ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) (วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
          1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน
          2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์ การใช้ภาษาจะต้องสมจริงและเหมาะสมกับเรื่องราว จึงจะทำให้เรื่องราวสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้อ่านได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน
          การศึกษาภาษานั้น ผู้อ่านสามารถศึกษาได้ทั้งการใช้คำ และการใช้โวหาร เนื่องจากทั้งสองส่วนสัมพันธ์กัน ถ้าผู้เขียนใช้คำเพียงอย่างเดียว แต่ปราศจากโวหาร งานเขียนนั้นจะไม่สามารถสร้างอรรถรสให้เกิดกับผู้อ่านได้ การใช้โวหารจึงเปรียบเหมือนการเติมเครื่องปรุง ให้งานเขียนมีสีสัน หรือมีรสชาติที่น่าทานมากยิ่งขึ้น
          3.รูปแบบงานประพันธ์ คือการที่ผู้เขียนสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอผลงานให้มีลักษณะที่หลากหลาย ทำให้เกิดรูปแบบของงานประพันธ์ขึ้น ซึ่งผู้เขียนจะได้อธิบายเพิ่มเติมต่อไป
          ถ้าหากที่ผู้เรียนมีความรู้เรื่ององค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน จะสามารถช่วยในการศึกษาวรรณคดี สามารถศึกษาวรรณคดีได้ครอบคลุมและครบถ้วน ซึ่งในบทนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอรายละเอียดขององค์ประกอบในส่วนเนื้อหา และภาษา เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจ และสามารถนำวิธีการดังกล่าวไปใช้ศึกษาวรรณคดีได้ถูกต้อง ส่วนในบทต่อไปผู้เขียนจะนำเสนอรูปแบบงานประพันธ์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนที่สามในการศึกษาองค์ประกอบของวรรณคดีต่อไป

1. องค์ประกอบด้านเนื้อหา
          เนื้อหา คือส่วนสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผู้ศึกษาวรรณคดีจะต้องศึกษาเนื้อหาให้เข้าใจก่อนที่จะเริ่มศึกษาส่วนอื่น ๆ เพื่อให้สามารถศึกษาองค์ประกอบอื่น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น การศึกษาเนื้อหานั้น ผู้ศึกษาวรรณคดีควรศึกษาส่วนต่าง ๆ ต่อไปนี้ประกอบ
                   1.1 เรื่องราวหรือข้อคิด
                             เรื่องราวหรือข้อคิด คือส่วนที่ผู้เขียนเขียนถ่ายทอดเนื้อหา เรื่องราวที่เกิดขึ้น หรือใจความของเรื่องราวทั้งหมด ผู้ศึกษาต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดที่ผู้เขียนเรียบเรียงออกมา การศึกษาในส่วนนี้ ผู้ศึกษาจะต้องสามารถจับประเด็นสำคัญของเรื่องให้ได้ด้วย

                   1.2 ตัวละคร
                             ตัวละครในวรรณคดีมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากช่วยสร้างความสนุกสนานและช่วยทำให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างมีอรรถรส ซึ่งตัวละครแต่ละตัวนั้น ผู้เขียนอาจสร้างให้มีลักษณะที่หลากหลาย ทั้งตัวละครที่เป็นคนจริงหรือคนสมมติ คนจริงคือบุคคลที่มีชีวิต มีตัวตนจริง ดังจะเห็นได้จากในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งปรากฏคนจริง คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชพ่อขุนบานเมือง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นต้น
                             ในขณะที่คนสมมติคือ ตัวละครที่ผู้เขียนสร้างขึ้นตามจินตนาการ อาจจะมีลักษณะที่คล้ายคนจริง คือมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ผู้เขียนสร้างคนสมมติขึ้นเพื่อเลียนแบบคนจริง ดังจะเห็นได้จากในเรื่องอิเหนา ตัวละครอิเหนา มีอารมณ์ที่หลากหลาย เช่น อารมณ์รักที่มีต่อนางจินตะหรา ขณะเดียวกันเมื่อได้พบนางบุษบา ก็เกิดหลงรัก ทั้งๆที่อิเหนาได้ปฏิเสธที่จะแต่งงานกับนางบุษบา ซึ่งอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับอิเหนานั้นเป็นอารมณ์ที่เกิดในปุถุชนทั่วๆไป ผู้เขียนสร้างตัวละครให้เกิดความสมจริงและให้ผู้อ่านเชื่อในตัวละครนั้นอย่างแท้จริง

                   1.3 เวลาและสถานที่
                             เวลาและสถานที่ ช่วยเสริมให้เรื่องราวในวรรณคดีสมจริงมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่านของผู้อ่าน โดยการใช้ฉากหรือสถานที่นั้น นักเขียนมีกลวิธีการสร้างฉากที่หลากหลาย ดังนี้
                             1.3.1 การใช้ฉากหรือสถานที่สมจริง ดังจะเห็นได้จากเรื่องลิลิตพระลอ             ซึ่งกวีใช้ฉากคือ เมืองสรองและเมืองสรวง ซึ่งเป็นสถานที่จริงที่มีอยู่ 
                             1.3.2 การใช้ฉากหรือสถานที่เสมือนจริง ดังจะเห็นได้จาก เรื่องนิทานเวตาล ซึ่งผู้แต่งใช้ฉากคือ แม่น้ำยมุนา เมืองโภคนี เป็นต้น
                             1.3.2 การใช้ฉากหรือสถานที่ในจินตนาการ ดังจะเห็นได้จากเรื่องมัทนะพาธา สถานที่ต่างๆที่กวีเอ่ยถึงนั้น เป็นฉากสมมติหรือฉากในจินตนาการ ซึ่งกวีได้เกริ่นนำตั้งแต่แรกเริ่มเรื่องว่า สมมติให้เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียโบราณ ฉากสมมติที่ปรากฏเช่น ลานหน้ามุขเด็จแห่งวิมาน ค่ายหลวง สวนหลวงข้างพระราชวัง สวรรค์ เป็นต้น
                             ส่วนการใช้เวลาหรือการกำหนดเวลาต่างๆในเรื่อง ก็ต้องสอดคล้องกับเนื้อหาเพื่อให้เรื่องดำเนินไปด้วยความสอดคล้องกัน
                  
                   1.4 ทรรศนะ
                             ทรรศนะคือความคิดเห็นที่ปรากฏในเรื่อง โดยความคิดเห็นในเรื่องที่ปรากฏย่อมมีความคิดเห็นของนักเขียนเป็นหลัก เนื่องจากนักเขียนแต่ละคนมักจะแทรกความคิดของตนอยู่ในเรื่องเสมอ เพียงแต่ในบางครั้งผู้อ่านอาจไม่ทราบ เพราะนักเขียนอาจแทรกทรรศนะของตน ผ่านทรรศนะของตัวละคร หรือผ่านทรรศนะของสังคม
                             การที่ผู้อ่านจะทราบทรรศนะที่ปรากฏได้นั้น ผู้อ่านจะต้องศึกษาวรรณคดีเรื่องนั้นอย่างละเอียด และต้องพิจารณาเนื้อหาไปพร้อมๆกับการหาทรรศนะที่ปรากฏ ดังเรื่องมหาภารตยุทธ ซึ่งในเรื่องมหาภารตยุทธ ปรากฏทรรศนะที่หลากหลายของผู้เขียน โดยผู้เขียนแสดงให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยกิเลสของตนเอง บทบาทอำนาจอิทธิพลของเทพเจ้าที่มีต่อพฤติกรรมของมนุษย์ อิทธิพลของมนุษย์ด้วยกัน นอกจากนี้ผู้เขียนยังมุ่งนำเสนอหลักธรรมทางศาสนาฮินดู จุดหมายปลายทางของศาสนาฮินดูคือโมกษะ(การได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์กับพระพรหม)

2. องค์ประกอบด้านภาษา
          การศึกษาวรรณคดี อันดับต่อมาที่ผู้ศึกษาควรศึกษา คือ ภาษา เนื่องจากภาษาหรือตัวอักษรคือเครื่องมือที่ใช้ถ่ายทอดความคิด เรื่องราว หรือความรู้สึกต่าง ๆ ของผู้เขียนวรรณคดี การที่ผู้ศึกษาวรรณคดีได้เริ่มศึกษาเนื้อหามาก่อน จะทำให้ได้เห็นภาษาประกอบไปด้วย
          ในส่วนของภาษานั้น ผู้ศึกษาสามารถศึกษาได้ทั้ง คำ และ โวหาร ดังนี้
                    2.1 คำ คือหน่วยย่อยในภาษา ซึ่งการศึกษาคำ จะทำให้ผู้ศึกษารู้และเข้าใจประเภทของคำ กำเนิดของคำ ระดับของคำ ที่นักเขียนใช้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เนื้อหามีอรรถรสจากการศึกษาเรื่องคำ ในวรรณคดีเรื่องมหาภารตยุทธ พบว่า นักเขียนใช้ภาษามาตรฐาน โดยมีทั้งคำในภาษาสุภาพ และ คำในราชาศัพท์ เช่น
                    “ขอเดชะ! เกล้ากระหม่อมฉันอยู่คนเดียวให้เกิดความว้าเหว่เป็นกำลัง จึงปรารถนาที่      จะได้คู่ครองเพคะ”เจ้าแม่คงคาในร่างของหญิงสาวผู้เลอโฉมทูลตอบ
                   “ดีแล้ว! หากเรามีลูกชายเมื่อใด เราก็จะรับเจ้าไว้เป็นสะใภ้ของเราเมื่อนั้น” ราชา         ประตีปะรับสั่ง                                                                                                                                                   (กรุณา กุศลาสัย, 2555, น. 8)
                    เป็นที่น่าสังเกตว่า คำราชาศัพท์ที่ใช้นั้น จะใช้เฉพาะเวลาที่ผู้มีบรรดาศักดิ์ต่ำกว่าใช้ กับเจ้านายกษัตริย์ กษัตริย์ แต่ถ้าเป็น กษัตริย์กับกษัตริย์หรือกษัตริย์กับญาติ จะใช้คำใน    ภาษาสุภาพ เช่น คำพูดของท้าวยุธิษฐิระ ที่พูดกับน้องชายคือสาตฺยกี และ ภีมเสน ว่า
                   “การที่น้องอรชุรกับพระกฤษณะบุกฝ่ายข้าศึกเข้าไปแต่ลำพังเช่นนี้ นับว่าเป็นการ        หมิ่นเหม่ต่ออันตรายเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะถูกกลลวงของฝ่ายศัตรูเข้าเมื่อไรก็ได้ เราจึง     ขอให้ท่านทั้งสองจงรีบติดตามรถรบของอรชุนไปให้ทันเถิด จะได้ให้ความช่วยเหลือได้      ทันท่วงที”
                                                                   (กรุณา กุศลาสัย, 2555, น. 165)
                    จะเห็นได้ว่าในเรื่องมหาภารตยุทธนั้นคำที่ปรากฏในเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นคำที่ยืมภาษาต่างประเทศ คือ บาลี สันสกฤต เนื่องจากวรรณคดีเรื่องนี้คือวรรณคดีที่แปลมาจากวรรณคดีของประเทศอินเดีย ดังนั้นคำต่าง ๆ จึงใช้บาลี สันสกฤต มาก และด้วยความที่ใช้ภาษาบาลีสันสกฤต             จึงทำให้ผู้อ่านอาจจะไม่ทราบความหมายที่แท้จริง นักเขียนจึงใช้วิธีการอธิบายความหมายของคำนั้น ไว้ด้านล่าง
                    2.2 โวหาร คือ ศิลปะการใช้ภาษาของผู้แต่งหรือกวี เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆของผู้แต่งหรือกวี การใช้โวหารเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งในศิลปะการประพันธ์ เพื่อสร้างความน่าสนใจในการใช้ภาษา เนื่องจากการโวหารเป็นการใช้ภาษาที่ไม่ตรงไปตรงมา เพราะการพูดตรงไปตรงมา อาจทำให้ผู้อ่านไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์ของวรรณคดีเท่ากับการใช้โวหาร ที่การ                ที่ผู้เขียนใช้โวหารจึงช่วยทำให้เกิดอรรถรสในการอ่านมากยิ่งขึ้น
                   โดยโวหารต่าง ๆ ซึ่งนักเขียนหรือกวีมักจะใช้ในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ มีดังนี้
                             2.2.1 สมนัย (Metaphor) คือโวหารที่เปรียบเทียบของสองสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องนำมาเปรียบเทียบกันว่า เท่ากัน หรือเป็นสิ่งเดียวกัน เช่น
                             “โอ้แสนสุดสวาทของพี่เอ๋ย          อย่าคิดเลยพี่หาเป็นเช่นนั้นไม่
                   อันตัวเจ้าเท่าเทียมกับดวงใจ                  สิ้นสงสัยแล้วเจ้าอย่าเสียดแทง”
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 113)

                             2.2.2 อุปนัย (Simile) คือโวหารที่เปรียบเทียบของสองสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องนำมาเปรียบกันว่า เหมือนกัน เช่น
                             พระราชบุตรตรัสว่า “พักตรนางเหมือนพระจันทร์ยามเพ็ญ ผมเหมือนหมู่                  ผึ้งอันเกาะห้อยอยู่บนช่อดอกไม้ ปลายโขนงยาวจดถึงกรรณ  โอษฐ์มีรสเหมือนจัน             ทรามฤต เอวเหมือนเอวสิงห์ ทรงดำเนินเหมือนราชหงส์.....”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 47)   

                             2.2.3 สมพจนัย (Synecdoche) คือ การกล่าวถึงส่วนใดส่วนหนึ่ง                แต่ความหมายครอบคลุมส่วนทั้งหมดหรือทุกส่วน เช่น
                             “พระเอยหัวใจข้า                   คิดใคร่ไปเห็นหน้า
                   เพื่อนไท้แพงทองฯ”
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 42)

                             2.2.4 นามนัย (Metonymy) คือการเอ่ยถึงสิ่งหนึ่งแต่ให้ความหมายเป็นอย่างอื่น เช่น
                                      แม่เนื้ออ่อน หมายถึง นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติหญิง
                                      ช้างศึก หมายถึง นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย
                             ซึ่งจากตัวอย่างดังกล่าว เป็นคำที่ใช้ในบริบทของนักหนังสือพิมพ์

                             2.2.5 ปฏิวาทะ (Oxymoron) คือ การนำคำที่มีความหมายตรงกันข้ามหรือค้านกันมารวมกัน เพื่อให้เกิดความหมายใหม่ หรือให้ความรู้สึกขัดแย้ง หรือ เพิ่มน้ำหนักให้ความหมายของคำแรก เช่น
                             “ครานั้นเถนะเจ้าพระฝาง          ทราบทางทัพธนเกลื่อนกล่นหลาย
                   กำลังหลั่งหลากดูมากมาย                    ยืดยาวข่าวร้ายตายหละตู
                   ทำมาก็มากถึงเพียงนี้                          ร้ายดีทำนองจะต้องสู้
                   วาศนามากน้อยก็คอยดู                       หดหู่ไม่ได้ในครั้งนี้ฯ”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 107)

                             2.2.6 ปฏิภาคพจน์ (Paradox) คือ ข้อความที่มีความหมายขัดกัน ไม่น่าจะนำมารวมกันได้ เช่น
                             ยิ่งขยัน ยิ่งจน
                             คนกำลังรีบๆ แต่กลับยิ่งช้า

                             2.2.7 อาวัตพากย์ (Synesthesia) คือ การใช้คำแทนสัมผัสที่ผิดไปจากธรรมดา เช่น
                             “ทรามรักเอยปากป้อน              รสยิ่งรสฟ้าช้อน
                   สวาทช้อนสงสารฯ”
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 123)

                             2.2.8 อติพจน์ (Hyperbole) คือ การพูดเกินจริงเพื่อเน้นความรู้สึก ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มีมาก เช่น เสียใจมาก ดีใจมาก สุขใจมาก ทุกข์ใจมาก เศร้าใจมาก ดังตัวอย่าง
                             “เมื่อนั้น                             พระผู้ผ่านกรุงไกรไอศวรรย์
                   จึงบัญชาสั่งดะหมังนั้น                        เร่งผายผันไปแจ้งอนุชา
                   บอกว่าเราร้อนใจดังไฟผลาญ                 รำคาญด้วยอิเหนาหนักหนา
                   เดิมลาไปเล่นพนาวา                          แล้วหนีไปหมันหยาเวียงชัย”
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 179)


                             2.2.9 อธิพจน์ (Overstatement) คือ การพูดเกินจริงเพื่อโอ้อวด หรือพูดเกินจริงเพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกขัน เช่น
                             “ไส้ตันความป่วยเจ็บ                ผ่าแล้วเย็บพอเยียวยา
                   เร็วเรียก ปลาหมอ มา                        ให้ช่วยผ่า ปลาไส้ตันฯ”
                                                          (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 32)

                             2.2.10 ปฏิรูปพจน์ (Allusion) คือข้อความที่ดัดแปลงมาจากข้อความที่รู้จักกันดี ดังตัวอย่าง
                             “อุมมัตต์กษัตร์ด้าว                  ใดมี
                   ภาษิตสองพันปี                                กล่าวไว้
                   อาณาประชาชี                                ชอมเทวศ
                   แดเหือดเดือดให้ได้                            ทุกข์ร้อนลาญรทมฯ”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 142)

                             จากบทกวีข้างต้น กวีได้เขียนอธิบายไว้ในภาคผนวก (2505, น. 381) ว่าได้นำมาจากภาษิตภาษาละติน ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Kings go mad, the Greeks suffer. แปลว่า ประเทศใดเจ้า แผ่นดินเป็นบ้า ราษฎรก็ได้ทุกข์

                             2.2.11 บุคลาธิษฐาน (Personification) คือการใช้ภาษาเพื่อสร้างสิ่งที่ไม่ใช่คนให้เป็นคน หรือทำกิริยาเหมือนคน เช่น
                             “ลมพัดเชิญท่านท้าว                เสด็จมา หนึ่งรา
                   ลมแล่นเวหาหา                               ท่านไท้
                   พฤกษเทพบดีอา-                             รักษ์เร่ง พระรา
                   ดาวดาษเดือนต่างไต้                          ส่องท้าวเสด็จดลฯ”
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 88)

                             2.2.12 อุทาหรณ์ (Analogy) คือการเปรียบเทียบสิ่งสองสิ่งว่าคล้ายกัน โดยมักใช้คำว่า “ฉันใด...ฉันนั้น” หรือ “อุปมา....อุปไมย” เช่น
                              “ฉันใดอยุธเยศล้ม                  ลงสลาย
                   ยศยุบหุบโอษฐ์อาย                           อกเศร้า
                   หลายแฉกแยกกันกจาย                      กเจิงถิ่น
                   ต่างก๊กยกเป็นเจ้า                             จัดตั้งยังตนฯ
                             ฉันนั้นธนบุเรศสิ้น                   รัศมี
                   ไทยจะเกิดกาลกลี                             รุ่มเร้า
                   ภายในไม่สามคี                                ครัดเคร่ง
                   โอกาสชาติอื่นเข้า                                       ขี่ข้ามตามเคยฯ”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 156)

                             2.2.13 ปฏิปุจฉา (Rhetorical question) คือ การถามคำถาม โดยมิหวังได้คำตอบ เช่น
                             “อ้ายตัวนี่มันพูดถูก กูจะจำคำของมันเป็นคติ ลองดูว่าจะเป็นผลอย่างไร
                   บ้าง”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 96)             
สรุป
การศึกษาองค์ประกอบของวรรณคดีในด้านเนื้อหานั้น ผู้เรียนจะได้ศึกษาเรื่องราวหรือข้อคิด ตัวละคร เวลา สถานที่ และทรรศนะ ส่วนด้านภาษา ผู้เรียนจะได้ศึกษาจะได้เห็นประเภทของคำ การใช้คำ ระดับคำ โวหารประเภทต่าง ๆ ในวรรณคดี ได้แก่ สมนัย อุปนัย สมพจนัย นามนัย ปฏิวาทะ ปฏิภาคพจน์ อาวัตพากย์ อติพจน์ อธิพจน์ ปฏิรูปพจน์ บุคลาธิษฐาน อุทาหรณ์ และปฏิปุจฉา                การเรียนรู้องค์ประกอบของวรรณคดีจะช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจในการศึกษาวรรณคดีได้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การศึกษาวรรณคดีต่อไป

คำถามทบทวน
       ให้นักศึกษา เข้าลิ้งค์ต่อไปนี้ เพื่อตอบคำถามทบทวน   


 
เอกสารอ้างอิง

กรุณา กุศลาสัย. (2555). มหาภารตยุทธ. กรุงเทพฯ: บริษัท สยามปริทัศน์ จำกัด.
กรมศิลปากร. (2506). ลิลิตพระลอ. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม2. กรุงเทพฯ: พิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2547). ศิลาจารึก หลักที่1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง (พิมพ์ครั้งที่3). กรุงเทพฯ:สำนักหอสมุดแห่งชาติ.
พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระ. (2553). อิเหนา(ครั้งที่18). กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต. 
พิทยาลงกรณ์, พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (2505). สามกรุง. พระนคร: ไทยสัมพันธ์.
_______. (2515). นิทานเวตาล. พระนคร: บำรุงสาส์น.
รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ, สมเด็จพระ. (2551). มัทนะพาธา. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของ สกสค.
วิภา  กงกะนันทน์. (2556). วรรณคดีศึกษา(ครั้งที่4). กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง