ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 13 การนำเสนอผลการศึกษาวิวัฒนาการของวรรณคดีไทย

1. วิวัฒนาการของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง
          วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลางนั้น มีตกทอดมาถึงปัจจุบันไม่มากนัก เนื้อหาวรรณคดีส่วนใหญ่จะได้รับวัฒนธรรมเขมร เนื่องจากพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งบ้านเมืองอยู่ในเขตวัฒนธรรมของเขมร ไทยจึงรับเอาวัฒนธรรมของเขมรมาปน วรรณคดีสำคัญที่ปรากฏในสมัยนี้ เช่น ลิลิตพระลอ ยวนพ่าย และจินดามณี เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามีวรรณคดีที่เป็นตำราเรียนภาษาไทย คือจินดามณี ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาภาษาไทยในสมัยต่อ ๆ มา
          วิวัฒนาการของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง ในด้านต่างๆ มีดังต่อไปนี้

1.1 ด้านรูปแบบคำประพันธ์
                    รูปแบบคำประพันธ์ในสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลางนั้น มีความหลากหลายมากกว่าในสมัยสุโขทัย ในสมัยสุโขทัยนั้นจะมีเพียงรูปแบบร้อยแก้ว (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และยวนพ่าย) แต่ในสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลางนั้น จะนิยมรูปแบบร้อยกรอง โดยที่ร้อยกรองในเรื่องนั้นจะมีการนำร้อยกรองแบบต่างๆมาแต่งรวมกัน เช่น แต่งร่ายและโคลงด้วยกัน แต่งร่ายตอนต้นปิดท้ายด้วยโคลงดั้น เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
                   ขึ้นช้างไปผผ้าย  มาคคล้ายโดยทาง  ถับถึงกลางจรอกปู่  หมอเถ้าอยู่แลเห็น  แสร้งแปรเปนโฉมมลาก  เปนบ่าวภาคบ่าวงาม  สองถึงถามหาปู่  ปู่หัวอยู่ยแย้มข้อยว่าสองแสล้ม  มาแต่ด้าวแดนใด ฯ
                             สองคนึงในใคร่รู้                     ลูกหลานปู่ฤๅผู้
                    อื่นโอ้ไป่งาม  บารนี ฯ
                             กามกรรหายยั่วข้าง                 คิดแต่จักช้าช้าง
                    ท่านไส้จักเป็น  ป่วยนา ฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2510, น. 16)
         
                   1.1.1 ภาษา
          การใช้ภาษาในวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลางนั้น จะมีการใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย คือ ใช้คำในภาษามาตรฐาน ดังจะเห็นได้จากการใช้ภาษาในเรื่อง ลิลิตพระลอ และ จินดามณี ในขณะที่เรื่องยวนพ่ายนั้น กวีใช้คำในภาษามาตรฐานเช่นเดียวกัน แต่เป็นภาษามาตรฐานในสมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นคำศัพท์สูง ซึ่งต้องแปลความหมายแต่ละคำ ดังนั้นจึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้วรรณคดีเรื่องนี้ ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้อ่านในปัจจุบัน ส่วนคำราชาศัพท์นั้น มีปรากฏในทุกเรื่อง เนื่องจากเนื้อหาในเรื่องจะเกี่ยวข้องกับตัวละครที่เป็นพระมหากษัตริย์

          1.1.1.1 ตัวอย่าง คำในภาษามาตรฐาน เช่น
                                       จักเชยพระลูกถ้วน                  สรรพางค์
                             พระลูกประนมกรพลาง                       จึ่งพร้อง
                             พระควรจูบแต่กลาง                          กระหม่อม ไส้นา
                             แก้มเกศพระเจ้าต้อง                          สั่งข้าพระควรฯ
                                       ลูกรักแก้วแม่เอ้ย                    ปรานี แม่ฤๅ
                             พระบาทบงกชศรี                             ใส่เกล้า
                             ฤๅบาปิ่นภูมี                                   ทัดแม่ ไยพ่อ
                             ขอจูบบัวบาทเจ้า                             สั่งเจ้าจอมใจฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 47)

                                       ข้าห้ามข้าเตือนพี่                    แลมิฟังคำน้องชาย
                              นบนิ้วบังคมถวาย                             กล่าวให้ชอบบ่ยอมยิน
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 65)

                             1.1.1.2 ตัวอย่าง คำราชาศัพท์ เช่น
                                      สรวมชีพขอถวาย   บังคมโดยหมาย   ภักดีภิรมย์เสร็จ  จำนองฉันท  จำแนกนิยมวิธีนุกรม  เพื่อให้แจ้งแจง
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 57)

                   1.1.2 โวหาร
                             วรรณคดีในสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลางนั้น กวีมีการใช้โวหารที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                             1.1.2.1 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
ออกท้าวฟังลูกไท้                    ทูลสาร
                             ถนัดดั่งใจจักลาญ                             สวาทไหม้
                             น้ำตาท่านคือธาร                             แถวถั่ง ลงนา
                             ให้บรู้ กี้ไห้                                     สรอื้นอาดูรฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 29)

                                       สารสยามภาคพร้อง                 กลกานท นี้ฤๅ
                             คือคู่มาลาสวรรค                              ช่อช้อย
                             เบญญาพิศาลแสดง                           เดอมกรยดิ พระฤๅ
                             คือคู่ไหมแส้งร้อย                              กึ่งกลางฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2514, น. 58)

รักผัวเสมอชีพน้อง                   นงพงา
                             เราเฉกเพียงดวงงาม                           ชื่นช้อย
                             ตนชายคือพฤกษา                             ลำมาศ
                             เปนพำนักนิขวัญสร้อย                        อาไศรย ฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 60)

                             1.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                       เรียมฟังสารอ่านอ้าง                 อันผจง กล่าวนา
                             ถนัดดั่งเรียมเห็นองค์                          อะเคื้อ
                             สองศรีสมบูรณ์บง                             กชมาศ กูเอย
                             นอนแนบสองข้างเนื้อ                         แนบเชื้อชมเชยฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 11)

พระกฤษฎิสงวนโลกพ้ยง            พระพรหม
          (พระเจ้าสยามแสดงซึ่งธรรมอันยิ่งด้วยองค์1 องค์2 องค์3 จนถึงสิบแล้วรักษาหมู่ประชากรดังพรหม)
                             พระรอบรักษพยงพิษณุ                       ผ่านเผ้า
          (พระองค์ทรงพระสติดีงามรักษารอบคอบทั่วไทยต่างด้างท้าวต่างแดนเพียงพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าอยู่เกล้า)
                             พระผลาญพ่างพระสยม                      ภูวนารถ ไส้แฮ
          (พระองค์ทรงฤทธิรอนราญผลาญปรปักษ์ ให้ปฏิบัติที่ดีมีพระอาการปานพระอิศวรบรมพรหเมศเป็นเชษฐ์ทั่วธรณี ผู้เป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ทั่วแหล่งเหล้าจริงแฮ)
                             พระโปรดพยงพระเจ้า                        โปรดปรานฯ
          (พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดหมู่ประชาราษฎรที่ร้อนผ่อนให้ได้เย็นเป็นประหนึ่งองค์พระบรมครูผู้มีพระมหากรุณาโปรดประชากรแต่บรรดามีชีพให้ถึงสุคติสถาน)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 17)

                             1.1.2.2 ตัวอย่าง นามนัย เช่น
                                       พระเอยหัวใจข้า           คิดใคร่ไปเห็นหน้า
                              เพื่อนไท้แพงทองฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 42)

                             1.1.2.3 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                      ลักษณวดีกรมทรวงสร้อย            ทุกข์แทบเลือดตาย้อย
                             เนตรน้ำนองนูนฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 51)

สรรเพชญภูวนารถแล้ว              การยุทธ ยิ่งแฮ
                      (พระอินทราชาเจ้า ผู้รู้ทั่วผู้เป็นที่พึ่งแห่งชาวสยามแกล้วกล้าในการยุทธยิ่งแฮ)
                             ตามต่อยไพรีพงง                              พ่ายส้าน
                   (ติดตามตีต่อยแทงฟันหมู่มีเวรพังหนีไปตั้งล้านดูเลี่ยนเตียน)
                             จยรจอมครุทธผลาญ                          แผลงเดช
                   (ประดุจพญาครุฑแผลงเดชานุภาพคาบคั้นผลาญซึ่งนาค)
                             สยงสรเทือนพ้ยงค้าน                         ค่นเมรุฯ
                   (เสียงสะเทือนสะท้านเพียงเข้าพระเมรุหักโค้นล้มลง)
                                                                              (กรมศิลปากร, 2514, น. 30)

ค่าไข้รรักอาจอ้าง                    คณนา
                             ขรางปลัดพีธพา                               เพกขว้ำ
                             ตกสมุทเทียงชลธา                            ทูทุ่น ตีนเอ
                             สัตวมากมวนในน้ำ                            คลั่งแค้นระเหหน ฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2543, น. 39)

                             1.1.2.4 ตัวอย่าง บุคลาธิษฐาน เช่น
                                       เสี่ยงไห้ทุกราษฎร์ไท้                ทุกเรือน
                             อกแผ่นดินดูเหมือน                           จักขว้ำ
                             บเห็นตะวันเดือน                              ดาวมืด มัวนา
                             แลแห่งใดเห็นน้ำ                              ย่อมน้ำตาคนฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2506, น. 141)

                             1.1.2.5 ตัวอย่าง อุทาหรณ์ เช่น
                                       ฉันใดสองพี่เลี้ยง                     บปากสักคำเพี้ยง
                             ดั่งใบ้ฤๅควร นะพี่ฯ
                                       วานช่วยสรวลแก้หน้า               ชาวนอกฉันนี้อ้า
                             พี่เอ้ยวานดู หนึ่งราฯ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2506, น. 60)

                             1.1.2.6 ตัวอย่าง ปฏิปุจฉา เช่น
                                       คุณไทธิเบศรรู้                       รยงสบ เมื่อใด
                      (พระเกียรติยศเกียรติคุณของท่านผู้เป็นอิศราธิบดีกว่าไทยใครรู้เรียบเรียงทั่วเมื่อไร)
                             ฤกล่งบาดาลกลวว                            กล่าวอ้าง
                   (พระคุณของท่านลึกล่งตลอดถึงบาดาลน่ากลัวนักซึ่งจักอวดอ้างกล่าวพจน์ถึง)
                             หนาหนักตรยบไตรภพ                        ดูโลกย ไส้แฮ
                   (พระคุณท่านนั้นหนาทั้งหนักเตรียบเทียบดูในโลกสาม คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพได้จริงแฮ)
                              ล่วงยอดยาวกว้างพ้น                         ปรยบปานฯ
                   (ล่วงสุดภวัครพรหมตามยาวตามกว้างทางอากาศพ้นที่จะเปรียบปาน)
                                                                    (กรมศิลปากร, 2514, น. 22)

1.2 ด้านเนื้อหา
                    วรรณคดีในสมัยนี้จะมีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น ต่างจากวรรณคดีในสมัยสุโขทัยที่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติ อัตชีวประวัติ และเรื่องบาปบุญคุณโทษ
                   เนื้อหาของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง จะเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาว (ลิลิตพระลอ) การสรรเสริญพระมหากษัตริย์ (ยวนพ่าย) และตำราสอนภาษาไทย (จินดามณี) ซึ่งจะเห็นได้ว่าเนื้อหาของวรรณคดีเริ่มมีความหลากหลายขึ้นกว่าในสมัยสุโขทัย

2. วิวัฒนาการของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย
          ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น บ้านเมืองไม่ค่อยสงบสุข เกิดสงครามกลางเมืองอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้วรรณคดีในสมัยนี้ไม่ค่อยมีปรากฏนัก แต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยนี้ก็มีนาฏวรรณคดีเกิดขึ้น ซึ่งเป็นวรรณคดีในรูปแบบใหม่ เช่น กาพย์เห่เรือ กลอนกลบท คำฉันท์เชิงพรรณนา กวีที่สำคัญในสมัยนี้ คือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง ผลงานของท่าน ได้แก่ นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท และกาพย์เห่เรือ (เปลื้อง ณ นคร, 2544, น. 164)
          วิวัฒนาการของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย ในด้านต่างๆ มีดังต่อไปนี้

          2.1 ด้านรูปแบบคำประพันธ์
          วรรณคดีในสมัยนี้มีรูปแบบคำประพันธ์ที่หลากหลายขึ้น ทั้งกาพย์เห่เรือ กลบท คำฉันท์ เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากกาพย์เห่เรือ  ดังตัวอย่าง
                             รอนรอนสุริยโอ้            อัษฎงคต์
                   เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง                  ค่ำแล้ว
                   รอนรอนจิตต์จำนง                  นุชพี่  เพียงแม่
                   เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว             คลับคล้ายเรียมเหลียว ฯ
                             เรื่อยเรื่อยมารอนรอน     ทิพากรจะตกต่ำ
                   สนธยาจะใกล้ค่ำ                    คำนึงหน้าเจ้าตาตรู
                             เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง     นกบินเฉียงไปทั้งหมู่
                   ตัวเดียวมาพลัดคู่                    เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย
                                                                             (กรมศิลปากร, 2503, น.6)

                   2.1.1 ภาษา
                             ภาษาที่กวีใช้ในวรรณคดีสมัยนี้เป็นคำในภาษามาตรฐาน ทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจได้โดยง่าย ดังตัวอย่าง
                             2.1.1.1 ตัวอย่าง คำในภาษามาตรฐาน เช่น
                                                                หางไก่ว่ายแหวกว่าย                           หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
                                                คิดอนงค์องค์เอวอร                                              ผมประบ่าอ่าเอิ่ยมไร
                                                                ปลาสร้อยลอยล่องชล                         ว่ายเวียนวนปนกันไป
                                                เหมือนสร้อยทรงทรามวัย                                  ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย
                                                                                                                                (กรมศิลปากร, 2503, น.4)

                   2.1.2 โวหาร
                             โวหารที่ปรากฎนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นโวหารอุปนัย เนื่องจากวรรณคดีในสมัยนี้เป็นบทร้อยกรอง กวีจึงใช้การเปรียบเปรยค่อนข้างมาก ดังตัวอย่าง
                             2.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
ดุเหว่าเจ่าจับร้อง          สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน
                                      ไพเราะเพราะกังวาล                ปานเสียงน้องร้องสั่งชาย
                                       โนรีสีปานชาด                       เหมือนช่างฉลาดวาดแต้มกาย
                                      ไม่เท่าเจ้าโฉมฉาย                   ห่มตาดพรายกรายกรมา
                                                                              (กรมศิลปากร, 2503, น.7)

                                                ปลาเสือเหลือที่ตา         เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
                                      เหมือนตาสุดาดวง                   ดูแหลมล้ำขำเพราคม
                                                                             (กรมศิลปากร, 2503, น.4)

          2.2 ด้านเนื้อหา
                   วรรณคดีในสมัยนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา และการบรรยายการเดินทาง โดยเนื้อหาที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้แก่ เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง และพระมาลัยคำหลวง ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับการบรรยายการเดินทาง ได้แก่ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท และกาพย์เห่เรือ

3. วิวัฒนาการของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.1 – ร.3)
          วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.1 – ร.3) เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่มีการฟื้นฟูวรรณคดีเก่าหลายเรื่อง และมีการสร้างสรรค์วรรณคดีเรื่องใหม่ๆ จึงทำให้ในช่วงนี้มีวรรณคดีหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยมีการใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย โวหารที่หลากหลาย เนื้อหามีความน่าสนใจ และให้แนวคิดในด้านต่างๆได้เป็นอย่างดี กวีในสมัยนี้มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าสมัยก่อน ประกอบกับการที่พระมหากษัตริย์ในสมัยนี้ ให้ความสนใจในวรรณคดี จึงทำให้ผลงานทางวรรณคดีมีมากมาย และมีกวีที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เจ้าพระยาพระคลัง (หน) พระสุนทรโวหาร (ภู่) กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระยาตรัง นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น
          วิวัฒนาการของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.1 – ร.3) ในด้านต่างๆ มีดังต่อไปนี้

          3.1 ด้านรูปแบบคำประพันธ์
                   วรรณคดีที่ปรากฏในสมัยนี้ มีรูปแบบคำประพันธ์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น โคลง นิราศ ลิลิต บทละคร  คำกลอน เป็นต้น โดยในสมัยนี้ปรากฏวรรณคดีที่เป็นร้อยแก้ว โดยเป็นร้อยแก้วที่มีความยาวกว่าในสมัยก่อน จากการศึกษาวรรณคดีแต่ละสมัย ก่อนที่จะถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.1-ร.3) พบว่าวรรณคดีที่เป็นร้อยแก้วนั้น มีเพียงในสมัยสุโขทัย คือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แต่ในสมัยนี้มีการแต่งวรรณคดีเป็นร้อยแก้ว โดยแปลมาจากต่างประเทศ คือ เรื่องสามก๊ก ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลเรื่องสามก๊กมาจากวรรณคดีของประเทศจีน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าในสมัยนี้วงการวรรณคดีไทยเริ่มมีการตื่นตัวกันมากขึ้น มีรูปแบบคำประพันธ์ที่หลากหลายขึ้น โดยในสมัยนี้นั้นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องมีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ขุนช้างขุนแผน อิเหนา สามก๊ก ราชาธิราช เป็นต้น

                   3.1.1 ภาษา
                             ภาษาที่ปรากฏในวรรณคดีในสมัยนี้ เป็นการใช้คำในภาษามาตรฐานและคำราชาศัพท์ การใช้ภาษาในสมัยนี้นั้น เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วจะเข้าใจง่ายมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากภาษาในสมัยนี้ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับภาษาในสมัยปัจจุบัน (ร.9) ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             3.1.1.1 ตัวอย่าง ภาษาสุภาพ เช่น
                                      นางแก้วกิริยากับวันทอง            น้ำตานองอาบน้ำทั้งสองศรี
                             สะอื้นถอนใจใหญ่ให้รอรี                      อำลาสามีแล้วเดินไป
                             ครั้นถึงสองนางย่างเข้าห้อง                   จัดแจงข้าวของหาช้าไม่
                             หมากบุหรี่ผ้าผ่อนท่อนสไบ                   ที่นอนหมอนมุ้งได้ไปตามมี
                                                                              (กรมศิลปากร, 2546, น. 143)

                                      บัดนั้น                                หญิงชายชาวเมืองน้อยใหญ่
                             เห็นรูปทรงปันหยีก็ชอบใจ                    ให้คิดรักใคร่ผูกพัน
                             บ้างว่าเหมือนอสัญแดหวา                    หยาดฟ้ามาแต่สรวงสวรรค์
                             ถ้าได้เหมือนโฉมอุณากรรณ                   เป็นคู่ตุนาหงันข้าชอบใจ
                             เสียดายเป็นชายทั้งสองข้าง                   จะได้นางที่งามไหนมาให้
                             ลางคนว่าบุญเราพ้นไป                        จึงได้มาเห็นเป็นขวัญตา
                                      (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 611)
                  
                             3.1.1.2 ตัวอย่าง คำราชาศัพท์ เช่น
                                      ครานั้นพระยารามจัตุรงค์           กราบลงแล้วทูลขมีขมัน
                             ขอเดชะพระองค์ทรงธรรม์                    อันชีวันอยู่ใต้พระบาทา
                             ข้าพเจ้าได้ทราบเนื้อความไว้                  เมื่อครั้งขุนไกรดับสังขาร์
                             มีบุตรชายคนหนึ่งพึ่งคลอดมา                อายุได้สักห้าปีปลาย
                             ทองประศรีหนีจากเมืองสุพรรณ              พาลูกน้อยนั้นไปสูญหาย
                             มิได้รู้เห็นว่าเป็นตาย                          แต่ระคายว่าอยู่กาญจนบุรีฯ
                                                                             (กรมศิลปากร, 2546, น. 142)

                   3.1.2 โวหาร
                             โวหารที่ปรากฏในสมัยนี้  ได้แก่ สมนัย อุปนัย อติพจน์ อุทาหรณ์ เป็นต้น เหตุที่กวีนิยมใช้โวหารดังกล่าว น่าจะเนื่องมาจากการที่กวีต้องการเปรียบเปรยให้เห็นภาพที่ชัดเจน เนื่องจากวรรณคดีในสมัยนี้นั้น มีเนื้อหาที่หลากหลาย และเป็นประเภทบันเทิงคดีเป็นส่วนใหญ่

                             3.1.2.1 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
                                      โอ้แสนสุดสวาทของพี่เอ๋ย  อย่าคิดเลยพี่หาเป็นเช่นนั้นไม่
                             อันตัวเจ้าเท่าเทียมกับดวงใจ        สิ้นสงสัยแล้วเจ้าอย่าเสียดแทง
                             พี่รักเจ้าเท่ากับเมื่อแรกรัก           ด้วยประจักษ์เห็นใจไม่กินแหนง
                             สิ่งใดมิได้ระแวงแคลง                พี่จะแจ้งจริงเจ้าอย่าเศร้าใจ
                                                                   (กรมศิลปากร, 2546, น. 113)

                                       เมื่อนั้น                               ระตูขัดแค้นแสนศัลย์
                              กระทืบบาทกราดกริ้วคือเพลิงกัลป์           จึ่งกระชั้นสีหนาทตวาดไป
                                               (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 105)

                             3.1.2.2 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
ขุนแผนจึงตอบเจ้าวันทอง           น้องเอ๋ยข้าวตังยังไม่สิ้น
                             ถ้ารักกันเหมือนกระนั้นที่บ้านถิ่น             จะคะนึงถึงกินไปไยมี
                             เจ้ารักพี่เหมือนที่พี่รักน้อง                     ก็จะลืมแสบท้องเหมือนเช่นพี่
                             เสบียงติดมาแต่บ้านกาญจน์บุรี               เมื่อคืนนี้พี่ไปก็ลืมคิด
                                                                             (กรมศิลปากร, 2546, น. 74)

                                      ดวงเอยดวงยิหวา                    ถามอย่างนางฟ้ากระยาหงัน
                             นวลละอองผ่องพักตร์ผิวพรรณ               ดั่งบุหลันทรงกลดหมดมลทิน
                             งามเนตรดั่งเนตรมฤคมาศ                    งามขนงวงวาดดั่งวงศิลป
                             อรชรอ้อนแอ้นดั่งกินริน                       งามสิ้นทุกสิ่งพริ้งพร้อม
                                                 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 82)

                             3.1.2.3 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                       เจ็บใจไม่น้อยสักร้อยเท่า            ดังใครเอาดาบฟาดให้ขาดวิ่น
                             สายทองกับอีปลีทั้งอีจีน                      ปีนเรือลงมาด้วยมาช่วยกู
                                                                             (กรมศิลปากร, 2546, น. 230)

                                       เมื่อนั้น                               สองนางแน่งน้อยเสน่หา
                             ได้ฟังดั่งจะม้วยชีวา                           กัลยาครวญคร่ำรำพัน
                                              (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2553, น. 257)

                             3.1.2.4 ตัวอย่าง อุทาหรณ์ เช่น
                                      เมื่อนั้น                               ย่าหรันจึงกล่าวสนองไข
                             น้องคิดมืดมนเป็นพ้นไป                       อุปไมยเหมือนผงเข้าตา
                                         (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย,  2553, น. 703)

          3.2 ด้านเนื้อหา
                   เนื้อหาที่ปรากฏในสมัยนี้นั้น มีความสมจริงมากขึ้น และมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคน ดังจะเห็นได้จาก เรื่องขุนช้างขุนแผน ที่กวีร้อยเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตคนธรรมดา ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเนื้อหาค่อนข้างแตกต่างจากสมัยก่อน ที่จะเน้นในเรื่องอิทธิฤทธิ์ ของวิเศษ หรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ วรรณคดีที่ปรากฏในสมัยนี้มีทั้งที่เป็นเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ เช่น สามก๊ก ราชาธิราช ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น และเนื้อหาประเภทบันเทิงคดี เช่น กากีคำกลอน อิเหนา นิราศนรินทร์ เป็นต้น ซึ่งทำให้ในสมัยนี้ วรรณคดีมีเนื้อหาที่หลากหลาย และน่าสนใจยิ่งขึ้น


4. วิวัฒนาการของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.4 - ร.5)
          ในสมัย ร.4-ร.5 เป็นช่วงแห่งการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของวงวรรณคดีไทย ด้วยเหตุนี้จึงเรียกได้ว่า เป็นช่วงหัวเลี้ยวของวรรณคดีไทย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้นั้น เกิดจากการรับอิทธิพลตะวันตกเข้ามา และเข้ามามีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยมากกว่าในอดีต วรรณคดีมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในด้านรูปแบบคำประพันธ์ ด้านเนื้อหา และด้านแนวคิด
          วิวัฒนาการของวรรณคดีในสมัย ร.4 – ร.5  ในด้านต่างๆ มีดังต่อไปนี้

          4.1 ด้านรูปแบบคำประพันธ์
                   วรรณคดีในสมัยนี้ ยังคงมีรูปแบบร้อยกรองปรากฏ แต่ไม่มากเท่าในอดีต เนื่องจากอิทธิพลของตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทย จึงทำให้วรรณคดีที่เป็นรูปแบบคำประพันธ์ร้อยแก้วมีมากขึ้น วรรณคดีที่เป็นคำประพันธ์ร้อยแก้วมีขนาดยาวขึ้นกว่าในอดีต ดังจะเห็นได้จาก เรื่องไกลบ้าน ดังตัวอย่าง
                   โฮเตลนี้ออกจะอยู่ข้างปอนๆสักหน่อย เพราะเหตุที่เมืองไม่เปน สลักสำคัญอันใดเลย สิ่งสำคัญที่จะดูได้นั้นมีแต่น้ำตกอย่างเดียว แต่ที่ตั้งดีเพราะเปนตลิ่งสูง สูงกว่าทำนบที่กั้นน้ำฤๅน้ำตกนั้นมากอาจจะแลเห็นได้ตลอดขึ้นไปไกลจนพ้นสพานรถไฟอันข้ามแม่น้ำที่เหนือน้ำตกขึ้นไป ฝ่ายข้างใต้น้ำก็แลเห็นลงไปไกลจนสุดสายตา ทำทางเดินจากด้านหน้าโฮเตลลงไปเปนทางทบไปทบมาหลายทบ ไปในใต้ร่มไม้ข้างทางก็เปนเมโด ประดับด้วยดอกไม้ป่าสีต่าง ๆ ลงไปจนถึงพื้นถนนใหญ่ เมื่อข้ามถนนใหญ่ลงไปอิกจึงถึงท่าเรือแลเรสเตอรองต์อันตั้งอยู่ริมน้ำทีเดียว แลตั้งอยู่บนเกาะด้วย มีสะพานข้ามออกไปจากฝั่ง หลังเกาะกับฝั่งน้ำเขากั้นทำนบไว้ ปิดประตูเสียไม่ให้สายน้ำพัดมาเชี่ยวเปนที่สำหรับเก็บเรือซึ่งจะข้ามฟาก
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 308)

                   ส่วนวรรณคดีรูปแบบร้อยกรองก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเป็นร้อยกรองขนาดสั้น ดังจะเห็นได้จาก เรื่องสุภาษิตอิศรญาณ ดังตัวอย่าง
                             อย่าคบมิตรจิตพาลสันดานชั่ว
                             จะพาตัวให้เสื่อมที่เลื่อมใส
                             คบนักปราชญ์นั่นแหละดีมีกำไร
                             ท่านย่อมให้ความสบายหลายประตู
                                                (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 40)

                   4.1.1 ภาษา
                             ภาษาที่ใช้ในวรรณคดีสมัยนี้ เป็นการใช้คำในภาษามาตรฐาน ที่เป็นคำสุภาพ การใช้ภาษาในสมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อน โดยมีการใช้คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศปนอยู่ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                             4.1.1.1 ตัวอย่าง คำในภาษามาตรฐาน เช่น
                                      เกิดเป็นคนเชิงดูให้รู้เท่า
                             ใจของเราไม่สอนใจใครจะสอน
                             อยากใช้เขาเราต้องก้มประนมกร
                             ใครเลยห่อนจะว่าตัวเป็นวัวมอ
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 31)

                             4.1.1.2 ตัวอย่าง คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ เช่น
                                       เวลาค่ำแต่งเสื้อเย็น ไปดินเนอที่คอเวอนเมนต์เฮาส์ การมันออกจะพิลึกอยู่บ้าง ผิดกว่าแต่ก่อน ....
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 20)
                                       เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ไปที่สตูเดียวของมากอตตีซึ่งอยู่ไม่ห่างกันกับวิลลานี้นัก .....
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 179)

                   4.1.2 โวหาร
                             โวหารที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยนี้ มีไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุปนัย และปฏิปุจฉา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             4.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                      วาสนาไม่คู่เคียงเถียงเขายาก
                             ถึงมีปากมีเสียเปล่าเหมือนเต่าหอย
                             ผีเรือนตัวไม่ดีผีอื่นพลอย
                             พูดพล่อยพล่อยไม่ดีปากขี้ริ้ว
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 33)

...งามหรูเหมือนเครื่องเฟอนิเช่อฝรั่งเศส..
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 25)

                             4.1.2.2 ตัวอย่าง ปฏิปุจฉา เช่น
                                      ว่าพระพุทธองค์ไปอาศัยผี           ผีไปพึ่งบารมีที่ตรงไหน
                             ถ้อยทีถ้อยพึ่งกันนั้นอย่างไร                  ครั้นว่าไล่เข้าก็ซัดลัทธิแรง
                                                                    (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 43)

          4.2 ด้านเนื้อหา
                   เนื้อหาที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยนี้ จะเน้นความสมจริงของเนื้อหา ความจริงที่เป็นของสังคม คำสอนในการประพฤติปฏิบัติตน รวมไปถึงเนื้อหาเกี่ยวกับการบันทึกเรื่องราวการเดินทางต่างๆ

5. วิวัฒนาการของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.6 – ร.8 )
              จากวรรณคดีสมัย ร.4-5 ซึ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวรรณคดีในหลายๆด้านแล้ว เมื่อเข้าสู่ยุควรรณคดีสมัย ร.6-8 จึงมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วรรณคดีที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ปรากฏวรรณคดีประเภท บทละคร ละครพูด ละครร้อง บันเทิงคดี เรื่องสั้น นวนิยาย เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามีวรรณคดีประเภทใหม่ที่เกิดขึ้น คือ บทละคร ซึ่งบทละครที่ได้รับการยกย่องและได้รับความนิยม คือเรื่องมัทนะพาธา ในสมัยนี้ยังมีการแปลวรรณคดีต่างประเทศเป็นภาษาไทยเช่นเดียวกับสมัยของ  ร.4-ร.5  แต่ในสมัยนี้แตกต่างกันเนื่องจากเป็นการแปลร้อยแก้ว คือเรื่องนิทานเวตาล ในขณะที่วรรณคดีประเภทร้อยกรองก็ยังคงมีอยู่ แต่เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง จึงเป็นเหตุให้กวีต้องพยายามคิดกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ โดยสอดแทรกอารมณ์ขัน และร้อยเรียงเรื่องราวด้วยกลวิธีที่หลากหลาย ดังจะเห็นได้จาก เรื่องสามกรุง
          วิวัฒนาการของวรรณคดีไทยสมัย ร.6 – ร.8  ในด้านต่างๆ มีดังต่อไปนี้

              5.1 ด้านรูปแบบคำประพันธ์
                   วรรณคดีในสมัยนี้ มีรูปแบบคำประพันธ์ที่หลากหลาย ในบางเรื่องนั้นเป็นรูปแบบร้อยแก้ว แต่ก็มีร้อยกรองแทรกอยู่ ดังจะเห็นได้จากเรื่องเวตาล ส่วนเรื่องสามกรุงนั้นเป็นร้อยกรองตลอดเรื่องแต่มีภาคผนวก ซึ่งเป็นร้อยแก้ว เพื่ออธิบายความหมายของคำในบทร้อยกรอง และเพื่อขยายความบทร้อยกรองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในขณะที่รูปแบบคำประพันธ์แบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาในสมัยก่อนหน้านี้ คือ บทละครพูดเรื่องมัทนะพาธา ก็มีการแต่งเป็นร้อยกรองสลับร้อยแก้ว
                  
                   5.1.1 ภาษา
                             การใช้ภาษาในวรรณคดีสมัยนี้ มีทั้งภาษามาตรฐาน ได้แก่ คำสุภาพ คำราชาศัพท์ เป็นต้น โดยในสมัยนี้นั้นมีคำภาษาต่างประเทศปรากฏ แต่ไม่ได้ปรากฏเพียงการเลียนเสียงคำภาษาต่างประเทศเท่านั้น เนื่องจากมีการสร้างคำใหม่แทนคำภาษาต่างประเทศไว้อีกด้วย นับได้ว่าในสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงด้านภาษาอย่างเห็นได้ชัด ดังตัวอย่าง
                             5.1.1.1 ตัวอย่าง คำสุภาพ เช่น
                                       ศุภางค์.           เรามีธุระร้อนอยู่           มาหาท่านผู้
                                                         เปนศิษย์ผู้ใหญ่ที่นี้.
                                       โสมะทัต.         พวกเจ้าจงหลีกไปที!       เรากับเสนี
                                                         มีกิจจะพูดจากัน.
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 77)

                                       ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อได้ทำงานมงคลกับศรีทัตแล้ว ไม่ช้าก็เบื่อจนเกลียดสามี เพราะเป็นนิสัยของนางที่จะเป็นเช่นนั้น ครั้นเกลียดสามีเช่นนี้แล้วก็หันไปใคร่ครวญหาชายหนุ่มเสเพลคนหนึ่งซึ่งไม่เคยรักนางเลย
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 141

                             5.1.1.2 ตัวอย่าง คำราชาศัพท์ เช่น
                                       นันทิวรรธนะ.    ข้าขอบังคมบาท           สุระนาถะราชัน,
                                                         จิตข้านี้โล่งพลัน            เพราะสดับพระวาจา.
                                                         บัดนี้กราบทูลขอ           พระประทานอภัยข้า
                                                         ด้วยมีซึ่งกิจจา              ดนุสาระภาพผิด.
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 134)

                                      เวตาลหัวเราะทูลว่า “ถ้าพระองค์ต้องกลับไปต้นอโศกอีกหลายเที่ยว ก็อย่าทรงเศร้าโศกเสียพระชนม์เร็วนัก” ทูลเท่านั้นแล้วก็หลุดลอยกลับไปอยู่ต้นอโศกตามเดิม
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 341

                             5.1.1.3 ตัวอย่าง การเลียนเสียงคำภาษาต่างประเทศ เช่น
                                      เอกาธิปัตย์เที้ยร                     ทางฉิบ หายฮา
                             คือดิกเตเตอร์ชิป                               เชิดชั้น
                             เสรีที่ยกหยิบ                                  มากล่าว
                             เป็นแต่เพียงหมอกกั้น                         ไม่ให้ใครเห็นฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 257)
                            
                             5.1.1.4 ตัวอย่าง การสร้างคำใหม่แทนคำภาษาต่างประเทศ เช่น
สามสิบปีข้างน่า                     นึกเห็น
                             โอกาสปาลิเม็นต์                              เหมาะใกล้
                             ฉัฎฐราชย์อาจจักเป็น                         ปฐมฤกษ์
เราไทยในแหล่งนี้                    ลำเนา รัฐนา
                                      อ่อนหัดปรัชญาเยาว์                          แยบย้อม
                             การเมืองเครื่องมึนเมา                         มีมาก
                             แม้ว่ายังไม่พร้อม                              เพลี่ยงพล้ำทำเสียฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 255)
                   จากบทนี้กวีได้อธิบายคำว่า ปรัชญา ไว้ในภาคผนวกว่า คำว่า “ปรัชญา” เป็นคำสันสกฤต แปลว่าปัญญา โดยทางราชการบัญญัติให้คำว่าปรัชญา มีความหมายเดียวกับคำว่า philosophy

                   5.1.2 โวหาร
                             วรรณคดีในสมัยนี้นั้นมีโวหารที่หลากหลายมากกว่าในอดีต กวีได้ใช้โวหารเพื่อสร้างความไพเราะ และเพื่อแสดงถึงความสามารถในชั้นเชิงโวหารของกวี ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             5.1.2.1 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
                                      เพราะนารีณวังใน                   บมีใครจะงามพักตร์
                                       ฤงามรูปวิไลยลักษณ์                 เสมอเจ้าบพึงมี.
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 67)


                                       มายาคือความมั่งคั่งแลมายาคือความรัก....
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 11)             
อาวุธดุจเทพเอื้อ                     อวยสมัย โน้นนา
                             คือพระขรรค์ชัยศรี                            ศักดิ์กล้า
                             ขอมราชบุราณใน                             กาลอดีต
                             ปทุมสุริยวงษ์ทรงหล้า                         แหล่งไท้เทียมสรวงฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 179)

                             5.1.2.2 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                       งามเอวอนงค์ราว                    สุระศิลปิชาญฉลาด
                                       เกลากลึงประหนึ่งวาด               วรรูปพิไลยพะวง;                                                           (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 8)

                                       พระราชบุตรตรัสว่า “พักตรนางเหมือนพระจันทร์ยามเพ็ญ ผมเหมือนหมู่ผึ้งอันเกาะห้อยอยู่บนช่อดอกไม้ ปลายโขนงยาวจดถึงกรรณ  โอษฐ์มีรสเหมือนจันทรามฤต เอวเหมือนเอวสิงห์ ทรงดำเนินเหมือนราชหงส์.....”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 47)   

                                       ฉาวๆป่าวประโยชน์โฆษณา         จูงใจไพร่ฟ้าประชากร
                             อ้างเหตุบ้านเมืองเคืองเข็ญ          เป็นทางวาจาอุทาหรณ์
                             พูดอะไรพูดได้ ไม่อาวรณ์                      ราษฎรโง่เง่าเหมือนเต่าปลา
                             ห่มจีวรสบงเหมือนทรงศีล                    แต่ป่ายปีนไปปราศสาสนา
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 104)

                             5.1.2.3 ตัวอย่าง นามนัย เช่น
                                       แต่จะบังคับหัทยา                   ให้รักนั้นข้า
                                       ยังนึกระแวงแคลงนัก
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 14)

                                       กลียุคมาถึงเป็นแน่เสียแล้ว และตั้งแต่ขึ้นต้นกลียุคมาก ความเท็จเกิดในโลกมากขึ้น...
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 186

                                      ราษฎรข่อนแค้นขาด      อาหาร
                             โหยเหี่ยวเที่ยวขอทาน               ทุกข์กล้ำ
                             โซเซดุจเวตาล                       ตฤบเลือด
                             ภัยรบภัยโรคซ้ำ                     แสบไส้ภัยหิวฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 88)

                             5.1.2.4 ตัวอย่าง ปฏิวาทะ เช่น
                                      ครานั้นเถนะเจ้าพระฝาง ทราบทางทัพธนเกลื่อนกล่นหลาย
                             กำลังหลั่งหลากดูมากมาย           ยืดยาวข่าวร้ายตายหละตู
                             ทำมาก็มากถึงเพียงนี้                ร้ายดีทำนองจะต้องสู้
                             วาศนามากน้อยก็คอยดู             หดหู่ไม่ได้ในครั้งนี้ฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 107)

                             5.1.2.5 ตัวอย่าง อาวัตพากย์ เช่น
                                      ก็รสใดจะหวานแม้น                 สุรสแห่งพระวาจา,
                                       กระแสร์ทราบณทรวงข้า            พระบาทปลื้มบลืมรส
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 66)

                             5.1.2.6 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                      แต่อยู่ดีๆทันใด                       บังเกิดร้อนใน
                                       อุระประหนึ่งไฟผลาญ
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 24)

                                       โสมทัตต์ตอบว่า “คำกล่าวอ่อนหวานของนางแทงหัวใจข้าทะลุเสียแล้ว แลความรู้สึกว่าจะต้องพ้นไปจากนางเผากายข้าให้ไหม้เป็นจุณไป...”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 186

                                       เมื่อจอมกัมพุชผู้                     ภักดี
                             ถวายพระขรรค์ชัยศรี                         แด่ไท้
                             ฟ้าลั่นสั่นปัฐพี                                 ในฤกษ์ นั้นนอ
                             แสดงพระเดชท่านให้                         ทราบถ้วนทวยชนฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 179)

                             5.1.2.7 ตัวอย่าง ปฏิรูปพจน์ เช่น
                                      สงครามเป็นเครื่องค้า                ของกษัตร์
                             เหตุว่าขัติโยปบัติ                              บ่มไว้
                             ใฝ่ศึกฝึกหัดจัด                                เจนจบ
                             แรงมากมักอยากได้                           ช่องแว้งแรงลองฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 268)
                                      จากบทกวีข้างต้น กวีได้เขียนอธิบายไว้ในภาคผนวกว่าได้นำมาจากไดรเด็นจินตกวีอังกฤษ (poet Laureate) ซึ่งเขียนไว้ประมาณ 250ปี แล้วว่า “War is the trade Kings.”

                             5.1.2.8 ตัวอย่าง บุคลาธิษฐาน เช่น
                                      พระราชาทรงพระดำริห์เช่นนี้แล้ว ก็ทรงหยิบดาบขึ้นจะประหารชีวิตพระองค์เอง แต่เทวรูปพระเทวีทรงยึดพระหัตถ์ไว้ รับสั่งห้ามมิให้พระราชาประหาร  พระองค์เอง แลให้ทรงขอพระแล้วแต่ประสงค์
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 176)

                             5.1.2.9 ตัวอย่าง อุทาหรณ์ เช่น
เวตาลเริ่มด้วยสำเนียงโอนอ่อนว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ
พระองค์ทรงปัญญายิ่งล้นหาผู้เสมอมิได้ในสามภพก็จริง แต่หมาซึ่งเป็นสัตว์สี่เท้า ยังรู้พลาดแลล้ม ในเวลาเหยียบที่ลื่นฉันใดผู้เป็นปราชญ์ แม้ปัญญาจะทึบเพียงไร
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 198

                                       ฉันใดอยุธเยศล้ม                     ลงสลาย
                             ยศยุบหุบโอษฐ์อาย                           อกเศร้า
                             หลายแฉกแยกกันกจาย                      กเจิงถิ่น
                             ต่างก๊กยกเป็นเจ้า                             จัดตั้งยังตนฯ
                                       ฉันนั้นธนบุเรศสิ้น                   รัศมี
                             ไทยจะเกิดกาลกลี                             รุ่มเร้า
                             ภายในไม่สามคี                                ครัดเคร่ง
                             โอกาสชาติอื่นเข้า                                       ขี่ข้ามตามเคยฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 156)

                             5.1.2.10 ตัวอย่าง ปฏิปุจฉา เช่น
                                       ...“อ้ายตัวนี่มันพูดถูก กูจะจำคำของมันเป็นคติ ลองดูว่าจะเป็นผลอย่างไรบ้าง”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 96)   
         
                                       งวยงงทรงหยุดยั้ง                    ยืนยล
                             พิศยิ่งพิศวงจง                                 จิตไท้
                             เวียงล่มถล่มทน                               ทุกข์ทับ
                             ไฉนจึ่งดีฉนี้ได้                                 เนื่องด้วยอันใดฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 93)

              5.2 ด้านเนื้อหา
                   วรรณคดีในสมัยนี้มีทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประว้ติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากเรื่องสามกรุง ซึ่งกวีได้บันทึกประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความเพียรพยายามของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากเรื่องเวตาล ซึ่งได้สอดแทรกพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ไว้ทั้งสิ้น เนื้อหาที่เกี่ยวกับกิเลสของมนุษย์ ซึ่งสอดแทรกไว้ในบทละครพูดเรื่องมัทนะพาธา

6. วิวัฒนาการของวรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน (ร.9)
          วรรณคดีไทยในสมัยปัจจุบัน (ร.9) มีความหลากหลายกว่าวรรณคดีในอดีตในทุกๆด้าน เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยนั้นมีการเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น การรับอิทธิพลจากวรรณคดีต่างประเทศจึงมีปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมาก ทำให้รูปแบบของวรรณคดีมีความหลากหลาย วรรณคดีไทยประเภทร้อยกรองเริ่มมีจำนวนน้อยลง วรรณคดีร้อยกรองที่มีก็จะมีขนาดที่สั้นลงกว่าสมัยก่อน วรรณคดีไทยประเภทร้อยแก้วมีจำนวนมากขึ้น ทั้งวรรณคดีที่เป็นวรรณคดีไทยแท้ วรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ รวมไปถึงวรรณคดีที่แปลมาจากต่างชาติ
ในปัจจุบันมีวรรณคดีประเภทใหม่ๆเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีการตีพิมพ์วรรณคดีในอดีตอยู่เสมอ ดังนั้นจึงมีวรรณคดีไทยอีกประเภทหนึ่งซึ่งเรียกว่า วรรณคดีไทยร่วมสมัย ซึ่งหมายรวมถึง วรรณคดีที่ปรากฏในช่วงเวลาเดียวกันทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียน
          วิวัฒนาการของวรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน (ร.9) ในด้านต่างๆ มีดังต่อไปนี้

          6.1 ด้านรูปแบบคำประพันธ์
รูปแบบคำประพันธ์ในวรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะรูปแบบร้อยกรอง           ไม่เคร่งครัดธรรมเนียมนิยมมากนัก ผู้แต่งมักจะคำนึงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น วรรณกรรมปัจจุบันจึงมักจะมีรูปแบบและแนวคิดแปลกใหม่ น่าติดตาม

                   6.1.1 ภาษา
                             ภาษาที่ใช้ในวรรณคดีสมัยปัจจุบันจะเน้นภาษามาตรฐาน ซึ่งการใช้ภาษาจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของตัวละคร ภาษาที่ใช้จะสอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น ทั้งนี้การใช้ภาษาของวรรณคดีไทยสมัยปัจจุบันจะปรากฏคำในภาษาต่างประเทศ และมีการคำแสลง
                             6.1.1.1 ตัวอย่าง คำสุภาพ เช่น
                                      บางครั้ง - เขานั่งนานบนอานรถ
                                      ลมหายใจสดสดลดความถี่
                                      แหงนขึ้นมองฟ้าบ้างเป็นบางที
                                      จุดบุหรี่แล้วพ่นควันอลอวล
                                                          (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 28)

                             6.1.1.2 ตัวอย่าง คำภาษาต่างประเทศ เช่น
                                      AAAH - COWBOY
                                      ลมวอยวอยผมศกก็ปรกหน้า
                                      หมวกปีกปิดกึ่งลงครึ่งตา
                                      จังก้ามือควับกระชับปืน
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 42)



                             6.1.1.3 ตัวอย่าง คำแสลง เช่น
                                      โลกทั้งโลกถูกย่อเท่ามอนิเตอร์
                                      เรากะเทอร์เจอกันในวันหนึ่ง
                                      ชีวิตในอินเทอร์เนตนี้ก็จึง
                                      หวานน้ำผึ้งสุขสมสีชมพู
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 128)

                   6.1.2 โวหาร
                             โวหารที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยปัจจุบันนั้น จะค่อนข้างน้อยกว่าวรรณคดีในอดีต เนื่องจากในปัจจุบันกวีหรือผู้เขียนไม่เน้นการเคร่งครัดตามฉันทลักษณ์ ดังนั้นโวหารในวรรณคดีปัจจุบันจึงปรากฏไม่มากนัก ดังตัวอย่าง
6.1.2.1 ตัวอย่าง บุคลาธิษฐาน เช่น                 
                                      เราตายไปแล้วสหายรัก
                                      วิญญาณอัปลักษณ์เราแหวกว่าย
                                      จากต้นทางถนนที่ฝนพราย
                                      ยังสุดสายถนนที่ฝนพรำ
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 67)
                  
                             6.1.2.2 ตัวอย่าง ปฏิปุจฉา เช่น
                                      ใครนำคนเมากลับเข้าบ้าน?
                                      จากภาวะอลหม่านเมื่อวานนี่
                                      กลางฝูงชนแปลกหน้าของราตรี
                                      บาทวิถีเขรอะเปื้อนด้วยเรือนเท้า
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 56)

                             6.1.2.3 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                      เด็กชายยุทธนา -
                                      โลกเบื้องหน้าขณะนั้นที่ฝันใฝ่
                                      ราวเดินเรือหาปลาสู่ฟ้าไกล
                                      ล่องไต่เส้นรอบขีดขอบฟ้า
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 72)
          6.2 ด้านเนื้อหา
                   วรรณคดีไทยในปัจจุบัน นิยมเขียนเรื่องและเหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ตัว มุ่งแสดงปัญหาและความเป็นไปในสังคม มากกว่าเรื่องเพ้อฝัน แต่ถึงกระนั้นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจินตนาการก็ยังมีปรากฏ

สรุป
         วรรณคดีในแต่ละสมัยมีวิวัฒนาการดังนี้ ในสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง นิยมร้อยกรอง มีเนื้อหาที่หลากหลาย เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตคน วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่ค่อยมีวรรณคดีปรากฏมากนัก เนื่องจากภาวะสงคราม ในสมัยนี้วรรณคดีที่ได้รับการยกย่อง คือกาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งมีโวหารที่สละสลวย ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.1-3) มีการฟื้นฟูวรรณคดีเก่าหลายเรื่อง และมีการสร้างสรรค์วรรณคดีใหม่เพิ่มขึ้น จนถึงช่วงสมัย ร.4-ร.5 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเนื้อหาของวรรณคดีหลยาด้าน จนกระทั่งในสมัย ร.6-ร.8 วรรณคดีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เกิดวรรณคดีรูปแบบใหม่ๆขึ้น คือบทละครพูด และนิยมร้อยแก้วมากขึ้น และในวรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน (ร.9) วรรณคดีมีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าสมัยอื่นๆ โดยเนื้อหาได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ และมีการแปลวรรณคดีต่างประเทศมากขึ้น ในขณะที่ร้อยกรองมีขนาดสั้นลงและได้รับความนิยมน้อยลง ในสมัยปัจจุบันยังมีวรรณคดีอีกประเภทที่เรียกว่า วรรณคดีไทยร่วมสมัย ซึ่งหมายถึง วรรณคดีที่ปรากฏในช่วงเวลาเดียวกันทั้งตัวผู้สอนและตัวผู้เรียน

คำถามทบทวน

 
 



 
เอกสารอ้างอิง

กระแส มาลยาภรณ์ และชุดา จิตพิทักษ์. (2525). มนุษย์กับวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย. (2555). มหาภารตยุทธ (พิมพ์ครั้งที่14). กรุงเทพฯ: บริษัทสยาม   ปริทัศน์ จำกัด.
กรมศิลปากร. (2503). ประชุมกาพย์เห่เรือ. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองธรรม.
_______. (2506). ลิลิตพระลอ. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
_______. (2510). ลิลิตพระลอ (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: พระจันทร์.
_______. (2514). ลิลิตยวนพ่าย. ธนบุรี: บรรณาคาร.
_______. (2543). จินดามณี. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม1. กรุงเทพฯ:  พิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม2. กรุงเทพฯพิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2546). ขุนช้างขุนแผน เล่ม3. กรุงเทพฯพิมพ์ไทยพิมพ์.
_______. (2553). ประชุมกาพย์เห่เรือ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของ สกสค.
_______. (2554). จินดามณี. กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต.
เปลื้อง ณ นคร. (2515). ประวัติวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่7). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
_______. (2544). ประวัติวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
พุทธเลิศหล้านภาลัย,พระบาทสมเด็จพระ. (2553). อิเหนา (พิมพ์ครั้งที่18). กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต.
_______. (2557). อิเหนา (พิมพ์ครั้งที่ 17). กรุงเทพฯ: แสงดาว.
พิทยาลงกรณ์, พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (2505). สามกรุง. พระนคร: ไทยสัมพันธ์.
_______.  (2515). นิทานเวตาล. พระนคร: บำรุงสาส์น.
_______. (2518). สามกรุง. กรุงเทพฯ: เจริญรัตน์.
_______.  (2554). นิทานเวตาล (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.
พระอุบาฬีคุณูปมาจารย์. (2550). ยวนพ่ายโคลงดั้นฉบับแปลและความเรียงเรื่องยวนพ่าย. กรุงเทพฯ:      บริษัท สหธรรมิก จำกัด.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2551). มัทนะพาธา (พิมพ์ครั้งที่ 27). กรุงเทพฯ:      สกสค.
มนตรี ศรียงค์. (2550). โลกในดวงตาข้าพเจ้า. กรุงเทพ: สามัญชน.
สำนักราชเลขาธิการ. (2537). ไกลบ้าน. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด          (มหาชน).

อิศรญาณ,หม่อมเจ้า. (2553). สุภาษิตพระร่วงและสุภาษิตอิศรญาณ. กรุงเทพฯ: วิสดอม.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง