ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 8 การศึกษาวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย

1. ประวัติ ความเป็นมาของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย
          ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น วรรณคดีไทยเจริญรุ่งเรืองสูงสุด กวีที่มีชื่อเสียงหลายท่าน โดยท่านที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ คือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งท่านประพันธ์วรรณคดีไว้หลายเรื่อง  และเรื่องที่ได้รับยกย่องเป็นวรรณคดีเอกในประเภทของกาพย์เห่เรือ คือ กาพย์เห่เรือ ซึ่งผู้สอนได้ศึกษาวรรณคดีเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้เรียนต่อไป (เปลื้อง ณ นคร, 2515)

2. กาพย์เห่เรือ
          กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เป็นวรรณคดีที่นับว่าเป็นกาพย์เห่เรือเรื่องแรก เป็นกาพย์สำหรับฝีพายขับเห่ในกระบวนเรือเสด็จ ทั้งเสด็จไปในงานพระราชพิธีหรือประพาส การขับร้องในเวลาพายเรือนั้นเห็นจะมีอยู่ทุกชาติทุกภาษา ด้วยเป็นเครื่องเพลิดเพลิน ผ่อนแรง และทำให้เกิดจังหวะในการพายพร้อมกัน (เปลื้อง ณ นคร, 2544)
         ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง เป็นกวีที่สำคัญ ด้วยลีลาการประพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์ นักกวีรุ่นหลังได้ใช้แนวทางการแต่งคำประพันธ์ตามแนวของเจ้าฟ้ากุ้งหลายคน เรื่องกาพย์เห่เรือนั้น ในยุคหลังๆ ได้มีนักกวีหลายคนแต่งกาพย์เห่เรือ แต่ไม่มีกาพย์เห่เรือใดสามารถใช้ภาษาได้ดีเท่าของเจ้าฟ้ากุ้ง

2.1 รูปแบบคำประพันธ์
          กาพย์เห่เรือจัดอยู่ในประเภทกวีนิพนธ์ รูปแบบกาพย์ มีลักษณะการแต่งเป็นโคลง 4 และกาพย์ยานี 11 ในการเสนอผลงานนั้นกวีใช้ร้อยกรองในการเสนอผลงาน คือบทเห่ ประกอบด้วยโคลง 4 จำนวน 1 บทและกาพย์ยานี11 จำนวน 14 บท  โดยใช้การบรรยายและพรรณนาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพที่ชัดเจน ดังตัวอย่าง
                             รอนรอนสุริยโอ้            อัษฎงคต์
                   เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง                  ค่ำแล้ว
                   รอนรอนจิตต์จำนง                  นุชพี่  เพียงแม่
                   เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว             คลับคล้ายเรียมเหลียว ฯ
                             เรื่อยเรื่อยมารอนรอน     ทิพากรจะตกต่ำ
                   สนธยาจะใกล้ค่ำ                    คำนึงหน้าเจ้าตาตรู
                             เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง     นกบินเฉียงไปทั้งหมู่
                   ตัวเดียวมาพลัดคู่                    เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย
                                                                             (กรมศิลปากร, 2503, น.6)

          2.1.1 ภาษา
                             ด้านการใช้ภาษา วรรณคดีเรื่องนี้ กวีเลือกใช้คำเฉพาะ เรียกส่วนประกอบต่างๆในเรือ สัตว์ ต้นไม้ดอกไม้ และชื่อนก ดังตัวอย่าง
                             เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ                     แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง
                   เพียงม้าอาชาทรง                             องค์พระพายผายผันผยอง
                             เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน                   โจนตามคลื่นผืนฝ่าฟอง
                   ดูยิ่งสิงห์ลำพอง                               เป็นแถวท่องล่องตามกัน
                                                                             (กรมศิลปากร, 2503, น.2)

                             หางไก่ว่ายแหวกว่าย                หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
                   คิดอนงค์องค์เอวอร                           ผมประบ่าอ่าเอิ่ยมไร
                             ปลาสร้อยลอยล่องชล               ว่ายเวียนวนปนกันไป
                   เหมือนสร้อยทรงทรามวัย                     ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย
                                                                             (กรมศิลปากร, 2503, น.4)

          2.1.2 โวหาร
                   กาพย์เห่เรือนี้ มีความโดดเด่นด้านการใช้โวหาร ดังนี้
                             2.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                                ปลาเสือเหลือที่ตา         เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
                                      เหมือนตาสุดาดวง                   ดูแหลมล้ำขำเพราคม
                                                                             (กรมศิลปากร, 2503, น.4)

                                                ประยงค์ทรงพวงห้อย      ระย้าย้อยห้อยพวงกรอง
                                      เหมือนอุบะนวลลออง               เจ้าแขวนไว้ให้เรียมชม
                                       พุดจีบกลีบแสล้ม                    พิกุลแกมแซมสุกรม
                                      หอมชวยรวยตามลม                 เหมือนกลิ่นน้องต้องติดใจ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2503, น.5)

                                                นางนวลนวลน่ารัก    ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน
                                      แก้วพี่นี้สุดนวล                      ดังนางฟ้าหน้าใยยอง
                                                                             (กรมศิลปากร, 2503, น.6)

                                                ดุเหว่าเจ่าจับร้อง          สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน
                                      ไพเราะเพราะกังวาล                ปานเสียงน้องร้องสั่งชาย
                                       โนรีสีปานชาด                       เหมือนช่างฉลาดวาดแต้มกาย
                                      ไม่เท่าเจ้าโฉมฉาย                   ห่มตาดพรายกรายกรมา
                                                                              (กรมศิลปากร, 2503, น.7)


2.2 เนื้อหา
                    เนื้อหาในเรื่อง กาพย์เห่เรือ แบ่งออกเป็น 4 ตอน ได้แก่
                   ตอนที่ 1 เห่ชมเรือกระบวน กวีกล่าวถึงส่วนต่างๆของเรือ เพื่อชมความงามและประสิทธิภาพของเรือ
                   ตอนที่ 2 เห่ชมปลา กวีกล่าวถึงปลาพันธุ์ต่างๆ และใช้ปลาในการเปรียบเปรยกับนางอันเป็นที่รัก
                   ตอนที่ 3 เห่ชมไม้ กวีกล่าวถึงต้นไม้ ดอกไม้นานาพันธุ์ และใช้เปรียบเปรยกับนางอันเป็นที่รัก
                   ตอนที่ 4 เห่ชมนก กวีกล่าวถึงนกพันธุ์ต่างๆ และใช้เปรียบเปรยกับนางอันเป็นที่รัก

          2.2.1 ตัวละคร
                             ในเรื่องนี้ ปรากฏคน ซึ่งเป็นคนจริง ได้แก่ ตัวกวี(ผู้ชาย) และกวีพูดถึงหญิงอันเป็นที่รัก ว่าเจ้าบ้าง น้องบ้าง  โดยกวีสร้างลักษณะนิสัยของคนให้เหมือนจริง สมจริง แสดงออกซึ่งความรักและความคิดถึงต่อนางอันเป็นที่รัก  ในการสร้างตัวละครนั้น กวีเลือกประเภทตัวละคร คือตัวละครที่เป็นธรรมชาติ  โดยแนวการสร้างตัวละคร กวีใช้การสร้างโดยสมมุติให้มีลักษณะเหมือนคนหรือแสดงกิริยาเหมือนคน โดยวิธีการสร้างตัวละคร กวีใช้การบรรยายและพรรณนาถึงพฤติกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตัวละคร

          2.2.2 ฉาก สถานที่
                             สถานที่ที่ปรากฏในกาพย์เห่เรือ กวีใช้สถานที่จริง ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่ระหว่างการเดินทางของกวี คือ ริมท่าสาคร ในส่วนของเวลานั้นไม่ได้ใช้คำบอกเวลาที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานได้จากคำที่กวีใช้ (รอนรอนสุริยโอ้  อัสฏงคต์) ดังตัวอย่าง
                             รอนรอนสุริยโอ้            อัษฎงคต์
                   เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง                  ค่ำแล้ว
                   รอนรอนจิตต์จำนง                  นุชพี่ เพียงแม่
                   เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว             คลับคล้ายเรียมเหลียวฯ
                                                          (กรมศิลปากร, 2503, น.6)
                             ส่วนการสร้างฉากนั้น กวีบรรยายสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่จริงมาใช้ ส่วนเวลานั้น กวีไม่ได้ใช้คำบอกเวลาแต่บรรยายช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตกดินแทน


          2.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง กวีเปิดเรื่องด้วย โคลง 4 จำนวน 1 บท เกริ่นนำเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ไพร่พล กระบวนเรือ และบรรยายกระบวนเรือ การดำเนินเรื่อง กวีใช้วิธีเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เป็นลำดับ โดยเริ่มตั้งแต่บรรยายพรรณนากระบวนเรือ จากนั้นจึงเป็นการเปรียบเปรยสิ่งต่างๆกับความคิดถึงนางอันเป็นที่รัก และการปิดเรื่อง กวีปิดเรื่องด้วยบทเห่ชมนก โคลง4 จำนวน 1บท และกาพย์ยานี11 จำนวน 12 บท พรรณนาถึงนกที่พบเพื่อเปรียบกับนางอันเป็นที่รัก

2.3 แนวคิด
                    แนวคิดในเรื่องนี้จะเกี่ยวกับการบรรยายพรรณนากระบวนเรือ การชมสัตว์ และชมธรรมชาติ ส่วนแนวคิดย่อย ได้แก่ การคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก

1.4   การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
     คุณค่าที่ได้รับจาก กาพย์เห่เรือ มีดังนี้
          2.4.1 คุณค่าทางปัญญา
                   วรรณคดีเรื่องนี้ให้ความรู้ต่างๆ ทั้งความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของเรือ ปลาพันธ์ต่างๆ ต้นไม้ ดอกไม้ และประเภทของนก ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ลักษณะของสัตว์และของพืชมากยิ่งขึ้น

          2.4.2 คุณค่าทางอารมณ์
          เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้ผู้อ่านจะได้เห็นอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์เศร้า อารมณ์ฮึกเหิม เป็นต้น
                             2.4.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       สาวหยุดพุทธชาด          บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป
                             นึกน้องกรองมาลัย                  วางให้พี่ข้างที่นอน
                                                                   (กรมศิลปากร, 2553, น. 5)

                             2.4.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                       ไก่ฟ้ามาตัวเดียว            เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา
                             เหมือนพรากจากนงเยาว์            เปล่าใจเปลี่ยวเหลียวหานาง
                                                                   (กรมศิลปากร, 2553, น. 7)

                             2.4.2.3 ตัวอย่าง อารมณ์ฮึกเหิม เช่น
                                       นาวาแน่นเป็นขนัด        ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
                             เรือริ้วทิวธงสลอน                   สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
                             เรือครุฑยุดนาคหิ้ว                  ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
                             พลพายกรายพายทอง               ร้องโห่เห่โอ้เห่มา
                                                                             (กรมศิลปากร, 2553, น. 1)

          2.4.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                   วัฒนธรรมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในเรื่อง คือ ประเพณี พิธีกรรม ซึ่งจะเห็นได้จากการเสด็จทางชลมารค ต้องมีการจัดเตรียมไพร่พล กระบวนเรือต่างๆให้พร้อมสรรพ และถูกต้องตามประเพณี

          2.4.4 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
                   วรรณคดีเรื่องนี้ได้บันทึกประเพณีในอดีตซึ่งเป็นการเสด็จทางชลมารคไว้อย่างค่อนข้างครบถ้วน ทำให้คนรุ่นหลังได้รู้และเข้าใจในประเพณีดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

          2.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                   2.4.5.1 การเล่นคำ
                                       กวีชอบใช้คำซ้ำเพื่อย้ำความ นำคำพ้องรูปพ้องเสียงมาใช้ เพื่อสร้างความไพเราะ อีกทั้งยังมีการใช้สัมผัสใน ได้แก่ สัมผัสสระและสัมผัสอักษร
                                       2.4.5.1.1 ตัวอย่าง การใช้คำซ้ำ เช่น
                                                นางนวลนวลน่ารัก     ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน
                                      แก้วพี่นี้สุดนวล                  ดั่งนางฟ้าหน้าใยยอง
                                                                             (กรมศิลปากร, 2553, น. 7)
                   2.4.5.2 น้ำเสียง
                                       ในเรื่องนี้ ปรากฏน้ำเสียง ดังนี้
                                      3.4.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงแห่งความรัก เช่น
                                                ชมดวงพวงนางแย้ม        บานแสล้มแย้มเกสร
                                      คิดความยามบังอร                   แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม
                                                                             (กรมศิลปากร, 2553, น. 5)                                    
สรุป
         ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น วรรณคดีไทยเจริญรุ่งเรืองสูงสุด กวีที่มีชื่อเสียงหลายท่าน โดยท่านที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ คือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เป็นวรรณคดีที่นับว่าเป็นกาพย์เห่เรือเรื่องแรก กาพย์เห่เรือเป็นกวีนิพนธ์ รูปแบบกาพย์ เนื้อหาในเรื่องแบ่งเป็น 4 ตอน คือ ตอนที่ 1 เห่ชมเรือกระบวน ตอนที่ 2 เห่ชมปลา ตอนที่ 3 เห่ชมดอกไม้ และตอนที่ 4 เห่ชมนก ภาษาที่ปรากฏในเรื่องนั้น กวีเลือกใช้คำเฉพาะเรียกส่วนประกอบต่างๆในเรือ สัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ และชื่อนก โวหารที่ปรากฏในเรื่องมีทั้งสมนัย อุปนัย และบุคลาธิษฐาน สถานที่และฉากในเรื่องเป็นสถานที่และฉากจริง แนวคิดที่ได้จากเรื่องคือความงามของเรือ และความรักของกวีที่มีต่อนางผู้เป็นที่รัก โดยเรื่องนี้ให้คุณค่าหลายด้านแก่ผู้อ่าน ทั้ง คุณค่าทางปัญญา คุณค่าทางอารมณ์ คุณค่าทางวัฒนธรรมธรรม คุณค่าทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางวรรณศิลป์

คำถามทบทวน



 
เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2503). ประชุมกาพย์เห่เรือ. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองธรรม.
_______. (2553). ประชุมกาพย์เห่เรือ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของ สกสค.
เปลื้อง ณ นคร. (2515). ประวัติวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่7). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
_______. (2544). ประวัติวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง