ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 6 วรรณคดีสมัยสุโขทัย

1. ประวัติ ความเป็นมาของวรรณคดีสมัยสุโขทัย
          ในสมัยสุโขทัย เป็นยุคแรกเริ่มของอาณาจักรไทยที่มีการบันทึกหลักฐานทางวรรณคดีวรรณกรรมไว้อย่างชัดเจน ในสมัยสุโขทัยนี้ พบวรรณคดีเพียง 2 เรื่อง ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และไตรภูมิพระร่วง (เปลื้อง ณ นคร, 2515,น. 27)
          ก่อนหน้านี้ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ เคยมีการสันนิษฐานว่าเป็นวรรณคดีสมัยสุโขทัย แต่เมื่อมีการศึกษาค้นคว้า นักวิชาการบางกลุ่มยังคงถกเถียงกันว่า อาจเป็นไปได้ว่ามีเค้าเดิมจากสุโขทัย แต่ภาษาและสำนวนที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นของใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นภาษาและสำนวนในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สุภา ฟักข้อง, 2530)
          ทั้งนี้ ผู้สอนได้ศึกษาวรรณคดี 2 เรื่อง คือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และไตรภูมิพระร่วง เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดีด้วยตนเอง โดยผู้สอนคัดเลือกวรรณคดีจากเกณฑ์ซึ่งกล่าวไว้แล้วในคำนำ

2. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
          ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นทั้งวรรณคดีที่แสดงให้เห็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ การค้นพบศิลาจารึกฯนั้น ประวัติมีอยู่ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯผนวชอยู่ ยังไม่ได้ครองราชย์ ไปธุดงค์ทางเหนือ เมื่อ พ.ศ.2376 ได้พบศิลาจารึก และพระแท่นมนังคศิลาบาตรทอดทิ้งอยู่ที่สุโขทัย จึงทรงให้ชะลอมาไว้ที่กรุงเทพฯ และย้ายมาวัดบวรนิเวศ ปัจจุบันนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (เปลื้อง ณ นคร, 2515, น. 28)
          วัตถุดิบที่สำคัญที่ผู้เขียนนำมาเขียนลงในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง คือ อัตชีวประวัติและชีวประวัติของพ่อขุนรามคำแหง รวมไปถึงสังคมและวัฒนธรรม ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ

2.1 รูปแบบคำประพันธ์
                    ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้ เป็นวรรณคดีประเภทสารคดี รูปแบบอัตชีวประวัติและชีวประวัติ โดยผู้เขียนใช้ร้อยแก้วในการเสนอผลงาน ดังตัวอย่าง
                    กลางเมืองสุโขทัยนี้  มีน้ำตระพังโพยสี  ใสกินดี  ...ดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง  รอบเมืองสุโขทัยนี้  ตรีบรู  ได้สามพันสี่ร้อยวา  คนในเมืองสุโขทัยนี้
                                                                   (ราตรี ธันวารชร, 2541, น.104 )



                   2.1.1 ภาษา
          ภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  ผู้เขียน โดยใช้คำสุภาพ ในสมัยนั้น ดังตัวอย่าง
                              พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงโสง...
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 18)

                    2.1.2 โวหาร
                   ในเรื่องนี้ ไม่ค่อยมีโวหารปรากฏ เนื่องจากเป็นการบันทึกประวัติและบรรยายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยโวหารที่พบ คือ อุปนัย
                             2.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                      กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำตระพังโพยสี ใสกินดี ..ดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 21)

          2.2 เนื้อหา
          เรื่องราวในศิลาจารึกแบ่งเป็น 4 ด้าน แต่ละด้านจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสมัยสุโขทัย ดังนี้
                    ด้านที่ 1          กล่าวถึงประวัติพ่อขุนรามคำแหง ประชาชน และการปกครองใน                                    สุโขทัย
                    ด้านที่ 2          กล่าวถึง ภูมิประเภทของสุโขทัย และความศรัทธาในพุทธศาสนา                                    ของประชาชน
                    ด้านที่ 3           กล่าวถึง การทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพ่อขุนรามคำแหง
                    ด้านที่ 4          กล่าวถึง การบูชาพระธาตุ การประดิษฐ์อักษรไทย(ลายสือไทย)
                                       อาณาเขตของสุโขทัย

                    2.2.1 ตัวละคร
          ด้วยศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้นเป็นสารคดี รูปแบบอัตชีวประวัติและ
ชีวประวัติ  ดังนั้นจึงปรากฏคนจริง คือ พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบานเมือง ขุนสามชน ประชาชน อีกทั้งยังมีสัตว์ที่ปรากฏในเรื่องคือ ช้าง ม้า ดังตัวอย่าง
                             พ่อกู  ชื่อศรีอินทราทิตย์  แม่กูชื่อ  นางเสือง  พี่กูชื่อบานเมือง  ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน  ผู้ชายสามผู้ญีงโสง  พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก  เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้
                                                                    (ราตรี ธันวารชร, 2541, น.101 )

                    2.2.2 ฉาก สถานที่
                              สถานที่ต่างๆที่ผู้เขียนเอ่ยถึงนั้น เป็นสถานที่จริง เช่น เมืองฉอด เมืองตาก เมืองสุโขทัย เป็นต้น โดยผู้เขียนใช้คำบอกเวลาชัดเจน เช่น วันเดือนดับ เดือนโอกแปดวัน วันเดือนเต็ม เป็นต้น ดังตัวอย่าง
                                    นอน  รอดคนที  พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ  ราชบุรี  เพชรบุรี  ศรีธรรมราชฝั่งทะเล  สมุทรเป็นที่แล้ว  เบื้องตะวันตก  รอดเมืองฉอด  เมือง...น  หงสาวดี  สมุทรหาเป็นแดน  เบื้องตีนนอน  รอดเมืองแพร่  เมืองม่าน  เมืองน…  เมืองพลัว  พ้นฝั่งของ  เมืองชวา เป็นที่แล้ว  ปลูกเลี้ยง  ฝูงลูกบ้านลูกเมืองนั้น  ชอบด้วยธรรมทุกคน
                                                                   (ราตรี ธันวารชร, 2541, น. 110 )

                   2.2.3 การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง
          การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วย ประวัติของพ่อขุนรามคำแหง การดำเนินเรื่อง ผู้เขียนใช้การดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา ส่วนการปิดเรื่อง ผู้เขียนปิดเรื่องการบอกอาณาเขตของสุโขทัย

          2.3 แนวคิด
          แนวคิดหลักที่ปรากฏในศิลาจารึก คือ พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหง และ ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย ส่วนแนวคิดย่อย มีหลายแนว เช่น ความกตัญญู ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ความเอาใจใส่ประชาชนของพระมหากษัตริย์ การประดิษฐ์อักษรไทย (ลายสือไทย) เป็นต้น

          2.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   คุณค่าที่ได้รับจาก ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีดังนี้
                   2.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             คุณค่าทางศีลธรรมที่ปรากฏในเรื่องนี้ คือ ความกตัญญู จะเห็นได้จากการที่พ่อขุนรามคำแหงแสดงความกตัญญูต่อบุพการี ดังตัวอย่าง

                             เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้ม หมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู...
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 18)

และในเรื่องนี้ยังปรากฏความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
ตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้น ประชาชนให้ความสำคัญกับการนับถือพุทธศาสนา

                   2.4.2 คุณค่าทางอารมณ์
                             เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้ ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับอารมณ์รัก อารมณ์ยกย่อง            เชิดชู
          2.4.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       ...ได้ช้างได้งวงได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทองกูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู  กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดั่งบำเรอแก่พ่อกู
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 19)
                             2.4.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์ยกย่องเชิดชู เช่น
                                       เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ พ่อขุนพระรามคำแหง      นั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วย
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 26)      
                   2.4.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                              ในเรื่องนี้ ผู้อ่านจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมในสมัยสุโขทัย ซึ่งในสมัยนั้นบทบาทของไสยศาสตร์ คือการนับถือผี ก็มีปรากฏให้เห็น ดังตัวอย่าง

                             มีพระขพุง ผีเทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดี พลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรง
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 24)



                   2.4.4 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย ซึ่งทำให้ผู้อ่านมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสภาพสังคม วัฒนธรรม รวมไปถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้น

                   2.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             2.4.5.1 การเล่นคำ
                             ในเรื่องนี้ผู้เขียนเล่นคำโดยการซ้ำคำ  เพื่อเน้นความ ตัวอย่าง
                             ขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า..
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 18)
                             2.4.5.2 น้ำเสียง
                                       ในเรื่องนี้ กวีใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย เช่น น้ำเสียงภูมิใจ น้ำเสียงยกย่อง เป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                                       2.4.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงภูมิใจ  เช่น
                                                เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้ม หมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู...
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 18)
         
                                       2.4.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงยกย่อง เช่น
                                                เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ พ่อขุนพระรามคำแหงนั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้       รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วย
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 26)      
3. ไตรภูมิพระร่วง
          ไตรภูมิพระร่วง หรือบางเล่มเขียนว่า เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา เป็นวรรณคดีที่สำคัญทางพุทธศาสนา โดยพญาลิไท ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้น

3.1 รูปแบบคำประพันธ์
วรรณคดีเรื่องนี้จัดอยู่ในวรรณคดีประเภทตำรา รูปแบบตำราทางพุทธศาสนา
ผู้เขียนคือพญาลิไท ได้นำเสนอผลงานในรูปแบบร้อยแก้ว ใช้การพรรณนาหรือบรรยายโดยตรงบ้าง สลับบทสนทนาโดยไม่มีเครื่องหมายคำพูดบ้าง นอกจากนี้ยังมีการเลียนกระแสความคิด(คิดในใจ) ปรากฏในเรื่อง ดังตัวอย่าง
          ในกาลคาบหนึ่ง  พระพุทธิเจ้าเสด็จอยู่ในเชตุพนมหาวิหาร  อันเป็นอารามแห่งอนาถบิณฑิก
มหาเศรษฐี  อาศัยแก่เมืองสาวัตถีมหานคร  ในกาลเมื่อวันเข้าพระวรรษา  แลเกิดมีสุริยอังคาธ  แลสุริยเทพบุตรตระหนกตกใจหนักหนา  ก็ระลึกเถิงพระพุทธิเจ้าก็นมัสการแก่พระพุทธิเจ้าว่าดั่งนี้  ข้าแต่พระพุทธิเจ้าผู้มีเพียรไส้พระองค์พ้นจากกิเลศทั้งมวล
                                                                             (พญาลิไทย, 2545, น. 74)

                    3.1.1 ภาษา
                             แม้ว่าเรื่องไตรภูมิพระร่วงนี้จะเป็นวรรณคดีเก่าสมัยสุโขทัย อาจจะแลดูอ่านยาก แต่เมื่อได้ศึกษาแล้วนั้นกลับพบว่าในเรื่องไตรภูมิพระร่วง ผู้เขียนใช้คำในภาษามาตรฐาน  โดยมีทั้งคำสุภาพ   คำราชาศัพท์ คำในภาษาราชการ  ดังตัวอย่าง
                             3.1.1.1 ตัวอย่าง คำสุภาพ เช่น
                                      ...เมื่อแลนางอัมพปาลิกนิกาอยู่ในเมืองไพสาลีนครนั้น แลฝูงท้าวพระญาทั้งหลายแลลูกเจ้าเหง้าขุนอันมีในเมืองไพสาลีนั้น เขาก็เกิดด่าทอกันผิดกันผิดใจกันนักหนา เพราะต่างคน ต่างชิงกันกล่าวขอนางนั้นมาเป็นเมียแล ความดังนี้ก็เป็นกุลาหลฟุ้งเฟื่องไปนักหนา เพราะว่าเขาทั้งหลายเห็นรูปนางนั้นแลงามแลชิงกัน กล่าวเอามาเป็นเมียแลฯ...
                                                                   (พญาลิไทย, 2527, น. 193)       

                             3.1.1.2 ตัวอย่าง คำราชาศัพท์ เช่น
                                      ....พระบาทพระเจ้าศรีธรรมาโลกราชให้นั้น ถ้วนทุกพระองค์ เสร็จแล้วจึงพระสงฆ์ไปจากพระบาทพระเจ้าศรีธรรมาโลกราชๆ ก็เสด็จลงไปส่งพระสงฆ์ทั้งหลายเถิงประตูพระราช        มณเฑียร...
                                                                   (พญาลิไทย, 2527, น. 159)       
         





                   3.1.2 โวหาร
                             โวหารที่ปรากฏในเรื่องมีดังนี้
                             3.1.2.1 ตัวอย่าง อติพจน์  เช่น
                                       ...มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่งโดยสูงได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบบริเวณมณฑลได้ ๓๐๐ โยชน์ แลต้นกัลปพฤกษ์นั้นผู้ใดจะปรารถนาหาทุนทรัพย์สรรพเหตุอันใดๆก็ดี ย่อมได้สำเร็จในต้นไม้นั้นทุกประการแลฯ...
                                                                             (พญาลิไทย, 2527, น. 85)

                                      จะกล่าวเถิงแก้วดวงหนึ่งโดยยาวได้  4  ศอก  โดยใหญ่เท่าดุมเกียนใหญ่ สองหัวแก้วนั้นมีดอกบัวทองสองดอกออกแห่งมีสายมุกดามากหากหลายติดในกลางมุกดาแลดอกบัวทองนั้นโสดดูขาวใสงามดั่งอยู่ในกลีบดอกบัวทองนั้นแล
                                                                             (พญาลิไทย, 2545, น. 136)

          3.2 เนื้อหา
                    เรื่องราวในไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงภูมิต่างๆ ทั้งหมด 3ภูมิ ได้แก่ กามภูมิ 1 คือแดนที่ยังเกี่ยวข้องกับกามตัณหา มีความรัก โลภ โกรธ หลง รูปภูมิ1 คือแดนที่มีสุข ไม่มีเรื่องกาม(แดนแห่งพรหม) และอรูปภูมิ1  แดนของพรหมซึ่งไม่มีรูป มีเพียงจิต โดยผู้เขียนแบ่งเนื้อหาออกเป็นทั้งหมด    5 บท คือ เตภูมิกถา นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ อสุรกายภูมิและมนุสสภูมิ        
                    บทแรก คือเตภูมิกถา ในบทนี้จะกล่าวถึงสัตว์ทั้งหลายที่เกิดใน 3 ภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ โดยสัตว์ที่ไปเกิดในภูมิทั้ง3 มี4 ประเภท คือ เกิดจากไข่(อัณฑช) เกิดจากปุ่มเหงือกและมีรกห่อหุ้ม(ชลามพุช) เกิดจากใบไม้ ละอองดอกบัว เนื้อเน่าและเหงื่อไคล(สังเสทช) เกิดมาเป็นตัวตนและค่อยๆโต(อุปราติก)
                    บทที่สอง เนื้อหากล่าวถึง นรกภูมิ โดยสัตว์ที่ทำบาปด้วยประการต่างๆ จะได้รับบาปที่แตกต่างกันไป โดยในส่วนนี้จะกล่าวถึงนรกทั้ง 8 ขุม ผู้ที่ทำบาปจากน้อยไปมากจะไปอยู่นรกขุมต่างๆดังนี้ สัญชีพนรก กาลสูตตนรก สังฆาฏนรก โวรุพนรก มหาโวรุพนรก ดาปนรก มหาดาปนรก และมหาอวิจีนรก นอกจากนี้ผู้เขียนได้บรรยายสภาพของนรกแต่ละขุม
                    บทที่สาม เนื้อหากล่าวถึง สัตว์ที่เกิดในติรัจฉานภูมิทั้ง4ประเภท (อัณฑชะ  ชลามพุชะ สังเสทชะ อุปปาติก) จากนั้นได้กล่าวถึงประเภทและลักษณะของสัตว์ต่างๆ ได้แก่ ราชสีห์ ช้าง ปลา ครุฑ นาค หงส์ ในตอนท้ายผู้เขียนได้ยกตัวอย่างการกระทำของคนที่อาจทำให้เมื่อตายไป ไปเกิดเป็นสัตว์จำพวกข้างต้น
                    บทที่สี่ อสุรกายภูมิ เนื้อหากล่าวถึง สัตว์ที่เกิดในอสูรกายภูมิ พวกอสุรกายมี 2 พวก คือ กาลกัญชกาอสูรกาย และทิพพอสูรกาย โดยผู้เขียนได้บรรยายลักษณะและความเป็นอยู่ของอสูรกายไว้ โดยพวกอสูรกายมีบ้านเมืองของตนเอง ในส่วนนี้ผู้เขียนได้บรรยายเรื่องของราหูอมจันทร์ไว้ด้วย
                    บทที่ห้า มนุสสภูมิ เนื้อหากล่าวถึงสัตว์ที่เกิดในมนุษยภูมิ โดยเปรียบเทียบลักษณะของคนที่เกิดในทวีปต่างๆ ในไตรภูมิพระร่วงแบ่งออกเป็น4 ทวีป ได้แก่ อุตตรกุรุทวีป ชมพูทวีป บุรพวิเท่ห์ และอมรโคยาน นอกจากนี้ยังได้บรรยายเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุ กำเนิดมนุษย์ ตอนท้ายกล่าวถึงพระยาจักรรดิราช ซึ่งเสด็จไปปราบทวีปทั้งสี่ และประทานโอวาทให้ชาวทวีปประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในขุนงามความดี ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ดวงแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว และ นางแก้ว (อิตถีรัตน มเหสีพระยาจักรดิราช)

                   3.2.1 ตัวละคร
                             เรื่องไตรภูมิพระร่วงนั้น ปรากฏตัวละครหลายประเภท ทั้งที่เป็นคนสมมุติ เช่น คนในอุตตรกุรุทวีป คนในชมพูทวีป คนในอมรโครยาน เป็นต้น ตัวละครที่เป็นสัตว์ เช่น ราชสีห์ ช้าง ปลา ครุฑ หงส์ นาค เป็นต้น ตัวละครที่เป็นอมนุษย์ ได้แก่ อสูรกาย พระยาอสูร เปรต เป็นต้น ตัวละครที่เป็นเทวดา เช่น พระยายมราช พระพรหม เป็นต้น
                             เรื่องไตรภูมิพระร่วงนั้น ผู้เขียนใช้แนวการสร้างตัวละครที่เหนือจริง คือสร้างจากจินตนาการ โดยนำวัตถุดิบมาจากพุทธศาสนา เช่น การสร้างคนในอุตตรกุรุ ซึ่งมีบุคลิกแบบด้านเดียว เป็นคนดีมาก ในขณะที่สัตว์ จะมีลักษณะที่เกินจริง
                             วิธีการสร้างตัวละครนั้น ผู้เขียนใช้การบรรยายหรืออธิบายบุคลิกภาพทั้งหมดและใช้พฤติกรรมของตัวละครเอง

                   3.2.2 ฉาก สถานที่
                             สถานที่ต่างๆที่ผู้เขียนเอ่ยถึงในไตรภูมิพระร่วงนั้น เป็นฉากที่เสมือนสถานที่จริง เช่น แม่น้ำ เมืองราชคฤห์ เป็นต้น และยังมีสถานที่ที่เกิดจากจินตนาการ เช่น ทวีปต่างๆ เขาพระสุเมรุ เป็นต้น ส่วนการสร้างฉากนั้น กวีใช้การสร้างฉากหลายแบบ ทั้งการสร้างฉากเหมือนจริง เช่น แม่น้ำ เมือง เป็นต้น สร้างตามอุดมคติ คือคนในทวีปต่างๆ สร้างให้มีลักษณะเหนือจริง คือ ภูมิต่างๆ ดังตัวอย่าง
                             คนทั้งหลายอันชื่อว่ามนุษย์นี้มี  4 จำพวก  จำพวกหนึ่งเกิดแลอยู่ในแผ่นดินชมพูทวีปนี้แล  คนจำพวกหนึ่งเกิดแลอยู่ในแผ่นดินบุรพวิเทหะเบื้องตะวันออกเรา  คนจำพวกหนึ่งเกิดแลอยู่ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปอยู่ฝ่ายเหนือเรานี้  คนจำพวกหนึ่งเกิดแลอยู่ในแผ่นดินอมรโคยานทวีปเบื้องตะวันตกเรานี้  
                             คนอันอยู่ในแผ่นดินชมพูทวีปอันเราอยู่นี้  หน้าเขาดั่งดุมเกียนแล  ฝูงคนอันอยู่ในบุรพวิเทหะหน้าเขาดั่งเดือนเพ็งแลกลมดั่งหน้าแว่น  ฝูงคนอันอยู่ในอุตตรกุรุนั้นแล  หน้าเขาเป็น  4  มุมดุจดั่งท่านแกล้งถากให้เป็น  4 เหลี่ยม  กว้างแลรีนั้นเท่ากัน  แลฝูงคนอันอยู่ในแผ่นดินอมรโคยานทวีปนั้น  หน้าเขาดั่งเดือนแรม  8 ค่ำนั้นแล
                                                                             (พญาลิไทย, 2545, น. 86 )

                   3.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             การลำดับเหตุการณ์ในเรื่องนี้ ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วย คาถานมัสการ จากนั้นจึงเข้าสู่การเกริ่นนำถึงภูมิทั้ง 3 จากนั้นการดำเนินเรื่อง ผู้เขียนดำเนินเรื่อง โดยลำดับเหตุการณ์ต่อเนื่องไปตามช่วงเวลา ใช้การบรรยายและพรรณนา มีบทพูดของตัวละครปรากฏแต่ไม่ได้ใส่เครื่องหมายคำพูด และการปิดเรื่อง ผู้เขียนปิดเรื่องด้วย ประวัติผู้เขียน ความเป็นมาของเรื่องว่าผู้เขียนรวบรวมจากตำราใดบ้าง ประโยชน์ของการอ่านไตรภูมิพระร่วง และปิดท้ายด้วยวันที่เขียนเรื่องไตรภูมิพระร่วงสำเร็จ

          3.3 แนวคิด
          ในเรื่องไตรภูมิพระร่วงนี้ผู้เขียนมุ่งสั่งสอนคนในสังคมเรื่องของความดี ความชั่ว มุ่งให้คนทำความดีเพื่อได้ขึ้นสวรรค์ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของเรื่องนี้ ส่วนแนวคิดย่อยคือความกตัญญูกตเวที
         
          3.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   คุณค่าที่ได้รับจาก ไตรภูมิพระร่วง มีดังนี้
                   3.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             คุณค่าทางศีลธรรมที่ปรากฏในเรื่องนั้น ค่อนข้างเด่นมาก เนื่องจากเนื้อหาในเรื่องเน้นเกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งอาศัยจินตนาการของผู้เขียนในการสร้างเรื่องราวออกเป็น ภูมิต่างๆ ซึ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละภูมินั้น ก็มีความรัก ความโลภ ความโกรธ และความหลง เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้จะเกิดความละอายและเกรงกลัวต่อการทำบาป

                   3.4.2 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             คุณค่าทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่อง คือ ความเชื่อ ซึ่งปรากฏความเชื่อทั้งด้านไสยศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ปรากฏคือ ความเชื่อในสิ่งเร้นลับ เช่น เปรต อสูรกาย ยักษ์ เป็นต้น ในขณะเดียวกันแม้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้จะปรากฏในสมัยสุโขทัย แต่ปรากฏว่ามีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏให้เห็นโดยมาก เช่น ความเชื่อเรื่องโลกกลม การกำเนิดมนุษย์ พัฒนาการของมนุษย์ เป็นต้น

                   3.4.3 คุณค่าทางอารมณ์
                             อารมณ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับอารมณ์ต่อไปนี้
                             3.4.3.1 ตัวอย่าง อารมณ์ประชดประชัน เช่น
                                      ...เขาสาหัสดงปลาอันคนตีที่บนบกนั้น บัดเดี๋ยวแม่น้ำนั้นก็กลายเป็นเปลวไฟไหม้ตนเขานั้น ดูควันฟุ้งขึ้นทุกแห่งรุ่งเรืองเทียรย่อมเปลวไฟ ในพื้นแม่น้ำเวตรณีนั้นเทียรย่อมคมมีดหงายขึ้นทุกแห่งคมนักหนา เมื่อคนนรกนั้นร้อนด้วยเปลวไฟไหม้ ดังนนเขาจึงคำนึงในใจว่า มากูจะดำน้ำนี้ลงไปชรอยจะพบน้ำเย็นภายใต้โพ้น และจะอยู่ได้แรงใจสะน้อย เขาจึงดำน้ำลงไปในพื้นน้ำนั้น จึงถูกคมมีดอันหงายอยู่ใต้น้ำนั้น
                                                                             (พญาลิไทย, 2527, น. 22)

                   3.4.4 คุณค่าทางจินตนาการ
                             จินตนาการที่ปรากฏในเรื่องนี้มีค่อนข้างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางจินตนาการของผู้เขียน ทั้งในด้านการออกแบบสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่อง เช่น ทวีปต่างๆ เขาพระสุเมรุ เป็นต้น รวมไปถึงการสร้างฉาก ที่สร้างตามอุดมคติของผู้เขียนและสร้างให้ลักษณะเหนือจริง

3.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
3.4.5.1 การเล่นคำ
                                       ในเรื่องนี้ผู้เขียนเล่นคำโดยการซ้ำคำ  ตัวอย่างเช่น
                                       ...คนผู้กินข้าวนั้นแลจะรู้เป็นหิดแลเรื้อนเกลื้อนแลกากหูดแลเปา เป็นต่อมเป็นเตาเป็นง่อยเป็นเพลียตาฟูหูหนวกเป็นกระจอกงอกเงือยเปื่อยเนื้อเมื่อยตน....
                                                                             (พญาลิไทย, 2527, น. 85)
                   3.4.5.2 น้ำเสียง
                   ในเรื่องนี้ กวีใช้น้ำเสียงสั่งสอน  น้ำเสียงประชดประชัน
                             3.4.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงสั่งสอน เช่น
                                       ...ผู้ใดแลจะปรารถนาไปเกิดในเมืองสวรรค์ไส้อย่าได้ประมาทลืมตน ควรเร่งขวนขวายกระทำกุศลบุญธรรมใหทานรักษาศีลเมตตาภาวนาอุปฐากรักษาศีล บิดามารดาผู้เฒ่าผู้แก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์แลสมณพราหมณ์ผู้มีศีลไส้ ก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์แลฯ กล่าวถึงไตรตรึงษ์เมืองสวรรค์แล้วแต่เท่านี้แลฯ
                                                                             (พญาลิไทย, 2527, น. 229)

                              3.4.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงประชดประชัน เช่น
                                       ..อายุคนทั้งหลายอันอยู่ในชมพูทวีปนี้บห่อนจะรู้ขึ้นรู้ลงเพราะเหตุว่าดังนี้ ลางคาบคนทั้งหลายมีศีลมีธรรม ลางคาบคนทั้งหลายหาศีลหาธรรมบมิได้ฯ ผิแลว่าเมื่อคนทั้งหลายนั้นมีศีลอยู่ไส้ ย่อมกระทำบุญแลธรรม แลยำเยงผู้เฒ่าผู้แก่พ่อแม่ แลสมณพราหมณาจารย์ดังนั้นแลอายุคนทั้งหลายนั้นก็เร่งจำเริญขึ้นไปๆเนืองๆแล ผิแลว่าคนทั้งหลายมิได้จำศีลแลมิได้ทำบุญ แลมิได้ยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่แล  สมณพราหมณาจารย์ครูบาธยายแล้วดังนั้นไส้ อันว่าอายุคนทั้งหลายนั้นก็เร่งถอยลงมาๆเนืองๆแลฯ
                                                                             (พญาลิไทย, 2527, น. 81)

สรุป
          วรรณคดีสมัยสุโขทัย เพียง 2 เรื่อง คือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และไตรภูมิพระร่วง ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกัน  ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นวรรณคดีประเภทสารคดี รูปแบบอัตชีวประวัติและชีวประวัติ เนื้อหาเกี่ยวกับ ประวัติพ่อขุนรามคำแหง สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยสุโขทัย ซึ่งวรรณคดีเรื่องนี้นับว่าเป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่บันทึกไว้อย่างเป็นหลักฐาน ส่วนไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีประเภทตำรา รูปแบบตำราทางพระพุทธศาสนา เนื้อหาเกี่ยวกับ ภูมิต่างๆทั้ง 3 ภูมิ วรรณคดีเรื่องนี้มุ่งเน้นให้คนทำความดีละเว้นความชั่ว

คำถามทบทวน




 
เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2547). ศิลาจารึกหลักที่1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง (พิมพ์ครั้งที่3). กรุงเทพฯ:สำนักหอสมุดแห่งชาติ.
เปลื้อง ณ นคร. (2515). ประวัติวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่7). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
ราตรี ธันวารชร. (2541). การศึกษาคำในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
_______. (2548). วิวัฒนาการของภาษาไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ลิไทย,พญา. (2527). ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
_______. (2545). ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: องค์การค้าของ            
          คุรุสภา.
สุภา ฟักข้อง. (2530). วรรณคดีไทยก่อนรับอิทธิพลจากตะวันตก. กรุงเทพฯ: กรมการฝึกหัดครู.



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง