ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 12 การศึกษาวรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน (ร.9)

1. ความหมายของวรรณคดีไทยในปัจจุบัน (ร.9)
          วรรณคดีไทยในปัจจุบัน คือ วรรณคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน(ร.9) โดยวรรณคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นมีประเภทที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ในส่วนของวรรณคดีปัจจุบันประเภทร้อยแก้วนั้น เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย นิทาน บทละคร  สารคดี  บทความ หนังสือวิชาการ งานวิจัย เป็นต้น ในขณะที่ประเภทร้อยกรอง ก็ปรากฏประเภทใหม่ คือ วรรณรูป ซึ่งเป็นการใช้ตัวอักษรมาสร้างเป็นเรื่องราวผ่านการเรียงตัวอักษรเป็นรูปและเรื่องราว (กระแสร์ มาลยาภรณ์, 2530, น. 16)

2. การเปรียบเทียบวรรณคดี
          จากการศึกษาวรรณคดีไทยในอดีต จนถึงวรรณคดีไทยปัจจุบันนั้น จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกัน ดังนี้ (กระแสร์ มาลยาภรณ์, 2530, น. 16)

ตารางที่ 12.1 การเปรียบเทียบวรรณคดีไทยในอดีตและวรรณคดีไทยปัจจุบัน
วรรณคดีไทยในอดีต
วรรณคดีไทยปัจจุบัน
1.แนวคิดในการเขียนเป็นแบบจินตนิยม ไม่คำนึงถึงความสมจริงและข้อเท็จจริง
1.แนวคิดในการเขียนเป็นแบบสมจริงที่เรียกว่าสัจจนิยมมากขึ้นกว่าเดิม มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น
2.ยึดธรรมเนียมนิยมในการแต่งเคร่งครัด กล่าวคือ ต้องมีบทไหว้ครู บทชมโฉม ชมความงามตามธรรมชาติ และคำนึงถึงรสทั้งสี่แห่งวรรณคดีเป็นสำคัญ
2.ไม่เคร่งครัดธรรมเนียมนิยมมากนัก ผู้แต่งมักจะคำนึงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น วรรณกรรมปัจจุบันจึงมักจะมีรูปแบบและแนวคิดแปลกใหม่ น่าติดตาม





ตารางที่ 12.1 (ต่อ) การเปรียบเทียบวรรณคดีไทยในอดีตและปัจจุบัน

วรรณคดีไทยในอดีต
วรรณคดีไทยปัจจุบัน
3.จุดมุ่งหมายในการแต่งมุ่งที่ความสะเทือนอารมณ์เป็นสำคัญ
3.มีจุดมุ่งหมายในการเขียนเพื่อเสริมความคิดเสริมปัญญา สอดแทรกความรู้เข้าไปอย่างแนบเนียน
4.การดำเนินเรื่องเน้นในเรื่องศิลปะการ ใช้ถ้อยคำ อวดสำนวน กวีโวหารมากกว่าโครงเรื่องและตัวละคร
4.การดำเนินเรื่องยึดความสมจริงแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคมเป็นสำคัญ
5.เนื้อเรื่องซ้ำซาก มักมาจากเรื่องศาสนาชาดก เรื่องของเทพนิยาย พระผู้เป็นเจ้า สัตว์ประหลาด ยักษ์ เทวดา และเขียนอยู่ในแวดวงของชนชั้นสูง
5.นิยมเขียนเรื่องและเหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ตัว มุ่งแสดงปัญหาและความเป็นไปในสังคม มากกว่าเรื่องเพ้อฝัน
6.เน้นความเชื่อทางไสยศาสตร์ วาสนา บารมี และโชคชะตาเป็นสำคัญ
6.ผู้แต่งมักจะเน้นให้ผู้อ่านเห็นความเป็นจริงในสังคม ชี้นำให้ต่อสู้กับชีวิต ความเป็นจริง ไม่ยอมแพ้โชคชะตา
7.ฉาก ตัวละคร บรรยากาศในเรื่องนิยม สมมุติให้งดงามขึ้น
7.ฉาก ตัวละคร บรรยากาศ มักจะนำมาจากชีวิตจริง
8.นิยมร้อยกรองมากกว่าร้อยแก้ว และมีความยาวมาก
8.นิยมร้อยแก้วมากกว่าร้อยกรอง หากเป็นร้อยกรองนิยมร้อยกรองสั้นๆ
9.การเขียนบทรักนิยมใช้สัญลักษณ์ที่แนบเนียน
9.เขียนถึงบทรักตรงไปตรงมามากขึ้น
10.เนื้อเรื่องมักจะนำมาจากชาดกและเลียนแบบเรื่องเก่า เลียนแบบครู
10.แสวงหา ข้อเท็จจริง ข้อมูล ก่อนเขียนเรื่อง ไม่นิยมเลียนแบบ นิยมสร้างโครงเรื่องด้วยตนเอง เป็นการแสดงฝีมือให้เห็นชัด
11.การรับอิทธิพลของวรรณคดีต่างชาติไม่รับอย่างตรงไปตรงมา แต่รับมาโดยดัดแปลงให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และวัฒนธรรมไทย
11.หากจะรับอิทธิพลต่างประเทศก็รับอย่างไม่รู้สึกว่ารับมา เพราะอิทธิพลต่างประเทศแทรกเข้าจนแยกไม่ออกแล้วว่าสิ่งใดคือของเราสิ่งใดคือสิ่งที่รับมา
12.กลวิธีในการแต่งนิยมเรื่องเล่าเรื่อยไปตามปฏิทิน ไม่นิยมความซับซ้อน
12.นิยมดำเนินเรื่องหลายแบบ ทั้งตามปฏิทิน และย้อนปฏิทิน นิยมความซับซ้อน


3. โลกในดวงตาข้าพเจ้า
          วรรณคดีในปัจจุบันมีมากมายหลากหลายประเภท ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง และวรรณรูป โดยวรรณคดีที่ผู้สอนเลือกมาให้ผู้เรียนได้ศึกษานั้น เป็นวรรณคดีที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปี 2550  ชื่อเรื่อง โลกในดวงตาข้าพเจ้าของมนตรี ศรียงค์ เหตุที่ผู้สอนเลือกเรื่องนี้ เนื่องจากว่า วรรณคดีเรื่องนี้เป็นร้อยกรอง แต่เป็นร้อยกรองรูปแบบใหม่ ซึ่งในปัจจุบันวรรณคดีร้อยกรองรูปแบบใหม่นี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากอ่านง่าย และมีขนาดสั้น

          3.1 รูปแบบคำประพันธ์
                   โลกในดวงตาข้าพเจ้า เป็นวรรณคดีประเภทร้อยกรอง ซึ่งมีทั้งกลอนแปดและกาพย์ฉบัง 16 วรรณคดีเรื่องนี้เป็นร้อยกรองในปัจจุบันที่ไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์ แต่มุ่งเน้นเนื้อหา จะเห็นได้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้เป็นดังภาพฉายของร้อยกรองสมัยใหม่ มีการใช้คำสั้น กระชับ และมีขนาดไม่ยาวมาก
                   3.1.1 ภาษา
                             ภาษาที่กวีใช้ในเรื่องนั้น เป็นภาษามาตรฐาน คำที่ปรากฏในเรื่องนั้น ก็มีทั้งคำภาษาต่างประเทศ คำแสดง เป็นต้น
                             3.1.1.1 ตัวอย่าง คำสุภาพ เช่น
                                      บางครั้ง - เขานั่งนานบนอานรถ
                                      ลมหายใจสดสดลดความถี่
                                      แหงนขึ้นมองฟ้าบ้างเป็นบางที
                                      จุดบุหรี่แล้วพ่นควันอลอวล
                                                          (มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 28)

                             3.1.2 ตัวอย่าง คำภาษาต่างประเทศ เช่น
                                      AAAH - COWBOY
                                      ลมวอยวอยผมศกก็ปรกหน้า
                                      หมวกปีกปิดกึ่งลงครึ่งตา
                                      จังก้ามือควับกระชับปืน
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 42)


                                      ย้ากกกกกฮูเลเลเล
                                      ลมพัดลมเพมาอุ่นอุ่น
                                      ดอกแดดแผดดวงพอง่วงงุน
                                      ล้อเฟสสันหมุนมาเร็วไว
                                      HELLO HOLIDAY! MALAYSIAN.
                                      แวะเวียน WELCOME TO HAADYAI.
                                      บ้านเงินเมืองทองใช่ของใคร
                                      มาเลย์ - หาดใหญ่พี่น้องกัน!
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 46)

                             3.1.3 ตัวอย่าง คำแสลง เช่น
                                      โลกทั้งโลกถูกย่อเท่ามอนิเตอร์
                                      เรากะเทอร์เจอกันในวันหนึ่ง
                                      ชีวิตในอินเทอร์เนตนี้ก็จึง
                                      หวานน้ำผึ้งสุขสมสีชมพู
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 128)

                   3.1.2 โวหาร
                             3.1.2.1 ตัวอย่าง บุคลาธิษฐาน เช่น
                                      แดดอาทิตย์อุทัยนั้นฉายฉาด
                                      เป็นท่านมาศเนื้อนิ่มแห่งคิมหันต์
                                      คลี่ตึงขึงแผ่เป็นแพรพรรณ
                                      เชื่อมโลกเชื่อมสวรรค์ด้วยกันไว้                       
                                      จนมณีเม็ดแดดได้แผดเม็ด
                                      เป็นเพชรเรืองสุกแทบลุกไหม้
                                      เต็มฟ้า - เต็มวันในทันใด
                                      สดใสโปร่งปลอดตลอดฟ้า
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 74)



                                      เราตายไปแล้วสหายรัก
                                      วิญญาณอัปลักษณ์เราแหวกว่าย
                                      จากต้นทางถนนที่ฝนพราย
                                      ยังสุดสายถนนที่ฝนพรำ
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 67)
                  
                             3.1.2.2 ตัวอย่าง ปฏิปุจฉา เช่น
                                      เขามีโลกส่วนตัว - สหายรัก
                                      โปรดอย่าทักปลุกถามแม้คำค่อย   
                                      ของเด็กเล่นตัวหนึ่งให้ถึงร้อย
                                      คาวบอยก็ไม่ขาย - เชื่อไหมคุณ
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 49)

                                      ใครนำคนเมากลับเข้าบ้าน?
                                      จากภาวะอลหม่านเมื่อวานนี่
                                      กลางฝูงชนแปลกหน้าของราตรี
                                      บาทวิถีเขรอะเปื้อนด้วยเรือนเท้า
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 56)

                             3.1.2.3 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                      เด็กชายยุทธนา -
                                      โลกเบื้องหน้าขณะนั้นที่ฝันใฝ่
                                      ราวเดินเรือหาปลาสู่ฟ้าไกล
                                      ล่องไต่เส้นรอบขีดขอบฟ้า
(มนตรี ศรียงค์, 2550, น. 72)

          3.2 เนื้อหา
                   โลกในดวงตาข้าพเจ้า แบ่งออกเป็น 4 ภาค ได้แก่
                   ภาคที่ 1 ที่เห็นไม่เร้นหาย
                   ภาคที่ 2 ยังเวียนว่ายให้รู้สึก
                   ภาคที่ 3 ไม่เคยฝันไม่ทันนึก
                   ภาคที่ 4 ว่าจะเป็นกันเช่นนี้
                   จะเห็นได้ว่าชื่อของแต่ละภาคนั้น จะคล้องจองกัน และก่อนที่จะเข้าสู่แต่ละภาคนั้น จะมีบทเกริ่oนำ  และหลังจากภาคที่ 4 จะมีบทส่งท้าย
                   โดยในแต่ละตอนจะมีบทร้อยกรองขนาดสั้น เป็นเรื่องย่อย ดังจะเห็นได้จากตอนที่ 1 ที่เห็นไม่เร้นหาย มีบทร้อยกรองเรื่องต่างๆ เช่น บ้านเลขที่ 41/3 มีคนเดินผ่านมา ร้านข้าวมันไก่ทั้งห้า ชายคนรักของช่างเสริมสวย เป็นต้นวรรณคดีเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนในสังคม ผ่านมุมมองของกวี โดยกวีหยิบยกเรื่องราวรอบตัว เรื่องราวในสังคมมาถ่ายทอด เพื่อประชดประชันสังคม

          3.3 แนวคิด
                   วรรณคดีเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชีวิตของคนในเมืองที่ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน และต่างคนต่างอยู่กันมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีได้พรากความเป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งมีศีลธรรมในใจไปจากคนในสังคม

4. ความหมายของวรรณคดีไทยร่วมสมัย
วรรณคดีไทยร่วมสมัย คือ วรรณคดีที่ปรากฏในช่วงเวลาเดียวกันทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียน ลักษณะของวรรณคดีไทยร่วมสมัยนั้นปรากฏในทุกประเภททั้ง สารคดี ตำรา กวีนิพนธ์ บทละคร บันเทิงคดี สารคดี เป็นต้น วรรณคดีบางเรื่องปรากฏมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ไม่ได้รับความนิยมนัก แต่พอมาถึงสมัยหนึ่ง เมื่อนำกลับมาเรียบเรียงและจัดพิมพ์ใหม่ ความนิยมกลับได้รับสูงขึ้น เช่น เรื่องมหาภารตยุทธ ซึ่งเป็นวรรณคดีต่างประเทศชั้นเลิศ
วรรณคดีร่วมสมัย เมื่อถูกนำมาจัดพิมพ์ใหม่ นั่นแสดงให้เห็นว่า เนื้อหาหรือแนวคิดของเรื่องยังทันต่อเหตุการณ์ และยังมีความสำคัญอยู่ ดังนั้นการศึกษาวรรณคดีร่วมสมัย จะช่วยทำให้ผู้อ่านได้ความรู้เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยวรรณคดีร่วมสมัยเรื่องที่ผู้สอนนำมาให้ผู้เรียนได้ศึกษานั้นเป็นวรรณคดีร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมเสมอมา คือ เรื่องมหาภาตยุทธ

 5. มหาภารตยุทธ
          มหาภารตยุทธ เป็นวรรณคดีที่ได้แปลมาจากวรรณคดีเรื่องมหาภารตะของอินเดีย ซึ่งเรื่องมหาภารตะนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศอินเดีย เช่นเดียวกับเรื่องรามายณะหรือรามเกียรติ์ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี โดยวรรณคดีเรื่องมหาภารตยุทธนี้ ได้มีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเป็นต้นมา ดังจะเห็นได้จากเรื่องยวนพ่าย ที่มีชื่อของตัวละครในเรื่องมหาภารตยุทธปรากฏอยู่
          การที่ผู้เขียนนำเรื่องมหาภารตยุทธมาจัดอยู่ในวรรณคดีร่วมสมัย เนื่องจากวรรณคดีเรื่องนี้ได้มีการแปลและเรียบเรียงมาโดยตลอด และฉบับล่าสุด (พิมพ์ครั้งที่ 14 พ.ศ.2555) นี้ เป็นฉบับที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยผู้แปลคือ คุณกรุณา และคุณเรืองอุไร กุศลาสัย ได้แปลและเรียบเรียง ได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์ดังจะได้นำเสนอต่อไปนี้

          5.1 รูปแบบคำประพันธ์
                    เรื่องมหาภารตยุทธ เป็นบันเทิงคดี ประเภทร้อยแก้ว โดยเป็นการผสมผสานทั้งนิทานและตำนานของอินเดีย โดยผู้เขียนใช้ร้อยแก้วในการเสนอผลงาน โดยใช้การบรรยาย พรรณนา สลับกับบทสนทนาของตัวละคร นอกจากนี้ในบางครั้งยังใช้การสนทนาเป็นตัวดำเนินเรื่องเพียงอย่างเดียว ดังตัวอย่าง
                   นางสัตยวดีได้พยายามชี้แจงให้ภีษมะทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องมิให้ราชวงศ์ภารตะหรือกุรุสูญสิ้นลงแค่วิจิตรวีรยะ และได้ขอร้องให้ภีษมะรับภาระหน้าที่ “นิโยค” ไปปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อเห็นแก่อนาคตของวงศ์ตระกูล
                   แต่ภีษมะทูลนางสัตยวดีว่า “โธ่ พระมารดา! จะให้หม่อมฉันรับหน้าที่ “นิโยค” ไปปฏิบัติได้อย่างไร หม่อมฉันได้ลั่นวาจาไว้ต่อทวยเทพยดาแล้วว่า ผู้ที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ยังมีอยู่ และเขาผู้นั้นก็คือโอรสองค์ใหญ่ของพระมารดานั่นเอง”
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 18)

                   5.1.1 ภาษา
                             ในเรื่องมหาภารตยุทธ ผู้อ่านจะเพลิดเพลินไปกับเรื่องราว เนื่องด้วยผู้เขียนใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายคือภาษามาตรฐาน โดยมีทั้งคำในภาษาสุภาพ และ คำในราชาศัพท์
                             5.1.1 ตัวอย่าง คำราชาศัพท์ เช่น
                                       “ขอเดชะ! เกล้ากระหม่อมฉันอยู่คนเดียวให้เกิดความว้าเหว่เป็นกำลัง จึงปรารถนาที่จะได้คู่ครองเพคะ”เจ้าแม่คงคาในร่างของหญิงสาวผู้เลอโฉมทูลตอบ
                                      “ดีแล้ว! หากเรามีลูกชายเมื่อใด เราก็จะรับเจ้าไว้เป็นสะใภ้ของเราเมื่อนั้น” ราชาประตีปะรับสั่ง                                                                                                                                (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 8)
                             เป็นที่น่าสังเกตว่า คำราชาศัพท์ที่ใช้นั้น จะใช้เฉพาะเวลาที่ผู้มีบรรดาศักดิ์ต่ำกว่าใช้ กับเจ้านายกษัตริย์ กษัตริย์ แต่ถ้าเป็น กษัตริย์กับกษัตริย์หรือกษัตริย์กับญาติ จะใช้คำในภาษาสุภาพ 

                             5.1.2 ตัวอย่าง คำในภาษาสุภาพ เช่น
                                      “การที่น้องอรชุกับพระกฤษณะบุกฝ่ายข้าศึกเข้าไปแต่ลำพังเช่นนี้ นับว่าเป็นการหมิ่นเหม่ต่ออันตรายเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะถูกกลลวงของฝ่ายศัตรูเข้าเมื่อไรก็ได้ เราจึงขอให้ท่านทั้งสองจงรีบติดตามรถรบของอรชุนไปให้ทันเถิด จะได้ให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที”
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 165)

                             คำที่ปรากฏในเรื่องนั้น ส่วนมากเป็นคำที่ยืมภาษาต่างประเทศ คือ บาลี สันสกฤต เนื่องจากวรรณคดีเรื่องนี้คือวรรณคดีที่แปลมาจากวรรณคดีของประเทศอินเดีย ดังนั้นคำต่างๆ จึงใช้บาลี สันสกฤต มาก และด้วยความที่ใช้ภาษาบาลีสันสกฤต จึงทำให้ผู้อ่านอาจจะไม่ทราบความหมายที่แท้จริง ผู้เขียนจึงใช้วิธีการอธิบายความหมายของคำนั้นๆ ไว้ด้านล่าง ดังตัวอย่าง

                             5.1.3 ตัวอย่าง การอธิบายความหมาย เช่น
                             ...ถ้าเช่นนั้น  วรรณาศรมธรรม ก็ไร้ความหมายน่ะสิท่าน  งูถามต่อ....

วรรณาศรมธรรม  คือทฤษฏีของฮินดูที่แบ่งคนออกเป็น    วรรณะ  ได้แก่  (๑)  พราหมณ์  
(๒)  กษัตริย์  (๓)  ไวศยะ  หรือ  แพศย์  และ  (๔)  ศูทร
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 103)

                   5.1.2 โวหาร
                             โวหารที่พบในเรื่องนี้  มีหลากหลาย ดังนี้
                             5.1.2.1 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                      ณ  วิถีทวารไปสู่บาดาลโลกนั้น  บรรดาเงือกงูอาศิรพิษทั้งหลายซึ่งทำหน้าที่ดูแลให้ความอารักขาแก่พญานาควาสุกรี  ต่างก็ตรงเข้ารุมกัดและปล่อยพิษของตนเข้าสู่ร่างของภีมะ  ในบัดดลที่กระทบกับพิษของงูร้าย  พิษในขนมซึ่งภีมะหลงเสวยเข้าไปด้วยกลลวงของทุรโยธน์ก็คลายกำลังลง  ยังผลให้ภีมะคืนสติพร้อมทั้งมีกำลังวังชาขึ้นมาเช่นเดิม  ภีมะดิ้นร้นอยู่เพียงครู่เดียวก็สามารถทำลายพันธนาการซึ่งรัดรึงอยู่ทั่วร่างกายตนได้สำเร็จ  ครั้นแล้วภีมะก็เริ่มต่อสู้กับอสรพิษร้ายที่พากันมาห้อมล้อมตนอยู่  จนในที่สุดอสรพิษเหล่านั้นต้องรีบหนีเอาชีวิตรอด  พร้อมกับนำความไปแจ้งแก่พญานาควาสุกรีผู้เป็นนายว่า
                                      ข้าแต่พญานาคราช  บัดนี้มีมนุษย์ตนหนึ่งถูกมัดมือมัดเท้าโยนลงในแม่น้ำคงคา  แล้วก็ถูกกระแสน้ำไหลพัดพามาจนถึงประตูนครของเรา  ตอนแรกนั้นร่างของเขาไร้สติ  แต่พอถูกพวกข้าขบกัดเข้า  เขากลับฟื้นคืนชีพขึ้นโดยฉับไว  แล้วก็ตรงเข้าทำร้ายพวกข้าด้วยกำลังวังชาอันมหาศาล  พวกข้าสู้ไม่ได้จึงต้องรีบหนีมาพึ่งพระองค์  ขอพระองค์ได้โปรดเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองเถิดพระเจ้าข้า  ว่ามนุษย์ตนนี้เป็นใครกันแน่!    
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 30)

                                      ด้วยความดีใจ  ภีมะเดินตรงไปยกกุณโฑน้ำอมฤตขึ้นดื่มทันทีและภายในชั่วเวลาอันเล็กน้อย  หนุ่มร่างใหญ่ก็ดื่มน้ำอมฤตหมดไปถึงแปดกุณโฑ  ครั้นแล้วพญานาควาสุกรีก็พาเข้าไปพักผ่อนหลับนอนในปราสาท  ภีมะได้พักผ่อนอยู่ในบาดาลนครของพญานาควาสุกรีด้วยความผาสุกเป็นที่ยิ่ง
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 31)

                                       อรชุนผู้ได้ชื่อว่ามีฝีมือในการยิงธนูนั้น  ได้รับคำสั่งจากอาจารย์โทฺรณะให้แสดงการยิงธนูและการใช้อาวุธนานาชนิดให้ฝูงชนชมเป็นขวัญตา  ในบรรดาธนูและอาวุธ  ซึ่งมีฤทธิ์เดชต่างๆกันนั้น  มีอัคนิพาณซึ่งได้แก่ศรไฟ  วรุณาสฺตฺร  อาวุธฝน  วายุอัสฺตฺร  อาวุธลม  เมฆาสฺตฺร  อาวุธเมฆ  เภามาสฺตฺร  อาวุธดิน  บรรพตอัสฺตฺร  อาวุธภูเขา  และอันตรธานอัสฺตฺร  ซึ่งได้แก่อาวุธหายตัว  อรชุนได้สาธิตการใช้อัสฺตฺรหรืออาวุธดังกล่าวแล้วให้ฝูงชนชมและได้รับการปรบมือสดุดีดังกึกก้องไปทั่วท้องสนาม
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 40)
                                                            ภีษมะซึ่งขณะนั้นล้มลงแต่ร่างไม่แตะพื้นดิน  เพราะศรที่เสียบอยู่เต็มร่างนั้นค้ำไว้  ได้ร้องขอนักรบรุ่นลูกหลานทั้งหลายให้หาสิ่งของมารองหนุนศีรษะให้  พวกนักรบลูกหลานจึงไปหาหมอนอย่างสมเกียรติมาให้  แต่ก็ไม่เป็นที่ถูกใจ  นักรบผู้เฒ่าจึงกวักมือเรียกอรชุนเข้าไปใกล้แล้วพูดว่า  
                                       อรชุนหลานรัก!  ปู่กำลังจะจากหลานไปแล้ว  ปู่มีความภาคภูมิใจในฝีมือยิงธนู  ทั้งด้วยแขนขวาและแขนซ้ายของหลานเป็นยิ่งนัก หลานเท่านั้นที่ทราบดีว่าศีรษะของคนอย่างปู่นั้น  น่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องหนุนในยามที่ปู่กำลังจะจากโลกไปนี้!
                                       อรชุนเข้าใจความประสงค์ของยอดนักรบผู้เฒ่าในทันที  จึงดึงลูกศรออกมาจากแล่ 3 ดอก  เอาปลายศรปักลงไปในพื้นดินแล้วใช้หัวศรอันคมกริบทั้ง  3  ดอก  รองศีรษะของภึษมะไว้
                                       ภีษมะแสดงความพอใจด้วยการยิ้มออกมาจนปรากฏชัด  แล้วค่อย ๆ พูดกับอรชุนว่า
                                       ขอบใจหลานรักมาก!  ปู่จะขอนอนอยู่ในสภาพเช่นนี้จนกว่าพระอาทิตย์จะเคลื่อนคล้อยไปสู่ทิศเหนือ  แล้วชีวิตจึงจะออกจากร่างของปู่  ขณะนี้ปู่กำลังกระหายน้ำมาก  ขอน้ำให้ปู่ได้ดื่มพอชื่นใจสักหน่อยเถิด!
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 149)

                                      เราขอยุติชีวิตของเรา    บัดนี้  ได้โปรดอนุญาตเราเถิดสตฺเยษุ  ยติตวฺยํ  วะ,  สตฺยํ  หิ  ปรมํ  พลํ  ’  (ท่านทั้งหลายจงพากเพียรเพื่อสัจจะเพราะสัจจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่)
                                       ตรัสเสร็จ  ภีษมะก็หลับพระเนตร  บรรดาลูกศรทั้งหมดต่างพากันพลันหลุดออกจากร่างโดยอัตโนมัติ  พระฉวีที่เต็มไปด้วยบาดแผลก็กลับแห้งสนิทเหมือนปกติ  ...และโดยประการฉะนี้  วิญญาณของภีษมะรัฐบุรุษอาวุโสแห่งราชตระกูลภรตก็ออกจากกลางกระหม่อมขึ้นสู่เบื้องบนแห่งสวรรคาลัย
                                       ทันใดนั้น  บุปผชาตินานาพรรณก็พลันโปรยปรายเป็นสายฝนลงมาต้องสรีระอันไม่ไหวติงของนักรบผู้เฒ่า  พร้อมด้วยเสียงประโคมแห่งดนตรีสวรรค์  บรรดาสิทธาจารย์และพรหมฤาษีต่างก็แซ่ซ้องสดุดีว่า  “สาธุ  สาธุ  สาธุ”  ดังก้องไปทั่วทั้งอาณาบริเวณ
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น.220)

                                      หลังจากที่สงครามได้สิ้นสุดลงเป็นปีที่  36  เหตุอาเพศและรางร้ายต่าง ๆ ก็ได้อุบัติขึ้นให้เห็น  ทั้งในนครทฺวารกาของพระกฤษณะ  และนครหัสตินาปุระของท้าวยุธิษฐิระและอนุชาทั้ง  4  อาทิเช่น  พายุทรายพัดกระหน่ำมามิได้หยุดหย่อนก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั้งในเมืองและนอกเมือง  ท้องฟ้าก็ลำเลืองมัวมนมืดคลุ้มมองไม่เห็นพระอาทิตย์  อุกกาบาตก็แรงฤทธิ์  ตกลงมาจากฟากฟ้า  สร้างความหวั่นวิตกให้แก่อาณาประชาราษฎร์  มีสัตว์จำพวกหนูออกมาวิ่งเพ่นพ่านตามถนนหนทางในเมืองและตามหมู่บ้านชนบทในยามดึกดื่น  ทั้งยังเที่ยวแทะเล็บและผมของหญิงชายที่กำลังหลับนอน    ยามค่ำคืน  ภาชนะดินที่ใช้หุงต้มและเก็บถนอมอาหาร  ต่างก็ส่งเสียงเปรียะประแตกร้าวไปเอง  นกแก้ว  นกสาลิกา  และนกขุนทองที่เคยร้องเพราะ ๆ ต่างออกปากส่งเสียงเถียงทะเลาะราวกับจะตีกันเองอยู่ตลอดเวลา  สัตว์เลี้ยงจำพวกแพะแกะต่างก็พากันร้องร่ำเสียงเหมือนสุนัขจิ้งจอกหอน  วัวตกลูกเป็นลา  ล่อตกลูกเป็นช้าง  สุนัขตกลูกเป็นแมว  พังพอนตกลูกเป็นหนู  อาหารที่หุงต้มเสร็จใหม่ ๆ ในเมื่อนำมาต้อนรับอาคันตุกะ  กลับมีกลิ่นบูดและหนอนขึ้น  ฯลฯ...ฯลฯ  สารพันจะวิปริตผิดประหลาดไปเสียหมดสิ้น
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 241)

                                                5.1.2.2 ตัวอย่าง อุทาหรณ์ เช่น
                                       ...อันธรรมชาติของไฟนั้น  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  ก็ย่อมจะปรากฏประกายออกมาให้เห็นได้เสมอ  อุปมานี้ฉันใด  อุปไมยก็ฉันนั้น  เราทั้งสองได้เฝ้าดูพฤติการณ์ของท่านในระหว่างพิธีสยุมพรอยู่ตลอดเวลา  ฝีมือแม่นธนูเช่นที่ปรากฏในพิธีนั้น  นอกจากท่านแล้วไม่มีใครในโลกนี้จะทำได้  เราพี่น้องขอแสดงความยินดีในความสำเร็จของท่าน  และดีใจเป็นอย่างมากที่พวกท่านรอดพ้นมาได้จากาการกลุ้มรุมทำร้ายของกรรณะกับพวก...
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 64)
                  
                             5.1.2.3 ตัวอย่าง บุคลาธิษฐาน เช่น
                                       ในที่สุดธรรมบุตรยุธิษฐิระจึงต้องออกไปตามหาน้อง ๆด้วยตนเอง  และเมื่อไปถึงสระน้ำ  ก็ได้เห็นน้องทั้งสี่คนนอนสิ้นสติอยู่    ขอบสระและได้ยินเสียงประหลาดดังกล่าวจากฟากฟ้าเช่นเดียวกัน
                                      ยุธิษฐิระได้ตอบเสียงประหลาดนั้นไปว่า
                                      เราจะพยายามตอบปัญหาของท่านตามความสามารถที่มีอยู่  ขอให้ท่านถามมาเถิด”  
                                      เสียงประหลาดถึงถามขึ้นว่า
                                      ทางเดียวที่จะนำไปสู่ธรรมะคืออะไร  ทางเดียวที่จะนำไปสู่เกียรติคืออะไร  ทางเดียวที่จะนำไปสู่สวรรค์คืออะไร  และทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสุขคืออะไร
                                      ธรรมบุตรยุธิษฐิระตอบว่า
                                      ทางเดียวที่จะนำไปสู่ธรรมะได้แก่ความสามารถในการปฏิบัติธรรมโดยถูกต้อง  ทางเดียวที่จะนำไปสู่เกียรติได้แก่การบริจาค  ทางเดียวที่จะนำไปสู่สวรรค์ได้แก่การมีสัจจะ  และทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสุขนั้นก็ได้แก่การมีความประพฤติดี
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 116)

                             5.1.2.4 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                       การโรมรันพันตูระหว่างอรชุนกับกรรณะเป็นไปอย่างน่าตื่นเต้นระทึกใจ  ขณะที่รถของสองทหารเอกผลัดกันรุกผลัดกันรับด้วยความรวดเร็วดุจกังหันร่อนนั้น  บังเอิญล้อรถข้างหนึ่งของกรรณะวิ่งจมลงไปในโคลนซึ่งเกิดจากฝนตก  ทำให้รถไม่สามารถวิ่งต่อไปได้  กรรณะตกใจรีบโบกมือเป็นสัญญาณให้อรชุนเห็นว่าล้อรถของตนติดหล่ม  ขอให้พักรบก่อน  พร้อมกับส่งเสียงขึ้นว่า...                                                                                                                                      (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 177)
          5.2 เนื้อหา
                    เรื่องราวในเรื่องมหาภารตะแบ่งออกเป็นบรรพ(บท) โดยแต่ละบทผู้เขียนใช้เหตุการณ์สำคัญที่ปรากฏในเรื่องมาตั้งเป็นชื่อบรรพ มีทั้งหมด 18 บรรพ ดังนี้
          บรรพที่ 1 “อาทิบรรพ”
                   เรื่องราวเกี่ยวกับต้นกำเนิด ที่มาของสกุลปาณฑพ สกุลเการพ เหตุแห่งความบาดหมาง โดยกวีบรรยายให้เห็นที่มาของตัวละครสำคัญที่จะปรากฏในเรื่อง ซึ่งตัวละครนั้นจะทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆต่อไป
          บรรพที่ 2 “สภาบรรพ”
                   เรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างสภาของสกุลปาณฑพ และเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสภา ซึ่งการสร้างสภาดังกล่าวได้ทำให้สกุลเการพตั้งสภาขึ้นบ้าง ในบรรพนี้ยังได้กล่าวถึงเหตุความขัดแย้งระหว่างสองสกุล เป็นเหตุให้ สกุลปาณฑพต้องไปอยู่ในป่า 12 ปี และในปีที่ 13 ต้องอยู่ในป่าโดยที่ไม่ให้ใครจำหน้าได้ ไม่เช่นนั้นจะต้องอยู่ในป่าต่อไปอีก 12 ปี
          บรรพที่ 3 “วนบรรพ”
                   เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ขณะที่สกุลปาณฑพอยู่ในป่า
          บรรพที่ 4 “วิราฏบรรพ”
                   เรื่องราวเกี่ยวกับการปลอมตัวของเหล่าปาณฑพ เพื่อเข้าไปอาศัยอยู่ในแคว้นมัตสยะ เพื่อให้รอดพ้นการถูกพบเจอจากสกุลเการพ เนื่องจากหากในปีที่12 เหล่าปาณฑพปรากฏตัวให้เการพเห็น จะต้องเข้าไปอยู่ในป่าอีกเช่นเดิม ในบรรพนี้ได้กล่าวถึงการเข้าสู่ปีที่ 13 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ปาณฑพต้องอยู่ในป่า และการเปิดเผยตนเองของปาณฑพจากการทำสงคราม
          บรรพที่5 “อุโทฺยคบรรพ”
                   เรื่องราวเกี่ยวกับการเจรจาปรองดองและคืนแคว้นให้สกุลปาณฑพ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากทุรโยธน์ ไม่ยอม ทั้งสองฝ่ายจึงต้องเตรียมทำศึก
          บรรพที่ 6 “ภีษมบรรพ”
                   เรื่องราวเกี่ยวกับการทำสงครามของทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายเการพได้ตั้ง ภีษม เป็นแม่ทัพ การสู้รบดำเนินมาถึงวันที่ ๑๐ ภีษมะถูกอรชุนยิงธนูใส่ จนบาดเจ็บ แต่เนื่องจากภีษมะสามารถกำหนดวันตายของตนเองได้ จึงขอให้อรชุนซึ่งมีศักดิ์เป็นหลายชาย นำลูกธนูมาปักที่พื้นดินเพื่อรองเป็นหมอนรองให้ภีษมะนอน
          บรรพที่ 7 “โทฺรณบรรพ”
                   เรื่องราวเกี่ยวกับการรบในวันที่ ๑๑-๑๕ โดย โทฺรณาจารย์ ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพของเการพ ในการรบช่วงนี้โทรณาจารย์ได้ออกอุบายลวงอรชุนไปรบที่อื่น เพื่อจะจับยุธิษฐิระแม่ทัพของปาณฑพ จนในที่สุดลูกชายของอรชุนตาย เพราะช่วยเหลือยุธิษฐิระ  การรบดำเนินมาถึงวันที่ ๑๕ พระกฤษณะได้ออกอุบายให้หลอกโทรณาจารย์ว่าลูกชายตาย โทรณาจารย์ตกใจวางอาวุธลงจึงถูกธฤษฏะทยุมัน(ลูกท้าวทรุปัท)สังหาร
          บรรพที่ 8 (กรรณบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับการรบในวันที่ ๑๖ โดย กรรณะเป็นแม่ทัพของเการพ ขณะสู้รบกันกรรณะเพลี่ยงพล้ำรถติดหล่ม จึงอ้างธรรมะและกฎการศึก พระกฤษณะจึงถามว่าที่ผ่านมาเการพ     มีธรรมะไหม จากนั้นจึงยุให้อรชุนจัดการกรรณะ อรชุนจึงยิงธนูฆ่ากรรณะตาย
          บรรพที่ 9 (ศัลยบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับการรบในวันที่ ๑๗ โดยมีราชาศัลยะ(แคว้นมัทรเทศ)เป็นแม่ทัพ ในบรรพนี้เการพสูญเสียขุนพลไปหลายคน โดยเฉพาะขุนพลที่เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามคือ ทุรโยธน์ ซึ่งถูกภีมเสนตีด้วยกระบองเข้าที่ตักเพื่อล้างแค้นให้นางเทราปที(ภรรยา) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกทุรโยธน์พูดจาล่วงเกิน ปิดท้ายบรรพนี้ด้วยการที่ฝั่งเการพเหลือเพียง อัศวัตถามา,กฤปาจารย์และกฤตวรมัน โดยอัศวัตถามาคิดที่จะไปล้างแค้นปาณฑพ
          บรรพที่ 10 (เสาปฺติกบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับฝ่ายเการพที่เหลือได้ลอบเข้าไปฆ่าฝ่ายปาณฑพที่นอนหลับ และหลบหนีไปซ่อนที่อาศรมของฤๅษีวฺยาส ยุธิษฐะและเหล่าปาณฑพตามมาพบ จึงเกิดการต่อสู้กันระหว่างอรชุนและอัศวัตถามา ทำให้ฤๅษีวฺยาสไม่พอใจอัศวัตถามาเป็นอย่างมาก จึงสั่งให้ถอดทิพยมณีออก เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงการยอมแพ้
          บรรพที่ 11 (สฺตรีบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับความเสียใจของสตรีและญาติพี่น้องของฝ่ายเการพ ท้าวธฤตราษฎร์ได้เดินทางไปสมรภูมิ ด้วยความแค้นภีมะที่ฆ่าทุรโยธน์(ลูกชาย) จึงกอดและบีบรัด ร่างของภีมะจึงแหลกสลาย แต่พระกฤษณะรู้ทันแผนการจึงหล่อร่างของภีมะขึ้นมา ร่างที่แหลกสลายจึงเป็นเพียงรูปหล่อเท่านั้น
          บรรพที่ 12 (ศานติบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับคำสอนของท้าวภีษมะ ซึ่งยังคงนอนหนุนลูกธนูอยู่ริมน้ำ ซึ่งท้าว  ภีษมะได้สอนยุธิษฐิระเกี่ยวกับการประพฤติตนเป็นกษัตริย์ที่ดี
          บรรพที่ 13 (อนุศาสนบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับ การตายของท้าวภีษมะ ซึ่งกำหนดวันตายของตนเองได้
          บรรพที่ 14 (อัศวเมธิกบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับ การทำพิธีอัศวเมธบูชายัญด้วยม้า โดยพิธีนี้จะส่งม้าเดินทางไปพร้อมขบวน เดินทางไปทั้งสิ้น 4  ทิศ และมีอรชุนออกเดินทางไปพร้อมขบวนด้วย เมื่อเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ถ้าเมืองไหนถวายเครื่องบรรณาการแสดงออกว่าเป็นการยอมรับและนอบน้อม ก็จะไม่เกิดการต่อสู้กัน แต่ถ้าเมืองไหนไม่ถวายเครื่องบรรณาการก็จะมีการสู้รบเกิดขึ้น
          บรรพที่ 15 (อาศรมวาสิกบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับการออกไปอยู่ในป่า เพื่อต้องการแสวงหาความสงบ ของ ท้าวธฤตราษฎร์ นางคานธารี นางกุนตี มหามติวิทูร และสารถีสัญชัย  ในท้ายที่สุด ท้าวธฤติราษฎร์ นางคานธารี นางกุนตี ตายเพราะไฟไหม้ป่า ขณะที่มหามติวิทูรตายก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนสารถีสัญชัยหนีจากไฟป่าได้ แต่ขอไปบำเพ็ญเพียรต่อในป่า
          บรรพที่ 16 (เมาสลบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับ หลังสงครามสิ้นสุดลง ในปีที่ 36 ได้เกิดอาเพศและลางร้ายต่อทั้งนครวาทกา(พระกฤษณะ)และนครอินทรปวัสถ์(ยุธิษฐิระ)  ในบรรพนี้เป็นเรื่องราวการสิ้นสุดของนครวาทกาและวงศ์ตระกูลของพระกฤษณะ เนื่องด้วยลูกของพระกฤษณะไปลองดีกับฤๅษีนารทะ จึงถูกสาปให้ตระกูลพระกฤษณะต้องสูญสิ้น และในบรรพนี้ ได้กล่าวถึงการตายของพระกฤษณะด้วย
          บรรพที่ 17 (มหาปฺรสฺถานบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับ การที่สกุลปาณฑพ ทั้ง 5 คือ ยุธิษฐิระ ภีมะ อรชุน นกุล สหเทพ และภรรยา 1 คน คือ นางเทราปที ออกบวชเพื่อหาความสุขที่แท้จริง และมอบหมายให้เจ้าชายปรีกฺษิตเป็นพระมหากษัตริย์ โดยมียุยุตสุ เป็นที่ปรึกษา ทั้ง6 ออกเดินทางจาริกไปยังที่ต่างๆ จนถึงทางขึ้นเขาพระสุเมรุ ระหว่างทางผู้ร่วมเดินทางแต่ละคนทยอยล้มลงไปต่อไม่ไหว โดยนางเทราปทีล้มลงเป็นคนแรก ด้วยยังคงมีฉันทาคติ ลำเอียงในอรชุนมากกว่าคนอื่น ท้ายสุดเหลือยุธิษฐิระคนเดียว    องค์อมรินทราธิราช(ราชาแห่งสวรรค์)นำราชรถมารับ แต่ยุธิษฐิระขอให้ไปรับอีก๕คนไปด้วย ปรากฏว่าทั้ง๕ ได้ทิ้งร่างมนุษย์ ไปรอบนสวรรค์แล้ว แต่องค์อมรินทราธิราชไม่ให้สุนัขซึ่งตามทั้ง๖คนมาตั้งแต่ออกจากเมืองขึ้นบนราชรถ ท้าวยุธิษฐิระจึงไม่ขอขึ้น ทันใดนั้นสุนัขจึงกลายร่างเป็นพระนารายณ์ พระนารายณ์พอใจคุณธรรมคือความกตัญญูของยุธิษฐิระจึงเชิญขึ้นราชรถ
          บรรพที่ 18 (สฺวรฺคาโรหณบรรพ)
                   เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสวรรค์ โดยยุธิษฐิระ และสกุลปาณฑพได้ไปชำระล้างร่างกายที่ แม่น้ำคงคา จากนั้นจึงได้พบเจอกับญาติพี่น้องมิตรสหายที่เสียชีวิตในสงคราม โดยทั้งหมดได้อยู่ยังสวรรค์ชั้นใน ซึ่งปราศจากกิเลส ความเศร้าหมอง ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคี

                   5.2.1 ตัวละคร
                             เรื่องมหาภารตยุทธ มีตัวละครจำนวนมาก มีพฤติกรรมคล้ายคนจริง(round) เช่นยุธิษฐิระ อรชุน  ท้าวธฤตฺราษฎร ทุรโยธน์ เป็นต้น คนเหล่านี้มีอารมณ์ต่างๆในหลายมุม ทั้งรัก โกรธ เกลียด แสดงออกมา แต่ในขณะเดียวกันคนสมมุติจะมีลักษณะแบบไม่ใคร่มีชีวิต คือ แสดงพฤติกรรมที่ค่อนข้างจะคงที่ แต่ยังคงมีความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมอยู่บ้าง คือ ยุธิษฐิระ
                             นอกจากคน ในเรื่องนี้ยังมีตัวละครที่เป็นสัตว์ซึ่งแสดงบทบาทไปตามธรรมชาติของมัน เช่น ช้าง ม้า ปลา เป็นต้น และยังมีตัวละครที่เป็นสัตว์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะ นั่นคือ สุนัข ซึ่งในภายหลังได้กลับคืนร่างเป็นพระนารายณ์
                             เรื่องมหาภารตยุทธ ผู้เขียนเลือกประเภทตัวละครไว้หลากหลาย ทั้งตัวละครที่เป็นนามธรรม เทวดา ฤๅษี อมนุษย์ โดยแนวการสร้างตัวละคร กวีใช้หลากหลายวิธี ทั้งสร้างให้สมจริง เห็นได้จากบุคลิกลักษณะของอรชุน ที่ยังคงมีความรัก โกรธ อารมณ์ที่หลากหลาย สร้างแบบเหนือจริง เห็นได้จากบุคลิกลักษณะของหลายๆตัวละครที่มีพลกำลังมาก หรือเก่งมาก จนใครทำอะไรไม่ได้ สร้างโดยใช้ตัวละครแบบฉบับ มีบุคลิกคงที่ เห็นได้จาก ยุธิษฐิระ ที่เป็นตัวละครที่ยึดมั่นในความดีมาก ไม่คิดร้ายต่อใคร ขี้สงสารและเกรงใจผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณสมบัติดังกล่าวของตัวละครนี้ก็ไม่เปลี่ยนไป
                             วิธีการสร้างตัวละครนั้น ผู้เขียนใช้หลากหลายทั้งใช้พฤติกรรมของตัวละครเอง  ใช้การบรรยายผนวกกับให้ตัวละครอื่นพูดถึง ซึ่งวิธีนี้ใช้พร้อมกันเพื่อขยายความในพฤติกรรมของตัวละครนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ผู้เขียนยังใช้ปฏิกิริยาของตัวละครอื่นสร้างตัวละครนั้น

                   5.2.2 ฉาก สถานที่
                             ในส่วนสถานที่ต่างๆที่ผู้เขียนเอ่ยถึงนั้น เช่น แม่น้ำยมุนา แม่น้ำคงคา  แม่น้ำสินธุ เป็นต้น โดยผู้เขียนได้นำชื่อสถานที่ที่มีอยู่จริงมาใช้เป็นฉากในการดำเนินเรื่อง นอกจากนี้ยังมีสถานที่ที่ผู้เขียนสร้างขึ้นตามจินตนาการ เช่น ป่าหิมพานต์ เขาพระสุเมรุ เป็นต้น
                             ส่วนการสร้างฉาก ผู้เขียนสร้างฉากให้เหมือนจริง โดยนำชื่อสถานที่จริงมาใช้ นอกจากนี้ยังมีการสร้างฉากที่เหนือจริง ประกอบ ในเรื่องนี้กวียังใช้คำบอกเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่ากี่วัน วันที่เท่าไหร่ กวีใช้การบอกเวลาแบบตรงไปตรงมา

                   5.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             การลำดับเหตุการณ์ในเรื่องมหาภารตยุทธนั้น ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วย บทไหว้ครู จากนั้นจึงกล่าวถึงที่มีของการเขียนมหาภารต กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์กุรุ ความดีงามของนางคานธี ประวัติของภีษมะ ซึ่งเป็นตัวละครที่จะมีบทบาทและมีความสำคัญมากในเรื่อง นอกจากนี้ผู้เขียนยังแนะนำว่าผู้อ่านควรมีศรัทธาในการอ่าน เพราะมหากาพย์มหาภารตะนั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก
                             การดำเนินเรื่อง ผู้เขียนใช้วิธีเรียงลำดับเหตุการณ์ที่หลากหลาย ทั้งการเล่าไปตามลำดับเวลา สลับเหตุการณ์ระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ กล่าวถึงอนาคตแล้วจึงย้อนกลับมายังปัจจุบัน และ เล่าจากปัจจุบันย้อนกลับไปในอดีต การเล่าเรื่องย้อนไปมา ระหว่างอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เป็นวิธีการที่กวีชอบใช้มากที่สุด
                             การปิดเรื่อง ผู้เขียนปิดเรื่องด้วยความสุข คือการที่ทั้งหมดได้ขึ้นสวรรค์ และไร้ความอิจฉาริษยาต่อกัน

          5.3 แนวคิด
          จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า แนวคิดหลักของผู้เขียนคือมุ่งแสดงให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยกิเลสของตนเอง บทบาทอำนาจอิทธิพลของเทพเจ้าที่มีต่อพฤติกรรมของมนุษย์ อิทธิพลของมนุษย์ด้วยกัน นอกจากนี้ผู้เขียนยังมุ่งนำเสนอหลักธรรมทางศาสนาฮินดู จุดหมายปลายทางของศาสนาฮินดูคือโมกษะ(การได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์กับพระพรหม) ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ความรักของพ่อแม่(ทุรโยธน์-ท้าวธฤตฺราษฎร,นางกุนฺตี-เหล่าปาณฑพ) ความรักหนุ่มสาว (นางเทราปที-เหล่าปาณฑพ) ความรักของพี่น้อง(เหล่าปาณฑพ) ความอดทน ความกตัญญู เป็นต้น

          5.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   คุณค่าที่ได้รับจาก มหาภารตยุทธ มีดังนี้
                   5.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             วรรณคดีเรื่องนี้เน้นการนำเสนอแนวคิดในเรื่องอิทธิพลของกิเลสมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวงในเรื่อง การศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้ผู้อ่านจะได้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์มากยิ่งขึ้น และเห็นผลจากการกระทำ ทั้งการทำดีและทำความชั่ว คุณค่าทางศีลธรรมในเรื่องนี้ปรากฏอยู่โดยตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งนับได้ว่าเป็นวรรณคดีอีกหนึ่งเรื่องที่สะท้อนแนวคิดทางศีลธรรมได้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่าง
                             5.4.1.1 ตัวอย่าง ความกตัญญู เช่น
                                      ขอเดชะ!  ข้าพระองค์มิได้ทิ้งน้อง ๆ และชายาแต่อย่างใด  หากเขาได้สิ้นบุญสิ้นวาสนาไปเสียก่อน  และข้าพระองค์ก็ไม่สามารถจะยับยั้งกาลกิริยาของพวกเขาได้  ส่วนสุนัขตัวนี้มีความจงรักภักดีต่อข้าพระองค์มาก  มันสู้อุตส่าห์ติดตามข้าพระองค์มาจากพื้นโลก  ข้าพระองค์ไม่สามารถจะทิ้งมันไว้เบื้องหลังได้เพราะจะเป็นการผิดหลักธรรมอย่างอุกฤษฏ์  มาตรว่า  ข้าพระองค์จะต้องสูญเสียสวรรค์อันเป็นสิ่งพึงปรารถนาไป  ข้าพระองค์ก็จะยอม  แต่จะให้ข้าพระองค์ทอดทิ้งผู้จงรักภักดีที่ติดตามข้าพระองค์มานั้น  ข้าพระองค์ทำไม่ได้!  ขอพระองค์ได้โปรดประทานอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า...”  ยุธิษฐิระ  ทูลตอบท้าวโกสีย์
                                                (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 255)

                   5.4.2 คุณค่าทางปัญญา
                                                วรรณคดีเรื่องนี้จะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจมนุษย์มากยิ่งขึ้น เข้าใจพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ ซึ่งต่อให้มีปัญญามากเพียงใด หากไม่มีสติ ก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆที่เลวร้ายได้ อีกทั้งในเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นบทบาทของผู้นำได้เป็นอย่างดี
                                       5.4.2.1 ตัวอย่าง การเลือกใช้คนของผู้นำ เช่น
                                                ขณะที่ทุกคนกำลังงงงันต่อการแปรทัพแบบใหม่ของโทฺรณาจารย์  ซึ่งไม่มีใครคาดฝันอยู่นั้น  ยุธิษฐิระเห็นว่าภัยพิบัติกำลังคืบหน้าเข้ามาใกล้ฝ่ายตนอย่างรวดเร็ว  อีกทั้งอรชุนก็หาได้อยู่ในที่นั้นไม่  จึงกวักหัตถ์เรียกอภิมันยุผู้นัดดาเข้าไปหาแล้วรับสั่งว่า
                                                อภิมันยุหลานรัก!  ถึงเวลาแล้วที่เจ้าจะต้องกู้ศักดิ์ศรีของตระกูลของเราไว้  กลยุทธแบบจักรพยุหะที่พระอาจารย์โทฺรณะ  กำลังใช้ล้อมกองทัพของเราอยู่ขณะนี้  เจ้าและพ่อของเจ้าเท่านั้นที่ได้เรียนรู้มา  และสามารถจะตีฝ่าออกไปได้  แต่โดยเหตุที่อรชุนพ่อของเจ้า  กำลังรบติดพันอยู่กับหน่วยกล้าตายสังศัปตกะของราชาแห่งแคว้นตริครรตะ  เพราะฉะนั้นจึงต้องตกเป็นหน้าที่ของเจ้าแล้วที่จะต้องเข้าแก้ไขสถานการณ์แม้จะอยู่ในเยาว์วัย  แต่ลุงก็มั่นใจว่าเจ้าจะสามารถช่วยพวกเราได้  ขอให้เจ้านำพวกเราตะลุยเข้าไปในแนวรบของฝ่ายข้าศึก  ลุงกับอาตลอดจนพรรคพวกทั้งหมดจะเป็นกำลังหนุนอยู่เบื้องหลัง
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555,  น. 160)

                   5.4.3 คุณค่าทางอารมณ์
                             มหาภารตยุทธ จะทำให้ผู้อ่านเมื่ออ่านเรื่องนี้แล้ว จะได้รับรู้อารมณ์ที่หลากหลายของตัวละคร ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์เศร้า อารมณ์ฮึกเหิม อารมณ์โกรธแค้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่านเข้าใจมนุษย์มากยิ่งขึ้น เพราะผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า สิ่งใดก็ตามที่พบในสังคม จะพบได้ในมหาภารตยุทธ
                             5.4.3.1 ตัวอย่าง อารมณ์โกรธ เช่น
                                       ครั้นตกเพลาสายัณห์  ยุธิษฐิระและน้อง ๆ กลับคืนสู่อาศรมพร้อมด้วยเนื้อสมันและอาหารป่าที่ไปล่ามาได้  พราหมณ์เธามฺยะจึงเล่าพฤติการณ์อันชั่วช้าสามานย์ของชยัทรัถและพรรคพวกให้พี่น้องทั้งห้าฟังอย่างละเอียด
                                       ทันทีที่ได้ฟังเรื่องราวจากเธามฺยะ  ภีมะก็ฉวยตะบองคู่ชีพชูขึ้นควงเหนือศีรษะพร้อมประกาศก้องว่า
                                       ไอ้ชยัทรัถ!  กูจะตามไปฉีกอกควักหัวใจมึงออกมาให้โลกดูเล่นเดี๋ยวนี้ทีเดียว  
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 106)

                             5.4.3.2 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                       ท้าวยุธิษฐิระทรงตกตะลึงนิ่งขึงไปพักใหญ่  และหลังจากที่ได้ก้มลงกระทำอัญชลีแด่พระฤาษีนารทะแล้ว  พระองค์ก็เสด็จเข้าสู่พระราชฐานชั้นในโดยมิได้ทรงเอื้อนพระโอษฐ์ตรัสแม้แต่คำเดียว
                                       ต่อจากนั้น  ก็ได้ยินเสียงพิลาปร่ำไห้ดังออกมาจากอันเตปุระแห่งพระราชฐานของหัสตินาปุรนคร
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 239)

                                      การจากไปของผู้เชษฐา  ทำให้พระกฤษณะหมดหวังหมดกำลังพระทัย  พระองค์ทรงดำเนินเข้าไปในป่าด้วยพระทัยอันหดหู่  ในขณะเดียวกันก็ทรงตระหนักดีว่า  วาระสุดท้ายของพระองค์ได้ใกล้เข้ามาเต็มที่แล้ว
                                                           (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 244)

                                       ...อนิจจาเอ๋ย!  ลูกพ่อทั้งห้า!  เจ้าต้องตายเพราะความประมาทของพวกพ่อแท้ ๆ กรรณะเองยังไม่สามารถทำอันตรายเจ้าได้เลย!  ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะยังความหายนะให้ได้มากเท่ากับความประมาท!  พวกเจ้านั้นเปรียบได้กับพ่อค้าพาณิชย์ผู้ร่ำรวย  เสียแรงที่มีอุตสาหะข้ามน้ำข้ามทะเลมาได้โดยปลอดภัย  แต่แล้วก็กลับมาสิ้นชีวิตในลำธารเล็ก ๆ ตื้น ๆ นี้เอง  ทั้งนี้ก็เพราะความประมาทของพวกพ่อแท้ ๆ”…
                                                           (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 195)

                   5.4.4 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             วรรณคดีเรื่องนี้สะท้อนวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งเน้นความซื่อสัตย์ และความกตัญญู ตัวละครหลักคือยุธิษฐิระ คือตัวละครที่สะท้อนความซื่อสัตย์และความกตัญญูได้เป็นอย่างดี ซึ่งวัฒนธรรมนี้เป็นสิ่งที่ชาวอินเดียให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
                              
                   5.4.5 คุณค่าทางประวัติศาสตร์             
                             วรรณคดีเรื่องนี้เป็นวรรณคดีที่แปลมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งคนในประเทศอินเดียนั้น มีความเชื่อว่า เรื่องมหาภารตะยุทธ์ เป็นวรรณคดีที่อิงเนื้อหาจากประวัติศาสตร์ของอินเดีย ดังนั้นการศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติอื่นๆมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่าง
                             มหากาพย์มหาภารตะเป็นเรื่องราวของกษัตริย์แห่งวงศ์ภรตเกียรติคุณของราชวงศ์ภรตปรากฏอยู่ในมหากาพย์ชิ้นนี้ทั้งหมด  และ  “ภรต”  นี่เองเป็นที่มาของคำว่า  ภารต (ะ) อันเป็นชื่อของเผ่าพันธุ์และประเทศอินเดีย
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น.3 )

                   5.4.6 คุณค่าทางจินตนาการ
                             วรรณคดีเรื่องนี้ ผู้เขียนร้อยเรียงเรื่องราวให้ทั้งสมจริง ทั้งเกินจริง และทั้งเหนือจริง เพื่อสร้างอรรถรสให้แก่ผู้อ่าน ดังนั้นการที่ผู้เขียนเขียนให้เกินจริง หรือเหนือจริงนั้น ล้วนมาจากจินตนาการของผู้เขียนทั้งสิ้น ตัวละครในเรื่องหลายตัวนั้นมีลักษณะที่เกินจริง ไปจากคนปกติ เช่น โทรณาจารย์ ภีมะ อรชุน เป็นต้น นอกจากนี้ในเรื่องนี้ยังปรากฏการเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละคร จากผู้หญิงแปรเพศเป็นผู้ชาย    มีการปลอมตัว การอวตาร ดังตัวอย่าง

                             5.4.6.1 ตัวอย่าง การแปลงกาย เช่น
                                                            ทุรโยธน์รีบไปหากรรณะและพรรคพวก  ทั้งหมดปรึกษากันและลงความเห็นว่าเพื่อเป็นการตัดกำลังสำคัญของฝ่ายปาณฑพ  ควรจะจับองค์พระกฤษณะไว้  ข่าวนี้ได้แพร่ออกไปถึงพระกรรณของพระกฤษณะ  พระกฤษณะจึงแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการปรากฏพระวรกายเป็นวิศวรูป  คือ  เป็นพระวิษณุเทพเจ้า  ทำให้บรรดาผู้ที่อยู่ในราชสำนักของท้าวธฤตราษฎร์ตกตะลึงพรึงเพริดไปตาม ๆ กัน  และต่างก็ประณมมือขึ้นถวายความเคารพแด่องค์พระกฤษณะ  ซึ่งบัดนี้เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วว่าหาใช่ใครอื่นไม่  หากเป็นพระนารายณ์อวตารมาเกิดในภาคมนุษย์นั่นเอง
                                                          (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555,  น. 138)

                   5.4.7 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             5.4.7.1 การเล่นคำ
                                      การเล่นคำ ผู้เขียนเลือกใช้การหลากคำ ในการเรียกชื่อคน เช่น โทรณาจารย์    อาจารย์โทรณะ พระอาจารย์โทรณะ เป็นต้น

                             5.4.7.2 น้ำเสียง
                                      ส่วนน้ำเสียงนั้นในเรื่องนี้ ผู้เขียนใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย ทั้ง น้ำเสียงสงสาร น้ำเสียงรัก น้ำเสียงเทิดทูลบูชา เป็นต้น

                                      5.4.7.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงประชดประชัน เช่น
                                                “อย่ากลัวไปเลยทุรโยธน์เอ๋ย! เราพร้อมที่จะสู้กับท่านตัวต่อตัว เราจะไม่รุมฆ่าท่าน เหมือนพวกท่านรุมฆ่าอภิมันยุหลานรักของเราหรอก!
                                                (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 186)

                                      5.4.7.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงสั่งสอน เช่น
                                                ท่านผู้เชษฐบุรุษและเชษฐสตรีแห่งราชสกุลภรต!  โปรดอย่าได้เศร้าโศกเสียพระทัยไปเลย!   ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกฏแห่งกรรมไม่มีผู้ใดที่จะยับยั้งผลแห่งกุศลหรืออกุศลได้  ฝ่าพระบาททั้งสองได้ทรงพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว  ที่จะสกัดกั้นมิให้กลุ่มโอรสของฝ่าพระบาทประพฤติปฏิบัติไปในทางมิชอบมิควร  แต่ก็ไม่ทรงประสบผลสำเร็จ  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะวิบากแห่งกรรมเก่าของโอรสเหล่านั้นเอง  บัดนี้  เหตุการณ์ได้ผ่านพ้นมาถึงขั้นนี้แล้ว  ขอให้ฝ่าพระบาทจงทรงหักห้ามพระทัยและคลายความทุกข์โทมนัสเสียเถิด!”                                                 (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 188)

                                                                                ความเมตตากรุณาเป็นคุณธรรมอันสูงส่ง  ทุกคนควรมีความเมตตากรุณาไว้เป็นหลักธรรมประจำใจ เราไม่ต้องการให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติต่อเราเช่นใด  เราก็ไม่ควรประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นต่อผู้อื่นด้วย เรารักผู้อื่น  ผู้อื่นย่อมรักเรา  เราเกลียดผู้อื่น  ผู้อื่นก็ย่อมเกลียดเรา การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นศาสนาอันสูงสุด การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นวินัยอันสูงสุด การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นการปฏิบัติธรรมอันสูงสุด การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นการเสียสละอันสูงสุด การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นความสุขอันสูงสุด การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นความสัตย์อันสูงสุด การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นย่อมมีคุณค่าสูงส่งกว่าพิธีกรรมทางศาสนาทุกประการ จงอย่าปิดบังความผิด  เพราะความผิดที่ปิดบังจะทวีปริมาณและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
                                                (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 217)

                                                ดูกรราชัน!  เราได้สั่งให้เทวทูตพาท่านมายังเมืองนรกหรือนรกาลัยนี้ก็เพื่อท่านจะได้เห็นทั้งด้านที่มืดและด้านที่สว่างของชีวิต  เพราะความมืดและความสว่างอันได้แก่ทุกข์และสุขนั้น  เป็นของคู่กันไปในชีวิต  ไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยงเสียได้  ท่านและน้อง ๆ ตลอดจนเทวีเทฺราปทีผู้เป็นศรีชายา  ได้บำเพ็ญกุศลบุญราศีไว้มาก  จึงไม่ต้องทนทุกข์ในนรกาลัยเป็นเวลานานนัก  บัดนี้  เขาเหล่านั้นก็ได้มาอยู่ในสรวงสวรรค์พร้อมหน้ากันแล้ว  แม่น่ำคงคาแห่งสวรรค์ไหลผ่าน    จุดที่เรายืนกันอยู่นี้แหละ  ขอให้ท่านจงลงไปชำระล้างร่างกายในแม่น้ำคงคาสวรรค์นี้เสียเถิด  อกุศลมูลทุกประการในร่างของมนุษย์จะได้หมดสิ้นไป  แล้วท่านก็จะได้บรรลุทิพยภาวะ  ปราศจากทุกข์  โศก   โรคภัยไข้เจ็บและมลทินโทษทุก ๆ ประการ”  ท้าวโกสีย์สหัสนัยน์เทวราชรับสั่งกับธรรมบุตรยุธิษฐิระในที่สุด
                                                 (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 261)

                                      5.4.7.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงขอร้อง เช่น
                                                                          กรรณะหลานรัก!  ปู่ไม่เคยถือโทษโกรธหลานเลย!  ที่ปู่เคยพูดขัดใจหลานบ่อย ๆ ทั้งในที่ประชุมรัฐสภาของพี่น้องเการพและในที่อื่น ๆ นั้น  ก็เป็นเพราะปู่เห็นว่าหลานประพฤติผิดหลักธรรม  ในการส่งเสริมให้พี่น้องเการพกับปาณฑพประหัตประหารกันเอง  อันที่จริงแล้ว  หลานก็ใช่ใครอื่นไม่  หากแต่เป็นลูกชายคนหัวปีของนางกุนตีนั้นเอง  และด้วยเหตุนนี้  จึงเป็นพี่อ้ายของกลุ่มปาณฑพด้วย  พระฤาษีนารทะทราบเรื่องนี้ดี  และท่านเป็นผู้เล่าเหตุการณ์ทั้งหลายให้ปู่ฟัง  เพราะฉะนั้น  ปู่จึงขอแนะนำให้หลานและเการพ  เลิกละความคิดที่จะรบพุ่งกับฝ่ายปาณฑพเสียเถิด!  แผ่นดินภารตะจะได้ไม่ต้องชุ่มนองไปด้วยเลือดของเหล่าญาติและนักรบทั้งหลาย
                                                           (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 151)

                                      5.4.7.2.4 ตัวอย่าง น้ำเสียงปลอบโยน เช่น
                                                เทฺราปทีลูกรัก!  ทั้งเจ้าและแม่ต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน  ก็ใครเล่าจะเห็นหัวอกของแม่  นอกจากผู้เป็นแม่ด้วยกันเท่านั้น  ขอให้คิดเสียว่า  เป็นกรรมเก่าของเราก็แล้วกันนะลูกนะ
                                                           (กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย, 2555, น. 205)







สรุป
วรรณคดีไทยในปัจจุบัน คือ วรรณคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน(ร.9) โดยวรรณคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายประเภท  วรรณคดีปัจจุบันประเภทร้อยแก้วนั้น เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย นิทาน เป็นต้น ส่วนประเภทร้อยกรองก็ปรากฏประเภทใหม่ คือ วรรณรูป วรรณคดีไทยในปัจจุบันมีความแตกต่างจากวรรณคดีในอดีตหลายด้าน ทั้งในด้านเนื้อหา ด้านภาษา ด้านคุณค่า ดังจะเห็นได้จากเรื่องโลกในดวงตาข้าพเจ้า ซึ่งเป็นวรรณคดีไทยในปัจจุบันรูปแบบร้อยกรอง ร้อยกรองที่ปรากฏในเรื่องนั้นมีการใช้คำที่สั้น ไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์ กวีเน้นสะท้อนเนื้อหาที่ปรากฏในสังคมด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา มีการใช้ภาษาต่างประเทศในบทร้อยกรอง โลกในดวงตาข้าพเจ้าเป็นตัวแทนของร้อยกรองในปัจจุบันที่กวีนิยมแต่งในรูปแบบนี้ ส่วนวรรณคดีไทยร่วมสมัย นั้น คือ วรรณคดีที่ปรากฏในช่วงเวลาเดียวกันทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียน  วรรณคดีบางเรื่องปรากฏมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ไม่ได้รับความนิยมนัก แต่พอมาถึงสมัยหนึ่ง เมื่อนำกลับมาเรียบเรียงและจัดพิมพ์ใหม่ ความนิยมกลับได้รับสูงขึ้น เช่น เรื่องมหาภารตยุทธ กวรรณคดีเรื่องนี้ได้มีการแปลและเรียบเรียงมาโดยตลอด และฉบับล่าสุด (พิมพ์ครั้งที่ 14 พ.ศ.2555) นี้ เป็นฉบับที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยผู้แปลคือ คุณกรุณา และคุณเรืองอุไร กุศลาสัย ได้แปลและเรียบเรียง ได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์  วรรณคดีเรื่องนี้ใช้ร้อยแก้วในการนำเสนอ เนื้อหาอ่านแล้วเข้าใจได้โดยง่าย แนวคิดคือมุ่งแสดงให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยกิเลสของตนเอง บทบาทอำนาจอิทธิพลของเทพเจ้าที่มีต่อพฤติกรรมของมนุษย์ อิทธิพลของมนุษย์ด้วยกัน

คำถามทบทวน



 
เอกสารอ้างอิง

กระแส มาลยาภรณ์ และชุดา จิตพิทักษ์. (2525). มนุษย์กับวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย. (2555). มหาภารตยุทธ (พิมพ์ครั้งที่14). กรุงเทพฯ: บริษัทสยาม   ปริทัศน์ จำกัด.
กุหลาบ มัลลิกะมาส. (2555). ความรู้ทั่วไปทางวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
เจตนา นาควัชระ และบุญเหลือ เทพยสุวรรณ,ม.ล. (2520). วรรณไวทยากร. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนา         พานิช จำกัด.
มนตรี ศรียงค์. (2550). โลกในดวงตาข้าพเจ้า. กรุงเทพ: สามัญชน.
สายทิพย์ นุกูลกิจ. (2539). วรรณกรรมไทยปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: บริษัทเอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์       จำกัด.




 
 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง