ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 15 การนำเสนอผลการศึกษาคุณค่าของวรรณคดีไทยสมัยต่างๆ

คุณค่าของวรรณคดีสมัยต่างๆ
          การศึกษาวรรณคดีในสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยปัจจุบัน พบว่าวรรณคดีแต่ละเรื่องนั้น ล้วนมีคุณค่าทั้งสิ้น โดยคุณค่าที่ได้รับจากวรรณคดีแต่ละเรื่องนั้นอาจจะแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการแต่งของกวี
          คุณค่าของวรรณคดีในสมัยต่างๆ มีดังนี้
          1. คุณค่าของวรรณคดีสมัยสุโขทัย
                   จากการศึกษาวรรณคดีสมัยสุโขทัย เรื่องศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และ ไตรภูมิพระร่วง พบว่าวรรณคดีสมัยสุโขทัย มีคุณค่าดังนี้
                   1.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             คุณค่าทางศีลธรรมที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยสุโขทัย คือ ความกตัญญู ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา  ความละอายและเกรงกลัวต่อการทำบาป

                   1.2 คุณค่าทางอารมณ์
                             วรรณคดีในสมัยนี้ มีคุณค่าทางอารมณ์ การเรียนรู้อารมณ์ต่างๆเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันในสังคมได้อย่างสงบสุข อารมณ์ต่างๆที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยนี้ มีดังนี้
          1.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                      ...ได้ช้างได้งวงได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทองกูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู  กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดั่งบำเรอแก่พ่อกู
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 19)
                             1.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์ยกย่องเชิดชู เช่น
                                       เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ พ่อขุนพระรามคำแหง      นั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วย
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 26)                          1.2.3 ตัวอย่าง อารมณ์ประชดประชัน เช่น
                                      ...เขาสาหัสดงปลาอันคนตีที่บนบกนั้น บัดเดี๋ยวแม่น้ำนั้นก็กลายเป็นเปลวไฟไหม้ตนเขานั้น ดูควันฟุ้งขึ้นทุกแห่งรุ่งเรืองเทียรย่อมเปลวไฟ ในพื้นแม่น้ำเวตรณีนั้นเทียรย่อมคมมีดหงายขึ้นทุกแห่งคมนักหนา เมื่อคนนรกนั้นร้อนด้วยเปลวไฟไหม้ ดังนนเขาจึงคำนึงในใจว่า มากูจะดำน้ำนี้ลงไปชรอยจะพบน้ำเย็นภายใต้โพ้น และจะอยู่ได้แรงใจสะน้อย เขาจึงดำน้ำลงไปในพื้นน้ำนั้น จึงถูกคมมีดอันหงายอยู่ใต้น้ำนั้น
                                                                             (พญาลิไทย, 2527, น. 22)

                   1.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                              ในเรื่องนี้ ผู้อ่านจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมในสมัยสุโขทัย ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ รวมไปถึงบทบาทของไสยศาสตร์ คือการนับถือผี ก็มีปรากฏให้เห็น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเชื่อ ซึ่งปรากฏความเชื่อทั้งด้านไสยศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ปรากฏคือ ความเชื่อในสิ่งเร้นลับ เช่น เปรต อสูรกาย ยักษ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันในวรรณคดีสมัยสุโขทัยก็มีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏให้เห็นโดยมาก เช่น ความเชื่อเรื่องโลกกลม การกำเนิดมนุษย์ พัฒนาการของมนุษย์ เป็นต้น

                   1.4 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย
ซึ่งทำให้ผู้อ่านมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสภาพสังคม วัฒนธรรม รวมไปถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้น

                   1.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             1.5.1 การเล่นคำ
                                      วรรณคดีในสมัยนี้มีการเล่นคำปรากฏไม่มากนัก ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                                       1.5.1.1 ตัวอย่าง การซ้ำคำ เช่น
                                                ขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า..
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 18)

                                                ...คนผู้กินข้าวนั้นแลจะรู้เป็นหิดแลเรื้อนเกลื้อนแลกากหูดแลเปา เป็นต่อมเป็นเตาเป็นง่อยเป็นเพลียตาฟูหูหนวกเป็นกระจอกงอกเงือยเปื่อยเนื้อเมื่อยตน....
                                                                             (พญาลิไทย, 2527, น. 85)

                             1.5.2 น้ำเสียง
                                      วรรณคดีที่ปรากฏในสมัยนี้ กวีใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย เช่น น้ำเสียงภูมิใจ น้ำเสียงยกย่อง น้ำเสียงสั่งสอน น้ำเสียงประชดประชัน เป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                                       1.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงภูมิใจ  เช่น
                                                เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้ม หมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู...
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 18)
         
                                       1.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงยกย่อง เช่น
                                                เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ พ่อขุนพระรามคำแหงนั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้       รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วย
                                                                             (กรมศิลปากร, 2547, น. 26)
                                       1.5.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงสั่งสอน เช่น
                                                ...ผู้ใดแลจะปรารถนาไปเกิดในเมืองสวรรค์ไส้อย่าได้ประมาทลืมตน ควรเร่งขวนขวายกระทำกุศลบุญธรรมใหทานรักษาศีลเมตตาภาวนาอุปฐากรักษาศีล บิดามารดาผู้เฒ่าผู้แก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์แลสมณพราหมณ์ผู้มีศีลไส้ ก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์แลฯ กล่าวถึงไตรตรึงษ์เมืองสวรรค์แล้วแต่เท่านี้แลฯ
                                                                             (พญาลิไทย, 2527, น. 229)

                                        1.5.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงประชดประชัน เช่น
                                       ..อายุคนทั้งหลายอันอยู่ในชมพูทวีปนี้บห่อนจะรู้ขึ้นรู้ลงเพราะเหตุว่าดังนี้ ลางคาบคนทั้งหลายมีศีลมีธรรม ลางคาบคนทั้งหลายหาศีลหาธรรมบมิได้ฯ ผิแลว่าเมื่อคนทั้งหลายนั้นมีศีลอยู่ไส้ ย่อมกระทำบุญแลธรรม แลยำเยงผู้เฒ่าผู้แก่พ่อแม่ แลสมณพราหมณาจารย์ดังนั้นแลอายุคนทั้งหลายนั้นก็เร่งจำเริญขึ้นไปๆเนืองๆแล ผิแลว่าคนทั้งหลายมิได้จำศีลแลมิได้ทำบุญ แลมิได้ยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่แล  สมณพราหมณาจารย์ครูบาธยายแล้วดังนั้นไส้ อันว่าอายุคนทั้งหลายนั้นก็เร่งถอยลงมาๆเนืองๆแลฯ
                                                                             (พญาลิไทย, 2527, น. 81)

2. คุณค่าของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง
                   จากการศึกษาวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง เรื่องลิลิตพระลอ ยวนพ่าย และจินดามณี พบว่าวรรณคดีสมัยสุโขทัย มีคุณค่าดังนี้
          2.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                   ลิลิตพระลอมีคุณค่าทางศีลธรรม ที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นอิทธิพลของความรัก ความลุ่มหลง ของมนุษย์ ซึ่งเพียงเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองต้องการ จึงพยายามทำทุกอย่าง ทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด หรือจริยธรรมที่ดีงาม ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการสอนให้ผู้อ่านรู้จักระงับชั่งใจ และคิดไตร่ตรอง ก่อนที่จะคิดทำสิ่งใดก็ตาม มิฉะนั้นอาจพบจุดจบในชีวิต ดังเช่น พระลอ พระเพื่อน และพระแพง
                    เรื่องยวนพ่าย กวีมุ่งสรรเสริญและยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏให้เห็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา
          จินดามณีเป็นวรรณคดีที่อยู่ในประเภทของแบบเรียน กวีมุ่งนำเสนอเนื้อหาเพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ ดังนั้นตัวอย่างต่างๆที่ปรากฏในเรื่อง จึงเป็นตัวอย่างที่สอนเรื่องต่างๆ ทั้ง ความกตัญญู ความใฝ่รู้ ซึ่งผู้อ่านหรือผู้ศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้จะได้รับความรู้ ควบคู่ไปกับ คำสอน ข้อคิดต่างๆที่แฝงอยู่

          2.2 คุณค่าทางอารมณ์
                   วรรณคดีในสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลางนั้น  ได้สร้างอรรถรส อารมณ์ให้กับคนอ่านเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ที่หลากหลาย ดังนี้
                             2.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       แรงรักแรงราคร้อน                  รนสมร
                             ยงยิ่งเปลวไฟฟอน                             หมื่นไหม้
                             มนเทียรปิ่นภูธร                               เป็นที่ ยำนา
                             ขืนข่มใจไว้ได้                                  เพื่อตั้งภักดีฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 118)

                             2.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                      เจ้าไข้ทุกข์แม่เพี้ยง                  ภูเขา ลูกเฮย    
                             เจ้าเคลื่อนทุกข์บางเบา                       สว่างร้อน
                             มาเห็นพ่อเงียบเหงา                           หนักกว่า ก่อนนา
                             ทุกข์เร่งซ้อนเหลือซ้อน                        ยิ่งฟ้า ทับแดฯ
                                       หญิงชายเหลือแหล่งหล้า            ฤๅยล ยากนา
                             เห็นแต่เราสองคน                             คู่ม้วย
                             ฉันใดพ่อกับตน                                เป็นดั่ง นี้นา
                             แม้พ่อตายตายด้วย                            พ่อแล้จอมใจ แม่เอยฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 32)

                             2.2.3 ตัวอย่าง อารมณ์ยกย่อง เช่น
                                       พระเบญเญศรยิ่งพ้ยง      สูรยจันทร แจ่มแฮ
          (พระปัญญาของท่านยิ่งพ้นมนุษย์ในยุคนั้น เห็นสว่างดั่งพระอาทิตย์ พระจันทร์ร้อน                สว่างแฮ)
                             อดิตานาคต                          ปล่งแปล้
          (ทรงทราบซึ่งกาลสองถึงลึกซึ้งกาลใดดีทรงปฏิบัติ กาลใดไม่ดีก็ปลดเปลื้องไม่ปฏิบัติ)
                             ปรจุบนนนทงงสามสรร             เพชญถึ่ง แถลงแฮ
          (การในปัจจุบันนี้กับที่ล่วงแล้วด้วยแลกกาลที่ยังไม่มาด้วยทรงรู้ถึงอาจแถลงได้แฮ)
                             เลงล่งไตรภพแท้                     ท่ววทรยนฯ
                   (เล็งเห็นตลอดล่งในกาลสามฝ่ายโลกีย์ทั่วแท้ เทียรย่อมเหมือนพระพุทธเจ้ารู้จบไตร                 ภพ)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 21)

                             2.2.4 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       แท่นเดียวนอนเน่งเกี้ยว             กลม
                             พี่พบแม่ยามเกี้ยว                             ก่อง
                             ชู้ชมออนอวรเปลี่ยว                           คู่
                             เมื่อยาใจส้างเสี้ยว                             ข้อยแส้ง เปนฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 39)

                             2.2.5 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                       ขึ้งเคียดขับข้าหนี                    นิราศร้างพระภูมินทร์
                             เจียรจากเจ้าแผ่นดิน                          รอยรูบกาลใจดล
                                       มาถึงแก่ฉิบหาย                     วายวอดทังรี้พล
                             ย่อมญาติกากล                                ประไลยจักรพาลพังฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 65)

          2.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                   วัฒนธรรมที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยนี้นั้น มีทั้งวัฒนธรรมการกิน ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ รวมไปถึงความเชื่อ
                             2.3.1 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องผี เช่น
                                       นายแก้วจักอยู่เร้ง                   ไปหา
                             เร็วเร่งพระโหรมา                             อย่าช้า
                             หาหมู่หมื่นแพทยา                            หมอภูต มานา
                             หาแม่มดถ้วนหน้า                             หมู่แก้กฤติยาฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 29)

                             2.3.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องโชคลาง เช่น
                                       หาโหรหาถ้วนมิ้ง                    มนตรี
                             หาปู่สิทธิไชยสี-                               ลาศเต้า
                             แถลงคำแก่นกษัตริย์                          ทุกสิ่ง แลนา
                             โหรว่าจักห้ามเจ้า                             แผ่นหล้าฤๅฟังฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 41)

                             2.3.3 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องเทวดา เช่น
                                       ขอฝากฝูงเทพไท้                     ภูมินทร์
                             อากาศพฤกษาสินธุ์                           ป่ากว้าง
                             อิศวรนรายณ์อินทร์                           พรหเมศ ก็ดี
                             ช่วยรักษาเจ้าช้าง                             อย่าให้มีภัยฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 49)

                             2.3.4 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องฝันบอกเหตุ เช่น
                                       ดับนั้นสี่นางฝัน  เห็นอัศจรรย์นิมิต ติดใจจำขมขื่น ตื่นตระบัดอ่อนไท้ พระ       เพื่อนคิดจำได้ กล่าวแก้ความฝันฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 89)

                             2.3.5 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องมนต์คาถา เช่น
                                      การช้างพิฆเนศรน้าว      ปูนปาน ท่านนา
(การวิชาเศกมนต์ร่ายเรียกช้างร้ายมาได้ดั่งใจนึก ดุจพระพิฆเนศวรบุตรพระอิศวรอัน      เป็นเจ้าวิชาเชี่ยวชาญในการเรียกช้างสิบตระกูลได้ดั่งปรารถนา)
                                      อัศวทำนยมกลางรงค                เลอศแล้ว
                             (ทำนองทำเนียมม้าเข้ารบกล้างที่รบก็เลิศลบจบสิ้น)
                                      การยุทธช่วยชาญกล                กลแกว่น
                             (การรบรู้ไวในกลเชิงกลก็ว่องไว)
                                      ไกรกว่าอรรชุนแก้ว                  ก่อนบรรพฯ
                             (ยิ่งกว่าอรชุนเทพบุตร อันรบแกล้วกล้าแต่ปางก่อน)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 18)

                             2.3.6 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ เช่น
                                      เชองโหรเหนแม่นแม้น     มุนิวงศ
(ชั้นเชิงกระบวนโหราศาสตร์เล่า ท่านดูเห็นแม่นเหมือนวงศ์ท่านที่เป็นปราชญ์ผู้มีนิ่งเป็นธรรมดา)
                                      สบศาสตราคมยล                    ล่งล้วน
                             (ทั่วคัมภีร์แลวิชาอาคมท่านเห็นล่งตลอดจบทุกคัมภีร์)
                                      สบศิลปสำแดงทรง                  ทายาท ไส้แฮ
                             (ทั่ววิชาท่านสำแดงได้แล้วก็ทรงพระราชทานสอนศิษย์ได้จริงแฮ)
                                      สบสิพาคมถ้วน                      ถี่แถลงฯ
(ทั่วอาคมเสกอัญเชิญหมู่เทวดาอินทร์พรหมมีพระอิศวรเป็นต้น ท่านกล่าวได้ถี่ถ้วน)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 20)

          2.4 คุณค่าทางจินตนาการ
                   ในสมัยนี้คุณค่าทางจินตนาการปรากฏในเรื่องลิลิตพระลอ  โดยจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละคร คือการที่ตัวละครมีการแปลงร่าง หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตน จากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่ง  ในเรื่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละครปรากฏอยู่ด้วย จากการที่ปู่เจ้าสมิงพรายแปลงร่างเป็นชายหนุ่ม ดังตัวอย่าง
                             ขึ้นช้างไปผผ้าย มาคคล้ายโดยทาง ถับถึงกลางจรอกปู่ หมอเฒ่าอยู่แลเห็น แสร้งแปรเป็นโฉมมลาก เป็นบ่าวภาคบ่าวงาม สองถึงถามหาปู่ ปู่หัวอยู่ยแย้ม ข้อยว่าสองแสล้ม มาแต่ด้าวแดนใดฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 16)

2.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             2.5.1 การเล่นคำ
                                      2.5.1.1 ตัวอย่าง การเล่นอักษร เช่น
                                                คลังกูคลังลูกแก้ว           กูนา
                                      จักจ่อมจ่ายเยียวยา                 หน่อเหน้า
                                      สิ้นทั้งแผ่นดินรา                     แม่ลูก ก็ดี
                                      สิ้นแต่สินจงเจ้า                      แม่ได้แรงคืนฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 30)

                                      2.5.1.2 ตัวอย่าง การเล่นคำ เช่น
                                                จูบนาสิกแก้วแม่            หอมใด ดุจนา
                                      จูบเคียงคางคอใจ                    จักขว้ำ
                                      จูบเนื้อจูบนมใส                     เสาวภาคย์ พระเอย
                                      จูบไล่หลังอกซ้ำ                      จูบข้างเชยแขนฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 47)

                                      2.5.1.3 ตัวอย่าง การซ้ำคำ เช่น
                                      ลวงหาญหาญกว่าผู้        หาญเหลือ ว่านา
                             ริยิ่งริคนริ                            ยิ่งผู้
                             ลวงกลใส่กลเหนือ                   กลแกว่น กลแฮ
                             รู้ยิ่งรู้กว่ารู้                           เรื่องกล
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 20)
                    2.5.2 น้ำเสียง
                             น้ำเสียงที่ปรากฏในสมัยนี้ ปรากฏดังนี้
                                      2.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงยกย่องสรรเสริญ เช่น
                                                ชยชยยศโยคเจ้า                     จักรกรี
                    (สมเด็จพระอินทราชาธิราชเจ้าจักรีมีความชัยชนะแก่ข้าศึกอธึกด้วยยศศักดิ์บริวาร)
                                       ไกรเทพศรีสาคร                               เฟื่องหน้า
                    (ไพศาลฟุ้งเฟื่องเลื่องลือในแหล่งหล้าเทียมเทวดาสามนามพระพรหมธาดาแลพระอิศราไกลลาศแลพระศรี สาครนารถนารายณ์ฉะนั้น)
                                       ชยชยเมื่อพูนศรี                               นางนาฎ
                    (เมื่อพระองค์มีชัยชนะแก่เมืองเชลียงได้อนงค์นางกษัตรีย์มาเพิ่มพูนพระบารมี)
                                       ชยบพิตรพ้นฟ้า                               เพื่อมมาฯ
                    (บรมบพิตรเจ้ามีชัยแก่เมืองเชลียงแล้วเมืองฝ่ายเหนือพ้นเชลียงขึ้นไปได้มาเพิ่มพูนพระบารมีอีกมากมาย)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 91)

                                      2.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงเชิงสั่งสอน เช่น
                                                ชื่อว่าสรรพนาม นักปราชจึ่งประกอบ เพราะให้ใช้สรรพกาพยกลอนทังปวง ถ้าแลมิได้เรียนถ้อยคำทั้งปวง จแปลอักษรให้เรียนจึ่งจรู้อักษรใช้จให้ชอบ แลนักปราชทังปวงพึงเรียน ตามบังคับไว้นี้แลฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 17)

2.6 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
                   ในสมัยนี้ ปรากฏคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในเรื่องยวนพ่าย เนื่องจากยวนพ่ายเป็นวรรณคดีที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ ในคราวสงครามเมืองเชลียงและเมืองเชียงชื่น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่จะได้ศึกษา

          2.7 คุณค่าทางปัญญา
                             วรรณคดีแต่ละเรื่องจะมีคุณค่าที่แตกต่างกัน จินดามณีเป็นวรรณคดีหนึ่งในไม่กี่เรื่อง ที่เน้นคุณค่าทางปัญญา โดยมุ่งนำเสนอความรู้เบื้องต้นทางภาษาไทย หลักการต่างๆในการใช้ภาษา การแต่งคำประพันธ์ โดยกวีได้นำเสนอความรู้ดังกล่าวไว้อย่างละเอียด และมีตัวอย่างประกอบ จึงทำให้ผู้อ่านสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มเติมความรู้ของตน


3. คุณค่าของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย
จากการศึกษาวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลายเรื่องกาพย์เห่เรือ พบว่าวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย มีคุณค่าดังนี้
3.1 คุณค่าทางปัญญา
          วรรณคดีเรื่องนี้ให้ความรู้ต่างๆ ทั้งความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของเรือ ปลาพันธ์ต่างๆ ต้นไม้ ดอกไม้ และประเภทของนก ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ลักษณะของสัตว์และของพืชมากยิ่งขึ้น

3.2 คุณค่าทางอารมณ์
                    เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้ผู้อ่านจะได้เห็นอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์เศร้า อารมณ์ฮึกเหิม เป็นต้น
                             3.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       สาวหยุดพุทธชาด          บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป
                             นึกน้องกรองมาลัย                  วางให้พี่ข้างที่นอน
                                                                   (กรมศิลปากร, 2553, น. 5)

                             3.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                       ไก่ฟ้ามาตัวเดียว            เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา
                             เหมือนพรากจากนงเยาว์            เปล่าใจเปลี่ยวเหลียวหานาง
                                                                   (กรมศิลปากร, 2553, น. 7)


                             3.2.3 ตัวอย่าง อารมณ์ฮึกเหิม เช่น
                                       นาวาแน่นเป็นขนัด        ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
                             เรือริ้วทิวธงสลอน                   สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
                             เรือครุฑยุดนาคหิ้ว                  ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
                             พลพายกรายพายทอง               ร้องโห่เห่โอ้เห่มา
                                                                             (กรมศิลปากร, 2553, น. 1)




3.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
          วัฒนธรรมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในเรื่อง คือ ประเพณี พิธีกรรม ซึ่งจะเห็นได้จากการเสด็จทางชลมารค ต้องมีการจัดเตรียมไพร่พล กระบวนเรือต่างๆให้พร้อมสรรพ และถูกต้องตามประเพณี

3.4 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
          วรรณคดีเรื่องนี้ได้บันทึกประเพณีในอดีตซึ่งเป็นการเสด็จทางชลมารคไว้อย่างค่อนข้างครบถ้วน ทำให้คนรุ่นหลังได้รู้และเข้าใจในประเพณีดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

3.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
          3.5.1 การเล่นคำ
                             กวีชอบใช้คำซ้ำเพื่อย้ำความ นำคำพ้องรูปพ้องเสียงมาใช้ เพื่อสร้างความไพเราะ อีกทั้งยังมีการใช้สัมผัสใน ได้แก่ สัมผัสสระและสัมผัสอักษร
                             3.5.1.1 ตัวอย่าง การใช้คำซ้ำ เช่น
                                       นางนวลนวลน่ารัก     ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน
                             แก้วพี่นี้สุดนวล                  ดั่งนางฟ้าหน้าใยยอง
                                                                   (กรมศิลปากร, 2553, น. 7)
                   3.5.1.2 น้ำเสียง
                                      ในเรื่องนี้ ปรากฏน้ำเสียง ดังนี้
                                      3.5.1.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงแห่งความรัก  เช่น
                                                ชมดวงพวงนางแย้ม        บานแสล้มแย้มเกสร
                                      คิดความยามบังอร                   แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม
                                                                             (กรมศิลปากร, 2553, น. 5)                                    
4. คุณค่าของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์  (ร.1 - ร.3)
          จากการศึกษาวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.1 - ร.3) เรื่องขุนช้างขุนแผน และเรื่องอิเหนา พบว่าวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.1 – ร.3) มีคุณค่า ดังนี้
          4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                   ขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีที่มีเนื้อหาหลากหลาย ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตของคน ที่มีทั้งความรัก โลภ โกรธ หลง อย่างไม่สื้นสุด ทำให้ท้ายสุดของชีวิตไม่มีความสุขหรืออาจมีความสุขเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น วรรณคดีเรื่องนี้จึงให้ข้อคิดกับผู้อ่านในด้านการใช้ชีวิตให้ถูกทำนองคลองธรรม ไม่โลภ ไม่หลง ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขสงบในชีวิต ดังตัวอย่าง
                             ซึ่งเจ้าเปรียบเทียบคิดจิตมนุษย์     หาสิ้นสุดความโลภลงได้ไม่
                   เหมือนของกินหารู้สิ้นไปเมื่อไร               เป็นวิสัยสังเกตแก่ฝูงคน
                   ถึงนั่นหน่อยนี่หน่อยอร่อยรส                 ปรากฏก็แต่ข้าวแลเป็นต้น
                   ดุจความเสน่หาจลาจล                        ร้อนรนก็ที่รักกำเริบใจ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 72)      
                   ส่วนในเรื่องอิเหนา กวีได้สอดแทรกข้อคิดทางศีลธรรมไว้ในเรื่องได้เป็นอย่างดี โดยกวีนำเสนอเรื่องของ “ตัณหา” ผ่านลักษณะนิสัยของตัวละครหลายตัวละคน ซึ่งจากตัณหานี่เองได้นำไปสู่ความขัดแย้ง และความวุ่นวายต่างๆในเรื่อง ดังนั้นเมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้ จึงทำให้ได้ข้อคิดจากพฤติกรรมของตัวละคร และจะได้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ไม่ปล่อยให้ตัณหา เข้าครอบงำจนเกิดความวุ่นวายในชีวิต

4.2 คุณค่าทางปัญญา
                   วรรณคดีเรื่องนี้ให้ความรู้ในการศึก สงคราม ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ทั้งด้านกลศึก ด้านจิตวิทยา หรือแม้กระทั่งด้านการบริหารคนจากบทบาทของผู้นำในเรื่อง นอกจากนี้ ผู้อ่านยังได้ความรู้ในด้านการใช้ชีวิต เพราะตัวละครในเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดบุคลิกลักษณะ อารมณ์ ที่คล้ายกับคนจริง

4.3 คุณค่าทางอารมณ์
วรรณคดีในสมัยนี้จะทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลายของคน ทั้งอารมณ์
เศร้า อารมณ์โกรธ อารมณ์รัก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

          4.3.1 ตัวอย่างอารมณ์เศร้า  เช่น
                   เจ้าพลายงามความแสนสงสารแม่   ชำเลืองแลดูหน้าน้ำตาไหล
          แล้วกราบกรานมารดาด้วยอาลัย   ลูกเติบใหญ่คงจะมาหาแม่คุณ
          แต่ครั้งนี้มีกรรมจะจำจาก           ต้องพลัดพรากแม่ไปเพราะอ้ายขุน
          เที่ยวหาพ่อขอให้ปะเดชะบุญ       ไม่ลืมคุณมารดาจะมาเบือน
          แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก              คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน
          จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน      จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว
          แม่วันทองของลูกจงกลับบ้าน       เขาจะพาลว้าวุ่นแม่ทูนหัว
          จะก้มหน้าลาไปมิได้กลัว            แม่อย่ามัวหมองนักจงหักใจ ฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 159)

                                       เมื่อนั้น                     ทั้งหกกษัตริย์หมองศรี
                             ต่างกอดลูกรักไว้ทันที               ภูมีร่ำไรไปมา
                             อนิจจาเป็นกรรมวิบาก              ตั้งแต่จากช้านานพึ่งเห็นหน้า
                             รอดตายจึงได้พบลูกยา              ว่าพลางวันทาทูลไป
                             ซึ่งพระองค์โปรดเกศทั้งนี้            พระคุณหาที่สุดไม่
                             ขอเอาพระเดชภูวไนย               ปกไปกว่าจะม้วยชีวี
                             แม้นจะส่งลูกรักของข้า              ไปให้มิสาระปันหยี
                             พระองค์ผู้ดำรงธรณี                 จงมีมิตรภาพกรุณา
                             โปรดช่วยโอวาทฝากฝัง             ถ้าผิดพลั้งจงโปรดเกศา
                             ล้วนไกลบิตุเรศมารดา               ไม่มีที่พึ่งพาผู้ใด ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 891)

                             4.3.2 ตัวอย่างอารมณ์โกรธ เช่น
                                       หมื่นหาญโมโหโกรธา      ชี้หน้าว่าเหวยเฮ้ยอ้ายสถุล
                             มึงอกตัญญูไม่รู้คุณ                   เสียแรงพ่อขนขุนมาเท่าไร
                             กูให้กินข้าวน้ำทุกค่ำเช้า             แต่ลูกสาวในอกยังยกให้
                             มึงยังทรยศขบถใจ                   ครั้งนี้กูไม่ไว้ชีวิตมึง ฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 21)

                                       เมื่อนั้น                     โฉมยงหลงหนึ่งหนัดมารศรี
                             ครั้นรู้เรื่องราวข่าวคดี               ว่าปันหยีไปได้แอหนังมา
                             นั่งเฝ้าเล้าโลมกันอยู่                 โฉมตรูขัดแค้นเป็นหนักหนา
                             จึงเรียกระเด่นรัตนา                 เข้ามาแล้วบอกความไป
                             เห็นแล้วฤๅกะกังปันหยี              ช่างไปได้นางชีมาแต่ไหน
                             เฝ้านั่งโลมเล้าเอาใจ                 เหตุผลก็ไม่มาบอกกัน
                             เดิมน้องจะแบหลาพระมาห้าม      ให้ระงับดับความโศกศัลย์
                             จะฟังเหตุมาเล่าเปล่าทั้งนั้น         ไปพัลวันนางชีไม่นำพา
                             น้องจะครองชีวิตไว้ไย               แม้นม้วยบรรลัยเสียดีกว่า
                             ว่าพลางนางทรงโศกา               กัลยาขัดแค้นแสนทวี ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 815)

                             4.3.3 ตัวอย่างอารมณ์รัก เช่น
                                      จะกล่าวถึงโฉมเจ้าขุนช้าง คะนึงนางพิมน้อยละห้อยหา
                             แต่เช้าค่ำคร่ำครวญทุกเวลา         ตั้งแต่มาจากบ้านศรีประจัน
                             ไม่เป็นกิน นอนแต่ร้อนรัก           อกจะหักใจรัญจวนป่วนปั่น
                             มิได้มีความสบายมาหลายวัน        แทบจะกลั้นใจตายไม่วายคิด
                             อยู่ในห้องร้องไห้พิไรร่ำ              ทุกค่ำเช้าเฝ้านอนแต่ถอนจิต
                             ทำไฉนจะได้แอบแนบชิด            กับเจ้าพิมนิ่มสนิทของพี่เอา
                                                              (กรมศิลปากร, 2546, น. 100)

                                      พระกรก่ายพักตราจาบัลย์ หวั่นถวิลถึงจินตะหรา
                             ป่านฉะนี้โฉมตรูอยู่พารา            จะนิทราหลับแล้วฤๅฉันใด
                             เจ้าจะมีมิตรจิตคิดคำนึง             รำลึกถึงพี่บ้างฤๅหาไม่
                             เห็นทีขนิษฐายาใจ                   จะโหยหาอาลัยถึงพี่ชาย
                             แต่ครุ่นครวญรวนเรคะเนนึก        จนยามดึกเดือนส่องแสงฉาย
                             พระเผยม่านสุวรรณพรรณราย      ลมชายตามช่องมาต้ององค์
                             น้ำค้างพร่างพรมสุมามาลย์          แบ่งบานแย้มกลีบกลิ่นส่ง
                             หอมละม้ายคล้ายกลิ่นโฉมยง       พระเคลิ้มองค์หลงขับขึ้นฉับพลัน ฯ
                                           (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 126)
         
4.4 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                    วรรณคดีในสมัยนี้ เป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผนนั้นเป็นวรรณคดีชั้นครูที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยในหลายๆด้าน ทั้งด้านประเพณี พิธีกรรม การใช้ชีวิต ความเชื่อต่างๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ปรากฏทั้งในวังและในหมู่ชาวบ้าน โดยในเรื่องนี้มีบทบาทของไสยศาสตร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ในทุกจังหวะชีวิต ตั้งแต่การเกิด การดูดวง  การตั้งชื่อตามเวลาตกฟาก ลางบอกเหตุต่างๆ การดูดวงก่อนออกรบ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ กวียังได้สร้างตัวละครที่มีอิทธิฤทธิ์มีมนตร์ต่างๆมากมาย ซึ่งมนตร์เหล่านี้คือบทบาทของไสยศาสตร์ ที่ปรากฏตลอดเรื่อง
                             ส่วนอิเหนานั้น เป็นวรรณคดีต่างชาติ ดังนั้นผู้อ่านจะได้เรียนรู้ทั้งวัฒนธรรม ประเพณีของไทยและของต่างชาติ คือ ชวา ที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ดังนี้
                             4.4.1 ตัวอย่าง การแต่งกายของชาวชวา เช่น
                                      ทรงสุคนธ์รวยรินกลิ่นเกลา          สอดใส่สนับเพลางอนระหง
                             ภูษาเขียนสุวรรณกระสันต์ทรง               ฉลององค์ตาดปัดปีกแมงทับ
                             ห้อยหน้าซ่าโบะครุยแครง                    เจียระบาดทองแล่งเลื่อมสลับ
                             ปั้นเหน่งเพชรพรรณรายสายบานพับ         ตาบประดับทับทรวงดวงจินดา
                             ทองกรแก้วกุดั่นบรรจง                       ธำมรงค์เพชรพรายทั้งซ้ายขวา
                             ทรงห้อยสร้อยสนจำปา                       แล้วลีลามาเกยกิริณี ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 695)

                   ในเรื่องนี้ยังปรากฏบทบาทของไสยศาสตร์ ตั้งแต่เริ่มเรื่อง คือเรื่องของการนิมิต หรือความเชื่อเรื่องของความฝัน ว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิด ความเชื่อเรื่องเวทย์มนต์คาถา รวมไปถึงเครื่องรางต่างๆ แม้กระทั่งความเชื่อเรื่องคำทำนายก็มีปรากฏตลอดเรื่อง
                             4.4.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องของความฝัน เช่น
                                      เมื่อนั้น                     องค์ประไหมสุหรีเฉิดฉัน
                             ร่วมภิรมย์สมสุขด้วยทรงธรรม์      เมื่อจวนจะมีครรภ์พระลูกรัก
                             ราตรีเข้าที่พระบรรทม              ด้วยบรมนรินทร์ปิ่นปัก
                             บังเกิดนิมิตฝันอัศจรรย์นัก          ว่านงลักษณ์นั่งเล่นที่ชาลา
                             มีพระสุริยงทรงกลด                 ชักรถมาในเวหา
                             แจ่มแจ้งแสงสว่างทั้งโลกา           ตกลงตรงหน้านางรับไว้
                             ครั้นนิทราตื่นฟื้นองค์                ให้หลากจิตพิศวงสงสัย
                             จึ่งทูลพระภัสดาทันใด               โดยในนิมิตเยาวมาลย์ ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2557, น. 52)

4.5 คุณค่าทางจินตนาการ
                   วรรณคดีในสมัยนี้ทั้งสองเรื่องนั้น กวีร้อยเรียงเรื่องราวจากจินตนาการ โดยถ่ายทอดเรื่องราวให้สมจริงและเหนือจริง เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับผู้อ่าน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                             4.5.1 ตัวอย่าง การแปลงกาย เช่น
                                       เมื่อนั้น                               ระเด่นดาหยนคนขยัน
                             เข้าใจในทีพระทรงธรรม์                      กับพี่เลี้ยงพากันออกมา
                             เร่งให้ผูกอาชาที่นั่ง                            แล้วสั่งโยธีถ้วนหน้า
                             จงทำเป็นชาวพนาวา                          ดัดลิ้นพูดจาพาที
                             อันพระสุริย์วงศ์ทรงเดช                       แปลงเพศเป็นชาวพนาศรี
                             ทรงนามมิสาหรังปะรังตี                       ปันหยีกศมาหรังฤทธิรณ
                             ระเด่นดาหยนพระวงศา                       ผลัดชื่อกุดาระมาหงน
                             พวกพี่เลี้ยงเสานาสามนต์                      ต่างคนหารือให้ชื่อกัน
                             ตำมะหงงชื่อสุหรันดากา                      ปูนตาชื่อตาระมาหงัน
                             ยะรุเดะพี่เลี้ยงพระทรงธรรม์                  ชื่อมาหงันเอ็งหรูกูดา
                             อันกะระตาหลาพี่เลี้ยงนี้                      ชื่อกุดาส่าหรีกันตะหรา
                             ประสันตาชื่อกุดาระมายา                    เสนาเปลี่ยนชื่อทุกคนไป ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 141)

                                      ว่าแล้วองค์ท้าวเทเวศร์               จึงจำเริญพระเกศสายสมร
                             ประทานกริชอันเรืองฤทธิรอน                จารึกนามกรในกริชนั้น
                             อุณากรรณกระหมันวิยาหยา                  มิสาเหรนดุหวาเฉิดฉัน
                             แล้วทรงเครื่องอย่างชายพรายพรรณ         เทวัญประสิทธิ์ประสาทพร ฯ
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 523)

4.6 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                   4.6.1 การเล่นคำ
                             วรรณคดีในสมัยนี้ กวีเล่นคำโดยการใช้คำซ้ำ นำคำที่มีเสียงคล้ายกันมาเขียนคู่กัน ซ้ำเสียง สัมผัสเสียง ดังนี้
                                      4.6.1.1 ตัวอย่างการสัมผัสอักษร เช่น
                                      พิลึกล้นท้นท่วมทั่วจังหวัด ลมก็พัดเป็นระลอกกระฉอกฉาน
                             พวกทัพไทยต่างคนตะลนตะลาน   ตะเกียกตะกายว่ายซานขึ้นต้นไม้
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 96)
                            
                                      4.6.1.2 ตัวอย่างสัมผัสสระ เช่น
                                      จะกล่าวถึงเจ้าจอมหม่อมขุนช้าง    ความสมัครรักนางให้ป่วนปั่น
                             แต่เวียนคิดถึงพิมนิ่มนวลจันทร์               ตั้งแต่วันฟังเทศน์ไม่บรรเทา
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 82)

                                      4.6.1.3 ตัวอย่างการซ้ำคำ เช่น
                                      บ้างอยู่ด้วยรากไม้ไพลว่าน บ้างอยู่ด้วยโอมอ่านพระคาถา
                             บ้างอยู่ด้วยเลขยันต์น้ำมันทา       บ้างอยู่ด้วยสุราอาพัดกิน
                             บ้างอยู่ด้วยเขี้ยวงาแก้วตาสัตว์      บ้างอยู่ด้วยกำจัดทองแดงหิน
                             บ้างอยู่ด้วยเนื้อหนังฝังเพชรนิล     ล้วนอยู่สิ้นทุกคนทนศาสตรา
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 89)

                   4.6.2 น้ำเสียง
                             ในเรื่องนี้ กวีใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย เช่น น้ำเสียงเศร้า น้ำเสียงน้อยใจ          น้ำเสียงประชดประชัน น้ำเสียงตักเตือน น้ำเสียงโกรธ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                                      4.6.2.1 ตัวอย่างน้ำเสียงเศร้า เช่น
                                                นางพิมพับกับอกเฝ้าสะอื้น ไม่ฝ่าฝืนสร่างสมประดีได้
                                      น้ำตาตกซกซกกระเซ็นไป           ร่ำไรห่วงผัวจะจากพิม
                                      จะเดินไปได้ฤๅถึงเชียงทอง           จะพังพองสองเท้าพ่อนิ่มนิ่ม
                                      จะระบมบอบบางทั้งกลางริม       อกพิมนี้จะพังด้วยผักรัก
                                      ใครจะช่วยบ่งหนามที่เหน็บเนื้อ     เมียนี้อาลัยเหลือเพียงอกหัก
                                      ไปด้วยจะได้ช่วยพ่อบ่งชัก          อนาถนักพ่อไปนอนอยู่กลางไพร
                                                                             (กรมศิลปากร, 2546, น. 149)

                                      4.6.2.2 ตัวอย่างน้ำเสียงน้อยใจ เช่น
                                                เจ็บใจไม่น้อยทั้งถ้อยคำ    ทิ่มตำแดกดันรำพันว่า
                                      แค้นคำน้ำตาลงคลอตา              สะบัดหน้าแน่ะเจ้าไม่จำคำ
                                      วันวิวาทกันกับลาวทอง             แผดร้องโรมโรมพิไรร่ำ
                                      กั้งกางขวางไว้มิให้ทำ                ซ้ำไล่จะฟันให้บรรลัย
                                      แค้นใจข้าจึงไปผูกคอตาย           สายทองมาบอกยังด่าให้
                                      ขึ้นช้างพานางลาวทองไป           ดังพระสุธนได้มโนห์รา
                                      ข้านอนกับขุนช้างก็จริงอยู่          แต่ได้สู้รบกันเป็นหนักหนา
                                      เสียตัวชั่วใช่จะตื่นตา                เพราะพรายเขาเข้ามาสะกดไว้
                                      ถ้าผัวเมตตามาปกป้อง              วันทองฤๅใครจะทำได้
                                      เจ้าลอยช้อนเอาปลาที่หน้าไซ       เพราะใจของเจ้าไม่เมตตา
                                                                             (กรมศิลปากร, 2546, น. 48)

                                      4.6.2.3 ตัวอย่างน้ำเสียงประชดประชัน เช่น
                                                รู้แล้วว่าชู้เจ้าเศรษฐี        มั่งมีเงินทองจะกองให้
                                      เงินทองจะพร่องไปเมื่อไร            ช่างว่าได้พูดพร่ำจะทำคุณ
                                      ขุนแผนนี้มันแกนทุกสิ่งอัน          ของกำนัลไม่มีใครเกื้อหนุน
                                      ผัวเจ้ามีทรัพย์นับพันดุล             เป็นเจ้าคุณอยู่แล้วแต่ผัวนาง
                                                                             (กรมศิลปากร, 2546, น. 49)

                                                 เมื่อนั้น                     โฉมยงองค์ระเด่นจินตะหรา
                                       ค้อนให้ไม่แลดูสารา                 กัลยาคั่งแค้นแน่นใจ
                                       แล้วว่าอนิจจาความรัก              พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
                                       ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป          ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
                                       สตรีใดในพิภพจบแดน               ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า
                                       ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา             จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์
                                               (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 255)

                                      4.6.2.4 ตัวอย่างน้ำเสียงตักเตือน เช่น
                                                ครานั้นฝ่ายว่าพระหมื่นศรี ฟังวาทีพลันตอบขุนแผนว่า
                                      เจ้าก็เป็นคนดีมีปัญญา              ช้าช้าไว้สักปีดีกระมัง
                                      เหมื่อนดับไฟไม่ทันจะสิ้นเปลว      ด่วนเร็วจะกำเริบเมื่อภายหลัง
                                      มิใช่อยู่อื่นไกลอยู่ในวัง               ห้ามประตูกักขังทุกเวลา
                                      ไม่เข้านอกออกในเหมือนใครอื่น    จะตื่นอะไรไปหนักหนา
                                      ชู้ผัวหาไหนใครจะมา                ช้าช้าสักหน่อยก็เป็นไร ฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 139)

                                      4.6.2.5 ตัวอย่างน้ำเสียงโกรธ เช่น
                                                ครานั้นพระองค์ทรงธรณี  ได้ฟังจมื่นศรีแถลงสาร
                                      ฉุนพิโรธพระพักตร์เผือดเดือดดาล  อ้ายนี่หาญเห็นกูนี้ใจดี
                                      ครั้นขุนเพชรขุนรามตามออกไป     บังอาจใจฆ่าคนเสียป่นปี้
                                      กูก็งดอาญาไม่ฆ่าตี                  ซ้ำยกอีกวันทองให้แก่ตัว
                                      ยังลวนลามตามขออีลาวทอง        จองหองไม่คิดผิดท่วมหัว
                                      พูดเล่นตามใจไม่เกรงกลัว           เพราะตัวอีลาวทองต้องอยู่วัง
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 140)

                                      4.6.2.6 ตัวอย่าง น้ำเสียงโมโห เช่น
                                                เมื่อนั้น                     ระตูขัดแค้นแสนศัลย์
                                      กระทืบบาทกราดกริ้วคือเพลิงกัลป์ จึ่งกระชั้นสีหนาทตวาดไป
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 105)

                                      4.6.2.7 ตัวอย่าง น้ำเสียงเชิงหยอกเอิน เช่น
                                                บัดนั้น                      ประสันตาลิ้นลมคมสัน
                                      ยิ้มพลางทางว่าแก่เพื่อนกัน         คืนนี้อัศจรรย์ประหลาดใจ
                                      แต่พลบค่ำย่ำฆ้องจนตีสิบเอ็ด       ใครยังรู้ว่าเสด็จไปข้างไหน
                                      ดูดู๋ช่างไม่ระวังระไว                 ให้พระไปแต่ลำพังไม่บังควร
                                             (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 156)

                                       4.6.2.8 ตัวอย่าง น้ำเสียงคับแค้นใจ เช่น
                                                เมื่อนั้น                     ทั้งสองสุดามารศรี
                                      ได้ฟังอนุชาพาที                     เทวีแค้นขัดแล้วตรัสไป
                                      แม้นไหว้ระเด่นบุษบา               ก็ดีกว่าหาน้อยใจไม่
                                      ควรที่จะเป็นข้าช่วงใช้               ด้วยเนื่องในสุริย์วงศ์เทวา
                                      ..................................                  .......................................
                                      ..................................                  .......................................
                                      ไม่เจ็บช้ำน้ำใจได้เป็นน้อย           ทีนี้คนจะพลอยเย้ยหยัน
                                      อัปยศอดสูแก่พงศ์พันธุ์              จะดูหน้านางนั้นฉันใด
                                      จะเล็กกว่าหรือกระไรก็ไม่แจ้ง      จนอยู่ไม่รู้แห่งที่จะไหว้
                                      สองนางขัดแค้นแน่นฤทัย           ชลนัยนหลหลั่งลงพรั่งพรายฯ
                                              (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 172)


                                       4.6.2.9 ตัวอย่าง น้ำเสียงเหน็บแนม เช่น
                                                เมื่อนั้น                     พระองค์ทรงพิภพดาหา
                                      ฟังสุหรานากงนัดดา                 จึงมีบัญชาว่าไป
                                      อันกะหรัดตะปาตีจะมาช่วย        พอจะเห็นจริงด้วยไม่สงสัย
                                      แต่อิเหนาเขาจะมาทำไม            ผิดไปเจ้าอย่าเจรจา
                                      พระเชษฐาให้สารไปกี่ครั้ง           เขายังไม่จากหมันหยา
                                      จนสลัดตัดการวิวาห์                 ศึกติดพาราก็เพราะใคร
                                               (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 249)

5. คุณค่าของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.4 - ร.5)
          จากการศึกษาวรรณคดีสมัย ร.4 – ร.5 เรื่องสุภาษิตอิศรญาณ และเรื่องไกลบ้าน พบว่าวรรณคดีในสมัยนี้ มีคุณค่าดังนี้
          5.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                   วรรณคดีในสมัยนี้ปรากฏคุณค่าทางศีลธรรมทั้งสองเรื่อง โดยสุภาษิตอิศรญาณ เป็นวรรณคดีคำสอนที่สอดแทรกเรื่องราวของธรรมะในการสอน เนื้อหามุ่งเน้นให้คนทำความดี เพื่อเข้าสู่นิพพาน เมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วจะสามารถนำธรรมะที่ปรากฏไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ดังตัวอย่าง
                                      คืนและวันพลันดับก็ลับล่วง        
                                      ท่านทั้งปวงจงอุตส่าห์หากุศล
                                      พลันชีวิตคิดถึงรำพึงตน
                                      อายุคนนั้นไม่ยืนถึงหมื่นปี
                                      อันความมรณาถ้วนหน้าสัตว์
                                      แต่พระตรัสเป็นองค์ประชินศรี
                                      แสนประเสริฐเลิศภพจบธาตรี
                                      ยังจรลีเข้าสู่นิพพานเอย ฯ
                                                (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 42)
                   ส่วนวรรณคดีเรื่องไกลบ้านได้ถ่ายทอดความรักของพ่อที่มีต่อลูก โดยผู้เป็นพ่อแม้ว่าจะเป็นถึงพระมหากษัตริย์ ก็มีความรักลูกไม่แพ้สามัญชน และต้องการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอ ให้ลูกได้รู้ผ่านจากจดหมาย วรรณคดีเรื่องนี้จะทำให้ผู้อ่านได้ข้อคิดเกี่ยวกับบทบาทของผู้เป็นพ่อ ความรักของพ่อ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความซื่อสัตย์ของข้าราชสำนักที่ตามเสด็จ ซึ่งมีความซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก

          5.2 คุณค่าทางปัญญา
                   วรรณคดีทั้งสองเรื่องล้วนแต่ให้คุณค่าทางปัญญา โดยเรื่องสุภาษิตอิศรญาณมุ่งสอนมนุษย์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง โดยให้ความรู้ทั้งด้านการคบคน การพิจารณาคน รวมไปถึงการประพฤติตน ผู้อ่านจะได้รับความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
                             5.2.1 ตัวอย่าง การคบคน เช่น
                                      คดสิ่งอื่นหมื่นแสนแม้นกำหนด
                                      โกฏิล้านคดซ้อนซับพอนับถ้วน
                                      คดของคนล้นล้ำคดน้ำนวล
                                      เหลือกระบวนที่จะจับนับคดค้อม
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 41)

                                      อย่าคบมิตรจิตพาลสันดานชั่ว
                                      จะพาตัวให้เสื่อมที่เลื่อมใส
                                      คบนักปราชญ์นั่นแหละดีมีกำไร
                                      ท่านย่อมให้ความสบายหลายประตู
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 40)

                             5.2.2 ตัวอย่าง การประพฤติตน เช่น
                                      กิ่งไม้เรียวหนามหนาศิลาหัก
                                      เห็นเสียบปักอยู่ที่ทางกลางสถาน
                                      หยิบทิ้งเสียบุญหนักหนาอย่าขี้คร้าน
                                      ทำไปนานแล้วก็ก้างไม่ค้างคอ
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 39)

                                      ถ้าทำดีก็จะดีเป็นศรีศักดิ์
                                      ถ้าทำชั่วชั่วจักตามสนอง
                                      ความชั่วเราลี้ลับอย่ากลับตรอง
                                      นอนแล้วมองดูผิดในกิจการ
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 35)

                   ส่วนเรื่องไกลบ้านนำเสนอเรื่องราวการเสด็จประพาสยุโรป ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายเรื่องราวการเดินทาง สภาพแวดล้อมต่างๆโดยละเอียด ผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ อย่างชัดเจน
5.2.3 ตัวอย่าง ความรู้ทางภูมิประเทศ เช่น
                                      คลองตอนนี้พ้นอิสไมเลียที่เปนกึ่งทางมาแล้ว ประเดี๋ยวเดียวก็ถึงตอนลงเขื่อนสำเร็จ แต่ได้ความว่าตอนกลางเขื่อนยังไม่สำเร็จเหมือนกัน ที่จริงมันอัศจรรย์มาก คือในระหว่างเอเชียกับอาฟริกา แต่ก่อนนั้นเปนทเลแคบๆ เช่นทเลแดงทีหลังตื้นขึ้น จะเปนด้วยเขาไฟฤๅทรายบนฝั่งมีพยุพัดเปนลมบ้าหมูโปรยลงไปนานเข้าก็ตื้นขึ้นได้ ที่ซึ่งทเลลึกแลกว้างทรายถมไม่เต็มได้ก็เปนทเลเล็กบ้างใหญ่บ้างน้ำไหลไปไหนไม่ได้ ที่ทรายโรยมากก็ดอนสูง ที่น้อยก็เปนทรายพอน้ำแฉะๆ แต่น้ำยังเค็มอยู่ จึงเปนเกลือในที่ที่น้ำท่วมเท่านาเกลือ
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 79)

5.3 คุณค่าทางอารมณ์
                   วรรณคดีสมัยนี้จะทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลายของคน ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์เหน็บแนม ประชดประชัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             5.3.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                      รักสั้นนั้นให้รู้อยู่เพียงสั้น
                                      รักยาวนั้นอย่าให้เยิ่นเกินกฎหมาย
                                      มิใช่ตายแต่เขาเราก็ตาย
                                      แหงนดูฟ้าอย่าให้อายแก่เทวดา
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 30)

                                      พ่อคิดถึงลูกเหลือประมาณทีเดียว สารพัดในการหนังสือที่เคยใช้ต้องทำเองทั้งสิ้น จนนอนฝันไปว่าให้หญิงน้อยอ่านหนังสือ Development of the European Nations ให้ฟัง (เพราะพ่อกำลังอ่านอยู่) นอนฟังสบายเพราะนอนจริงๆ นึกเปลี่ยวใจที่ไม่มีใครช่วยในการหนังสือยังไม่เคยลืมคิดถึงแต่สักวันหนึ่งเลย
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 86)



                             5.3.2 ตัวอย่าง อารมณ์เหน็บแนม เช่น
                                      แก่ตัณหานี้ทำไมจึงไม่แก่
                                      ยังปกแผ่พังพานผึงตึงใจหาย
                                      เห็นสาวสาวเข้ายังตะเกียกตะกาย
                                      คิดอุบายจะใคร่เฉ่งแต่เกรงจน
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 46)

                             5.3.3 ตัวอย่าง อารมณ์ขัน เช่น
                                      พ่อตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือบอกข่าวให้รู้เปนส่วนตัวต่างหากจากที่จะรู้ทางราชการ แต่จะเขียนด้วยกระดาษหนาแลดีกว่านี้ก็จะโตนักไป จึงเขียนแผ่นใหญ่แลให้กระดาษบางๆเช่นนี้ ว่าทางลมจับก็เสียค่าส่งน้อย
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 1)

                   5.4 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             วัฒนธรรมที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยนี้จะมีทั้งที่เป็นวัฒนธรมไทย และวัฒนธรรมต่างชาติ ในส่วนของวัฒนธรรมไทยนั้นจะเห็นได้ชัดเจนจาก เรื่องสุภาษิตอิศรญาณ คือ ความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของคนในสังคมสมัยนั้น ซึ่งจะมีความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
                             ส่วนเรื่องไกลบ้านนั้น วรรณคดีเรื่องนี้เป็นวรรณคดีไทยเล่มแรกๆ ที่นำเสนอวัฒนธรรมต่างชาติให้เห็นอย่างชัดเจน ด้วยความที่วรรณคดีเรื่องนี้บันทึกเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นผู้อ่านจะได้ทราบถึงวัฒนธรรมทางการทูตของไทย และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมไทยในสมัยนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             5.4.1 ตัวอย่าง วันและประเพณีสำคัญของต่างประเทศ เช่น
                                       ตอนเช้าวันนี้จะไปเที่ยวก็เกิดขัดข้อง ด้วยวันนี้เปนวันที่ ๑ เดือนพฤษภาคม เปนวันตามนักขัตฤกษ์ของพวกโซเชียลลิสต์ คือบุคคลจำพวกที่ไม่ชอบผู้มีทรัพย์มียศทุก ๆ เมือง คนพวกนี้มีแห่ ถือธง ตีกลอง เป่าแตร เป็นฤกษ์ที่เจ้านายผู้มีบรรดาศักดิไม่ออกจากบ้าน ด้วยกลัวจะกระทบกระทั่งชวนวิวาทกันขึ้น ถ้าเปนเมืองที่สำคัญ ๆ โทษถึงต้องเตรียมทหารประจำโรง ด้วยเกรงพวกนี้ เมื่อมากเข้าด้วยกันจะเที่ยวข่มเหงผู้อื่น
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 146)
                            
                             5.4.2 ตัวอย่าง การแต่งกายของชาวต่างประเทศ เช่น
                                       ตาแก่ตาเถ้าผู้ชายในแถบนั้นใส่เสื้อเชิ้ด เสื้อกั๊ก ไม่มีเสื้อชั้นนอก สีต่าง ๆ เปื้อน ๆ หมวกผ้า ๆ ผู้หญิงก็ใช้ห่มผ้าคลุมไหล่ตะแบงมานเปนพื้น มันน่าเอ็นดูแต่พวกเด็ก ๆ แต่งตัวปู้ยี้ปู้ยำเหมือนผู้ใหญ่ แต่หน้าพองโต ๆ แก้มแดงไหม้เกรียม
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 144)
5.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             5.5.1 การเล่นคำ
                                      วรรณคดีในสมัยนี้ กวีมีการเล่นคำโดยการใช้คำซ้ำ เพื่อเน้นความให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น  ดังตัวอย่าง
                                      5.5.1.1 ตัวอย่าง การซ้ำคำ เช่น
                                                ดูตระกูลกิริยาดูอากัป
                                                 ดูทิศจับเอาที่ผลต้นพฤกษา
                                                 ดูฉลาดเล่าก็เห็นที่เจรจา
                                                 ดูคงคาก็พึงหมายสายอุบล
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 45)

                                                อ้ายบ้างก็นุ่งกางเกงไม่มีเสื้อ อ้ายบ้างก็มีเสื้อนุ่งขัดเตี่ยว อ้ายบ้างก็ห่มหอง        ด้วยผ้าขาวเหมือนพระ พอลงเรือแล้วอ้ายบางคนตี อ้ายบางคนหยุด...
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 79)
                                      5.5.1.2 ตัวอย่าง การนำคำที่มีเสียงใกล้เคียงกันมาเรียงต่อกัน เช่น
                                                ...นอกนั้นเมาคลื่นเปนพ่อสวิงพ่อสวายพ่อระทวยพ่อ  ชอ้อนนอนหมด....
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 99)

                             5.5.2 น้ำเสียง
                                       วรรณคดีในสมัยนี้ กวีใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย เช่น น้ำเสียงเชิงสั่งสอน น้ำเสียงเหน็บแนม และประชดประชัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                                      5.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงเชิงสั่งสอน เช่น
                                                สูงอย่าให้สูงกว่าฐานนานไปล้ม
                                                จะเรียนคมเรียนเถิดอย่าเปิดฝัก
                                                คนสามขามีปัญญาหาไว้ทัก
                                                ที่ไหนหลักแหลมคำจงจำเอา
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 31)

                                       5.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงเหน็บแนม เช่น
                                                น้ำใจเอยเห็นกรรมไม่ทำชั่ว
                                                บวชตั้งตัวตั้งใจบวชได้เรื่อง
                                                บวชหลบราชการหนักบวชยักเยื้อง
                                                บวชหาเฟื้องหาไพบวชไม่ตรง
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 38)

                                      5.5.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงอ่อนใจ เช่น
                                                ...หน้าตามันก็สิงคโปร์นั้นเองนึกเอาเถิด อ่อนใจเขียนไม่ไหว...
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 11)

                                      5.5.2.4 ตัวอย่าง น้ำเสียงตักเตือน เช่น
                                                ...มาในเรือนี้ต้องระวังอย่างเดียวอย่าตะกลามกินให้มาเกินไปเท่านั้น ค่ำมือดึกดื่นจะกินอะไรมันได้ไปเสียทั้งนั้น ที่จะหาเวลาหิวอิกขยับจะยาก นั่ง ๆ อยู่ ๒ชั่วโมงคงได้กินอะไรต่ออะไร เว้นแต่เราจะไม่กิน ถ้าคนไม่มีโรค ชั่วแต่เดินทางกินกับนอนอาจจะอ้วนท้องพลุ้ยกลับไปบ้านได้ พ่อช่างอยากให้ลูกมาจริง ๆ
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 29)

                                      5.5.2.5 ตัวอย่าง น้ำเสียงเห็นใจ เช่น
                                                ...ความเหน็ดเหนื่อยของคนในเรือมันมากจริงๆตื่นยังค่ำ กลางคืนกว่าจะได้นอนก็จนดึก ยืนเกือบจะเปนนิจไม่เห็นมีเวลานั่งเล่นเลย ...
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 51)



                                       5.5.2.6 ตัวอย่าง น้ำเสียงสมเพชเวทนา เช่น
                                                ที่พวกเราชอบดูมากนั้นเรื่องผัวเปนขี้ข้าเมีย มันน่าสมเพชเวทนา ถึงเราก็ต้องสัพพียกเก้าอี้ให้ผู้หญิงจริงแล แต่ยังไม่ถึงคู่หนึ่ง ซึ่งถูกดูเสียจริงๆแลบ่นกันไม่หยุด คือดาดฟ้าชั้นที่หนึ่งกับที่สองมันเดินไม่ถึงกัน เวลาจะมาใช้ให้ผัวยกเก้าอี้ตามหลัง พอมาถึงจัดการตั้งเก้าอี้ให้ แต่แม่เจ้าประคุณไม่นั่ง เพราะจะมีแดดถูกตีนนิดหนึ่งเขียวให้ตั้งใหม่จึงได้นั่ง ตาผัวยังยืนอยู่หันไปพูดกับใคร เรียกมาเขียวไม่ให้พูด บังคับให้นั่งลงกับพื้นที่ข้างเก้าอี้ เจ้าผัวกว่าจะนั่งลงได้ประดักประเดิดโก้งเก้งกันอยู่เปนนานจึงนั่งได้...
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 53)

          5.6 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
                   วรรณคดีในสมัยนี้ โดยเฉพาะเรื่องไกลบ้าน เป็นเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งเนื้อหาทั้งเรื่องนั้นได้บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การเดินทางโดยทางเรือ สภาพบ้านเมือง รวมไปถึงสถานที่ต่างๆที่ผู้เขียนเดินทางไปถึง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             5.6.1 สภาพบ้านเมือง เมืองเวนิศ ตัวอย่าง
                                      เมืองตั้งอยู่ในที่ดอนชายทเล ห่างจากฝั่งถึงสองไมล์ครึ่ง แต่ไม่ใช่เปนเกาะเปนเขา เปนพื้นราบพอปริ่มๆน้ำ แบ่งเปนแผ่นใหญ่แผ่นเล็กด้วยลำคลองใหญ่สายหนึ่ง รูปร่างเหมือนตัวเอส S แลมีคลองเล็ก ๆ ซอยไปเหมือนถนนไม่ใช่ตรง ๆ คดอ้อมวงเป็นถนนอย่างเก่าไม่ใช่ถนนอย่างใหม่ คลองเหล่านี้เปนคลองน้ำเค็มทั้งนั้น ขึ้นก็ไม่มากลงก็ไม่มาก เดี๋ยวนี้ประหลาดที่ตึกริมคลองที่เขาก่อขึ้นนั้น ไม่ได้ไว้คันคลองเลย ก่อผนังตึกขึ้นมาเหมือนเขื่อนที่ลงริมน้ำ พอเปิดประตูเรือนก็ถึงน้ำทีเดียว
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 253)
                             5.6.2 โฮเตลชไวซาฮอฟ เมืองนอยเอาเซน ตัวอย่าง
                                      โฮเตลนี้ออกจะอยู่ข้างปอนๆสักหน่อย เพราะเหตุที่เมืองไม่เปน สลักสำคัญอันใดเลย สิ่งสำคัญที่จะดูได้นั้นมีแต่น้ำตกอย่างเดียว แต่ที่ตั้งดีเพราะเปนตลิ่งสูง สูงกว่าทำนบที่กั้นน้ำฤๅน้ำตกนั้นมากอาจจะแลเห็นได้ตลอดขึ้นไปไกลจนพ้นสพานรถไฟอันข้ามแม่น้ำที่เหนือน้ำตกขึ้นไป ฝ่ายข้างใต้น้ำก็แลเห็นลงไปไกลจนสุดสายตา ทำทางเดินจากด้านหน้าโฮเตลลงไปเปนทางทบไปทบมาหลายทบ ไปในใต้ร่มไม้ข้างทางก็เปนเมโด ประดับด้วยดอกไม้ป่าสีต่าง ๆ ลงไปจนถึงพื้นถนนใหญ่ เมื่อข้ามถนนใหญ่ลงไปอิกจึงถึงท่าเรือแลเรสเตอรองต์อันตั้งอยู่ริมน้ำทีเดียว แลตั้งอยู่บนเกาะด้วย มีสะพานข้ามออกไปจากฝั่ง หลังเกาะกับฝั่งน้ำเขากั้นทำนบไว้ ปิดประตูเสียไม่ให้สายน้ำพัดมาเชี่ยวเปนที่สำหรับเก็บเรือซึ่งจะข้ามฟาก
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 308)

                             5.6.3 การเล่นโมเตอร์คาร์ ตัวอย่าง
                                      การเล่นโมเตอร์คาร์นั้นมันเปนอินสติตูชั่นใหญ่ที่มีคนเล่นเปนอันมาก มีคลับที่เข้ากันไม่ว่าชาติใดภาษาใด ไม่ใช่แต่มีแผนที่เฉภาะสำหรับแต่เดินโมเตอร์คาร์ มีป้ายปักทุกหนทุกแห่งในที่ทางสองแพร่ บอกให้ไปทางโน้นทางนี้ ป้ายนั้นเขียนหลายภาษา ใช่แต่เท่านั้น ถ้าเปนทางขึ้นเขา ลงห้วย เลี้ยวหัก เลี้ยวอ้อม เขียนลูกศรไว้ที่ป้ายนั้นด้วยเปนที่สังเกต ลูกศรนั้นหันปลายไปในทิศต่าง ๆ แลเห็นไปแต่ไกลก็รู้ได้ว่าที่นั่นจะต้องขึ้นจะต้องลงจะต้องเลี้ยวเช่นนั้น ๆ ผู้ที่จะขับรถโมเตอคาร์ต้องอ่านหนังสือภาษาใดภาษาหนึ่งออก ต้องอ่านเครื่องหมายเช่นนั้นเข้าใจ ( ถึงคนที่จะขับรถได้ดีปานใด จะขับรถไปไหนไม่รอดเมื่ออ่านป้ายไม่ได้ คงจะไปมาได้แต่ที่เคยไปเคยมาในเมืองฤๅขับตามเขาไป หลวงโสภณฤๅอ้ายฟ้อนก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ถึงจะไล่ได้เซอติฟิเกตก็ไปไหนไม่ได้ เพราะมันอ่านหนังสือของเขาไม่ออก ) เพราะเหตุฉนั้นการเที่ยวโมเตอร์คาร์จึงเปนที่สะดวกนัก
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 311)

                             5.6.4 ประวัติเมืองไฮเดลแบ็ก ตัวอย่าง
                                      เมืองไฮเดลแบ็กนี้มีคนสี่หมื่นเศษ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเนกกา มีเขาเปนเทือกใหญ่อยู่ทั้งสองฝั่ง เมืองตั้งอยู่ในหว่างเขาสองฟากน้ำ ที่คาเซอลนี้ได้เปนวังของเคานต์ปะละตีนประมาณเจ็ดร้อยปีเศษมาแล้ว ได้อยู่สืบต่อ ๆ กันมาจนกลายเปนเมืองขึ้น ได้เปนเมืองหลวงของปะละติเนตประมาณสักห้าร้อยปี ภายหลังเกิดความลำบากด้วยเรื่องสาสนาไม่ถูกกันกับพวกโปรเตสตันตในเมือง จึงได้ย้ายไปอยู่มันไฮม์ เมืองไฮเดลแบ็กเปนของแกรนด์ดัชชีออฟบาเดนมาได้ร้อยปีเศษ
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 349)

6. คุณค่าวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์  (ร.6-ร.8)
          จากการศึกษาวรรณคดีสมัย ร.6 – ร.8 เรื่องมัทนะพาธา นิทานเวตาล และสามกรุง พบว่าวรรณคดีในสมัยนี้มีคุณค่า ดังนี้

6.1 คุณค่าทางศีลธรรม
          คุณค่าทางศีลธรรมที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยนี้ มีปรากฏในเรื่องมัทนะพาธา และนิทานเวตาล โดยในเรื่องมัทนะพาธานั้นได้ให้ข้อคิดในเรื่องความรัก ความหลง รวมไปถึงการยึดมั่นในสัจจะและความซื่อสัตย์ ซึ่งในท้ายที่สุดได้นำไปสู่เหตุการณ์ในเรื่องที่ดีและร้ายแตกต่างกัน นอกจากนี้วรรณคดีเรื่องนี้ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการมีสติ ซึ่งหากตัวละครในเรื่อง (ท้าวชัยเสน) มีสติ ไม่ฟังความข้างเดียว ก็อาจจะไม่ตัดสินใจผิดพลาดดังเหตุการณ์ในเรื่องนี้
                   ส่วนเรื่องนิทานเวตาลเป็นวรรณคดีรูปแบบนิทาน ที่แฝงคำสอนที่หลากหลาย ทั้งความเพียรพยายาม ความซื่อสัตย์ ความอดทน โดยทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจะสำเร็จได้หากมีทั้งสามสิ่งนี้ นอกจากนี้การมีกิเลสของมนุษย์ก็จะเป็นสิ่งที่นำพาความล้มเหลวมาให้ ดังนั้นเมื่อผู้อ่านได้อ่านนิทานเวตาลนั้น จะได้ข้อคิดต่างๆที่สอดแทรกอยู่มากมาย

6.2 คุณค่าทางอารมณ์
                    วรรณคดีในสมัยนี้ เมื่อผู้อ่านได้อ่านก็จะได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลาย ดังนี้
                             6.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                      มัทนา.  เหตุใดพระองค์ทรงธรรม์   จึ่งทำเช่นนั้น
                                                ให้ข้าพระบาทต้องอาย
                                                แก่หมู่ชาวฟ้าทั้งหลาย ?   โอ้พระฦๅสาย
                                                พระองค์บทรงปราณี
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 24)
         
                   6.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์โกรธ เช่น
                                      สุเทษณ์. (ตวาด) อุเหม่ !
                                                มะทะนาชะเจ้าเล่ห์        ชิชิช่างจำนรรจา,
                                                ตะละคำอุวาทา            ฤกระบิดกระบวนความ.
                                                ดนุถามก็เจ้าไซร้           บมิตอบณคำถาม,
                                                วนิดาพยายาม             กะละเล่นสำนวนหวล.
                                                ก็และเจ้ามิเต็มจิต          จะสดัลดนูชวน,
                                                ผิวะให้อนงค์นวล          ชนะหล่อนทะนงใจ.
                                                บ่มิยอมจะร่วมรัก          และสมัคสมรไซร้,
                                                ก็ดะนูจะยอมให้           วนิดานิวาศสฺวรรค์.
                                                ผิวะนางพะเอินชอบ       มรุอื่นก็ฃ้าพลัน  
                                                จะทุรนทุรายศัล-          ยะบ่อยากจะยินยล;
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 29)


                   6.2.3 ตัวอย่าง อารมณ์ขัน เช่น
                             นาค.    ทำไมจมูกแกไม่มีหรือ ? (นั่งบนตอไม้.)
                             ศุน.      ก็มีน่ะสิ! แต่เกิดมายังไม่เคยรับใช้เช่นนี้เลย. ข้าสูดหากลิ่น                                             เสียจนจมูกเยิ้มแล้ว, รู้ไหม ?
                             นาค.    จมูกเยิ้มก็ดีอยู่แล้ว; แปลว่าแกไม่เจ็บ.
                             ศุน.      เอ๊ะ! อย่างไรกัน ?
                             นาค.    ข้าเคยสังเกตเห็นอ้ายด่างของข้า. เมื่อไรจมูกมันแห้งละก็                                              แปลว่ามันไม่สบาย.
                             ศุน.      อุวะ, แล้วกัน! เอาข้าไปเข้าประเภทหมาเสียแล้ว!
                             นาค.    ก็ดีนี่นะ; หมาจมูกมันเก่งกว่าคนเราอีก.
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 34)

                                       ปลาลิง วานรหรือ         หรือว่าชื่อเชิงประวิง
                             นึกหน้า ปลาขี้ลิง                    ลิงถ่ายไว้ในวารีฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 31)

                                       ปลาจิ้มฟันจระเข้          มีอุปเท่ห์เล่ห์กลใด
                             จิ้มฟันมันทำไม                      ฤๅหมายลิ้มชิมอาหารฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 32)

                   6.2.4 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                             คราวนี้สิพบชาย           วรรูปวิเศษวิศาล,
                             ใจวาบและหวามปาน      ฤดินั้นจะโลดจะลอย!
                             เธอนั้นฤเจียมตัว           กิริยาก็เรียบก็ร้อย
                             ไม่มีละสักน้อย             จะแสดงณท่วงณที
                             ว่าเธอประสงค์จะ                   อภิรมย์ฤดีระตี,
                             เปนแต่ชำเลืองที่           ดนุบ้างณครั้งณคราว;
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 62)

                                       พระราชาตรัสตอบว่า  “ข้าเป็นพระราชาครององคราษฎร์  ทรงนามยศเกตุ ข้าได้ยินจากเพื่อนผู้เป็นที่เชื่อถือว่า  ถ้าใครเดินทางไปมาในทะเลนี้  ก็อาจได้เห็นนางผุดขึ้นจากทะเลบนต้นกัลปฤกษ์  ข้าจึงแต่งปลอมกายเช่นนี้  สละราชสมบัติเพื่อจะได้เห็นนาง  แลได้ตามนางลงมาทะเล  ขอนางจงบอกข้าว่านางเป็นอะไร  
                                       นางทูลตอบด้วยความรู้สึกอาย  รู้สึกรัก  แลรู้สึกยินดีว่า  “มีพระราชามีวาสนาองค์หนึ่งเป็นใหญ่ในหมู่วิทยาธร  ข้าพเจ้าเป็นธิดาของพระราชาองค์นั้น  พระบิดาของข้าพเจ้าเสด็จไปเสียจากกรุงนี้พร้อมด้วยวิทยาธรทั้งหลาย  ทิ้งข้าพเจ้าไว้ผู้เดียว  ด้วยเหตุไร  ข้าพเจ้าหาทราบไม่  ข้าพเจ้าอยู่ผู้เดียวก็มีความง่วงเหงา  จึงผุดขึ้นในทะเลแลนั่งร้องเพลงเล่นบนต้นกัลปพฤกษ์”  พระราชาได้ทรงฟังเพลิดเพลินสำเนียงนางทั้งรุมรึงรักรูปแลกิริยาทุกประการ  จึงตรัสเชิญนางให้ยินยอมวิวาหะกับพระองค์  นางก็ตอบตกลงตามพระประสงค์                                                                    (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 225)

                                      พระองค์ทรงรักข้า         เรืองคุณ
                             เพราะพึ่งมาพึ่งบุญ                  บาทเจ้า
                             ไป่ช้าพระการุณ                     จักร่วง โรยแฮ
                             เบือนเบื่อเมื่อแก่เถ้า                 ทอดทิ้งทางถุล ฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2518, น.14)     

                             6.2.5 ตัวอย่าง อารมณ์ประชดประชัน เช่น
                                       เวตาลเริ่มด้วยสำเนียงโอนอ่อนว่า  ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐพระองค์ทรงปัญญายิ่งล้นหาผู้เสมอมิได้ในสามภพก็จริง  แต่หมาซึ่งเป็นสัตว์สี่เท้ายังรู้พลาด  แลล้มในเวลาเหยียบที่ลื่นฉันใด  ผู้เป็นปราชญ์แม้ปัญญาจะทึบเพียงไร
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 135)

                                      เวตาลตอบว่าความโง่ของข้าพเจ้าทะลุแล้ว  แต่ของพระองค์นั้นยัง  จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้กลับไปแขวนตัวอยู่ยังต้นอโศกในบัดนี้
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 177)

                             6.2.6 ตัวอย่าง อารมณ์เคียดแค้น เช่น
                                      มาจะกล่าวบทถึง          ทองอินกายไทยใจพม่า
                             เป็นคนแคบสั้นปัญญา               โอกาศวาศนาครานั้น
                             เห็นขี้ว่าดีกว่าไส้                     น้ำใจเติบโตโมหันธ์
                             หมายกำอำนาจราชทัณฑ์           กำเริบเสิบสันแสนร้าย
                             เข้าช่วยศัตรูขู่ข่ม                     ได้สบอารมณ์สมหมาย
                             พะม่ามอบให้เป็นนาย               รักษาป้อมค่ายเมืองธน
                                      (พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2518, น.81)     

6.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                    วรรณคดีในสมัยนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยในสมัยนั้นยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องราวของไสยศาสตร์ และยังคงมีความเชื่อในสิ่งเร้นลับ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
          6.3.1 ตัวอย่าง ความเชื่อเกี่ยวกับคำสาป เช่น
                   เพราะฉะนั้นจะให้นาง     จุติสู่ณแดนคน,
                   มะทะนาประสงค์ตน      จะกำเนิดณรูปใด?
                   ทวิบทจะตูร์บาท           ฤจะเปนอะไรไซร้,
                   วธุเลือกจะตามใจ          และจะสาปประดุจสรร;
                   จะสถิตฉะนั้นกว่า                   จะสำนึกณโทษทัณฑ์,
                   และผิวอนดนูพลัน         จะประสาทพระพรให้
                   วนิดาจรัลกลับ             ณประเทศสุราลัย;
                   ก็จะชอบสะฐานใด         วธุตอบดนูมา.
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 30)

6.3.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถา เช่น
                             สุเทษณ์. นางมาแล้วไซร้ แต่ว่าฉันใด จึ่งไม่พูดจา?
                             มายาวิน. นางยังงงงวย ด้วยฤทธิ์มนตรา, แต่ว่าตูข้า จะแก้บัดนี้
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 20)
                             6.3.3 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม เช่น
                                       เวลานาฬิกาสาม  ได้ฤกษ์งามยามดี นายโยธีพร้อมสรรพ ขับทหารไทย ทหารจีน เข้าป่ายปีนกำแพง ทั้งด้านแวงด้านฉวาง...
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 75)

                             6.3.4 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องความฝัน เช่น
                                       เทวัญสรรเสกให้                     ฝันเห็น
                             ปราสาทราชฐานเย็น                         อยู่ยั้ง
                             ภาพกรุงรุ่งเรืองเป็น                           ปรกติ
                             ทุกสิ่งยิ่งกว่าครั้ง                              เมื่อบ้านเมืองดีฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 92)

6.4 คุณค่าทางจินตนาการ
          วรรณคดีในสมัยนี้ มีคุณค่าทางจินตนาการมากมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                   6.4.1 ตัวอย่าง การแปลงร่าง เช่น
                             เพราะเราสิเล็งญา-        ณะและทราบฉะนี้ได้;
                             ผะกาพิเศษไซร้             บมิใช่ผะกาจริง,
                             และเปนวะธูผู้              ปะระเศรษฐะยอดหญิง,
                             เพราะรักษาสัจยิ่ง          บมิยอมจะเสียธรรม์,
                             ก็ถูกกำราบให้              จุติจากณแดนสฺวรรค์
                             กำเนิดประดุจพัน-         ธุผกาพิเศษนี้.
                             ณวันพระจันทร์เพ็ญ       ก็จะเปนสุนารี
                             และคงฉะนั้นมี             เฉพาะหนึ่งทิวากาล
                             และเอกะราตรี             ก็จะกลับสกนธ์ปาน
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 41)

                             พราหมณ์มูลเทวะรับสัญญาจะจัดการให้สมหมาย  แล้วพามนัสวีกลับไปบ้านของมูลเทวะ  เมื่อไปถึงบ้านแล้วก็รับรองเป็นอันดี  เชิญให้นั่งในที่อันสมควรแล้ว  มูลเทวะก็ไปหยิบลูกอมมา  2  ลูก  แล้วอธิบายที่ใช้แห่งลูกอมนั้นให้มนัสวีฟังว่า
                             ในเรือนของเรานี้  มีวิชาลับซึ่งได้ส่งต่อเป็นมรดกกันมาหลายชั่วคน  แลข้าใช้วิชานี้กระทำประโยชน์ให้เกิดแก่มนุษย์  แต่การใช้ความรู้ของข้านี้จะสำเร็จประโยชน์ได้  ก็ต่อเมื่อผู้ซึ่งมาขอให้ช่วยนั้นมีใจบริสุทธิ์  แลตั้งใจจริงที่จะรับประโยชน์จากลูกอมนี้  ถ้าเจ้าอมเข้าในปาก  เจ้าจะกลายเป็นหญิงอายุ  12  ปี  ถ้าเอาออกจากปากจึงจะคืนรูปเดิม  ถ้าข้าให้ลูกอมนี้แก่เจ้า  เจ้าต้องตั้งใจแน่นอนว่าจะเอาไปใช้แต่ทางที่ดี  มิฉะนั้น  จะเกิดเหตุเป็นทุกข์แก่เจ้าอย่างใหญ่  เหตุฉะนั้นเจ้าจงตรึงตรองในใจให้ดีเสียก่อน  จึงรับลูกอมนี้ไปใช้  ถ้าไม่แน่ใจก็อย่ารับไปเลย
                                       (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 185)

                             6.4.2 ตัวอย่าง การสร้างตัวละครให้ทำกิริยาเหมือนคน เช่น
                             ไส้ตันความป่วยเจ็บ                 ผ่าแล้วเย็บพอเยียวยา
                   เร็วเรียก ปลาหมอ มา                        ให้ช่วยผ่า ปลาไส้ตันฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 32)

          6.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             6.5.1 การเล่นคำ
                                       วรรณคดีในสมัยนี้ ปรากฏการเล่นคำ  ดังต่อไปนี้
                                      6.5.1.1 ตัวอย่าง การสลับที่คำ เช่น
                                                สุเทษณ์. รักจริงมิจริงฤก็ไฉน        อรไทยบ่แจ้งการ?
                                                มัทนา.  รักจริงมิจริงก็สุระชาญ    ชยะโปรดสถานใด?
                                                สุเทษณ์. พี่รักและหวังวธุจะรัก      และบทอดบทิ้งไป.
                                                มัทนา.  พระรักสมัคณพระหทัย    ฤจะทอดจะทิ้งเสีย?
                                                สุเทษณ์. ความรักละเหี่ยอุระระทด เพราะมิอาจจะคลอเคลีย.
                                                มัทนา.  ความรักระทดอุระละเหี่ย ฤจะหายเพราะเคลียคลอ?
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 21)
                                                เราน้อยเขามากด้วย                 กำลัง
                                      เขาอยู่ในกำบัง                                เยี่ยงด้อม
                                      เราเกลี้ยงเสบียงดัง                            เราคาด
                                      เขาจะออกนอกป้อม                          ป่ายต้อนตีเรา
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 72)

                                       6.5.1.2 ตัวอย่าง การสลับคำและการใช้คำพ้องเสียง เช่น
                                                เรียนจริงอิงหลักได้                  ดีเรียน
                                      ฤๅว่าสักแต่เลียน                               ว่ารู้
                                      เพียรเรียนใช่เลียนเพียร                       พิทเยศ
                                      ปราศวิชาพาคู้                                 คุดเค้าเดาเดิน
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 251)
                  
                                      6.5.1.3 ตัวอย่าง การซ้ำคำและสัมผัสอักษร เช่น
                                                ตังๆตรังค์โลดเต้น          ตายเตียน แล้วโวยญ
                                      เห็นคลื่นเกิดคลื่นเหียน                        หะห้าย
                                      คลื่นไส้ใคร่อาเจียน                           รดคลื่น
                                      พระสมุทสุดโหดร้าย                          เหิ่มล้ำกำลังฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 213)

                   6.5.2 น้ำเสียง
วรรณคดีในสมัยนี้ ปรากฏน้ำเสียงที่หลากหลาย ดังนี้                     
                                       6.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงโมโห เช่น
                                                ศุภางค์.           นางอราลีนี่เออ             อวดดีเผยอ
                                                                   หยิ่งเย่อเหมือนอย่างคางคก,
                                                                   ชาติ์นางยางหัวไม่ตก       ก็คงผงก
                                                                   ผงาดบังอาจเอิบใจ.
                                                                   ไปเถิด,นางค่อม,รีบไป !
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 99)

                                       6.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงเสียใจ เช่น
                                                ฉะนี้สิจึ่งแสน              ทุขะมากบอยากอยู่,
                                                 และนึกก็ชังตู               เพราะว่ะโง่นะเหลือทน.
                                                สดับพะจีเจ้า               นะสิเราสำนึกตน,
                                                 และจำจะต้องทน                   ทุขะเพื่อประโยชน์ราษฎร์,
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 133)
                            
6.5.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงเหน็บแนม เช่น
                                                การที่นักปราชญ์คิดทำให้นกรู้ประสาเช่นนี้ก็มีคุณดีบ้าง แต่มีคุณชั่วมากเหมือนความคิดนักปราชญ์ทั้งปวง คือเมื่อนกมีความคิดแลพูดได้แล้วก็คิดอย่างฉลาดแลพูดอย่างดี คำที่กล่าวล้วนเป็นคำสัตย์ ครั้นมนุษย์พูดเหลวไหลปราศจากสัตย์ นกก็พูดติเตียน จนมนุษย์เบื่อความสัตย์เข้าเต็มที่ก็ทิ้งวิชาทำให้นกพูดได้นั้นเสีย ความรู้จึงเสื่อมด้วยประการเช่นนี้ ในปัตยุบันถ้านกแก้วแลนกขุนทองยังพูดได้ก็พูดเหลวๆเพราะความจำอย่างเดียว ไม่ใช่พูดด้วยรู้คิดอย่างแต่ก่อน มนุษย์ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยความสัตย์แห่งนกอีกต่อไป
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 102)


                                      6.5.2.4 ตัวอย่าง น้ำเสียงสั่งสอน เช่น
                                                ก็บิดามารดาซึ่งมีปัญญานั้นควรทำอย่างไรเล่า จึงจะหลีกทางทั้งสองนี้ได้ ธรรมดาบิดามารดาผู้มีปัญญาย่อมเอาใจใส่สังเกตนิสัยบุตรของตน แลดำเนินการระมดระวังตามนิสัยซึ่งมีในตัวบุตร ถ้าลูกสาวมีนิสัยดีอยู่ในตัว บิดามารดาที่ฉลาดก็คงจะวางใจปล่อยให้ดำเนินความประพฤติตามใจในเขตอันควร ถ้าบุตรสาวมีนิสัยกล้าแข็ง บิดามารดาก็คงจะแสดงกิริยาประหนึ่งว่าไว้วางใจในบุตร แต่คงจะลอบระมัดระวังอยู่เสมอ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 133)

                                                เขามีความรู้หลาก                   หลายนัย
                                      ล้วนซึ่งเราพึงใจ                               ใคร่รู้
                                      ความคิดวิชชาใด                              ควรทราบ
                                      จงอย่าวางใจสู้                                สืบคว้าหาหนฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 236)
                  
                                      6.5.2.5 ตัวอย่าง น้ำเสียงเหน็บแนมแกมประชดประชัน เช่น
                                      ฉันเป็นผู้นำชาติอาจนำให้ ทั้งชาติได้ประจักษ์ศักดิ์สุขสันต์
                                      ฉันนี่แหละเป็นผู้รู้เท่าทัน  เพราะเหตุว่าชาตินั้นคือฉันเอง
                                      ท่านรักชาติแม้จะม่วยต้องช่วยชาติ ไม่บังอาจพูดโป้งทำโฉงเฉง
                                      ฉันคือชาติๆคือฉันหันตามเพลง     จงยำเยงจอมโยธีผู้มีปืนฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 105)

                                                เสรีมีไม่ช้า                           ชิมรศ
                                      แปรธาตุฝาดเฝื่อนกรด                        กัดลิ้น
                                      โอษฐ์หุบอุบอิบหด                            หัวหู่
                                      อ่อนจิตอิศรสิ้น                                สุดแล้วเสรีฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 256)

                                      6.5.2.6 ตัวอย่าง น้ำเสียงชื่นชม เช่น
                                                สยามินทร์ปิ่นธเรศเจ้า               จุลจอม จักรเอย
                                      นึกพระนามความหอม                        ห่อหุ้ม
                                      อวลอบกระหลบออม                         ใจอิ่ม
                                      เพราะพระองค์ทรงอุ้ม                        โอบเอื้อเหลือหลายฯ
                                                ความรู้สู่ท่านถ้วน                    ทางเสถียร
                                       เมื่อพระเยาว์เล่าเรียน                         เริ่มปั้น
                                       พลันเพลินเจริญเพียร                         พิทยเพิ่ม ภูลแฮ
                                      เพ่งพิจารณ์การหมั้น                          สติหมั้นปัญญาฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 246)

6.6 คุณค่าทางปัญญา
                   วรรณคดีในสมัยนี้ ทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ต่างๆมากมาย ดังจะเห็นได้จากเรื่อง นิทานเวตาล วรรณคดีเรื่องนี้ ผู้เขียนใช้กลวิธีการเขียนที่ยอดเยี่ยม ทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วคิดตามไปตลอดเรื่องว่าปริศนาของเรื่องนี้คืออะไร และจะแก้ปริศนานั้นอย่างไร ดังนั้นการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้จะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และคิดแก้ปัญหาให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
                   ส่วนเรื่องสามกรุงเป็นวรรณคดีที่กวีนำเสนอความคิดเกี่ยวกับสภาพสังคม การเมือง การปกครอง โดยผู้อ่านจะได้อ่านความคิดของกวี และได้ความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคม ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึง สมัยรัชกาลที่7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้ผู้อ่านจะต้องคิดวิเคราะห์ตาม เนื่องจากกวีได้นำเสนอเรื่องราวทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงและวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้อย่างแยบคาย

          6.7 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
                   วรรณคดีในสมัยนี้ มีเนื้อหาที่อิงประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากเรื่อง สามกรุงนักวิชาการหลายท่านยกย่องเรื่องสามกรุงว่าเป็นวรรณคดีประวัติศาสตร์ชั้นยอด เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาซึ่งกำลังจะเสียกรุง ต่อเนื่องไปถึงกรุงธนบุรี จวบจนกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ผู้อ่านยังได้รับรู้ประวัติของสถานที่ต่างๆ จากวรรณคดีเรื่องนี้อีกด้วย ดังตัวอย่าง
                             6.7.1 ตัวอย่าง ประวัติสถานที่สำคัญ เช่น
                                       นมสาวจาวเจิดนั้น                   นามเกาะ
                             โผล่สมุทสุดเหมาะ                            มารคนี้
                             เต่งตั้งดุจดังเดาะ                              ดูเด่น
                             สืบเรื่องเนื่องนานกี้                            เก่าล้ำตำนาร ฯ
                                       เรื่องราวชาวถิ่นนี้                    นานนาม
                             ม่องล่าย นายอ่าวสยาม                       ย่านใกล้
                             ยมโดย ธิดางาม                               พะงารุ่น
                             สองบ่าวกล่าวขอให้                           เลือกข้างทางไหน ฯ
                                       (พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2518, น.77)    

7. คุณค่าของวรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน (ร.9)
          วรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน คือ วรรณคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน(ร.9) โดยวรรณคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นมีประเภทที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาวรรณคดีไทยในปัจจุบันพบว่า วรรณคดีไทยในปัจจุบันมีเนื้อหาที่หลากหลาย และเน้นเนื้อหาที่เป็นจริง ที่เกิดขึ้นในสังคม ดังจะเห็นได้จากวรรณคดีเรื่อง โลกในดวงตาข้าพเจ้า ซึ่งเป็นวรรณคดีซีไรต์ จากการศึกษาวรรณคดีเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นวรรณคดีไทยในปัจจุบัน พบว่ามีคุณค่าทางด้านต่างๆ ดังนี้
          7.1คุณค่าทางศีลธรรม
                   วรรณคดีเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นภาพสังคมที่ศีลธรรมในใจคนน้อยลง โดยสะท้อนผ่านเรื่องราวในบทร้อยกรอง ดังนั้นเมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้จะทำให้ได้มองเห็นสังคมในมุมมองใหม่ ซึ่งเป็นมุมมองของกวี และจะช่วยทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงศีลธรรมที่เลือนหายของคนในสังคม ในขณะเดียวกัน วรรณคดีเรื่องนี้ก็สะท้อนมุมมองในด้านความรักของพ่อที่มีต่อลูก

          7.2 คุณค่าทางอารมณ์
                   อารมณ์ที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นอารมณ์อ่อนล้า และอารมณ์ประชดประชัน ส่วนอารมณ์รักนั้นจะมีปรากฏบ้าง ดังตัวอย่าง
                   7.2.1 ตัวอย่างอารมณ์อ่อนล้า เช่น
                             เหนื่อย และอ่อนล้าแรงราโรย
                             คลื่นโกยตกตื่นมาคืนฝั่ง
                             เพรียงในดวงตา - ปะการัง
                             กำลังสับสนอยู่ปนเป
                             ผ่านพบทั้งความงามทั้งความเศร้า
                             สำลักทั้งความเหงาความว้าเหว่
                             ฟองคลื่นซึมฝั่งประดังประเด
                             ลมทะเลเพกลับมาเบาเบา
                                      (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 86)
         
                   7.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์ประชดประชัน เช่น
                             ท่านกับข้าพเจ้า -
                             ไดโนเสาร์ชราผู้ก้างเก้ง
                             โดดเดี่ยว สิ้นหวัง วังเวง
                             แค่นเปล่งคำรามในลำคอ
                             เราเป็นสัตว์บาดเจ็บแห่งยุคสมัย
                             อุกาบาตลูกใหญ่นั้นไล่จ่อ
                             ข้าพเจ้าม้วนหดตัวขดงอ
                             เขานอเขี้ยวเล็บถูกเก็บไว้
                                      (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 65)

                   7.2.3 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                             ว่าพ่อรักแม่เจ้าสักเท่าไหน
                             จึงเลือกให้เป็นผู้กำเนิดเจ้า
                             มือพ่อกร้านกรำงานมานานเนา
                             กอดเยาว์ก็เกรงระตายตัว
                             ต้องมือแม่นิ่มนุ่มไร้ปุ่มปม
                             ป้อนนมชมจูบได้ลูบหัว
                             แผ่วแผ่วเบาเบา - กลัวกลัว
                             เนียนเนื้อเจ้าจะมัวจะหมองรอย
                                      (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 96)
         
          7.3 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                   วรรณศิลป์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ มีดังต่อไปนี้
                   7.3.1 การเล่นคำ
                             7.3.1.1 ตัวอย่าง การซ้ำคำ เช่น
                                      หลับตาเถิดเธอ
                                      1.เธอดูสิ - โลกปลายฤดูร้อน
                             ฟ้าบางตอนเดือดพลุ่งช่วงรุ่งสาง
                             ………………………………..
                             ……………………………….
                                      2.เธอดูสิ - โลกต้นฤดูฝน
                             เค้าหม่นทะมึนมาได้ปรากฏ
                             ……………………………….
                             ……………………………….
                                      3.เธอดูสิ - โลกรุ่งเหมือนมุงมืด
                             แดงพืดเป็นเถือกอยู่เทือกท่าม
                             ………………………………..
                             ……………………………….
                                      4.เธอดูสิ - หนึ่งศพยามอรุณ
                             รอยกลิ้งหลุนนั้นเห็นมิเป็นท่า
                             ………………………………..
                             ……………………………….
                                      (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 110)

                             7.3.1.2 ตัวอย่าง สัมผัสอักษร เช่น
                                      ปีที่เจ็ดสิบ - ซิ้มฮกเกี้ยน
                                       การแปลงเปลี่ยนไปสู่ - มิรู้เห็น
                                       บ้านไม้ยังงำเงียบ - ยังเยียบเย็น
                                       โดดเด่น โดดเดี่ยว เดียวดาย
                                                (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 20)

                                      ค่อยค่อยเป็นค่อยค่อยไปอย่างที่เป็น
                                      ตาเห็นหูยินให้บ่อยบ่อย
                                      ลูกโม่หมุนรอยรอบช้ำรอบรอย
                                      นับร้อยร้อยรอบจนพอดีบาง
                                                (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 62)

                   7.3.2 น้ำเสียง
                             น้ำเสียงที่ปรากฏในเรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นน้ำเสียงประชดประชัน และน้ำเสียงเหน็บแนม ดังนี้
                             7.3.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงประชดประชัน เช่น
                                      เหมือนข้าพเจ้ามีความสุขดี
                                      ท่ามสีรุ้งงามของความฝัน
                                      ที่ทอดกรอมค้อมงอ - วันต่อวัน
                                      ที่แสงจันร์สาดทอ - คืนต่อคืน
                                      กรึ่มกรึ่มลอยล่องไปท่องโลก
                                      เมาโศกรันทดแล้วสดชื่น
                                      ข้าพเจ้ายิ้มย้ำความกล้ำกลืน
                                      หลับหรือตื่นทดท้อพอพอกัน
                                                (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 59)

                                      เธอมีความสุขดีหรือที่รัก?
                                      ฝนยังคงตกหนักอยู่ที่นี่
                                      และฉันยังไม่ตาย - สบายดี
                                      พึงมีเท่าที่จะพึงเป็น!
                                                (มนตรี ศรียงค์, 2550, น.93)

                                      อย่าสบตาคู่นั้นเป็นอันขาด
                                      หากหัวใจไม่สะอาดจะพอสู้
                                      แหละด้วยการจ้องตา - WHO R U?
                                      เขาอาจรู้ลึกซึ้งไปถึงใจ
                                      ว่าคุณคือสัตว์เชื่องแห่งเมืองนี้
                                      ป่นปี้ซีดเหลืองในเมืองใหญ่
                                      คาวบอยผู้โผงผางจากข้างใน
                                      เขาอาจให้น้ำลาย - ถุยใส่คุณ!
                                                (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 45)

                             7.3.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงเหน็บแนม เช่น
                                      คู่เขาก็สุขดีกับชีวิต
                                      โดยมีต้องดัดจริตหรือเสกสร้าง
                                       ขายของพลางตะเบ็งร้องเพลงพลาง
                                      โห่อย่าง HANK WILLIAMS และคำรณ
                                      ดูเขาพอใจแล้วกับเฟสสัน
                                      นั่งปั่นอานท้ายท่องสายถนน
                                      จากละม้ายสงเคราะห์ดุ่มเข้าชุมชน
                                      แล้วเวียนวนมายังละม้ายสงเคราะห์
                                                (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 50)

                                      ในงานคืนสู่เหย้า - เรารีเทิร์น
                                      เธอสวยเหลือเกิน - ชาติชาย
                                      ผิวดำยังดำแต่ดำคม
                                      กล้ามนมแน่นโหนกตะโพกผาย
                                      มือสากเคยสาวสายว่าวควาย
                                      เธอไม่เคยเสียดายหรือไรกัน ?
                                      หรือเธอเกิดสับสนกับชีวิต?
                                      หรือฮิตตามกระแสของแฟชั่น
                                      ไม่นานหรอกหนุ่มรุ่นคงสูญพันธุ์
                                      ฮอร์โมนผันแปรธาตุหรือชาติชาย?
                                                          (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 79)

สรุป
         การศึกษาวรรณคดีในสมัยต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าทั้งสิ้น วรรณคดีแต่ละเรื่อง แต่ละยุคสมัย อาจมีคุณค่าที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการแต่งของกวี โดยคุณค่าที่พบในสมัยต่างๆนั้น สามารถสรุปเป็นคุณค่าในรายด้านได้ดังนี้ คุณค่าทางศีลธรรมและทางวัฒนธรรม จะพบได้จากวรรณคดีทุกสมัย เนื่องจากสังคมไทยเน้นปลูกฝังศีลธรรม และวรรณคดีทุกเรื่องก็สะท้อนวัฒนธรรมไทย ในขณะที่บางเรื่องก็สะท้อนวัฒนธรรมต่างชาติ คุณค่าด้านต่อมา คือคุณค่าทางปัญญา วรรณคดีที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ ให้ข้อคิด มีปรากฏอยู่หลายเรื่อง เช่น จินดามณี กาพย์เห่เรือ สุภาษิตอิศรญาณ เป็นต้น ส่วนคุณค่าทางอารมณ์และวรรณศิลป์นั้น จะพบได้ในวรรณคดีทุกเรื่อง เนื่องจากกวีไทยในอดีตจะแต่งวรรณคดีโดยเน้นอารมณ์และความงามทางวรรณศิลป์เป็นหลัก คุณค่าทางจินตนาการ เป็นสิ่งที่พบในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น เวทมนต์คาถา การหายตัว การแปลงร่าง เป็นต้น และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งวรรณคดีไทยทุกเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์ ทั้งที่บันทึกโดยใช้เนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ และบันทึกจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์

คำถามทบทวน

        







 
เอกสารอ้างอิง

กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย. (2555). มหาภารตยุทธ (พิมพ์ครั้งที่14). กรุงเทพฯ: บริษัทสยาม   ปริทัศน์ จำกัด.
กรมศิลปากร. (2503). ประชุมกาพย์เห่เรือ. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองธรรม.
_______. (2506). ลิลิตพระลอ. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
_______. (2510). ลิลิตพระลอ (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: พระจันทร์.
_______. (2514). ลิลิตยวนพ่าย. ธนบุรี: บรรณาคาร.
_______. (2543). จินดามณี. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม1. กรุงเทพฯ:  พิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม2. กรุงเทพฯพิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม3. กรุงเทพฯพิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2553). ประชุมกาพย์เห่เรือ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของ สกสค.
_______. (2554). จินดามณี. กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต.
เปลื้อง ณ นคร. (2515). ประวัติวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่7). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
_______. (2544). ประวัติวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
พุทธเลิศหล้านภาลัย,พระบาทสมเด็จพระ. (2553). อิเหนา (พิมพ์ครั้งที่18). กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต.
_______. (2557). อิเหนา (พิมพ์ครั้งที่ 17). กรุงเทพฯ: แสงดาว.
พิทยาลงกรณ์, พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (2505). สามกรุง. พระนคร: ไทยสัมพันธ์.
_______.  (2515). นิทานเวตาล. พระนคร: บำรุงสาส์น.
_______. (2518). สามกรุง. กรุงเทพฯ: เจริญรัตน์.
_______.  (2554). นิทานเวตาล (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.
พระอุบาฬีคุณูปมาจารย์. (2550). ยวนพ่ายโคลงดั้นฉบับแปลและความเรียงเรื่องยวนพ่าย. กรุงเทพฯ:      บริษัท สหธรรมิก จำกัด.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2551). มัทนะพาธา (พิมพ์ครั้งที่ 27). กรุงเทพฯ:      สกสค.
มนตรี ศรียงค์. (2550). โลกในดวงตาข้าพเจ้า. กรุงเทพ: สามัญชน.
สำนักราชเลขาธิการ. (2537). ไกลบ้าน. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด          (มหาชน).
อิศรญาณ,หม่อมเจ้า. (2553). สุภาษิตพระร่วงและสุภาษิตอิศรญาณ. กรุงเทพฯ: วิสดอม.





 
 
























ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง