ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 7 การศึกษาวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง

1. ประวัติ ความเป็นมาของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง
          วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลางนั้น มีตกทอดมาถึงปัจจุบันไม่มากนัก เนื้อหาวรรณคดีส่วนใหญ่จะได้รับวัฒนธรรมเขมร เนื่องจากพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งบ้านเมืองอยู่ในเขตวัฒนธรรมของเขมร ไทยจึงรับเอาวัฒนธรรมของเขมรมาปน เช่น วรรณคดีที่เกี่ยวกับทางพิธี(ลิลิตโองการแช่งน้ำ) เกี่ยวกับการสดุดี(ลิลิตยวนพ่าย) เกี่ยวกับศาสนา(มหาชาติคำหลวง) ถ้อยคำภาษาที่ใช้ก็ล้วนมีภาษาเขมร และมีภาษาบาลี สันสกฤตแทรกบ้าง (สุภา ฟักข้อง, 2530, น. 33)
          วรรณคดีสำคัญที่ปรากฏในสมัยนี้ เช่น ลิลิตพระลอ ยวนพ่าย และจินดามณี เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามีวรรณคดีที่เป็นตำราเรียนภาษาไทย คือจินดามณี ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาภาษาไทยในสมัยต่อ ๆ มา

2. ลิลิตพระลอ
          ลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีไทยที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร เนื่องด้วยวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอนั้นมีความดีเด่นงดงามทั้งในด้านการใช้ภาษา การใช้คำ และเนื้อหา วรรณคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เรียนวรรณคดีควรศึกษา แม้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้จะยังมีข้อถกเถียงกันในเรื่องผู้แต่งว่าเป็นใคร ก็ยังไม่มีข้อสันนิษฐานที่แน่ชัด แต่ที่มีหลักฐานมากที่สุด คือข้อสันนิษฐานของ วิภา กงกะนันทน์ (2555, น. 6) ได้สันนิษฐานว่า ผู้เขียนน่าจะเป็นเจ้านายสตรีในพระราชวงศ์สุโขทัย

          2.1 รูปแบบคำประพันธ์
                   รูปแบบเรื่องลิลิตพระลอนั้น เป็นกวีนิพนธ์ รูปแบบลิลิต คือ แต่งร่ายสลับกับโคลง ดังตัวอย่าง
                   ขึ้นช้างไปผผ้าย  มาคคล้ายโดยทาง  ถับถึงกลางจรอกปู่  หมอเถ้าอยู่แลเห็น  แสร้งแปรเปนโฉมมลาก  เปนบ่าวภาคบ่าวงาม  สองถึงถามหาปู่  ปู่หัวอยู่ยแย้มข้อยว่าสองแสล้ม  มาแต่ด้าวแดนใด ฯ
                   สองคนึงในใคร่รู้                     ลูกหลานปู่ฤๅผู้
          อื่นโอ้ไป่งาม  บารนี ฯ
                   กามกรรหายยั่วข้าง                 คิดแต่จักช้าช้าง
          ท่านไส้จักเป็น  ป่วยนา ฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2510, น. 16)

                   2.1.1 ภาษา
                             กวีใช้คำในภาษามาตรฐาน ซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้โดยง่าย ดังตัวอย่าง
                             จักเชยพระลูกถ้วน                  สรรพางค์
                   พระลูกประนมกรพลาง                       จึ่งพร้อง
                   พระควรจูบแต่กลาง                          กระหม่อม ไส้นา
                   แก้มเกศพระเจ้าต้อง                          สั่งข้าพระควรฯ
                             ลูกรักแก้วแม่เอ้ย                    ปรานี แม่ฤๅ
                   พระบาทบงกชศรี                             ใส่เกล้า
                   ฤๅบาปิ่นภูมี                                   ทัดแม่ ไยพ่อ
                    ขอจูบบัวบาทเจ้า                             สั่งเจ้าจอมใจฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 47)
          จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่ากวีใช้คำบรรยาย พรรณนาความรักของแม่ลูก ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงอารมณ์ของกวีและอารมณ์ของตัวละครได้โดยง่าย

                   2.1.2 โวหาร
                             กวีก็ใช้โวหารหลากหลาย ทำให้เสริมอรรถรสในการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น โวหารที่ปรากฏในเรื่องนี้ ได้แก่ อุปนัย สมนัย อติพจน์ นามนัย อุทาหรณ์ บุคลาธิษฐาน เป็นต้น
                             2.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย  เช่น
                                       ตาเหมือนตามฤคมาศ               พิศคิ้วพระลอราช
                             ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ ก่งนาฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 5)

                                       นางโรยนางรื่นขึ้น                   ไปเยือน
                             เห็นราชสองหมองเหมือน                     ดั่งไข้
                             ทุกวันดุจดวงเดือน                            งามชื่น ไส้นา
                             หมองดั่งนี้ข้าไหว้                              บอกข้าขอฟังหนึ่งราฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 7)
                  
                                       เรียมฟังสารอ่านอ้าง                 อันผจง กล่าวนา
                             ถนัดดั่งเรียมเห็นองค์                          อะเคื้อ
                             สองศรีสมบูรณ์บง                             กชมาศ กูเอย
                             นอนแนบสองข้างเนื้อ                         แนบเชื้อชมเชยฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 11)

                                       เห็นเดือนดุจดั่งหน้า                 เพาพงา  พี่เอย
                             เรียมเรียกนงนุชมา                            พี่ถ้า
                             เล็งแลเหล่าเห็นตรา                           กระต่าย เปล่านา
                             เดือนยะแย้มแย้มหน้า                        ใคร่กลั้นใจตายฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 59)

                              2.1.2.2 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
                                       ออกท้าวฟังลูกไท้                    ทูลสาร
                             ถนัดดั่งใจจักลาญ                             สวาทไหม้
                             น้ำตาท่านคือธาร                             แถวถั่ง ลงนา
                             ให้บรู้ กี้ไห้                                     สรอื้นอาดูรฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 29)

                              สองบัวบุษปอยู่ถ้า         ฟังข่าวพระลอช้า          อกร้อนคือไฟฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 30)

                             2.1.2.3 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                       ผีบันดาลไฟคคลุ้ม ให้ควันกลุ้มเวหา ด้วยแรงยาแรงมนต์ ผีแดนทนทาน ยาก จึ่งฝากข่าวแก่ลม กึกก้องอมพรมี ลัดพลัดปรีปรึงมา บอกแก่เทพยดาเสื้อเมือง ฟ้าหล้าเหลืองอุบาทว์ อากาศคลุ้มเป็นควัน ฟ้าเครงครรชิตผ่า  ใจเมืองบ้าดังจะผกหัวอกเมืองดังจะพัง เทพดาฟังฟฟั่น ตกใจสั่นระรัว กลัวฤทธิ์พระปู่ ผู้มีเดชเกรียงไกร
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 37)
          จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่ากวีใช้คำที่เกินจริง เพื่อเน้นความรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากเพียงใด

                                      ลักษณวดีกรมทรวงสร้อย            ทุกข์แทบเลือดตาย้อย
                             เนตรน้ำนองนูนฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 51)
          จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า กวีใช้คำที่เกินจริงเกี่ยวกับความทุกข์ ความเศร้าของนางลักษณวดี ว่าทุกข์มาก เศร้ามาก ร้องไห้ขนาดที่เลือดจะไหลออกตา
         
                             2.1.2.4 ตัวอย่าง นามนัย เช่น
                             พระเอยหัวใจข้า           คิดใคร่ไปเห็นหน้า
                   เพื่อนไท้แพงทองฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 42)
          จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า คำว่าหัวใจ ให้ความหมายที่มากกว่าอวัยวะในร่างกาย แต่หมายถึงความรู้สึกของพระลอ

                              2.1.2.5 ตัวอย่าง อุทาหรณ์ เช่น
                                       ฉันใดสองพี่เลี้ยง           บปากสักคำเพี้ยง
                             ดั่งใบ้ฤๅควร นะพี่ฯ
                                       วานช่วยสรวลแก้หน้า     ชาวนอกฉันนี้อ้า
                             พี่เอ้ยวานดู หนึ่งราฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 60)
         
          2.1.2.6 ตัวอย่าง บุคลาธิษฐาน เช่น
                                       ลมพัดเชิญท่านท้าว                  เสด็จมา หนึ่งรา
                             ลมแล่นเวหาหา                               ท่านไท้
                             พฤกษเทพบดีอา-                             รักษ์เร่ง พระรา
                             ดาวดาษเดือนต่างไต้                          ส่องท้าวเสด็จดลฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 88)

                                       เสี่ยงไห้ทุกราษฎร์ไท้                ทุกเรือน
                             อกแผ่นดินดูเหมือน                           จักขว้ำ
                             บเห็นตะวันเดือน                              ดาวมืด มัวนา
                             แลแห่งใดเห็นน้ำ                              ย่อมน้ำตาคนฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 141)

          2.2 เนื้อหา
                   เนื้อหาของลิลิตพระลอนั้น เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ2เมือง คือ เมืองสรวงและเมืองสรอง โดยเรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ของพระเพื่อนพระแพง ปู่ของพระเพื่อนพระแพงคือท้าวพิมพิสาครราช ถูกท้าวแมนสรวงพ่อของพระลอ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสรวง ฆ่าตายกลางสนามรบ ตั้งแต่เกิดเหตุนั้นเป็นต้นมา เจ้าย่าของพระเพื่อนพระแพงก็ผูกใจเจ็บมาโดยตลอด เมื่อท้าวพิมพิสาครราชตายกลางสนามรบ พ่อของพระเพื่อนพระแพงคือท้าวพิชัยพิษณุกรก็ขึ้นครองราชย์ ในขณะเดียวกันเมื่อท้าวแมนสรวงเสียชีวิต พระลอก็ขึ้นครองราชย์และมีพระมเหสีชื่อนางลักษณวดี
                   เรื่องราวน่าจะดำเนินไปด้วยดีทั้ง2เมือง หากแต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในตอนท้ายนั้น มาจากการที่พระเพื่อนพระแพงได้ยินคำชมโฉมพระลอจึงหลงรัก นางรื่นนางโรยสาวใช้จึงใช้คนไปขับซอเพื่อชมความงามของพระเพื่อนพระแพงยังเมืองของพระลอบ้าง เพื่อหวังให้พระลอหลงรัก หากแต่ไม่เกิดอะไรขึ้น ดังนั้นนางทั้งสองด้วยความรักเจ้านาย จึงชักชวนพระเพื่อนพระแพงไปหาปู่เจ้าสมิงพรายเพื่อให้ทำเสน่ห์ให้ แต่การทำเสน่ห์ในครั้งนั้นก็ไม่ได้ผล เนื่องจากนายแก้วนายขวัญพี่เลี้ยงพระลอสามารถหาหมอมาแก้เสน่ห์ได้ ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ใหม่อีกครั้ง คราวนี้พระลออาการหนักขึ้น แต่หมอก็สามารถมาแก้เสน่ห์ได้อีกครั้ง จนครั้งสุดท้ายปู่เจ้าสมิงพรายเสกสลาเหิน ปนในหมาก เมื่อพระลอกินเข้าไป พระลอรู้สึกรักและอยากเจอพระเพื่อนพระแพงมาก พระลอกระวนกระวายมากจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหานางทั้งสองที่เมืองสรอง แต่พระนางบุญเหลือมารดาของพระลอห้ามไว้ ด้วยโหรทักว่าพระลอจะเผชิญอันตรายและอาจถึงแก่ชีวิต พระลอหาฟังคำมารดาไม่ ในที่สุดพระลอลาแม่และลาพระมเหสี(นางลักษณวดี)
                   พระลอออกเดินทางไปยังเมืองสรองพร้อมกับนายแก้วและนายขวัญ ระหว่างทางพระลอเกิดความลังเลอยากกลับบ้านเมืองของตน เนื่องจากการเดินทางลำบาก แต่ก็กลัวผู้คนจะครหาว่าขี้ขลาด พระลอตัดสินใจเสี่ยงน้ำ ปรากฏว่าน้ำหมุนวนและกลายเป็นสีแดงเหมือนสีเลือด ซึ่งเป็นลางร้าย แต่พระลอก็ออกเดินทางต่อ
                   ฝ่ายนางรื่น นางโรย กังวล เนื่องจากยังไม่เห็นพระลอเดินทางมาถึง นางทั้งสองจึงไปหาปู่เจ้าสมิงพราย ปู่เจ้าสมิงพรายจึงเสกไก่ นำทางพระลอจากป่า มายังเมืองสรวง
                   ในที่สุด พระลอ พระเพื่อนพระแพง ก็ได้พบกัน พระลออาศัยอยู่ในวังกับพระเพื่อนพระแพงอย่างมีความสุข โดยที่ไม่มีใครรู้ จนกระทั่งวันหนึ่งท้าวพิชัยพิษณุกร(พ่อพระเพื่อนพระแพง)ได้พบพระลออยู่กับลูกสาวของตน ด้วยลักษณะท่าทางของพระลอ ทำให้ท้าวพิชัยพิษณุกรพึงใจ และเมื่อยิ่งรู้ว่าพระลอเป็นใคร ท้าวพิชัยพิษณุกรจึงยอมให้พระลออยู่กับลูกสาวของตน แม้ว่าท้าวพิชัยพิษณุกรจะอนุญาต แต่เจ้าย่าของพระเพื่อนพระแพงกลับไม่เห็นด้วย เจ้าย่ายังฝังใจกับการที่พ่อของพระลอ(ท้าวแมนสรวง) ฆ่าสามีของตน(ท้าวพิมพิสาครราช) ประกอบกับการที่พระลอลักลอบเข้าหาหลานรักทั้งสองโดยไม่ถูกต้องตามประเพณี เจ้าย่าจึงสั่งทหารให้ไปฆ่าพระลอ
                   พระเพื่อนพระแพง รวมทั้งพี่เลี้ยงทั้งนางรื่นนางโรย อาสารบเคียงข้างพระลอ และนายแก้วนายขวัญ ท้ายสุดทั้งหมดถูกธนูแทงตาย เมื่อท้าวพิชัยพิษณุกรทราบเรื่องที่เกิดขึ้นจึงสั่งประหารเจ้าย่าทันที และจัดงานศพให้กับพระลอ พระเพื่อน พระแพง อย่างสมเกียรติ

                   2.2.1 ตัวละคร
จากเรื่องพระลอ ผู้อ่านจะเห็นได้ว่ามีตัวละครทั้งที่เป็น คนจริงและ                คนสมมติ คนจริงคือคนที่มีตัวตนจริง โดยคนจริงที่ปรากฏในเรื่องนี้ ได้แก่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นต้น ส่วนคนสมมติ คือ ตัวละครที่กวีเขียนขึ้นจากจินตนาการของกวี ให้มีลักษณะเหมือนคนจริง ได้แก่ พระลอ ท้าวแมนสรวง นางบุญเหลือ พระเพื่อน พระแพง ท้าวพิมพิสาครราช ท้าวพิชัยพิษณุกร เป็นต้น
                             การสร้างตัวละครทั้ง2 แบบนั้น กวีมีวิธีการสร้างที่หลากหลาย เช่น การบรรยายหรืออธิบายบุคลิกลักษณะตัวละครนั้น การใช้พฤติกรรมของตัวละครเองบรรยายตัวละคร การใช้บทสนทนาของตัวละครอธิบายตัวละคร เป็นต้น

                   2.2.2 ฉาก สถานที่
                   สถานที่ ที่ปรากฏในพระลอก็มีทั้งที่เป็นสถานที่จริงและฉากสมจริงอีกด้วย สถานที่จริง คือ เมืองสรวง และเมืองสรอง เป็นเมืองโบราณซึ่งเป็นสถานที่จริงที่มีอยู่ ส่วนฉากสมจริงนั้น คือฉากที่กวีได้สร้างขึ้นตามจินตนาการ หรืออาจจะมาจากประสบการณ์ของกวี เพื่อให้ฉากเกิดความสมจริง คล้ายกับของจริงมากที่สุด เมื่อฉากสมจริงแล้วนั้น ผู้อ่านจะได้อ่านเรื่องและได้ความสมจริงจากเรื่องมากขึ้น ฉากสมจริง เช่น ป่า บ้าน ชุมชน วัง เป็นต้น


                   2.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น กวีได้ลำดับเหตุการณ์ไว้ตั้งแต่การเปิดเรื่อง ดำเนินเรื่อง และปิดเรื่อง ดังนี้
                             การเปิดเรื่อง กวีเปิดเรื่องด้วยร่าย1 บท เพื่อยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และสรรเสริญความงาม ความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา
                             การดำเนินเรื่อง กวีใช้วิธีการเล่าสลับเหตุการณ์ แต่ละฉาก แต่ละสถานที่ ในช่วงเวลาเดียวกัน ดังตัวอย่าง
                             “กล่าวถึงขุนผู้ห้าว นามท่านท้าวแมนสรวง เป็นพระยาหลวงผ่านเผ้า .......
                    .................................................................................................................................
มีพระยาหนึ่งใหญ่ ธไซร้ทรงนามกร พิมพิสาครราช พระบาทเจ้าเมืองสรวง
                    ...................................................................................................................................”
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 2)
                             การปิดเรื่อง ในเรื่องลิลิตพระลอนี้ กวีได้ปิดเรื่องด้วยโศกนาฏกรรม และความเศร้า คือความตายของพระลอ พระเพื่อน พระแพง และงานศพของทั้งสาม โดยการลำดับเหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่  การเปิดเรื่อง การดำเนินเรื่อง และการปิดเรื่อง  กวีได้นำเสนอผ่านบทร้อยกรอง คือร่ายสลับกับโคลง ซึ่งมีทั้งโคลง2 โคลง3 โคลง4 ซึ่งเป็นกลวิธีเสนอผลงานของกวีในเรื่องลิลิตพระลอ ที่ช่วยให้เหตุการณ์ดำเนินไปได้อย่างน่าสนใจ

          2.3 แนวคิด     
                    จากองค์ประกอบด้านเนื้อหาข้างต้น คือ เรื่องราว คนตัวละคร และฉากสถานที่ จะทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจทรรศนะของกวีหรือแนวคิดที่กวีต้องการสื่อมายังผู้อ่านมากขึ้น ทรรศนะสำคัญที่กวีต้องการสื่อ คือ “ความรัก” โดยความรักที่ปรากฏในเรื่อง ผู้อ่านจะเห็นได้ว่ามีความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือความรักของแม่ ดังจะเห็นได้ผ่านตัวละครคือพระนางบุญเหลือ ซึ่งรักลูกคือพระลอมาก ซึ่งจากความรักของแม่ที่มีอย่างมากจนต้องยอมให้ลูกเดินทางไปหาสิ่งที่ลูกรัก แม้ว่าแม่จะรัก คิดถึง และกังวลว่าลูกจะต้องตาย แต่แม่เช่นพระนางบุญเหลือก็ยอมให้ลูกเนื่องจากไม่อยากเห็นลูกเศร้า
                    ความรักอีกด้านที่ปรากฏซึ่งกวีต้องการถ่ายทอดทรรศนะของตนออกมา คือความรักของหนุ่มสาว ความลุ่มหลงและต้องการได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองรัก โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิดหรือจริยธรรมที่ดีงาม ดังจะเห็นได้จากการที่พระเพื่อนพระแพงรู้สึกรักพระลอ แล้วจึงให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์
                    ความรักทั้งสองแบบที่ปรากฏนั้น ได้นำไปสู่ความรักและความแค้นในท้ายเรื่อง ซึ่งเป็นความรักของเจ้าย่าที่มีต่อท้าวพิมพิสาครราช เมื่อท้าวพิมพิสาครราชถูกฆ่าตาย เจ้าย่าก็เจ็บแค้นฝังใจมาโดยตลอด เมื่อเจ้าย่าได้พบกับพระลอซึ่งเป็นลูกของคนที่ฆ่าคนรักของตน จึงนำไปสู่โศกนาฏกรรมตอนท้ายเรื่อง

          2.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   คุณค่าที่ได้รับจาก ลิลิตพระลอ มีดังนี้
                   2.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             ลิลิตพระลอมีคุณค่าทางศีลธรรม ที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นอิทธิพลของความรัก ความลุ่มหลง ของมนุษย์ ซึ่งเพียงเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองต้องการ จึงพยายามทำทุกอย่าง ทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด หรือจริยธรรมที่ดีงาม ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการสอนให้ผู้อ่านรู้จักระงับชั่งใจ และคิดไตร่ตรอง ก่อนที่จะคิดทำสิ่งใดก็ตาม มิฉะนั้นอาจพบจุดจบในชีวิต ดังเช่น พระลอ พระเพื่อน และพระแพง

                   2.4.2 คุณค่าทางอารมณ์
                             วรรณคดีเรื่องนี้ ได้สร้างอรรถรส อารมณ์ให้กับคนอ่านเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งอารมณ์รัก และอารมณ์เศร้า
                             2.4.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       แรงรักแรงราคร้อน                  รนสมร
                             ยงยิ่งเปลวไฟฟอน                             หมื่นไหม้
                             มนเทียรปิ่นภูธร                               เป็นที่ ยำนา
                             ขืนข่มใจไว้ได้                                  เพื่อตั้งภักดีฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 118)

                             2.4.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                       เจ้าไข้ทุกข์แม่เพี้ยง                  ภูเขา ลูกเฮย    
                             เจ้าเคลื่อนทุกข์บางเบา                       สว่างร้อน
                             มาเห็นพ่อเงียบเหงา                           หนักกว่า ก่อนนา
                             ทุกข์เร่งซ้อนเหลือซ้อน                        ยิ่งฟ้า ทับแดฯ
                                       หญิงชายเหลือแหล่งหล้า            ฤๅยล ยากนา
                             เห็นแต่เราสองคน                             คู่ม้วย
                             ฉันใดพ่อกับตน                                เป็นดั่ง นี้นา
                             แม้พ่อตายตายด้วย                            พ่อแล้จอมใจ แม่เอยฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 32)

                             2.4.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                                       วัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องนี้นั้น ทั้งวัฒนธรรมการกิน ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ รวมไปถึงความเชื่อ
                                       2.4.3.1 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องผี เช่น
                                                 นายแก้วจักอยู่เร้ง                   ไปหา
                                       เร็วเร่งพระโหรมา                             อย่าช้า
                                       หาหมู่หมื่นแพทยา                            หมอภูต มานา
                                       หาแม่มดถ้วนหน้า                             หมู่แก้กฤติยาฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 29)

                                                 ผีสางเข้าส่งซ้ำ                       เติมมา มากนา
                                       มนตรมายายำ                                 หยูกซ้ำ
                                       วันใดราชลีลา                                 ยกย่าน ไปนา
                                       อกแม่ผอมไข้ขว้ำ                              หล่นหล้มพระองค์ฯ
                                                                              (กรมศิลปากร, 2506, น. 39)

                                       2.4.3.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องโชคลาง เช่น
                                                 หาโหรหาถ้วนมิ้ง                    มนตรี
                                       หาปู่สิทธิไชยสี-                               ลาศเต้า
                                       แถลงคำแก่นกษัตริย์                          ทุกสิ่ง แลนา
                                       โหรว่าจักห้ามเจ้า                             แผ่นหล้าฤๅฟังฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 41)

                                       2.4.3.3 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องเทวดา เช่น
                                                 ขอฝากฝูงเทพไท้                     ภูมินทร์
                                       อากาศพฤกษาสินธุ์                           ป่ากว้าง
                                       อิศวรนรายณ์อินทร์                           พรหเมศ ก็ดี
                                       ช่วยรักษาเจ้าช้าง                             อย่าให้มีภัยฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 49)

                                       2.4.3.4 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องฝันบอกเหตุ เช่น
                                                 ดับนั้นสี่นางฝัน  เห็นอัศจรรย์นิมิต ติดใจจำขมขื่น ตื่นตระบัดอ่อนไท้ พระเพื่อนคิดจำได้ กล่าวแก้ความฝันฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 89)

                              2.4.4 คุณค่าทางจินตนาการ
                                       ในเรื่องนี้กวีได้จินตนาการ การเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละคร คือการที่ตัวละครมีการแปลงร่าง หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตน จากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่ง  ในเรื่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละครปรากฏอยู่ด้วย จากการที่ปู่เจ้าสมิงพรายแปลงร่างเป็นชายหนุ่ม              ดังตัวอย่าง
                                       ขึ้นช้างไปผผ้าย มาคคล้ายโดยทาง ถับถึงกลางจรอกปู่ หมอเฒ่าอยู่แลเห็น แสร้งแปรเป็นโฉมมลาก เป็นบ่าวภาคบ่าวงาม สองถึงถามหาปู่ ปู่หัวอยู่ยแย้ม ข้อยว่าสองแสล้ม มาแต่ด้าวแดนใดฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 16)

                              2.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                                       2.4.5.1 การเล่นคำ
                                                 2.4.5.1.1 ตัวอย่าง การเล่นอักษร เช่น
                                                          คลังกูคลังลูกแก้ว           กูนา
                                                จักจ่อมจ่ายเยียวยา                 หน่อเหน้า
                                                สิ้นทั้งแผ่นดินรา                     แม่ลูก ก็ดี
                                                สิ้นแต่สินจงเจ้า                      แม่ได้แรงคืนฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 30)
                                                          ผีผยุ่งรบกันด้วย            ผีแขวง แดนนา
                                                ผีทุ่มผีไล่แทง                         ผาดผ้าย
                                                ผันแผงแผดรบแรง                  ร้องเร่ง พลนา
                                                ผีแขกรุกราญร้าย                    รบเร้ารอนผลาญ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 36)
                            
                                                          ลางลิงลิงลอดไม้            ลางลิง
                                                แลลูกลิงลงชิง                        ลูกไม้
                                                ลิงลมไล่ลมติง                        ลิงโลด หนีนา
                                                แลลูกลิงลางไหล้                     ลอดเลี้ยวลางลิง
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 63)

                                                2.4.5.1.2 ตัวอย่าง การเล่นคำ เช่น
                                                          จูบนาสิกแก้วแม่            หอมใด ดุจนา
                                                จูบเคียงคางคอใจ                    จักขว้ำ
                                                จูบเนื้อจูบนมใส                     เสาวภาคย์ พระเอย
                                                จูบไล่หลังอกซ้ำ                      จูบข้างเชยแขนฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 47)

                                       2.4.5.2 น้ำเสียง
                                                2.4.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงเศร้า เช่น
                                                          ลูกตายก็ตายแล้ว     เจ็บบตายเห็นหน้าแก้ว
                                       เกิดเกล้ากูมาฯ
                                                น้ำตาไหลหลั่งไห้                       เป็นเลือดตกอกไหม้
                                      ออกท้าวฤๅเห็น ลูกเลยฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 73)

                                                2.4.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงรื่นเริง เช่น
                                                          พระลออดบได้             ขิกหัว
                                                สองนาฏตกใจกลัว                   สะดุ้ง
                                                พระพักตร์ดุจดอกบัว                บานร่อ กันนา
                                                เผยม่านแพรพรรณวุ้ง               ออกให้เห็นองค์
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 113)



                                                2.4.5.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงโกรธแค้น เช่น
                                                          ...ข่าวขจรไปถึงย่า  ย่าไปว่าไปวอน  อ้าภูธรธิบดี ลูกไพรีใจกาจ ฆ่าพระราชบิดา แล้วลอบมาดูถูก ประมาทลูกหลานเรา จะให้เอาจงได้ อย่าไว้ช้าดัสกร เราจะให้ฟอนให้ฟัน เราจะให้บั่นให้แล่ ทุกกระแบ่จงหนำใจ...
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 132)

3. ยวนพ่าย
          ยวนพ่าย วรรณคดีเรื่องสำคัญที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การยอพระเกียรติหรือสดุดีพระมหากษัตริย์เท่านั้น หากแต่วรรณคดีเรื่องนี้ยังถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ สงครามเมืองเชลียง-เชียงชื่น ไว้อย่างดี  ในเรื่องยวนพ่ายนี้ ผู้เขียนใช้คำว่ายวนพ่าย ไม่ใช้คำว่า ลิลิตยวนพ่าย เนื่องจากการแต่งลิลิตจะมีลักษณะคือ ร่ายสลับโคลง ดังจะเห็นได้จากเรื่องลิลิตพระลอ ที่มีการแต่งร่าย สลับกับโคลงกี่บทก็แล้วแต่กวี แต่ในเรื่องยวนพ่ายนี้ มีร่ายเพียง 2 บท คือตอนต้นเรื่อง และตอนท้ายเรื่องเท่านั้น โดยหลักทั้งเรื่องจะแต่งด้วยโคลงดั้น 365บท ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงใช้คำว่า ยวนพ่าย น่าจะเหมาะสมกว่า
          ผู้แต่งเรื่องยวนพ่ายนั้น ยังมีข้อถกเถียงกันในเรื่องของผู้แต่งว่า ผู้แต่งคือใคร วิภา กงกะนันทน์ (2555) ได้ศึกษา ประวัติผู้แต่งเรื่องยวนพ่าย และลิลิตพระลอ ด้วยการศึกษาแบบบูรณาการทั้งทางประวัติศาสตร์ ทางภาษา ได้ข้อสรุปว่า ผู้แต่งเรื่องยวนพ่ายและลิลิตพระลอนั้น น่าจะเป็นคนเดียวกัน โดยเป็นผู้หญิงซึ่งมีอภิสิทธิ์ใกล้ชิดสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เนื่องจากในบทกวีนิพนธ์เรื่องยวนถ่าย มีบทหนึ่งที่กวีได้เขียนไว้ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงขัดเกลาบทกวีนิพนธ์เรื่องยวนพ่ายพระราชทานกวี ด้วยวาจา (วิภา กงกะนันทน์, 2555, น. 23)
                             พระยศยลโยคพ้ยง                  สูรยจันทร
                   ตนพ่างพาเบญชาณ                           ใช่ช้า
                   หวังเอาตรวนนเดือน                          ดลแผ่น เผยอฤๅ
                   เพราะพึ่งพระเจ้าเหล้า                        กล่าวเกลาฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2514, น. 22)

          3.1 รูปแบบคำประพันธ์
                    เรื่องยวนพ่าย กวีใช้รูปแบบของกวีนิพนธ์ในการแต่ง โดยเป็นกวีนิพนธ์ประเภทยอพระเกียรติ สดุดีพระเกียรติ และบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
                    กลวิธีการเสนอผลงานของกวีนั้น กวีใช้บทร้อยกรองในการเสนอผลงาน โดยบทร้อยกรองนั้น จะเป็นร่ายตอนต้น และโคลงดั้น จากนั้นจึงปิดท้ายด้วยร่าย กลวิธีอื่นๆที่ปรากฏในการเสนอผลงานในบทกวีนิพนธ์คือ การที่กวีใช้การบรรยายหรือพรรณนาด้วยตัวกวีเอง การใช้บทสนทนาของตัวละครหรือคนในเรื่องถามตอบสลับกัน แต่ไม่มีเครื่องหมายคำพูด การเสนอผลงานดังกล่าวทำให้เกิดความสมจริงในเรื่องมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่าง
                             ใครคดใครซื่อร้าย          ดีใด ก็ดี
                   ใครใคร่ครองตนบยฬ                ท่านม้วย
                   ซือนึกแต่ในใจ                       จงซ่อน ก็ดี
                   พระอาจล่วงรู้ได้                     ดุจหมาย
                                                          (พระอุบาฬีคุณูปมาจารย์, 2550, น.68)
                  
                   3.1.1 ภาษา
                             เรื่องยวนพ่ายนั้น เป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างดี แต่เนื่องจากภาษาที่กวีใช้นั้น เป็นภาษามาตรฐานในสมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นคำศัพท์สูง ซึ่งต้องแปลความหมายแต่ละคำ ดังนั้นจึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้วรรณคดีเรื่องนี้ ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้อ่านในปัจจุบัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                             เงินขามป้อมต้งงกึ่ง                  กลางกร ไส้แฮ
                   อยู่ช่างพิดพยรเหน                            ล่งล้วน
                   ใครเกจกยจงอนงำ                            สารสื่อ
                   ใครชอบผิดเหนถ้วน                           ก่องกลฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2514, น. 21)
                             จากตัวอย่างข้างต้น พระอุบาฬีคุณูปมาจารย์(ปาน) (2550, น. 199) ได้แปลความไว้ว่า เงินตรา   แบนฤๅกลมมีรูปเหมือนผลหมากขามป้อมเอามาวางไว้ในฝ่ามือกลางใจมือจริงแล พระอยู่หัวท่านฉลาดดูรู้ทั่วถึงประหนึ่งนายช่างเงินที่ดูแม่นแต่พอพิศดูก็รู้ว่าเงินนั้นนี้ดี แลแดง แลปนสังกะสีดีบุกทุกประการ ใครผู้ใดเป็นคนทำกิดสิ่งใดมักเป็นกลดุจเสาเกียดอันผูกมิให้โคกระบือหนีไปได้ ฤๅคนฉลาดทำแง่งอนอำเงื่อนอำพร่ำพรางในกลสารส่งสื่อบ่าวสารข่าวใดๆก็ดี ท่านก็ทรงทราบ ใครทำความชอบใครประกอบความผิดชนิดพลาสารเหลวไหลท่านจับเม็ดพรายได้ทุกประการ
                             จะเห็นได้ว่า คำทุกคำมีความหมายที่ลึกซึ้งแฝงอยู่ทั้งวัน ดังนั้นผู้ศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้     ควรศึกษาประวัติศาสตร์ และการใช้คำในสมัยอยุธยาตอนต้น ประกอบกันไปด้วย เพื่อส่งเสริมความเข้าใจของผู้อ่าน



                   3.1.2 โวหาร
          การใช้คำที่มีความหมายลึกซึ้งแฝงอยู่นั้น เป็นความสามารถของกวี ที่ใช้คำเพื่อสร้างความสละสลวยของวรรณคดีเรื่องนี้ นอกจากการใช้คำแล้ว การใช้โวหารก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้วรรณคดีเรื่องนี้เกิดความงามขึ้น โวหารที่ปรากฏในเรื่องนี้ เช่น สมนัย อุปนัย อติพจน์ ปฏิปุจฉา เป็นต้น โดยโวหารต่างๆเหล่านี้อาจปรากฏในบทกวีนิพนธ์ให้เห็นเด่นชัดเลย หรืออาจจะต้องแปลความหมายออกมาเพื่อให้เห็นถึงโวหารต่างๆ โดยบทแปลนั้นผู้เขียนได้นำมาจากบทแปลของพระอุบาฬีคุณูปมาจารย์(ปาน) (2550) ซึ่งท่านได้แปลบทไว้อย่างสมบูรณ์

                             3.1.2.1 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
                                       สารสยามภาคพร้อง                 กลกานท นี้ฤๅ
                             คือคู่มาลาสวรรค                              ช่อช้อย
                             เบญญาพิศาลแสดง                           เดอมกรยดิ พระฤๅ
                             คือคู่ไหมแส้งร้อย                              กึ่งกลางฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2514, น. 58)

                             3.1.2.2 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                       เอกัตวเอกาดมล้ำ                    เลอกษัตร ท่านฤๅ
                   (ความเป็นคนแห่งคนเดียวพระองค์เดียวเลิศล้น        ยิ่งด้วยยศร่มของท่านฤๅ)
                             เอกทยาศรยแสวง                             ชอบใช้
                   (มีพระอัธยาศัยยิ่ง เสาะซึ่งสิ่งที่ควรจึ่งประพฤติใช้สอย)
                             เอกาจลดำรงรักษ                             รองราษฎร์ ไส้แฮ
                   (ไม่หวั่นไหวดุจเขาแท่งเดียว ซื่อตรงรักใคร่แทนชนที่อยู่ในแว่นแคว้นจริงแฮ)
                             เอกสัตวเกื้อให้                                 ส่างศัลยฯ
                   (เป็นเอกราชอุดหนุนสัตว์ให้คลายจากลูกศรคือความทุกข์)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 7)

                                       พระกฤษฎิสงวนโลกพ้ยง            พระพรหม
          (พระเจ้าสยามแสดงซึ่งธรรมอันยิ่งด้วยองค์1 องค์2 องค์3 จนถึงสิบแล้วรักษาหมู่ประชากรดังพรหม)
                             พระรอบรักษพยงพิษณุ                       ผ่านเผ้า
          (พระองค์ทรงพระสติดีงามรักษารอบคอบทั่วไทยต่างด้างท้าวต่างแดนเพียงพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าอยู่เกล้า)
                             พระผลาญพ่างพระสยม                      ภูวนารถ ไส้แฮ
          (พระองค์ทรงฤทธิรอนราญผลาญปรปักษ์ ให้ปฏิบัติที่ดีมีพระอาการปานพระอิศวรบรมพรหเมศเป็นเชษฐ์ทั่วธรณี ผู้เป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ทั่วแหล่งเหล้าจริงแฮ)
                             พระโปรดพยงพระเจ้า                        โปรดปรานฯ
          (พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดหมู่ประชาราษฎรที่ร้อนผ่อนให้ได้เย็นเป็นประหนึ่งองค์พระบรมครูผู้มีพระมหากรุณาโปรดประชากรแต่บรรดามีชีพให้ถึงสุคติสถาน)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 17)
                                               
                             3.1.2.3 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                       พระคุณพระครอบฟ้า               ดินขาม
                   (พระคุณของท่านทรงปกแผ่ครอบถึงเทวดาแลมนุษย์ย่อมเกรงกลัว)
                             พระเกรียดิพระไกรแผน                      ผ่านฟ้า
                   (พระเกียรติยศท่านยิ่งอย่างพระพรหมธาดาผู้เสวยสมบัติในแผ่นฟ้า)
                             พระฤทธิพ่างพระราม                         รอนราพ ไส้แฮ
                   (พระฤทธิ์เพียงพระรามรอนราพณ์จริงแฮ)
                             พระก่อพระเกื้อหล้า                          หลากสวรรคฯ
                   (พระมาก่อสร้างพระบารมีพระเกื้อหนุนหมู่มนุษย์หลายหลากหากได้ไปสวรรค์)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 18)

                                       สรรเพชญภูวนารถแล้ว              การยุทธ ยิ่งแฮ
                      (พระอินทราชาเจ้า ผู้รู้ทั่วผู้เป็นที่พึ่งแห่งชาวสยามแกล้วกล้าในการยุทธยิ่งแฮ)
                             ตามต่อยไพรีพงง                              พ่ายส้าน
                   (ติดตามตีต่อยแทงฟันหมู่มีเวรพังหนีไปตั้งล้านดูเลี่ยนเตียน)
                             จยรจอมครุทธผลาญ                          แผลงเดช
                   (ประดุจพญาครุฑแผลงเดชานุภาพคาบคั้นผลาญซึ่งนาค)
                             สยงสรเทือนพ้ยงค้าน                         ค่นเมรุฯ
                   (เสียงสะเทือนสะท้านเพียงเข้าพระเมรุหักโค้นล้มลง)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 30)

                             3.1.2.4 ตัวอย่าง ปฏิปุจฉา เช่น
                                       คุณไทธิเบศรรู้                       รยงสบ เมื่อใด
                      (พระเกียรติยศเกียรติคุณของท่านผู้เป็นอิศราธิบดีกว่าไทยใครรู้เรียบเรียงทั่วเมื่อไร)
                             ฤกล่งบาดาลกลวว                            กล่าวอ้าง
                   (พระคุณของท่านลึกล่งตลอดถึงบาดาลน่ากลัวนักซึ่งจักอวดอ้างกล่าวพจน์ถึง)
                             หนาหนักตรยบไตรภพ                        ดูโลกย ไส้แฮ
                   (พระคุณท่านนั้นหนาทั้งหนักเตรียบเทียบดูในโลกสาม คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพได้จริงแฮ)
                              ล่วงยอดยาวกว้างพ้น                         ปรยบปานฯ
                   (ล่วงสุดภวัครพรหมตามยาวตามกว้างทางอากาศพ้นที่จะเปรียบปาน)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 22)

          3.2 เนื้อหา
                   เรื่องราวในยวนพ่าย เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับสงครามเมืองเชลียง-เชียงชื่น ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แห่งกรุงศรีอยุธยา และ พระเจ้าติโลกราช แห่งล้านนา ซึ่งจากสงครามครั้งนั้นชัยชนะมีแก่อยุธยา
                   เนื้อหาในยวนพ่ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
                   ส่วนที่1 เนื้อหาจะเป็นการยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ การแบ่งภาคของเทพเจ้าในอินเดียทั้ง 11 องค์มาจุติเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ การสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระองค์ในด้านต่างๆ โดยกวีได้เปรียบเทียบพระองค์กับวีรบุรุษในอินเดีย
                   ส่วนที่2 เนื้อหากล่าวถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ตั้งแต่สมัยพระบรมราชาธิราชที่2 (เจ้าสามพระยา)จนถึง สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถขึ้นครองราชย์ และ     สามารถขับไล่กองทัพพระเจ้าติโลกราชได้ รวมไปถึงจับเจ้าแสน ผู้ทรยศต่อกรุงศรีอยุธยาได้ จากนั้นเหตุการณ์ต่อมาจะเป็นการเสด็จกลับอยุธยาของพระองค์ การผนวชของพระองค์ และการกลับมาครองราชย์ดังเดิม
                   ส่วนที่3 เนื้อหากล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งนำไปสู่สงครามเมืองเชลียง-เชียงชื่น โดยเนื้อหาจะย้อนกลับไปเล่าตั้งแต่เหตุการณ์ที่พระยายุธิษเฐียร เจ้าเมืองสองแคว(พิษณุโลก) สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา แล้วยกกองทัพล้านนามาตีเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) ต่อมากวีได้บรรยายการกระทำของพระเจ้าติโลกราชที่เริ่มระแวงคนใกล้ตัว จนถึงสั่งประหารคนต่างๆ ท้ายสุดกวีได้กล่าวถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงชื่น โดยบรรยายตั้งแต่              การจัดทัพ กระบวนทัพ การทำสงคราม  ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะในตอนท้าย
                   3.2.1 ตัวละคร
                             จากเนื้อหาจะเห็นได้ว่า กวีใช้ “คนจริง” หมายถึงคนที่มีชีวิตจริงอยู่ในประวัติศาสตร์ มาเป็นส่วนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องยวนพ่าย เช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พระเจ้าติโลกราช หมื่นนคร(หมื่นด้ง) นางเมือง(ภรรยาหมื่นนคร) เป็นต้น ในขณะที่ “คนสมมุติ” ในเรื่องนั้น ก็มีปรากฏเช่นกัน โดยกวีนำคนสมมุติมาจากเทพเจ้าในอินเดียบ้าง วีรบุรุษในอินเดียบ้าง เช่น พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ พระอินทร์ พระราม พระกฤษณะ พระภีมะ เป็นต้น ส่วนการสร้างตัวละครของกวี ซึ่งกวีใช้ทั้งการบรรยาย และบทสนทนาหรือคำพูดของตัวละครประกอบกัน การบรรยายหรือพรรณนาเพื่อสร้างตัวละคร ดังตัวอย่าง
                             กษัตริย์สุรราชเรื้อง                  รสธรรม์
            (พระอินทราชาเป็นกษัตริย์แกล้วกล้ารุ่งเรืองด้วยรู้รสพระธรรม)
                   บรรหารยอยศยวน                            พ่ายฟ้า
           (พรรณนายกย่องสรรเสริญพระเกียรติยศเจ้าฟ้าพระอินทราชาธิราชอันปราบลาวพุงดำแตกหนีไป)
                   สมภารปราบปลยกัลป์                        ทุกทวีป
          (พระราชสมภารบุญบารมีพระองค์ปราบปรปักษ์ไปทั่วทุกทวีป)
                   ร้อยพิภพเหลื่อมหล้า                          อยู่เย็นฯ
          (ร้อยพิภพธานีรุ่งเรืองเลื่อมแหล่งหล้าประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นบรมสุขยิ่งนัก)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 93)

                             ครั้นกรุงลาวรู้เล่ห                   ลวงเขา ไส้นา
           (ฝ่ายเจ้าเมืองน่านและแพร่ได้ทราบในหนังสือเล่ห์กลลวงของขุนเชียงชื่นเขาเสี้ยมเขาควายให้ชนกันดีจริงนา)
                   บัดบัญชาชมถือ                               ถ่องด้วย
          (ในทันใดนั้นท้าวน่านท้าวแพร่จึ่งตรัสสรรเสริญชื่นชมนับถือเอาเป็นความใสสว่างจริงด้วย)
                   แปรปรามว่าเรายา                            พนนแพร่ ความเลอย
          (ห้ามปรามว่าเราทั้งหลายอย่าพรั่นอย่าให้ความเรื่องนี้แพร่ออกไปเลยทีเดียว)
                   มาจึ่งเอาให้ม้วย                               เมือบใจ
          (อ้ายหมื่นนครมันมาหาเรา เราจึ่งเอาให้มันฉิบหายมากเต็มถนัดใจเราเทอญ)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 37)


                   3.2.2 ฉาก สถานที่
                             เรื่องราวและเนื้อหาเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ ดังนั้น เวลาที่ปรากฏในเรื่องจึงเป็นเวลาจริงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถครองราชย์ แม้ว่าในเรื่องนี้จะไม่ได้ระบุเวลาที่ชัดเจน หากแต่ผู้ศึกษาสามารถเทียบเคียงกับช่วงเวลาที่พระองค์ครองราชย์ได้ ทั้งนี้เวลาในเรื่องไม่ได้ระบุปีพ.ศ. หรือช่วงเวลาที่เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากกวีใช้การเล่าเหตุการณ์ต่อๆกันไป จากเหตุการณ์ช่วงหนึ่งไปอีกช่วงหนึ่ง ส่วนสถานที่นั้น กวีใช้สถานที่จริงที่มีจริง เช่น เมืองเชลียง เมืองเชียงใหม่ เมืองสุโขทัย เมืองอยุธยา เมืองน่าน เมืองแพร่ เป็นต้น

                   3.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             กวีได้ลำดับเหตุการณ์ในเรื่องตั้งแต่เปิดเรื่อง ดำเนินเนื่อง และปิดเรื่องไว้ดังนี้ การเปิดเรื่อง กวีใช้ร่ายในการสรรเสริญและยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ
การดำเนินเรื่อง กวีดำเนินเรื่องตามลำดับช่วงเวลา โดยมีการสลับเหตุการณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน            การปิดเรื่อง กวีปิดเรื่องด้วยความสำเร็จ คือ ชัยชนะในสงครามเมืองเชลียง-เชียงชื่น ของพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถต่อพระเจ้าติโลกราช จากนั้นกวีได้สรรเสริญพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถปิดท้าย

          3.3 แนวคิด
          จากการศึกษาแนวคิดในเรื่อง พบว่าแนวคิดหลัก คือ การเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ และความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

          3.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                    คุณค่าที่ได้รับจาก ยวนพ่าย มีดังนี้
                   3.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             ในเรื่องยวนพ่าย กวีมุ่งสรรเสริญและยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏให้เห็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา

                   3.4.2 คุณค่าทางอารมณ์
                             ในเรื่องยวนพ่ายนี้ อารมณ์ที่ปรากฏ จะเป็นอารมณ์ยกย่องเชิดชูพระมหากษัตริย์

                             3.4.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์ยกย่อง เช่น
                                       พระเบญเญศรยิ่งพ้ยง      สูรยจันทร แจ่มแฮ
          (พระปัญญาของท่านยิ่งพ้นมนุษย์ในยุคนั้น เห็นสว่างดั่งพระอาทิตย์ พระจันทร์ร้อน                สว่างแฮ)
                             อดิตานาคต                          ปล่งแปล้
          (ทรงทราบซึ่งกาลสองถึงลึกซึ้งกาลใดดีทรงปฏิบัติ กาลใดไม่ดีก็ปลดเปลื้องไม่ปฏิบัติ)
                             ปรจุบนนนทงงสามสรร             เพชญถึ่ง แถลงแฮ
          (การในปัจจุบันนี้กับที่ล่วงแล้วด้วยแลกกาลที่ยังไม่มาด้วยทรงรู้ถึงอาจแถลงได้แฮ)
                             เลงล่งไตรภพแท้                     ท่ววทรยนฯ
                   (เล็งเห็นตลอดล่งในกาลสามฝ่ายโลกีย์ทั่วแท้ เทียรย่อมเหมือนพระพุทธเจ้ารู้จบไตร                 ภพ)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 21)

                                       ยศพระผายผ่านพ้น        พนนแสง ส่องแฮ
          (พระเกียรติยศของท่านแผ่ไปมากเหมือนพระอาทิตย์ส่องแสงไปถึงพันโยชน์)
                             อำนาจพระรอนรงค                 จ่อมจ้งง
(พระอาญาของสมเด็จพระอินทราชาเจ้านี้ท่านเบียนศัตรูในสนามรบกดจมลงตั้งแข็งเมืองขึ้นได้)
                             พระเสด็จสำแดงดู                   ดาลเดช พระฤๅ
          (พระเจ้าไปแสดงฤทธิ์พิศดูเดชะช่องของพระองค์ฤๅลือตลอดทั่วทุกทิศ)
                             เพราะเพื่อนพระเจ้าต้งง             ชอบชาญฯ
                   (พระเดชเลื่องลือไปดั่งนี้ เพราะพระองค์ตั้งอยู่ในความสุจริตแลทรงพระเฉลียวฉลาด)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 34)

                   3.4.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             วัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องยวนพ่ายนั้น จะเห็นได้จาก ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ แม้กระทั่งการรบ หรือการชนช้าง ก็ล้วนต้องมีพิธีกรรมทั้งสิ้น นอกจากนี้ในเรื่องนี้ยังมีทั้งวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอินเดีย ที่ปรากฏ รวมไปถึงความเชื่อที่ปรากฏในเรื่อง ดังนี้

                             3.4.3.1 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องมนต์คาถา เช่น
                                      การช้างพิฆเนศรน้าว      ปูนปาน ท่านนา
(การวิชาเศกมนต์ร่ายเรียกช้างร้ายมาได้ดั่งใจนึก ดุจพระพิฆเนศวรบุตรพระอิศวรอัน      เป็นเจ้าวิชาเชี่ยวชาญในการเรียกช้างสิบตระกูลได้ดั่งปรารถนา)
                                      อัศวทำนยมกลางรงค                เลอศแล้ว
                             (ทำนองทำเนียมม้าเข้ารบกล้างที่รบก็เลิศลบจบสิ้น)
                                      การยุทธช่วยชาญกล                กลแกว่น
                             (การรบรู้ไวในกลเชิงกลก็ว่องไว)
                                      ไกรกว่าอรรชุนแก้ว                  ก่อนบรรพฯ
                             (ยิ่งกว่าอรชุนเทพบุตร อันรบแกล้วกล้าแต่ปางก่อน)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 18)

                             3.4.3.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ เช่น
                                      เชองโหรเหนแม่นแม้น     มุนิวงศ
(ชั้นเชิงกระบวนโหราศาสตร์เล่า ท่านดูเห็นแม่นเหมือนวงศ์ท่านที่เป็นปราชญ์ผู้มีนิ่งเป็นธรรมดา)
                                      สบศาสตราคมยล                    ล่งล้วน
                             (ทั่วคัมภีร์แลวิชาอาคมท่านเห็นล่งตลอดจบทุกคัมภีร์)
                                      สบศิลปสำแดงทรง                  ทายาท ไส้แฮ
                             (ทั่ววิชาท่านสำแดงได้แล้วก็ทรงพระราชทานสอนศิษย์ได้จริงแฮ)
                                      สบสิพาคมถ้วน                      ถี่แถลงฯ
(ทั่วอาคมเสกอัญเชิญหมู่เทวดาอินทร์พรหมมีพระอิศวรเป็นต้น ท่านกล่าวได้ถี่ถ้วน)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 20)

                                      แขวงขวาบริศาจซ้าย      กุมภัณฑ์
                   (พระครูโหราจารย์ก็ตั้งศาลบวงสรวงมเหสักข์อัญเชิญภูตปีศาจผีห่าผีโหงให้รักษา          แขวงข้างขวา เชิญกุมภัณฑ์ยักษ์อัครมุขีอันมีมเหสักข์ให้รักษาแขวงข้างซ้าย)
                   กรกระลึงเขนแปร                   ง่าง้าว
                   (มือถือโล่ เขน ดาบ แกว่งไปมา ลางถือดั้ง ถือทวน ปะทวนท่าง่าง้าวเงื้อดูน่ากลัว)
                   แสงสัตรมลังเมลืองฉัน               ฉลุเมฆ
                   (แสงสรรพศาสตราวุธแปลบปลาบวาบวาวราวกะปรุทะลุเมฆาน่าพิศวง)
                   พลพวกหาญห้าวห้อม               พยบไพรฯ
                   (พวกพลโยธาล้วนแต่กล้าแต่หาญเต็มลานทุ่งห้อมล้อมเพียบไพร)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 63)
                   3.4.4 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
                             ยวนพ่ายเป็นวรรณคดีที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ ในคราวสงครามเมืองเชลียงและเมืองเชียงชื่น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่จะได้ศึกษา

                   3.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             3.4.5.1 การเล่นคำ
                                       การเล่นคำที่ปรากฏในยวนพ่าย มีดังนี้
                                      3.4.5.1.1 ตัวอย่าง การซ้ำคำ เช่น
                                       ทวิบททวิชาติเชื้อ          สุรยวงษ ท่านฤๅ
                             ทวิคุณาธิกธรรม์                     เลอศล้น
                             ทวีพิธทวีธารทรง                     สุรยเสพย ไส้แฮ
                             เทวภาพเทวหกพ้น                  แว่นไวฯ
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 7)

                                      กลริรณแม่นพ้ยง           พระกฤษณ
                             กลต่อกลกนนกล                    กยจก้งง
                             กลกลตอบกลคิด                     กลใคร่ ถึงเลย
                             กลแต่งกลต้งงรี้                      รอบรณฯ
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 19)

                                      ลวงหาญหาญกว่าผู้        หาญเหลือ ว่านา
                             ริยิ่งริคนริ                            ยิ่งผู้
                             ลวงกลใส่กลเหนือ                   กลแกว่น กลแฮ
                             รู้ยิ่งรู้กว่ารู้                           เรื่องกล
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 20)



                             3.4.5.2 น้ำเสียง
                                       น้ำเสียงที่ปรากฏในเรื่องนั้น โดยมากจะเป็นน้ำเสียงยกย่อง สรรเสริญ
                                      3.4.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงยกย่องสรรเสริญ เช่น
                                                การช้างพิฆเนศรน้าว                ปูนปาน ท่านนา
                    (การวิชาเศกมนต์ร่ายเรียกช้างร้ายมาได้ดั่งใจนึก ดุจพระพิฆเนศวรบุตรพระอิศวร
                    อันเป็นเจ้าวิชาเชี่ยวชาญในการเรียกช้างสิบตระกูลได้ดั่งปรารถนา)
                                       อัศวทำนยมกลางรงค                         เลอศแล้ว
                    (ทำนองทำเนียมม้าเข้ารบกลางที่รบก็เลิศลบจบสิ้น)
                                       การยุทธช่วยชาญกล                          กลแกว่น
                    (การรบรู้ไวในกลเชิงกลก็ว่องไว)
                             ไกรกว่าอรรชุนแก้ว                           ก่อนบรรพฯ
                    (ยิ่งกว่าอรชุนเทพบุตร อันรบแกล้วกล้าแต่ปางก่อน)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 39)

                                                ชยชยยศโยคเจ้า                     จักรกรี
                    (สมเด็จพระอินทราชาธิราชเจ้าจักรีมีความชัยชนะแก่ข้าศึกอธึกด้วยยศศักดิ์บริวาร)
                                       ไกรเทพศรีสาคร                               เฟื่องหน้า
                    (ไพศาลฟุ้งเฟื่องเลื่องลือในแหล่งหล้าเทียมเทวดาสามนามพระพรหมธาดาแลพระอิศราไกลลาศแลพระศรี สาครนารถนารายณ์ฉะนั้น)
                                       ชยชยเมื่อพูนศรี                               นางนาฎ
                    (เมื่อพระองค์มีชัยชนะแก่เมืองเชลียงได้อนงค์นางกษัตรีย์มาเพิ่มพูนพระบารมี)
                                       ชยบพิตรพ้นฟ้า                               เพื่อมมาฯ
                    (บรมบพิตรเจ้ามีชัยแก่เมืองเชลียงแล้วเมืองฝ่ายเหนือพ้นเชลียงขึ้นไปได้มาเพิ่มพูนพระบารมีอีกมากมาย)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 91)

                                                กษัตริย์สุรราชเรื้อง                  รศธรรม์
                    (พระอินทราชาเป็นกษัตริย์แกล้วกล้ารุ่งเรืองด้วยรู้รสพระธรรม)
                                       บรรหายศยอยวน                                       พ่ายฟ้า
                    (พรรณนายกย่องสรรเสริญพระเกียรติยศเจ้าฟ้าพระอินทราชาธิราชอันปราบลาวพุงดำแตกหนีไป)
                                       สมภารปราบปลยกัลป์                        ทุกทวีป
                    (พระราชสมภารบุญบารมีพระองค์ปราบปรปักษ์ไปทั่วทุกทวีป)
                                       ร้อยพิภพเหลื่อมหล้า                          อยู่เย็นฯ
          (ร้อยพิภพธานีรุ่งเรืองเลื่อมแหล่งหล้าประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นบรมสุขยิ่งนัก)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 93)

4. จินดามณี
          จินดามณี เป็นวรรณคดีประเภทตำรา ซึ่งนอกจากจะมีรูปแบบเป็นตำราเรียนภาษาไทยแล้วนั้น จินดามณียังบันทึกประวัติศาสตร์บางส่วนไว้ด้วย โดยจินดามณีนั้น มีผู้เขียนไว้หลายฉบับด้วยกัน เช่น ฉบับโหราธิบดี ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ฉบับหมอบรัดเล เป็นต้น ซึ่งในการศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้ ผู้เขียนได้ศึกษาจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยฉบับนี้กวีมีการนำเสนอผลงานที่สมบูรณ์ ชัดเจน เป็นลำดับ

          4.1 รูปแบบคำประพันธ์
          กวีใช้ร้อยกรองในการเสนอผลงาน โดยประกอบด้วยร้อยกรองหลายประเภททั้ง ร่าย กาพย์ โคลง ฉันท์ ความโดดเด่นของการเสนอผลงานของกวี คือลักษณะการสอนแต่งโคลง ซึ่งกวีจะใช้ลำดับการสอนดังนี้
                   1. มีแผนผังโคลงให้ดูเป็นตัวอย่าง
                   2. มีโคลงตัวอย่างให้ศึกษา
                   3. มีโคลงอธิบาย อธิบายวิธีการแต่งโคลง
                   4. ยกตัวอย่างโคลงแบบต่างๆ 23 แบบ
          จากลำดับการสอนข้างต้น จะเห็นว่ากวีมีลำดับการสอนจากขั้นพื้นฐานไปสู่การแต่งโคลงแบบต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                        ผิว  ผู้จะทำสุภาพโครง  ให้ดูดุจกระบวนดังนี้
                          ๐่  ๐้                               
                      ๐่                                    ๐่  ๐้
                   ๐    ๐่                                             ๐  ๐่
                      ๐่      ๐้                              ๐่  ๐้
                  
              สิบเก้าสาวภาพแก้ว                        กรองสนธิ์
             จันทรมณฑลกล                            สี่ถ้วน
            พระสุริยเสด็จดล                            เจ็ดแห่ง
            แสดงว่าครูโครงล้วน                        เศษสร้อยมีสอง
                                      โครงตัวอย่าง
                   เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง                 อันใด  พี่เอย
             เสียงย่อมยอยศใคร                         ทั่วหล้า
             สองเขือพี่หลับไหล                         ลื่มตื่น  ฤๅพี่
             สองพี่คิดเองอ้า                             อย่าได้ถามเผือ ฯ
                                      โครงอธิบาย
                   ให้ปลายบทเอกนั้น                  มาฟัด
          ห้าที่บทสองวัจน์                               ชอบพร้อง
          บทสามดุจเดียวมัด                            ในที่  เบญจนา
          ปลายแห่งบทสองต้อง                         ที่ห้าบทหลัง ฯ
                                                           (กรมศิลปากร, 2554, น.45 )

                   4.1.1 ภาษา
                             ด้วยจินดามณีเป็นตำราเรียนภาษาไทย ดังนั้นกวีใช้ภาษาในมาตรฐาน คำที่ปรากฏจึงเป็นคำสุภาพ และคำราชาศัพท์
                             4.1.1.1 ตัวอย่าง คำสุภาพ เช่น
                                      ข้าห้ามข้าเตือนพี่                    แลมิฟังคำน้องชาย
                             นบนิ้วบังคมถวาย                             กล่าวให้ชอบบ่ยอมยิน
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 65)

                             4.1.1.2 ตัวอย่าง คำราชาศัพท์ เช่น
                                      สรวมชีพขอถวาย   บังคมโดยหมาย   ภักดีภิรมย์เสร็จ  จำนองฉันท  จำแนกนิยมวิธีนุกรม  เพื่อให้แจ้งแจง
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 57)



                   4.1.2 โวหาร
                             แม้ว่าจินดามณีจะเป็นตำราเรียน แต่กวีก็ใช้โวหารประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้อรรถรสยิ่งขึ้น โวหารที่ปรากฏ เช่น อติพจน์ สมนัย เป็นต้น

                             4.1.2.1 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                      ค่าไข้รรักอาจอ้าง          คณนา
                             ขรางปลัดพีธพา                     เพกขว้ำ
                             ตกสมุทเทียงชลธา                   ทูทุ่น ตีนเอ
                             สัตวมากมวนในน้ำ                  คลั่งแค้นระเหหน ฯ
                                                                    (กรมศิลปากร, 2543, น. 39)

                             4.1.2.2 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
                                      รักผัวเสมอชีพน้อง         นงพงา
                             เราเฉกเพียงดวงงาม                 ชื่นช้อย
                             ตนชายคือพฤกษา                   ลำมาศ
                             เปนพำนักนิขวัญสร้อย              อาไศรย ฯ
                                                                    (กรมศิลปากร, 2543, น. 60)

          4.2 เนื้อหา
                    เนื้อหาในจินดามณีซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทย สามารถแบ่งเนื้อหาออกได้เป็น                 2 ส่วน คือ
                   ส่วนที่ 1 ความรู้เบื้องต้นทางภาษาไทย ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้ จะเกี่ยวข้องกับอักษรศัพท์(คำศัพท์ต่างๆ) ตัวอย่างคำที่ใช้ส,ศ,ษ คำที่ใช้ไม้ม้วน20คำ ไม้มลาย 80คำ การจำแนกอักษร3หมู่ การแจกลูก การผันอักษร
                   ส่วนที่ 2 การแต่งคำประพันธ์ เนื้อหาจะเกี่ยวกับการอธิบายวิธีการแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ โคลง ประเภทต่างๆ การแต่งลิลิต การแต่งกาพย์ห่อโคลง ฉันท์ประเภทต่างๆ

                   4.2.1 ตัวละคร
                              ในเรื่องจินดามณี กวีได้กล่าวถึงคนต่างๆ ได้แก่ ผู้ชาย ผู้หญิง กษัตริย์ บิดา ภรรยา  เป็นต้น และได้กล่าวถึงเทวดา เช่น พระอินทร์ พระพรหม เป็นต้น สัตว์ในจินตนาการ เช่น ครุฑ นาค เป็นต้น 
4.2.2 ฉาก สถานที่
          โดยในเรื่องนี้กวีใช้สถานที่เสมือนจริง เช่น ป่า ไร่นา และฉากในจินตนาการของกวี
คือ สวรรค์

4.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                   การลำดับเหตุการณ์ในเรื่องนั้น กวีใช้การลำดับเรื่องดังนี้ กวีเปิดเรื่องด้วย บทไหว้ครู(ร่าย) ต่อด้วยคำศัพท์ต่างๆ(อักษรศัพท์)  การดำเนินเรื่อง กวีใช้วิธีเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เป็นลำดับ โดยเริ่มสอนตั้งแต่เรื่องการใช้คำ การผันอักษร ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน นำไปสู่การแต่งคำประพันธ์ประเภทต่างๆ และการปิดเรื่อง กวีปิดเรื่องด้วยการสรุปคุณค่าของการศึกษา

          4.3 แนวคิด
          แนวคิดหลักของเรื่องจินดามณี คือ การสอนการใช้คำ และการสอนการแต่งคำประพันธ์ ส่วนแนวคิดย่อย ได้แก่ ความกตัญญู ความใฝ่รู้ เป็นต้น

          4.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
4.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
          จินดามณีเป็นวรรณคดีที่อยู่ในประเภทของแบบเรียน กวีมุ่งนำเสนอเนื้อหาเพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ ดังนั้นตัวอย่างต่างๆที่ปรากฏในเรื่อง จึงเป็นตัวอย่างที่สอนเรื่องต่างๆ ทั้ง ความกตัญญู ความใฝ่รู้ ซึ่งผู้อ่านหรือผู้ศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้จะได้รับความรู้ ควบคู่ไปกับ คำสอน ข้อคิดต่างๆที่แฝงอยู่

                    4.4.2 คุณค่าทางปัญญา
                             วรรณคดีแต่ละเรื่องจะมีคุณค่าที่แตกต่างกัน จินดามณีเป็นวรรณคดีหนึ่งในไม่กี่เรื่อง ที่เน้นคุณค่าทางปัญญา โดยมุ่งนำเสนอความรู้เบื้องต้นทางภาษาไทย หลักการต่างๆในการใช้ภาษา การแต่งคำประพันธ์ โดยกวีได้นำเสนอความรู้ดังกล่าวไว้อย่างละเอียด และมีตัวอย่างประกอบ จึงทำให้ผู้อ่านสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มเติมความรู้ของตน

                    4.4.3 คุณค่าทางอารมณ์
                             ในเรื่องนี้ผู้อ่านจะได้สัมผัสอารมณ์รัก อารมณ์เศร้า ดังนี้
                             4.4.3.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       แท่นเดียวนอนเน่งเกี้ยว             กลม
                             พี่พบแม่ยามเกี้ยว                             ก่อง
                             ชู้ชมออนอวรเปลี่ยว                           คู่
                             เมื่อยาใจส้างเสี้ยว                             ข้อยแส้ง เปนฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 39)

                             4.4.3.2 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                       ขึ้งเคียดขับข้าหนี                    นิราศร้างพระภูมินทร์
                             เจียรจากเจ้าแผ่นดิน                          รอยรูบกาลใจดล
                                       มาถึงแก่ฉิบหาย                     วายวอดทังรี้พล
                             ย่อมญาติกากล                                ประไลยจักรพาลพังฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 65)
                    4.4.4 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             วรรณคดีเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นความคิด ความเชื่อ ของคนในอดีต ซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ จะเห็นได้จากการที่กวีได้รวบรวมความรู้เบื้องต้นทางภาษาไทย เพื่อที่จะให้ผู้ที่สนใจได้สามารถเรียนรู้

                    4.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             4.4.5.1 น้ำเสียง
                             ในเรื่องนี้ กวีใช้น้ำเสียงเชิงสั่งสอน
                                      4.4.5.1.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงเชิงสั่งสอน เช่น
                                                ชื่อว่าสรรพนาม นักปราชจึ่งประกอบ เพราะให้ใช้สรรพกาพยกลอนทังปวง ถ้าแลมิได้เรียนถ้อยคำทั้งปวง จแปลอักษรให้เรียนจึ่งจรู้อักษรใช้จให้ชอบ แลนักปราชทังปวงพึงเรียน ตามบังคับไว้นี้แลฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 17)







สรุป
          วรรณคดีในสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลางนี้ มีความหลากหลายของเนื้อหา และมีความโดดเด่นของแต่ละเรื่องที่แตกต่างกัน ลิลิตพระลอ เป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่เริ่มมีการใช้ฉันทลักษณ์ร่วมกัน คือ ลิลิต เป็นการแต่งด้วยร่ายและโคลง เนื้อหาในเรื่องได้สอดแทรกข้อคิดในเรื่องของความรัก ทั้งความรักของแม่ลูก และความรักของหนุ่มสาว ซึ่งกวีได้นำเสนอผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่หลากหลายทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสเป็นอย่างยิ่ง ยวนพ่าย วรรณคดีที่บันทึกประวัติศาสตร์และใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ แม้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้จะค่อนข้างยากแก่การศึกษาเนื่องจากใช้ภาษาที่เก่า แต่ก็แสดงให้เห็นความสามารถของกวีที่ได้มีความสร้างสรรค์ในการใช้ภาษา และใช้โวหารที่สละสลวย เรียบเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ให้เป็นเรื่องราวในวรรณคดีได้อย่างน่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง  ในขณะเดียวกัน ในสมัยนี้นั้นก็ได้ปรากฏ แบบเรียนเล่มแรก คือ จินดามณี ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในการใช้ภาษาไทย การแต่งคำประพันธ์ โดยกวีได้ยกตัวอย่างประกอบด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน และสามารถที่จะใช้ภาษาไทยหรือแต่งคำประพันธ์ได้อย่างถูกต้อง

คำถามทบทวน









 
เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2506). ลิลิตพระลอ. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
_______. (2510). ลิลิตพระลอ (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: พระจันทร์.
_______. (2514). ลิลิตยวนพ่าย. ธนบุรี: บรรณาคาร.
_______. (2543). จินดามณี. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์.
_______. (2554). จินดามณี. กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต.
เปลื้อง ณ นคร. (2515). ประวัติวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่7). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
พระอุบาฬีคุณูปมาจารย์. (2550). ยวนพ่ายโคลงดั้นฉบับแปลและความเรียงเรื่องยวนพ่าย. กรุงเทพฯ:      บริษัท สหธรรมิก จำกัด.
วิภา กงกะนันทน์. (2553). รายงานการเขียนหนังสือ ประวัติวรรณคดีไทยโบราณว่าด้วยผู้แต่งกวี นิพนธ์เรื่องยวนพ่ายและลิลิตพระลอ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
_______. (2555). ประมวลผลการวิจัยว่าด้วยการค้นพบ ประวัติผู้แต่งกวีนิพนธ์เรื่องยวนพ่ายและ          ลิลิตพระลอ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
สุภา ฟักข้อง. (2530). วรรณคดีไทยก่อนรับอิทธิพลจากตะวันตก. กรุงเทพฯ: กรมการฝึกหัดครู.



 
 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง