใช้วัตถุดิบต่างๆที่หลากหลายของนักประพันธ์ ซึ่งวรรณคดีแต่ละเรื่องนั้นจะไม่ได้ใช้วัตถุดิบเพียงองค์ประกอบเดียวเป็นแน่ ส่วนการศึกษาแนวเรื่องนั้น จะทำให้ผู้ศึกษาสามารถจับประเด็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ว่านักประพันธ์ต้องการสื่อเนื้อหาใดเป็นสำคัญมาถึงผู้อ่าน อีกหนึ่งกลวิธีที่นักประพันธ์จะต้องกำหนดก่อนที่จะลงมือสร้างงานประพันธ์ขึ้นมา คือการลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง
                  
คำถามทบทวน
        



เอกสารอ้างอิง

กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย. (2555). มหาภารตยุทธ (พิมพ์ครั้งที่14). กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์ จำกัด.
กรมศิลปากร (2506). ลิลิตพระลอ. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
พิทยาลงกรณ์,พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (2505). สามกรุง. พระนคร: ไทยสัมพันธ์.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ. (2551). มัทนะพาธา (พิมพ์ครั้งที่ 27). กรุงเทพฯ: สกสค.
ลิไทย,พญา. (2527). ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.

วิภา  กงกะนันทน์. (2556). วรรณคดีศึกษา. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง