ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”
          นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้
          พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม
          รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (2523 , น. 4) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”
          ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย
          พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง ๆ เป็นไปตามอารมณ์ของผู้ประพันธ์
          วิทย์  ศิวะศริยานนท์ (2544 , น. 27) กล่าวว่า วรรณคดีเป็นคำที่เราบัญญัติขึ้นใช้เทียบคำ “literature” ในภาษาอังกฤษ หมายถึง บทประพันธ์ที่รัดรึงตรึงใจผู้อ่าน ปลุกมโนคติ (imagination) ทำให้เพลิดเพลินและเกิดอารมณ์ต่างๆ ละม้ายคล้ายคลึงกับอารมณ์ของผู้ประพันธ์
          กุหลาบ มัลลิกะมาส (2555 , น. 1) กล่าวว่า “วรรณคดี” มาจากคำว่า “วรรณ” หรือ “บรรณ” แปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ ส่วน “คดี” หรือ “คติ” แปลว่า ทาง แนวทาง วรรณคดีจึงหมายถึง แนวทางของการแต่งหนังสือ
          ดวงมน จิตร์จำนง และคณะ (2555) กล่าวโดยสรุปว่า วรรณคดีและวรรณกรรมเป็นไวพจน์ มีความหมายเหมือนกัน คือ งานศิลปะที่มีภาษาเป็นวัสดุ (ทั้งมุขปาฐะและลายลักษณ์) แต่เนื่องจากความเข้าใจผิดของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ยึดคำนิยามว่า วรรณคดีคือหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี และได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร แต่ไม่มีการฉุกคิดว่าหนังสือที่ได้รับยกย่องส่วนใหญ่นั้นแต่งขึ้นก่อนจะมีวรรณคดีสโมสร และมีคุณค่าอยู่แล้ว
          วิภา  กงกะนันทน์ (2556 , น. 3) กล่าวโดยสรุปว่า คำว่า “วรรณคดี” และคำว่า “วรรณกรรม” มีความหมายเดียวกันคือ ผลงานประเภทหนึ่งของมนุษย์ที่ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนก็ตาม แต่วรรณคดีหรือวรรณกรรมต่างจากคำพูดหรือข้อเขียนที่ใช้ในการสนทนาสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน ด้วยภาษาในวรรณคดีหรือในวรรณกรรมเป็นภาษาที่ผู้แต่งใช้อารมณ์ และสติปัญญา คิด คัดสรร กลั่นกรอง วรรณคดีหรือวรรณกรรมเป็นผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อบันทึกหรือบรรยายความรู้สึก อารมณ์ ความคิด ความใฝ่ฝัน จินตนาการและประสบการณ์ของคนให้ปรากฏออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามใจปรารถนา
          จากความหมายของวรรณคดีและวรรณกรรมข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทั้งสองคำมีความหมายเดียวกัน หมายถึง ผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องราวหรือถ่ายทอดความคิดที่สร้างขึ้นด้วยตัวหนังสือ ตัวอักษร เพื่อเล่าเรื่องต่างๆ
          ในเอกสารประกอบการสอนนี้ จึงใช้คำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ในความหมายเดียวกัน

2. ประเภทของวรรณคดี
          วรรณคดี คือผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นจากอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด หรือประสบการณ์ต่าง ๆ โดยถ่ายทอดเรื่องราวหรือความคิดนั้นผ่านตัวหนังสือหรือตัวอักษร วรรณคดีมีหลายประเภท   
          วิภา กงกะนันทน์ (2556 , น. 5)  ได้แบ่งประเภทวรรณคดีตามวัตถุประสงค์ ได้ออกเป็น           3 ชนิด ดังนี้
          1.วรรณคดีที่มุ่งให้ความรู้และหรือความคิดเป็นใหญ่ เช่น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ไตรภูมิพระร่วง ยวนพ่าย จินดามณี พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นต้น
          2. วรรณคดีที่มุ่งให้ความบันเทิงเป็นใหญ่ เช่น ขุนช้างขุนแผน อิเหนา มัทนะพาธา เป็นต้น
          3. วรรณคดีที่มุ่งผสมผสานความรู้ ความคิด และความบันเทิงเข้าด้วยกัน โดยวรรณคดีประเภทนี้จะมีเป็นจำนวนมาก เช่น กาพย์เห่เรือ ไกลบ้าน วชิรญาณภาษิต สี่แผ่นดิน นิทานเวตาล เป็นต้น
          ในขณะที่ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ (2544 , น. 110) ได้แบ่งประเภทวรรณคดีเป็นสองประเภทใหญ่ คือ
          1. วรรณคดีที่แสดงบุคลิกลักษณะของผู้แต่งเอง ซึ่งรวมบทประพันธ์แสดงความในใจของผู้แต่งเอง
         2. วรรณคดีที่เล่าพฤติการณ์และแสดงความคิดความเห็นของผู้อื่น โดยแสดงความคิดความเห็นส่วนตัวของผู้แต่งน้อยที่สุด
          จากการแบ่งประเภทของวรรณคดีของนักวิชาการข้างต้น จะเห็นได้ว่า วิภา กงกะนันทน์ ได้แบ่งประเภทของวรรณคดีตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน ส่วน วิทย์ ศิวะศริยานนท์ แบ่งประเภทของวรรณคดีตามเนื้อหาที่ปรากฏ

          ในเอกสารประกอบการสอนนี้ ผู้เขียนได้แบ่งประเภทของวรรณคดีไว้ 2 ประเภทดังนี้
          1. ตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน คือ วรรณคดีที่มุ่งวัตถุประสงค์ของผู้เขียนเป็นหลัก เช่น มุ่งให้ความรู้ มุ่งให้ข้อคิด มุ่งให้ความบันเทิง มุ่งให้ความสะเทือนใจ เป็นต้น
          2. ตามเนื้อหา คือ การแบ่งประเภทวรรณคดีตามเนื้อหาที่ปรากฏ เช่น วรรณคดีพุทธศาสนา วรรณคดีการเมือง วรรณคดีประวัติศาสตร์ วรรณคดีการปกครอง เป็นต้น

3. การศึกษาวรรณคดี
         การศึกษาวรรณคดีและวรรณกรรมนั้น ผู้ศึกษาจะต้องศึกษาให้ลึก ไม่ใช่เพียงศึกษาเฉพาะประวัติผู้เขียนเท่านั้น หากแต่องค์ประกอบทุกส่วนของวรรณคดีวรรณกรรมล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ และทำให้เกิดความไพเราะทั้งสิ้น
         วิทย์ ศิวะศริยานนท์ (2544 , น. 268) ได้กล่าวถึงการศึกษาวรรณคดีว่า การศึกษาวรรณคดีที่แท้จริงจะต้องประกอบด้วยการเรียนรู้สองด้าน คือทั้งด้านเนื้อเรื่องและด้านความงามเป็นศิลปะ การศึกษาโดยละเอียดไปในด้านหนึ่งด้านใดจนเกินไปก็เป็นการผิดความประสงค์ ทั้งได้ประโยชน์อันพึงได้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่เพียงส่วนน้อยด้วย นอกจากนี้การศึกษาวรรณคดี แต่การรู้ลักษณะของการศึกษาวรรณคดีเท่านั้นยังไม่พอ เราจะเป็นต้องเข้าใจความมุ่งหมายและประโยชน์อันแท้จริงของการศึกษาวรรณคดีด้วย
         ในขณะที่ วิภา กงกะนันทน์ (2556 , น. 13) ได้กล่าวถึงวรรณคดีศึกษาไว้ว่า เป็นการศึกษาวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง โดยศึกษาความคิด จินตนาการ ความรู้สึก อารมณ์ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ของมนุษย์ซึ่งบันทึกไว้ด้วยภาษา และสืบทอดต่อกันมาจนเป็นมรดกทางสติปัญญาของสังคม โดยผู้ศึกษาจำเป็นต้องรู้จักองค์ประกอบของวรรณคดีและกลวิธีของการประพันธ์ มิฉะนั้นผู้ศึกษาโดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษาจะเพ่งเล็งพิจารณาเฉพาะเรื่องราว ที่มาและความหมายของคำ ลักษณะนิสัยของตัวละคร ในกรณีที่บทประพันธ์ชิ้นนั้นมีตัวละคร หรือความรู้ต่างๆที่ผู้ประพันธ์สอดแทรกไว้
         จากความเห็นของ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ (2544 , น. 268) จะเห็นได้ว่าท่านมุ่งเน้นให้ศึกษาวรรณคดีให้ครอบคลุม เนื่องจากการมุ่งเน้นเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการศึกษาวรรณคดี  สอดคล้องกับความเห็นของ วิภา กงกะนันทน์ (2556 , น. 13) ซึ่งกล่าวถึงการศึกษาวรรณคดีให้ครอบคลุม เนื่องจากการศึกษาวรรณคดีเป็นการศึกษาวัฒนธรรม ดังนั้นผู้ศึกษาจึงจำเป็นต้องรู้จักองค์ประกอบของวรรณคดีและกลวิธีการประพันธ์ เพื่อนำไปสู่การศึกษาวรรณคดีที่ครอบคลุม
         จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การศึกษาวรรณคดีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ศึกษาต้องศึกษาประวัติผู้แต่งหรือประวัติกวี ประกอบกับการศึกษาเนื้อหาวรรณคดีเรื่องนั้นๆด้วย เนื่องจากวรรณคดีแต่ละเรื่องผู้แต่งหรือกวีจะแสดงตัวตนของตนอยู่ในเรื่องเสมอ ดังนั้นการศึกษาประวัติผู้แต่งหรือประวัติกวีประกอบ จะทำให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจวรรณคดีเรื่องนั้นมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การที่ผู้ศึกษาศึกษางานเขียนอื่นๆของผู้แต่งหรือกวีประกอบด้วย จะยิ่งทำให้เห็นลักษณะตัวตนของกวีผ่านงานเขียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะมีความเข้าใจวรรณคดีเรื่องนั้นๆอย่างถ่องแท้
        
สรุป
         คำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” มีความหมายเดียวกันแต่อาจใช้ในโอกาสที่ต่างกัน ซึ่งในเอกสารประกอบการสอนนี้ ผู้เขียนจะใช้คำว่า วรรณคดีและวรรณกรรมในโอกาสที่ต่างกัน จากการศึกษาความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม” สรุปได้ว่า วรรณคดีและวรรณกรรมหมายถึง ผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นจากอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด หรือประสบการณ์ต่างๆ โดยถ่ายทอดเรื่องราวหรือความคิดนั้นผ่านตัวหนังสือหรือตัวอักษร โดยการแบ่งประเภทของวรรณคดีหรือวรรณกรรมนั้น ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้ ตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน ตามเนื้อหาที่ผู้เขียนมุ่งนำเสนอ และ ตามผลกระทบที่มีต่อผู้อ่าน ทั้งนี้ผู้ศึกษาวรรณคดีจะต้องศึกษาวรรณคดีให้ครอบคลุม ทั้งองค์ประกอบของวรรณคดีและกลวิธีการประพันธ์ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวรรณคดี

คำถามทบทวน
         ให้นักศึกษา เข้าลิ้งค์ต่อไปนี้ เพื่อตอบคำถามทบทวน   

       https://docs.google.com/forms/d/1-zqrVTT4lt9AVtOYjwShL1KTBSYzEZa65rKxX0nOeLA/edit




 

เอกสารอ้างอิง


หนังสือที่มีในสำนักวิทยบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.สวนดุสิต>>
กุหลาบ มัลลิกะมาส. (2555). ความรู้ทั่วไปทางวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
http://vtls.dusit.ac.th/lib/item?id=chamo:98043&theme=arcm_full

วรเวทย์พิสิฐ, พระ. (2534). วรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทย จุฬาลงกรณ์   มหาวิทยาลัย.
http://vtls.dusit.ac.th/lib/item?id=chamo:1857&theme=arcm_full

วิภา  กงกะนันทน์. (2556)วรรณคดีศึกษากรุงเทพฯสกสค. ลาดพร้าว.


หนังสืออื่นๆ >>
ดวงมน จิตร์จำนงค์  และคณะ. (2555)การวิจารณ์บนเส้นทางวรรณคดีศึกษา. กรุงเทพฯ: ทีคิวพีจำกัด.
ประเทิน มหาขันธ์. (2530). การสอนอ่านเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (2523). ความรู้ทั่วไปทางภาษาและวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย  รามคำแหง.
วิทย์ ศิวระศริยานนท์ (2544). วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์. กรุงเทพฯ: ธรรมชาติ.
ศรีวิไล ดอกจันทร์. (2529). การสอนวรรณกรรมวรรณคดีไทย. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อนุมานราชธน, พระยา. (2518). การศึกษาวรรณคดีในแง่วรรณศิลป์. กรุงเทพฯ: บรรณาคารการ พิมพ์.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต