ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 5 กลวิธีของการประพันธ์ (ต่อ)

1.การสร้างตัวละคร (characterization)
          การสร้างตัวละครในการประพันธ์ ควรพิจารณากลวิธี 3 ประการนี้ คือ การเลือกประเภทของตัวละคร แนวการสร้างตัวละคร และวิธีสร้างตัวละคร

          1.1 การเลือกประเภทของตัวละคร
                   ตัวละครที่ปรากฏในวรรณคดีไทย มีหลากหลายประเภททั้งที่เป็นคน สัตว์ อมนุษย์ ธรรมชาติ อาหาร นามธรรม ฯลฯ โดยตัวละครต่างๆที่ปรากฏนั้นมีทั้งที่เป็นจริง และ ตามจินตนาการ
ตัวอย่าง
                   เรื่องไกลบ้าน ผู้เขียนได้กล่าวถึงคนจริง เช่น รัชกาลที่5 สมเด็จพระ(ศรีพัชรินทรา)บรมราชินีนาถ เจ้าพระยาภาณุวงษ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เป็นต้น คำว่าคนจริงนั้น คือคนที่มีตัวตนจริงๆ ไม่ได้สมมุติขึ้นตามจินตนาการของผู้เขียน                   
                                                                             (สำนักราชเลขาธิการ, 2537)
                   ในขณะที่  เรื่องมัทนะพาธา มีตัวละครที่เป็นคนสมมติ โดยกวีแบ่งตัวละครสมมุติออกเป็น ตัวละครบนโลกมนุษย์ ได้แก่ พระกาละทรรศิน โสมะทัต นาค ศุน ท้าวชัยเสน ศุภางค์             เป็นต้น และตัวละครบนสวรรค์ คือเหล่าเทวดา นางฟ้า คนธรรพ์ สุเทษ จิตระเสน จิตระรถ มายาวิน นางมัทนา เป็นต้น                                      
                                                         (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551)

          1.2 แนวการสร้างตัวละคร
                   แนวการสร้างตัวละครนั้นมีหลากหลายแนว ดังนี้
                   1.2.1 การสร้างตามอุดมคติ (idealistic) คือการสร้างตัวละครตามที่นักเขียน หรือกวีต้องการให้เป็น ดังจะเห็นได้จาก “ยุธิษฐิระ” ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องมหาภารตยุทธ ลักษณะนิสัยของยุธิษฐิระนั้น จะเป็นผู้ที่เสียสละ ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น จิตใจดี มีเมตตา ตัวละครลักษณะนี้จะมีพฤติกรรมตามอุดมคติของนักเขียนหรือกวี
                   1.2.2 การสร้างให้สมจริง(realistic)  คือการสร้างให้ตัวละครมีลักษณะนิสัยคล้ายคนจริง ซึ่งตัวละครจะมีความโลภ โกรธ หลง เหมือนกับคนทุกประการ ซึ่งนักเขียนหรือกวีจะประพันธ์โดยเทียบเคียงกับพฤติกรรมของคนจริงในสังคม ทำให้ตัวละครแบบนี้สร้างความสมจริง และทำให้ผู้อ่านเชื่อมากกว่าตัวละครแบบอุดมคติ                     
                   1.2.3 การสร้างแบบเหนือจริง (surrealistic) คือการสร้างโดยมีพฤติกรรมที่เหนือมนุษย์ สร้างตามจินตนาการของกวี ตัวละครแบบนี้จะเป็นผู้วิเศษต่างๆ ที่มีอิทธิฤทธิ์ เช่น ฤๅษี เทวดา เป็นต้น
                   1.2.4 การสร้างแบบบุคลาธิษฐาน (personification) คือการสร้างตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ให้ทำอากัปกิริยาเหมือนมนุษย์ ในบางกรณี นักเขียนหรือกวีก็สร้างลมให้พูดได้ หรือสร้างเมฆให้ร้องไห้ ซึ่งทั้งลมและเมฆ ไม่ใช่คน แต่ทำกิริยาเหมือนคน
                   1.2.5 การสร้างโดยใช้ตัวละครแบบฉบับ(type) คือ ตัวละครที่มีบุคลิกคงที่ หรือ      ตัวละครไร้ชีวิต (flat) ซึ่งตัวตัวละครแบบนี้ ถ้าดีก็จะดีมาก ถ้าร้ายก็จะร้ายมาก

          1.3วิธีสร้างตัวละคร
                   นักเขียนหรือกวีมีวิธีการสร้างตัวละครให้เป็นไปตามแนวที่ตนเองต้องการ ได้หลายวิธี ดังนี้
                   1.3.1 การบรรยายหรืออธิบายบุคลิกภาพทั้งหมด
                             วิธีสร้างตัวละครแบบนี้ผู้เขียนจะบรรยายบุคลิกลักษณะของตัวละครตัวนั้นทั้งหมด ผู้อ่านจะเห็นภาพตัวละครจากคำบรรยายของผู้เขียน
                   1.3.2 การให้ตัวละครอื่น ๆ บรรยาย อธิบาย หรือกล่าวถึง
                             วิธีการนี้จะสร้างความสมจริงให้กับตัวละคร โดยที่ผู้เขียนจะใส่บทสนทนาหรือคำรำพึงของตัวละครอื่น เพื่อกล่าวถึงตัวละครนั้น
                   1.3.3 การใช้พฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง
                             วิธีการนี้จะเน้นพฤติกรรมต่างๆของตัวละคร ที่บอกถึงนิสัยของตัวละครตัวนั้น
                   1.3.4 การใช้ปฏิกิริยาของตัวละครอื่นสร้างตัวละคร
                             วิธีการนี้ ผู้เขียนจะบรรยายท่าทาง กิริยาอาการที่ตัวละครอื่นมีต่อตัวละครนั้น
                  
2.การสร้างฉาก (Scene)
          การสร้างฉากในวรรณคดีจะกล่าวรวมทั้งเรื่องของสถานที่ สิ่งแวดล้อม และเวลา กลวิธีการสร้างฉากของกวีแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน โดยฉากที่ปรากฏก็จะสอดคล้องกับแนวเรื่อง เนื้อเรื่องนั้นๆ การสร้างฉากส่วนใหญ่ในวรรณคดี มีดังนี้
          2.1 การสร้างฉากตามอุดมคติ จะคล้ายกับการสร้างตัวละครตามอุดมคติ คือการที่กวีคิดว่าฉากนั้นควรจะเป็นเช่นไร กวีจึงสร้างฉากนั้นขึ้นมาตามที่กวีชอบหรือต้องการให้เป็น
          2.2 การสร้างฉากในลักษณะของมัณฑนศิลป์ เป็นลักษณะของการใช้วิธีการทางมัณฑนศิลป์คือเน้นการตกแต่งให้เกิดความสวยงามในฉาก เพื่อให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสจากการอ่านยิ่งขึ้น การสร้างฉากตามมัณฑนศิลป์นั้นไม่ใช่ฉากที่สมจริง แต่เป็นดังจินตนาการของกวีที่ต้องการแต่งแต้ม หรือเพิ่มความสวยงามให้กับฉาก
          2.3 การสร้างฉากเหมือนจริง คือการที่กวีพยายามเลียนแบบฉากจริง โดยใช้ภาษาสร้าง ฉากให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด การสร้างฉากแบบนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกสมจริงมากที่สุด ซึ่งกว่าที่ผู้เขียนจะสร้างฉากเหมือนจริงได้ ผู้เขียนจะต้องศึกษาจากฉากจริงก่อน ว่ามีองค์ประกอบเช่นไร            เพื่อจะได้สร้างให้เหมือนจริงที่สุด
          2.4 การสร้างฉากให้มีลักษณะเหนือจริง จะอาศัยจินตนาการของกวี ซึ่งฉากที่ปรากฏจะไม่ใช่ฉากที่เห็นได้โดยทั่วไป กวีจะสรรค์สร้างให้ผู้อ่านรู้สึกตื่นเต้นกว่าปกติ คำว่า “เหนือจริง” ในที่นี้ อาจจะเป็นฉากที่ไม่ได้เกิดในความเป็นจริง แต่กวีสร้างขึ้นมา
          2.5 การสร้างฉากตามประเพณีนิยม คือ การสร้างฉากในลักษณะของการชมโฉม ชมธรรมชาติ ซึ่งเป็นประเพณีของกวีไทย

3.วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)
          วิธีการนำเสนอผลงานของวรรณคดีไทยนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 แบบ ดังนี้
                   3.1 การนำเสนอผลงานด้วยร้อยกรอง อาจแบ่งออกได้เป็นการนำเสนอด้วย         ร้อยกรองตามฉันทลักษณ์ดั้งเดิมต่างๆ เช่น กาพย์ กลอน ร่าย เป็นต้น และการนำเสนอร้อยกรองแบบผสมฉันทลักษณ์ เช่น ลิลิต กาพย์ห่อโคลง เป็นต้น
                   3.2 การนำเสนอผลงานด้วยร้อยแก้ว ผู้เขียนอาจมีวิธีการนำเสนอที่หลากหลาย เช่น ใช้บรรยายหรือพรรณนาโดยตลอดทั้งเรื่อง ใช้บรรยายหรือพรรณนาสลับกับบทสนทนา เป็นต้น             การใช้บทสนทนาในการนำเสนอผลงานด้วยร้อยแก้วนั้น อาจมีเครื่องหมายคำพูดประกอบ หรือไม่มีเครื่องหมายคำพูดก็ได้ วิธีการที่พบในการนำเสนอผลงานร้อยแก้ว เช่น ใช้บทสนทนาตัวละครเป็นหลัก ใช้การเลียนความคิดของมนุษย์ ใช้การเขียนจดหมาย เป็นต้น
                   3.3 การนำเสนอผลงานด้วยการผสมผสาน คือมีร้อยแก้วและร้อยกรองด้วยกันในงานเดียว ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสทั้งจากความงามของร้อยกรอง การใช้ภาษาของร้อยแก้ว



4.กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)
          กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)คือกรรมวิธีที่กวีหรือนักเขียนแต่ละคน อาจจะใส่เพิ่มเติมในงานประพันธ์เพื่อให้น่าสนใจ หรือมีลูกเล่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางงานประพันธ์อาจมีกรรมวิธีเบ็ดเตล็ดมากมายประกอบกัน กรรมวิธีเบ็ดเตล็ดที่ผู้เขียนจะนำเสนอเป็นตัวอย่าง มีดังนี้
          4.1 การเล่นคำ
                   การเล่นคำ เป็นกลวิธีการสลับคำและการใช้คำพ้องเสียงซึ่งเป็นการสร้าง                   ความสนุกสนาน ความบันเทิง เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกสนุกสนาน ดังตัวอย่าง               
                             เรียนจริงอิงหลักได้                  ดีเรียน
                   ฤๅว่าสักแต่เลียน                               ว่ารู้
                   เพียรเรียนใช่เลียนเพียร                       พิทเยศ
                   ปราศวิชาพาคู้                                 คุดเค้าเดาเดิน
                                            (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505,  น. 251)

          4.2 น้ำเสียง
                   น้ำเสียง คือสิ่งที่ผู้อ่านจะต้องตีความสิ่งที่ผู้เขียนสื่อออกมาผ่านตัวอักษร ว่าผู้เขียนนำเสนองานด้วยน้ำเสียง ประเภทใด เช่น น้ำเสียงประชด น้ำเสียงถากถาง น้ำเสียงรื่นเริง น้ำเสียงเคร่งเครียด น้ำเสียงห่วงใย น้ำเสียงรัก น้ำเสียงสั่งสอน เป็นต้น
                   4.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงสั่งสอน เช่น
                   “...ผู้ใดแลจะปรารถนาไปเกิดในเมืองสวรรค์ไส้อย่าได้ประมาทลืมตน ควรเร่งขวนขวายกระทำกุศลบุญธรรมใหทานรักษาศีลเมตตาภาวนาอุปฐากรักษาศีล บิดามารดาผู้เฒ่าผู้แก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์แลสมณพราหมณ์ผู้มีศีลไส้ ก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์แลฯ กล่าวถึงไตรตรึงษ์เมืองสวรรค์แล้วแต่เท่านี้แลฯ”
                                                                              (พญาลิไทย, 2527, น. 229)

                    4.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงประชดประชัน เช่น
                             เมื่อนั้น                               โฉมยงองค์ประไหมสุหรี
                   เห็นอิเหนาเข้ามาอัญชลี                      จึงมีมธุรสพจนา
                   นี่หาว่าชีวันไม่บรรลัย                         จึงได้เห็นพักตร์โอรสา
                   มิเสียแรงกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา                 เสน่ห์ก็ไม่เสียทีฯ
                                                (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553,น. 86)

                   4.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงเศร้า เช่น
                             ลูกตายก็ตายแล้ว           เจ็บบตายเห็นหน้าแก้ว
                   เกิดเกล้ากูมาฯ
                             น้ำตาไหลหลั่งไห้                    เป็นเลือดตกอกไหม้
                   ออกท้าวฤๅเห็น ลูกเลยฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 73)

          4.3 การเปลี่ยนแปลงของสภาวะของตัวละคร
                   การเปลี่ยนแปลงของสภาวะของตัวละคร คือการเปลี่ยนจากสภาวะหนึ่งไปอีกสภาวะหนึ่ง หรือรูปลักษณ์ไปอีกรูปลักษณ์หนึ่ง  การเปลี่ยนแปลงสภาวะของตัวละครนี้ เป็นส่วนหนึ่งในจินตนาการของกวี  ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตัวละคร ในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน
                   ในเรื่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละคร คือจากคนแปลงร่างเป็นสัตว์ จะเห็นได้จากเถรขวาด ที่แปลงร่างเป็นจระเข้ และในตอนที่เถรขวาดกับพลายชุมพลต่อสู้กัน ก็มีการแปลงร่างเป็นสัตว์หลายๆชนิด เช่น ช้าง เสือ ลิง งูเห่า เป็นต้น (กรมศิลปากร, 2546)

          4.4 บทบาทของไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์
                   ไสยศาสตร์เป็นความเชื่อดั้งเดิมของคน ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะเข้ามา ซึ่งไสยศาสตร์เป็นหนึ่งในความเชื่อของคนไทย ที่มีมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบทบาทของไสยศาสตร์ปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องต่างๆ ดังนี้
                   4.4.1 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องความฝัน เช่น
                             เทวัญสรรเสกให้                     ฝันเห็น
                   ปราสาทราชฐานเย็น                         อยู่ยั้ง
                   ภาพกรุงรุ่งเรืองเป็น                           ปรกติ
                   ทุกสิ่งยิ่งกว่าครั้ง                              เมื่อบ้านเมืองดีฯ
                                            (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 92)
                   4.4.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องหมอผี เช่น
                             นายแก้วจักอยู่เร้ง                   ไปหา
                   เร็วเร่งพระโหรมา                             อย่าช้า
                   หาหมู่หมื่นแพทยา                            หมอภูต มานา
                   หาแม่มดถ้วนหน้า                             หมู่แก้กฤติยาฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 29)
                   4.4.3 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องมนต์คาถา เช่น
                             การช้างพิฆเนศรน้าว      ปูนปาน ท่านนา
                   อัศวทำนยมกลางรงค                เลอศแล้ว
                   การยุทธช่วยชาญกล                กลแกว่น
                   ไกรกว่าอรรชุนแก้ว                  ก่อนบรรพฯ
                                                           (กรมศิลปากร, 2514, น. 18)

          4.5 อารมณ์ขันและอารมณ์อื่นๆ
                   อารมณ์ขันและอารมณ์ต่างๆที่ปรากฏในเรื่อง เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้อ่านอ่านแล้วเกิดอารมณ์คล้อยตาม โดยอารมณ์ที่ปรากฏในวรรณคดีมีมากมาย ทั้ง อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์แค้น อารมณ์สุข อารมณ์เศร้า เป็นต้น
                   4.5.1 ตัวอย่าง อารมณ์ขัน เช่น
                             ไส้ตันความป่วยเจ็บ                 ผ่าแล้วเย็บพอเยียวยา
                   เร็วเรียก ปลาหมอ มา                        ให้ช่วยผ่า ปลาไส้ตันฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 32)

                   4.5.2 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                             เจ้าไข้ทุกข์แม่เพี้ยง                  ภูเขา ลูกเฮย    
                   เจ้าเคลื่อนทุกข์บางเบา                       สว่างร้อน
                   มาเห็นพ่อเงียบเหงา                           หนักกว่า ก่อนนา
                   ทุกข์เร่งซ้อนเหลือซ้อน                        ยิ่งฟ้า ทับแดฯ
                             หญิงชายเหลือแหล่งหล้า            ฤๅยล ยากนา
                   เห็นแต่เราสองคน                             คู่ม้วย
                   ฉันใดพ่อกับตน                                เป็นดั่ง นี้นา
                   แม้พ่อตายตายด้วย                            พ่อแล้จอมใจ แม่เอยฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 32)





สรุป  
          กลวิธีของการประพันธ์อีก 4 หัวข้อ คือ การสร้างตัวละคร (characterization) การสร้างฉาก  (Scene) วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation) และกรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators) ซึ่งการศึกษากลวิธีการประพันธ์ 4 หัวข้อนั้น มีรายละเอียดดังนี้ การสร้างตัวละคร (characterization) ได้แก่ การเลือกประเภทตัวละคร แนวการสร้างตัวละคร และวิธีสร้างตัวละคร การสร้างฉาก  (Scene) ได้แก่ การสร้างฉากตามอุดมคติ การสร้างฉากในลักษณะของมัณฑนศิลป์ การสร้างฉากเหมือนจริง การสร้างฉากให้มีลักษณะเหนือจริง และการสร้างฉากตามประเพณีนิยม วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation) ได้แก่ การนำเสนอผลงานด้วยร้อยกรอง การนำเสนอผลงานด้วยร้อยแก้ว การนำเสนอผลงานด้วยการผสมผสาน กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators) ได้แก่ การเล่นคำ น้ำเสียง การเปลี่ยนแปลงของสภาวะของตัวละคร บทบาทของไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อารมณ์ขันและอารมณ์อื่นๆ จากการศึกษานั้นจะเห็นได้ว่า ความสำคัญของการศึกษาวรรณคดีไม่ได้มีเพียงการศึกษาเนื้อหาหรือประวัติผู้แต่งเท่านั้น หากแต่การที่ผู้เรียนได้ศึกษาองค์ประกอบและกลวิธีของการประพันธ์จะทำให้ผู้เรียนได้ศึกษาวรรณคดีได้อย่างลึกซึ้ง

คำถามทบทวน
        








 
เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม1. กรุงเทพฯ: พิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม2. กรุงเทพฯ: พิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม3. กรุงเทพฯพิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2514). ลิลิตยวนพ่าย. ธนบุรี: บรรณาคาร.
_______. (2506). ลิลิตพระลอ. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.        
พิทยาลงกรณ์,พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (2505). สามกรุง. พระนคร: ไทยสัมพันธ์.
พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระ. (2553). อิเหนา (ครั้งที่18). กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2551). มั ทนะพาธา (พิมพ์ครั้งที่ 27). กรุงเทพฯ:     สกสค.
ลิไทย,พญา. (2527). ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
วิภา  กงกะนันทน์. (2556). วรรณคดีศึกษา. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
สำนักราชเลขาธิการ. (2537). ไกลบ้าน (ครั้งที่5). กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง       จำกัด(มหาชน).


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง