ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 11 การศึกษาวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.6–ร.8)

1. ประวัติ ความเป็นมาของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.6-.8)
          ในบทนี้จะเป็นการสืบเนื่องจากสมัย ร.4-5 โดยบทนี้จะเป็นการเข้าสู่ยุควรรณคดีสมัยใหม่ คือ ใน สมัย ร.6-8 ทั้งในรูปแบบของวรรณคดีที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ปรากฏวรรณคดีประเภท บทละคร ละครพูด ละครร้อง บันเทิงคดี เรื่องสั้น นวนิยาย เป็นต้น โดยในสมัยนี้มีนวนิยายที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ เช่นเรื่องความพยาบาท ของแม่วัน เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งประชาชนทุกคนได้รับการศึกษา เนื่องจากมีพระราชบัญญัติการประถมศึกษา มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ประชาชนอ่านหนังสือได้มากยิ่งขึ้น จึงมีงานเขียนประเภทใหม่ขึ้น คือ นิตยสาร วรรณคดีร้อยแก้วขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ มีงานเขียนประเภทสารคดี และในสมัยนี้นวนิยายและเรื่องสั้นมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก
          ผู้สอนจึงนำเสนอวรรณคดี 3 เรื่อง ได้แก่ บทละครเรื่องมัทนะพาธา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งบทละครพูด  นิทานเวตาล ซึ่งเป็นบันเทิงคดี (ร้อยแก้ว) รูปแบบเรื่องสั้น และสามกรุง ซึ่งเป็นวรรณคดีที่แสดงให้เห็นการเข้าสู่ยุควรรณคดีสมัยใหม่ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของกวีในการนำเสนอผลงาน

2. มัทนะพาธา
          มัทนะพาธา เป็นบทละครพูด ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          2.1 รูปแบบคำประพันธ์
          เรื่องมัทนะพาธาจัดเป็นวรรณคดีประเภทบทละคร  รูปแบบละครพูดคำฉันท์ โดยกวีใช้ร้อยกรองในการเสนอผลงานหลายแบบ ทั้งร้อยกรอง ร้อยแก้วสลับร้อยกรอง และร้อยแก้วสลับบทสนทนา ดังตัวอย่าง
                   นาค.    มันเกิดเรื่องพิกลเสียแล้วละเพื่อน.
                   ศุน.      พิกลอะไร ?
                   นาค.    ต้นนั่นน่ะ.
                   ศุน.      ต้นนั่นอะไร ? พูดให้เหมือนคนหน่อยไม่ได้เทียวหรือ ?
                   นาค.    ต้นไม้วิเศษของท่านอาจารย์อย่างไรล่ะ
                   ศุน.      กุพชะกะ! ข้าเพียรท่องชื่อเสียเปนนานจึ่งจำได้ แล้วก็มันเปนอะไร                                   ไปล่ะ?
                   นาค.    หายไปแล้ว !
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 71)

                   ศุภางค์.           ท่านเคยได้เล่าเรื่องให้      ว่านางทรามวัย
                                      ผู้เห็นอยู่เมื่อวันวาน
                                      นั้นโดยปรกะติกาล        เปนพฤกษะมาน
                                      มาลีสุคนธ์หอมเย็น,
                                      และต่อเมื่อถึงวันเพ็ญ      นางจึ่งจะเปน
                                      นงคราญวิสุทธิ์ศรีใส,
                                      ดังนั้นถูกฤๅฉันใด ?
                   โสมะทัต.                                      ถูกเช่นนั้นไซร้.
                   ศุภางค์.                                        แล้วก็เมื่อครบหนึ่งวัน
                                      กับอีกหนึ่งคืนนางนั้น      ก็กลับกลายพลัน
                                      เปนพฤกษะอีกทันที,
                                      ถูกไหมเข้าใจเช่นนี้ ?
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 78)
          2.1.1 ภาษา
                             ภาษาที่กวีใช้ในเรื่องนี้  กวีใช้คำในภาษามาตรฐาน  ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏในพจนานุกรม คำในภาษามาตรฐาน ในเรื่องนี้ที่ปรากฏจะมีทั้งคำสุภาพ และคำราชาศัพท์  ดังนี้
                             2.1.1.1 ตัวอย่าง คำสุภาพ เช่น
                                       ศุภางค์.           เรามีธุระร้อนอยู่           มาหาท่านผู้
                                                         เปนศิษย์ผู้ใหญ่ที่นี้.
                                       โสมะทัต.         พวกเจ้าจงหลีกไปที!       เรากับเสนี
                                                         มีกิจจะพูดจากัน.
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 77)          
                             2.1.1.2 ตัวอย่าง คำราชาศัพท์ เช่น
                                       นันทิวรรธนะ.    ข้าขอบังคมบาท           สุระนาถะราชัน,
                                                         จิตข้านี้โล่งพลัน            เพราะสดับพระวาจา.
                                                         บัดนี้กราบทูลขอ           พระประทานอภัยข้า
                                                         ด้วยมีซึ่งกิจจา              ดนุสาระภาพผิด.
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 134)

          2.1.2 โวหาร
                             โวหารที่ปรากฏในเรื่อง มีหลากหลาย ทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสจากการอ่านวรรณคดีเป็นอย่างมาก โวหารที่ปรากฏในเรื่อง มีดังนี้

                             2.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                       งามเอวอนงค์ราว                    สุระศิลปิชาญฉลาด
                                       เกลากลึงประหนึ่งวาด               วรรูปพิไลยพะวง;                                                           (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 8)

                             2.1.2.2 ตัวอย่าง นามนัย เช่น
                                       แต่จะบังคับหัทยา                   ให้รักนั้นข้า
                                       ยังนึกระแวงแคลงนัก
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 14)

                             2.1.2.3 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                       แต่อยู่ดีๆทันใด                       บังเกิดร้อนใน
                                       อุระประหนึ่งไฟผลาญ
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 24)

                             2.1.2.4 ตัวอย่าง อาวัตพากย์ เช่น
                                       ก็รสใดจะหวานแม้น                 สุรสแห่งพระวาจา,
                                       กระแสร์ทราบณทรวงข้า            พระบาทปลื้มบลืมรส
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 66)

                             2.1.2.5 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
                                       เพราะนารีณวังใน                   บมีใครจะงามพักตร์
                                       ฤงามรูปวิไลยลักษณ์                 เสมอเจ้าบพึงมี.
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 67)

2.2 เนื้อหา
                    เรื่องราวในบทละครเรื่อง มัทนะพาธานั้น แบ่งออกเป็น 5 องก์ องก์ละ 2-3 ตอน
                    องก์ที่ 1
                   เรื่องราวในตอนนี้จะเกี่ยวกับ สุเทษณ์รำพึงรำพันถึงนางมัทนา สุเทษณ์ให้มายาวินทำพิธีเพื่อให้นางมัทนารักตน แต่ไม่สำเร็จ สุเทษณ์พยายามอ้อนวอนให้นางรับรัก แต่นางปฏิเสธ จนสุเทษณ์โกรธและสาปให้นางไปเกิดในโลกมนุษย์ นางจึงขอเกิดเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม มายาวินเสนอดอกกุพฺชก(ดอกกุหลาบ) สุเทษณ์จึงสาปให้นางไปเกิดเป็นดอกกุพฺชก มีกลิ่นหอม และมีหนามเพื่อป้องกันอันตราย โดยนางจะสามารถคืนร่างเป็นมนุษย์ได้เพียง๑คืน คือทุกคืนวันเพ็ญ จนกว่านางจะมีความรัก นางจึงจะสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ได้ถาวร แต่ความรักของนางจะไม่สมหวังและมีทุกข์มาก
                    องก์ 2
                    ตอนที่ 1 ฉาก:ในกลางหิมะวัน
                   เรื่องราวในตอนนี้กล่าวถึง นาคและมุน ศิษย์ของพระกาละทรรศิน ซึ่งได้พบกับดอกกุพฺชก ทั้งสองคิดจะขุดไปให้ พระกาละทรรศิน  ขณะนั้นพระกาละทรรศินผ่านมาจึงสั่งให้ขุด แต่ทุกครั้งที่ขุดจะมีเสียงผู้หญิงร้อง พระกาละทรรศินนั่งสมาธิจนรู้ความจริง จึงกล่าวกับดอกกุพฺชกว่าขอให้ไปด้วยกัน จะดูแลเหมือนพ่อดูและลูก จึงสามารถขุดได้
                    ตอนที่ 2 ทางเดิรในดง
                   ขณะที่พระกาละทรรศินและศิษย์นำดอกกุพฺชกไปปลูก ท้าวชัยเสนได้ออกเดินทางมาในป่าพร้อมเหล่าทหาร ศุภางค์นายทหารคนสนิทแนะให้ท้าวชัยเสนไปสำนักของโยคี(พระกาละทรรศิน) แต่ท้าวชัยเสนขอพักก่อน ศุภางค์จึงออกเดินทางไปสำนักของพระกาละทรรศินเพื่อแจ้งการจะมาเยือน
                    ตอนที่ 3 ลานหน้าอาศรมของพระกาละทรรศิน
                   พระกาละทรรศินรู้สึกถึงลางร้ายจะมาเยือนนางมัทนา จึงเตือนนางมัทนา ขณะนั้นศุภางค์เข้ามาแจ้งว่าพระกาละทรรศินถึงการมาเยือนของท้าวชัยเสน เมื่อท้าวชัยเสนเดินทางมาถึงและเห็นนางมัทนา ท้าวชัยเสนพึงใจนางมาก
                    องก์ที่ 3 
                    ฉาก:ลานหน้าอาศรมของพระกาละทรรศิน
                   ลานหน้าอาศรมท้าวชัยเสนพร่ำเพ้อถึงนางมัทนา ขณะนั้นนางมัทนาเดินออกมาจากอาศรมและพร่ำเพ้อถึงท้าวชัยเสน ท้าวชัยเสนปรากฏตัวให้เห็น ทั้งคู่ต่างพลอดรักกันและตกเป็นของกันและกัน ครั้นรุ่งเช้าทุกคนต่างตกใจเมื่อต้นไม้หายไป พระกาละทรรศินจึงบอกทุกคนว่านางมัทนาจะไม่กลายเป็นต้นไม้อีกแล้ว เพราะนางมีความรัก ท้าวชัยเสนพานางมัทนาเข้ามากราบพระกาละทรรศินเพื่อขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น จากนั้นท้าวชัยเสนขอให้พระกาละทรรศินทำพิธีแต่งงานให้
                    องก์ที่ 4
                    ตอนที่ 1 สวนหลวงข้างพระราชวัง , ในกรุงหัสตินาปุระ
                   นางธราลีข้าหลวงของนางจัณฑีมเหสีของท้าวชัยเสน เข้ามาที่สวนหลวงเพื่อสอดส่องว่าท้าวชัยเสนแอบซ่อนใครไว้ แต่กลับถูกนางปริยัมวะทานางกำนัลของท้าวชัยเสนพลิกสถานการณ์แก้สิ่งที่นางสงสัยได้ นางจึงล่าถอย แต่ต่อมานางจัณฑีก็ตามมาที่สวน และได้ประชดประชันนางมัทนา ท้าวชัยเสนปกป้องนางมัทนา ซึ่งทำให้นางจัณฑีเจ็บแค้นเป็นอย่างมาก
                    ตอนที่ 2 ริมรั้วค่ายหลวง ,ตำบลอุรุเกษตร์
                   นางมัทนาไม่สบาย แต่ท้าวชัยเสนไม่สามารถอยู่ดูแลได้ เนื่องจากต้องออกไปรบกับข้าศึก ศุภางค์นายทหารคนสนิทวิตกว่าศึกคราวนี้จะเป็นแผนลวง
                    ตอนที่ 3 สวนหลวงข้างพระราชวัง,ในกรุงหัสตินาปุระ
                   เมื่อท้าวชัยเสนกลับจากศึก ได้พบกับนางกำนัลของนางจัณฑีแสดงอาการแปลกประหลาดจึงซักถาม นางกำนัลของนางจัณฑีจึงโกหกว่า นางมัทนาใช้ให้ไปติดต่อพราหมณ์เพื่อมาทำพิธีฝังอาถรรพ์ ให้นางกับศุภางค์ได้รักกัน ท้าวชัยเสนไม่ฟังความใดๆ ตัดสินประหารนางมัทนา และศุภางค์

                    องก์ที่ 5
                    ตอนที่ 1 พลับพลาในค่ายหลวงที่ตำบลกุรุเกษตร์
                   ท้าวชัยเสนได้กลับไปทำศึกอีกครั้ง ขณะที่พักอยู่ที่ค่ายหลวง พราหมณ์วิทูรได้เข้ามาสารภาพผิด ท้าวชัยเสนเมื่อรู้ความจริงจึงคิดฆ่าตัวตาย แต่นันทิวรรธนะนายทหารของท้าวชัยเสนได้ห้ามไว้ และบอกความจริงว่านางมัทนายังไม่ตาย ได้กลับไปอยู่ในป่าดังเดิม ส่วนศุภางค์นั้นได้ตายแล้วเนื่องจากขอเข้าไปรบในศึกจนตาย
                    ตอนที่ 2 กลางป่าหิมะวัน
                   ขณะนั้นนางมัทนาได้ทำพิธีเพื่อขอสุเทษณ์ให้ตนได้กลับคืนสู่สวรรค์ แต่สุเทษณ์ได้เสนอเงื่อนไขเดิม คือให้นางรับรัก นางมัทนายังยืนยันปฏิเสธเช่นเดิม สุเทษณ์จึงสาปให้นางกลายเป็นดอกกุหลาบตลอดไป  ฝ่ายท้าวชัยเสนออกตามหานาง แต่มาช้าไป นางมัทนากลายเป็นดอกกุหลาบไปแล้ว ท้าวชัยเสนเสียใจมาก จึงนำดอกกุหลาบเข้าไปปลูกในวัง

          2.2.1 ตัวละคร
                             เรื่องมัทนะพาธา ตัวละครที่ปรากฏนั้นเป็นคนสมมติ โดยกวีแบ่งตัวละครสมมุติออกเป็นตัวละครบนโลกมนุษย์ ได้แก่ พระกาละทรรศิน,โสมะทัต,นาค,ศุน,ท้าวชัยเสน,ศุภางค์ เป็นต้น และตัวละครบนสวรรค์ คือเหล่าเทวดา นางฟ้า คนธรรพ์ สุเทษ จิตระเสน จิตระรถ มายาวิน นางมัทนา เป็นต้น โดยกวีใช้แนวการสร้างตัวละครที่หลากหลาย ทั้งการสร้างให้สมจริง คือ ท้าวชัยเสน นางจันฑี ทั้งสองคนนี้มีความคิด ความรู้สึกต่างๆเหมือนคนจริง คือมีความรัก โลภ โกรธ หลง อยู่ในตัวคนเดียว สร้างโดยใช้ตัวละครแบบฉบับ(flat) คือ นางมัทนา และศุภางค์ ซึ่งสองคนนี้มีลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างคงที่ นางมัทนามีความยึดมั่นในสัจจะและมั่นคงในความรักมาก ขณะที่ศุภางค์นั้นมีความจงรักภักดีต่อท้าวชัยเสนผู้ซึ่งเป็นเจ้านายมาก นอกจากนี้กวียังได้สร้างตัวละครแบบเหนือจริง คือ สุเทษณ์ และพระกาละทรรศิน  สุเทษณ์เป็นเทวดาที่มีฤทธิ์เดชมาก สามารถที่จะสาปและกำหนดชีวิตของนางมัทนาได้หมด ขณะที่พระกาละทรรศินสามารถรู้เหตุการณ์ต่างๆล่วงหน้าได้ ซึ่งตัวละครสองตัวนี้มีลักษณะที่เหนือจริง วิธีการสร้างตัวละครนั้น กวีใช้วิธีที่หลากหลายทั้งให้ตัวละครอื่นพูดถึงพฤติกรรมของตัวละครนั้น และใช้พฤติกรรมหรือคำพูดของตัวละครเองเพื่อแสดงให้เห็นถึงนิสัยของตัวละครนั้น

          2.2.2 ฉาก สถานที่
                             สถานที่ต่างๆที่กวีเอ่ยถึงนั้น เป็นฉากสมมติซึ่งกวีได้เกริ่นนำตั้งแต่แรกว่า สมมติให้เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียโบราณ ฉากสมมติที่ปรากฏเช่น ลานหน้ามุขเด็จแห่งวิมาน,ค่ายหลวง,สวนหลวงข้างพระราชวัง,สวรรค์ เป็นต้น
          การสร้างฉากในเรื่องนี้ กวีใช้การสร้างฉากสมมติทั้งหมด โดยฉากสมมติเหล่านี้เกิดจากจินตนาการของกวี เช่น ลานหน้ามุขเด็จแห่งวิมาน,ค่ายหลวง,สวนหลวงข้างพระราชวัง,สวรรค์ เป็นต้น

          2.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             การลำดับเหตุการณ์ในเรื่องนั้น ด้วยเรื่องมัทนะพาธาเป็นบทละครพูด ดังนั้นในส่วนแรก  กวีจึงกล่าวแนะนำตัวละคร ทั้งชาวฟ้า(ตัวละครที่อยู่บนสวรรค์)และแนะนำชาวดิน(ตัวละคร/คนบนโลก) ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้เพื่อเป็นบทแสดงละครพูด จึงนำเสนอเนื้อหาเป็นองก์ ทั้งหมด 5 องก์
                             กวีเปิดเรื่องด้วย บทร้องของคนธรรพ์ จากนั้นจึงตามด้วยบทสนทนาระหว่างคนธรรพ์และสุเทษณ์
                             การดำเนินเรื่อง กวีใช้วิธีเล่าเรื่องตามลำดับเวลา สวรรค์-โลก นอกจากนี้ยังใช้วิธีเล่าเรื่องย้อนกลับ เห็นได้จากการที่มายาวินเล่าเรื่องราวในชาติก่อนของนางมัทนาและสุเทษณ์  และกวีใช้วิธีเล่าเรื่องไปข้างหน้า เห็นได้จากเหตุการณ์ที่พระกาละทรรศินเห็นเหตุการณ์ข้างหน้าซึ่งจะเป็นลางร้ายของนางมัทนา
                             การปิดเรื่อง กวีปิดเรื่องด้วยความเศร้า ความรักที่ไม่สมหวังของนางมัทนา ความรักที่ไม่สมหวังของสุเทษณ์ นำไปสู่การที่สุเทษณ์สาปนางให้เป็นดอกกุหลาบตลอดไป

2.3 แนวคิด
                    ในเรื่องนี้กวีมุ่งนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความรัก  แม้แต่เทวดาบนสวรรค์ยังมีความรัก ความหลง ความต้องการ และนำไปสู่การสาปนางมัทนาเป็นดอกกุหลาบ เพราะผิดหวังจากความรัก ส่วนแนวคิดย่อย ในมัทนะพาธา มีหลายแนว เช่น การยึดมั่นในสัจจะ ความซื่อสัตย์ เป็นต้น

2.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
          2.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                   วรรณคดีเรื่องนี้ได้ให้ข้อคิดในเรื่องความรัก ความหลง รวมไปถึงการยึดมั่นในสัจจะและความซื่อสัตย์ ซึ่งในท้ายที่สุดได้นำไปสู่เหตุการณ์ในเรื่องที่ดีและร้ายแตกต่างกัน นอกจากนี้วรรณคดีเรื่องนี้ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการมีสติ ซึ่งหากตัวละครในเรื่อง (ท้าวชัยเสน) มีสติ ไม่ฟังความข้างเดียว ก็อาจจะไม่ตัดสินใจผิดพลาดดังเหตุการณ์ในเรื่องนี้



          2.4.2 คุณค่าทางอารมณ์
                             เรื่องมัทนะพาธาเป็นบทละครพูด แต่เมื่อผู้อ่านได้อ่านก็จะได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลาย ดังนี้
                             2.4.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
                                      มัทนา.  เหตุใดพระองค์ทรงธรรม์   จึ่งทำเช่นนั้น
                                                ให้ข้าพระบาทต้องอาย
                                                แก่หมู่ชาวฟ้าทั้งหลาย ?   โอ้พระฦๅสาย
                                                พระองค์บทรงปราณี
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 24)
         
                   2.4.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์โกรธ เช่น
                                      สุเทษณ์. (ตวาด) อุเหม่ !
                                                มะทะนาชะเจ้าเล่ห์        ชิชิช่างจำนรรจา,
                                                ตะละคำอุวาทา            ฤกระบิดกระบวนความ.
                                                ดนุถามก็เจ้าไซร้           บมิตอบณคำถาม,
                                                วนิดาพยายาม             กะละเล่นสำนวนหวล.
                                                ก็และเจ้ามิเต็มจิต          จะสดัลดนูชวน,
                                                ผิวะให้อนงค์นวล          ชนะหล่อนทะนงใจ.
                                                บ่มิยอมจะร่วมรัก          และสมัคสมรไซร้,
                                                ก็ดะนูจะยอมให้           วนิดานิวาศสฺวรรค์.
                                                ผิวะนางพะเอินชอบ       มรุอื่นก็ฃ้าพลัน  
                                                จะทุรนทุรายศัล-          ยะบ่อยากจะยินยล;
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 29)

                   2.4.2.3 ตัวอย่าง อารมณ์ขัน เช่น
                             นาค.    ทำไมจมูกแกไม่มีหรือ ? (นั่งบนตอไม้.)
                             ศุน.      ก็มีน่ะสิ! แต่เกิดมายังไม่เคยรับใช้เช่นนี้เลย. ข้าสูดหากลิ่น                                             เสียจนจมูกเยิ้มแล้ว, รู้ไหม ?
                             นาค.    จมูกเยิ้มก็ดีอยู่แล้ว; แปลว่าแกไม่เจ็บ.
                             ศุน.      เอ๊ะ! อย่างไรกัน ?
                             นาค.    ข้าเคยสังเกตเห็นอ้ายด่างของข้า. เมื่อไรจมูกมันแห้งละก็                                              แปลว่ามันไม่สบาย.
                             ศุน.      อุวะ, แล้วกัน! เอาข้าไปเข้าประเภทหมาเสียแล้ว!
                             นาค.    ก็ดีนี่นะ; หมาจมูกมันเก่งกว่าคนเราอีก.
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 34)

                   2.4.2.4 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                             คราวนี้สิพบชาย           วรรูปวิเศษวิศาล,
                             ใจวาบและหวามปาน      ฤดินั้นจะโลดจะลอย!
                             เธอนั้นฤเจียมตัว           กิริยาก็เรียบก็ร้อย
                             ไม่มีละสักน้อย             จะแสดงณท่วงณที
                             ว่าเธอประสงค์จะ                   อภิรมย์ฤดีระตี,
                             เปนแต่ชำเลืองที่           ดนุบ้างณครั้งณคราว;
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 62)
         
          2.4.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             วรรณคดีเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยในสมัยนั้นยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องราวของไสยศาสตร์ และยังคงมีความเชื่อในสิ่งเร้นลับ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                   2.4.3.1 ตัวอย่าง ความเชื่อเกี่ยวกับคำสาป เช่น
                             เพราะฉะนั้นจะให้นาง     จุติสู่ณแดนคน,
                             มะทะนาประสงค์ตน      จะกำเนิดณรูปใด?
                             ทวิบทจะตูร์บาท           ฤจะเปนอะไรไซร้,
                             วธุเลือกจะตามใจ          และจะสาปประดุจสรร;
                             จะสถิตฉะนั้นกว่า                   จะสำนึกณโทษทัณฑ์,
                             และผิวอนดนูพลัน         จะประสาทพระพรให้
                             วนิดาจรัลกลับ             ณประเทศสุราลัย;
                             ก็จะชอบสะฐานใด         วธุตอบดนูมา.
                                       (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 30)



                   2.4.3.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถา เช่น
                             สุเทษณ์. นางมาแล้วไซร้ แต่ว่าฉันใด จึ่งไม่พูดจา?
                             มายาวิน. นางยังงงงวย ด้วยฤทธิ์มนตรา, แต่ว่าตูข้า จะแก้บัดนี้
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 20)

          2.4.4 คุณค่าทางจินตนาการ
                   วรรณคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สมมติขึ้น โดยอาศัยจินตนาการของกวี กวีสร้างตัวละครเป็นเทวดา และมีการใช้กลวิธีการเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละคร คือจากนางฟ้าเป็นดอกกุหลาบ และจากคนเป็นดอกกุหลาบ ดังตัวอย่าง
                             เพราะเราสิเล็งญา-        ณะและทราบฉะนี้ได้;
                             ผะกาพิเศษไซร้             บมิใช่ผะกาจริง,
                             และเปนวะธูผู้              ปะระเศรษฐะยอดหญิง,
                             เพราะรักษาสัจยิ่ง          บมิยอมจะเสียธรรม์,
                             ก็ถูกกำราบให้              จุติจากณแดนสฺวรรค์
                             กำเนิดประดุจพัน-         ธุผกาพิเศษนี้.
                             ณวันพระจันทร์เพ็ญ       ก็จะเปนสุนารี
                             และคงฉะนั้นมี             เฉพาะหนึ่งทิวากาล
                             และเอกะราตรี             ก็จะกลับสกนธ์ปาน
                                      (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 41)

          2.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             2.4.5.1 การเล่นคำ
                             ในเรื่องนี้กวีเล่นคำโดยการนำคำมาสลับที่ เพื่อให้ได้คนละความหมาย   คล้ายการยียวน
                                      2.4.5.1.1 ตัวอย่าง การสลับที่ของคำ เช่น
                                                สุเทษณ์. รักจริงมิจริงฤก็ไฉน        อรไทยบ่แจ้งการ?
                                                มัทนา.  รักจริงมิจริงก็สุระชาญ    ชยะโปรดสถานใด?
                                                สุเทษณ์. พี่รักและหวังวธุจะรัก      และบทอดบทิ้งไป.
                                                มัทนา.  พระรักสมัคณพระหทัย    ฤจะทอดจะทิ้งเสีย?
                                                สุเทษณ์. ความรักละเหี่ยอุระระทด เพราะมิอาจจะคลอเคลีย.
                                                มัทนา.  ความรักระทดอุระละเหี่ย ฤจะหายเพราะเคลียคลอ?
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 21)

                             2.4.5.2 น้ำเสียง
ในเรื่องนี้ กวีใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย ดังนี้              
                                       2.4.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงโมโห เช่น
                                                ศุภางค์.           นางอราลีนี่เออ             อวดดีเผยอ
                                                                   หยิ่งเย่อเหมือนอย่างคางคก,
                                                                   ชาติ์นางยางหัวไม่ตก       ก็คงผงก
                                                                   ผงาดบังอาจเอิบใจ.
                                                                   ไปเถิด,นางค่อม,รีบไป !
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 99)

                                       2.4.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงเสียใจ เช่น
                                                 ฉะนี้สิจึ่งแสน              ทุขะมากบอยากอยู่,
                                                 และนึกก็ชังตู               เพราะว่ะโง่นะเหลือทน.
                                                สดับพะจีเจ้า               นะสิเราสำนึกตน,
                                                 และจำจะต้องทน                   ทุขะเพื่อประโยชน์ราษฎร์,
                                                (พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, น. 133)

3. นิทานเวตาล
          นิทานเวตาล สำนวนที่ผู้เรียนควรศึกษานี้ คือสำนวนของ น.ม.ส. หรือพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งท่านทรงเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ

          3.1 รูปแบบคำประพันธ์
          นิทานเวตาล เป็นวรรณคดีประเภทบันเทิงคดี(ร้อยแก้ว) รูปแบบนิทาน โดยผู้เขียนใช้ร้อยแก้วในการเสนอผลงาน และในบางบทมีโคลง และกาพย์ แทรกอยู่ ดังตัวอย่าง
                   พระราชธิดาทรงรับหนังสือไปทอดพระเนตรดอกบัวบนหลังผนึก  แล้งทรงเปิดออกอ่าน  พบอิทรวิเชียรฉันท์  ดังนี้

                   ได้เห็นพระเพ็ญโฉม                  ดุจโสมสว่างหน
          ราคเร้ากำเดาดล                              จิตเดือดบ่เหือดลง
                   ศรทรงอนงค์  แผลง                 พิษแสร้งจะเสียบองค์
          ปักในหฤทัยตรง                               อุระแค้นเพราะแสนคม
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 40 )

                   3.1.1 ภาษา
                             นิทานเวตาลได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นนิทานที่อ่านง่าย ด้วยเป็นร้อยแก้ว นอกจากนี้ผู้เขียนใช้คำในภาษามาตรฐาน  โดยมีทั้งคำสุภาพ และคำราชาศัพท์  
                             3.1.1.1 ตัวอย่าง คำสุภาพ เช่น
                                      ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อได้ทำงานมงคลกับศรีทัตแล้ว ไม่ช้าก็เบื่อจนเกลียดสามี เพราะเป็นนิสัยของนางที่จะเป็นเช่นนั้น ครั้นเกลียดสามีเช่นนี้แล้วก็หันไปใคร่ครวญหาชายหนุ่มเสเพลคนหนึ่งซึ่งไม่เคยรักนางเลย
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 141)           
                             3.1.1.2 ตัวอย่าง คำราชาศัพท์ เช่น
                                      เวตาลหัวเราะทูลว่า “ถ้าพระองค์ต้องกลับไปต้นอโศกอีกหลายเที่ยว ก็อย่าทรงเศร้าโศกเสียพระชนม์เร็วนัก” ทูลเท่านั้นแล้วก็หลุดลอยกลับไปอยู่ต้นอโศกตามเดิม
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 341)                              
                   3.1.2 โวหาร
                             ผู้เขียนได้ใช้โวหารที่หลากหลาย ทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสจากการอ่านวรรณคดีเป็นอย่างมาก โวหารที่ปรากฏในเรื่องได้แก่ อติพจน์ อุปนัย สมนัย ปฎิปุจฉา บุคลาธิษฐาน นามนัย อุทาหรณ์ เป็นต้น
                             3.1.2.1 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                       โสมทัตต์ตอบว่า “คำกล่าวอ่อนหวานของนางแทงหัวใจข้าทะลุเสียแล้ว แลความรู้สึกว่าจะต้องพ้นไปจากนางเผากายข้าให้ไหม้เป็นจุณไป...”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 186)           


                             3.1.2.2 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                       พระราชบุตรตรัสว่า “พักตรนางเหมือนพระจันทร์ยามเพ็ญ ผมเหมือนหมู่ผึ้งอันเกาะห้อยอยู่บนช่อดอกไม้ ปลายโขนงยาวจดถึงกรรณ  โอษฐ์มีรสเหมือนจันทรามฤต เอวเหมือนเอวสิงห์ ทรงดำเนินเหมือนราชหงส์.....”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 47)             
                             3.1.2.3 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
                                       มายาคือความมั่งคั่งแลมายาคือความรัก....
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 11)             
                             3.1.2.4 ตัวอย่าง ปฏิปุจฉา เช่น
                                       ...“อ้ายตัวนี่มันพูดถูก กูจะจำคำของมันเป็นคติ ลองดูว่าจะเป็นผลอย่างไรบ้าง”
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 96)             
                             3.1.2.5 ตัวอย่าง บุคลาธิษฐาน เช่น
                                       พระราชาทรงพระดำริห์เช่นนี้แล้ว ก็ทรงหยิบดาบขึ้นจะประหารชีวิตพระองค์เอง แต่เทวรูปพระเทวีทรงยึดพระหัตถ์ไว้ รับสั่งห้ามมิให้พระราชาประหาร  พระองค์เอง แลให้ทรงขอพระแล้วแต่ประสงค์
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 176)

                             3.1.2.6 ตัวอย่าง นามนัย เช่น
                                       กลียุคมาถึงเป็นแน่เสียแล้ว และตั้งแต่ขึ้นต้นกลียุคมาก ความเท็จเกิดในโลกมากขึ้น...
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 186)           
                             3.1.2.7 ตัวอย่าง อุทาหรณ์ เช่น
                                       เวตาลเริ่มด้วยสำเนียงโอนอ่อนว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงปัญญายิ่งล้นหาผู้เสมอมิได้ในสามภพก็จริง แต่หมาซึ่งเป็นสัตว์สี่เท้า ยังรู้พลาดแลล้ม ในเวลาเหยียบที่ลื่นฉันใดผู้เป็นปราชญ์ แม้ปัญญาจะทึบเพียงไร
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 198
          3.2 เนื้อหา
                   เรื่องราวในนิทานเวตาล เริ่มต้นจากการที่พระวิกรมาทิตย์ต้องทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อค้า ซึ่งก็คือโยคีที่ปลอมตัวมา โดยโยคีปลอมตัวเป็นพ่อค้านำผลไม้มาถวาย ในผลไม้มีทับทิมซ่อนอยู่ พระวิกรมาทิตย์ดีใจมากจึงขอตอบแทนพ่อค้า พ่อค้าจึงกลับคืนร่างเดิมคือโยคี และทวงสัญญาพระวิกรมาทิตย์ โดยขอให้พระวิกรมาทิตย์และลูกชายของพระวิกรมาทิตย์  ไปนำศพ(เวตาล)ซึ่งแขวนอยู่บนต้นอโศกมาให้ แต่ทุกครั้งที่นำเวตาลลงมา เวตาลก็จะลอยกลับขึ้นไปบนต้นอโศกทุกครั้ง ในที่สุดเวตาลจึงยอมบอกว่าหากระหว่างการเดินทางพระวิกรมาทิตย์ไม่พูด เวตาลจะยอมไปโดยดี จากนั้นเวตาลจึงเริ่มเล่านิทานทั้งหมด 10 เรื่อง
                    นิทานเรื่องที่1 เป็นเรื่องราวของวัชรมงกุฎซึ่งเป็นโอรสกษัตริย์ เขาหลงรักธิดาของเมืองที่เป็นศัตรู พุทธิศรีระอำมาตย์จึงช่วยออกอุบายให้จนในที่สุดวัชรมงกุฎได้เข้าไปอยู่กินกับนางโดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ กระทั่งวันหนึ่งนางเริ่มระแวงพุทธิศรีระจึงคิดกำจัด แต่พุทธิศรีระอำมาตย์กลับซ้อนแผน โดยให้วัชรมงกุฎ ขโมยเครื่องเพชรนางออกมาตอนที่นางหลับ จากนั้นให้ใช้ตรีศูล(สามง่าม)แทนขานาง  เมื่อวัชรมงกุฎหนีออกมา พุทธิศรีระจึงปลอมตัวเป็นโยคี และให้วัชรมงกุฎปลอมตัวเป็นศิษย์ออกไปเร่ขายเครื่องเพชรของนาง  เมื่อวัชรมงกุฎถูกจับตัวก็ให้บอกว่าพุทธิศรีระเป็นคนนำมา  ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่พุทธิศรีระวางไว้ จนในที่สุดพุทธศรีระถูกจับตัวมาพบกับท้าวทันตวัตผู้ครองเมือง พุทธศรีระจึงอธิบายว่าได้เครื่องเพชรมาจากแม่มด และได้ใช้ตรีศูลแทงที่ขาซ้ายของแม่มด ท้าวทันตวัตและมเหสีเข้าใจว่าธิดาของตนเป็นแม่มดเนื่องจากมีแผลที่ขาซ้าย จึงไล่ออกจากเมือง
                    จากนั้นเวตาลจึงถามพระวิกรมาทิตย์ว่า “ในบรรดาทั้ง4 คน คือ ชายหนุ่ม,สหาย,หญิงสาวและบิดาหญิงสาว ใครควรถูกติเตียนมากที่สุด”  พระวิกรมาทิตย์จึงตอบว่า “บิดาควรถูกติเตียนมากที่สุด เพราะเป็นกษัตริย์ ไม่ควรหลงเชื่ออุบายตื้นๆ ควรไตร่ตรองให้ละเอียดก่อน” เมื่อเวตาลได้ฟังคำตอบจึงลอยกลับไปยังที่เดิม
                    นิทานเรื่องที่ 2 พระวิกรมาทิตย์ปีนต้นไม้ขึ้นไปนำตัวเวตาลลงมา เวตาลจึงเริ่มเล่าเรื่องที่สอง เรื่องราวกล่าวถึงพระรามเสนซึ่งมีนกแก้วตัวผู้ซึ่งพูดได้ เป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจ วันหนึ่งพระรามเสนได้สมรสกับนางจันทราวดีซึ่งมีนกขุนทองตัวเมียซึ่งพูดได้ เป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจเช่นกัน นกทั้งสองไม่ถูกกัน ต่างฝ่ายจึงพยายามเล่านิทานเพื่อให้พระรามเสนและนางจันทราวดีเห็นว่าเพศใดดีกว่ากัน เริ่มที่นางนกขุนทองได้เล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่ง นางเป็นลูกของเศรษฐี เมื่อนางเจริญวัยนางต้องแต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่งที่มีหน้าตาขี้เหร่  แต่นางกลับไม่ได้สนใจรูปร่างหน้าตาของชายหนุ่ม นางปรนนิบัติชายหนุ่มดีมาก แต่ชายผู้นี้กลับมีแต่ความไม่รู้จักพอ เขาได้พยายามจะฆ่านางให้ตาย เพื่อจะเอาทรัพย์สมบัติของนางไป นางล่วงรู้ว่าเป็นฝีมือของชายหนุ่มแต่นางก็ให้อภัย ชายหนุ่มรู้สึกผิดและสำนึกในสิ่งที่ตนกระทำ แต่ไม่นานนักเขาก็กระทำอีก คือ พยายามฆ่านาง จนนางตาย เมื่อนางนกขุนทองเล่าจบนางจึงบอกว่า ผู้ชายเป็นเพศที่ไม่ดี ฝ่ายนกแก้วจึงเล่าบ้าง นกแก้วเล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีรูปร่างใหญ่และอ้วน แต่นางมีบิดาที่ร่ำรวย ชายหนุ่มหลายคนต่างแวะเวียนมาหานาง ทำให้นางทะนงตนและเชื่อมั่นในตนเองมาก กระทั่งวันหนึ่งมีชายหนุ่มคนหนึ่งมาสู่ขอนาง ในตอนแรกนางไม่ตอบตกลง แต่ต่อมานางเปลี่ยนใจ เมื่อนางแต่งงานแล้ว นางยังมีความไม่รู้จักพอ วันหนึ่งนางเห็นชายคนหนึ่งนอนอยู่ นางรู้สึกพึงใจจึงได้ไปกอดจูบลูบคลำ แต่ชายคนนั้นเป็นศพ ผีเห็นสิ่งที่นางทำ รู้สึกสมเพช จึงเข้าสิงร่างชายที่เป็นศพและกัดจมูกนาง  เมื่อนางถูกกัดจมูกนางกลับไปฟ้องร้องและสร้างเรื่องว่าสามีตัดจมูกนาง ท้ายสุดมีการสืบสวนจนรู้ความจริงว่านางผิด
                    จากนั้นเวตาลจึงถามพระวิกรมาทิตย์ว่า “หญิงหรือชายชั่วกว่ากัน” พระวิกรมาทิตย์จึงตอบว่า “หญิงชั่วกว่า เพราะชายถึงจะชั่วอย่างไร ก็ยังมีความรู้ถูกรู้ผิดอยู่บ้าง แต่ฝ่ายหญิงไม่มีความคิดแบบนี้เลย” เมื่อเวตาลฟังพระวิกรมาทิตย์ตอบ มันจึงลอยกลับไปที่เดิม
                    นิทานเรื่องที่ 3 พระวิกรมาทิตย์ตามไปนำเวตาลลงมา เวตาลเริ่มเล่านิทานเรื่องที่ 3 เนื้อเรื่องกล่าวถึง       ทหารหนุ่มนายหนึ่งซึ่งจงรักภักดีต่อพระราชามาก แม้กระทั่งพระราชาเข้านอน เขาก็จะไปคอยเฝ้าที่หน้าเตียง คืนหนึ่งระหว่างที่เข้าเฝ้าพระราชาอยู่นั้น เขาได้พบนางฟ้า นางฟ้าได้บอกเขาว่าพระราชามีเคราะห์จะเสียชีวิต นางแนะนำให้เขาตัดหัวลูกชายเพื่อบูชาพระเทวี จะช่วยทำให้พระราชาพ้นเคราะห์ได้ เขาจึงพาลูกชาย ลูกสาว และภรรยา ไปยังศาลพระเทวี จากนั้นเขาได้ตัดหัวลูกชาย ฝ่ายลูกสาวเมื่อเห็นเช่นนั้น จึงฆ่าตัวตายตามพี่ชายที่เสียชีวิต ภรรยาเห็นลูกชายและลูกสาวเสียชีวิต จึงฆ่าตัวตายตามด้วย เมื่อทุกคนตายหมด เขาจึงฆ่าตัวตายตาม พระราชาซึ่งแอบตามมาและเห็นเหตุการณ์ต่างๆมาโดยตลอด รู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก จึงจะฆ่าตัวตายตาม แต่พระเทวีปรากฏกายมาห้ามไว้ และให้พร ขอสิ่งใดก็ได้ พระราชาจึงขอพรให้ทุกคนฟื้นขึ้นมา
                    จากนั้นเวตาลจึงถามว่า “ใครโง่ที่สุด” พระวิกรมาทิตย์โมโหและกล่าวว่า “ควรใช้คำถามว่าใครมีน้ำใจ นับถือที่สุด ซึ่งคนๆนั้นคือท้าวรูปเสน(พระราชา)เพราะยอมสละชีวิตตนทั้งที่ตนเองเป็นราชา แต่ยอมสละชีวิตตนเพื่อนายทหารซึ่งเป็นลูกน้อง เมื่อเวตาลฟังพระวิกรมาทิตย์ตอบ มันจึงลอยกลับไปที่เดิม
                    นิทานเรื่องที่ 4 พระวิกรมาทิตย์ตามไปนำเวตาลลงมา เวตาลเริ่มเล่านิทานเรื่องที่ 4 เนื้อเรื่องกล่าวถึง       พ่อค้าคนหนึ่ง มีลูกสาวที่งดงามมาก วันหนึ่งมีชายหนุ่ม๔คน มาสู่ขอนาง แต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน พ่อค้าตัดสินใจยกนางให้ชายหนุ่มคนที่๔ ซึ่งเป็นพ่อค้า เนื่องจากเป็นคนในวรรณะเดียวกัน ก่อนจะถึงวันแต่งงาน นางได้ไปเดินเล่นในสวน และเจอชายคนหนึ่ง ชายคนนี้หลงรักนางมาก จะฆ่าตัวตายหากนางไม่รับรัก นางจึงให้สัญญาว่าถ้าถึงวันแต่งงานนาง และชายผู้นี้ไม่ฆ่าตัวตาย นางจะไปหาก่อนที่จะกลับมาอยู่กินกับสามีนาง เมื่อถึงวันแต่งงานนางได้ทำตามสัญญาที่ให้ชายผู้นั้นไว้ โดยนางได้แจ้งกับสามี สามีเห็นแก่สัญญาของนาง จึงอนุญาตให้นางไป ระหว่างทางนางเจอโจร  โจรจะปล้นนาง แต่นางขอให้โจรรอก่อน เมื่อนางเดินทางกลับนางจะมอบทรัพย์สินทุกอย่างให้ โจรจึงปล่อยนางไป  ครั้นนางไปหาชายหนุ่มตามสัญญา ชายหนุ่มกลับรู้สึกเกรงกลัวหากทำร้ายนาง จึงปล่อยนางกลับ ระหว่างทางกลับนางได้นำทรัพย์สินของนางมามอบให้โจร แต่โจรกลับไม่ยอมรับ พร้อมชื่นชมในความสัตย์ของนาง เมื่อนางเดินทางกลับมาหาสามี สามีกลับปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตคู่กับนาง เนื่องจากนางไปหาชายอื่น
                    จากนั้นเวตาลจึงถามว่า “ชาย 3 คน ได้แก่ ชายหนุ่ม โจร และสามีนาง ใครมีธรรมดีกว่ากัน” พระวิกรมาทิตย์จึงตอบว่า “โจร เนื่องจากโดยปกติโจรไม่เกรงกลัวกฎหมายอยู่แล้ว แต่การที่โจรไม่รับของ  เนื่องจากโจรยอมรับในความสัตย์ของนาง ดังนั้นโจรจึงมีคุณธรรมมากกว่า” เมื่อเวตาลฟังพระวิกรมาทิตย์ตอบ มันจึงลอยกลับไปที่เดิม
                    นิทานเรื่องที่ 5 พระวิกรมาทิตย์ตามไปนำเวตาลลงมา เวตาลเริ่มเล่านิทานเรื่องที่ 5 เนื้อเรื่องกล่าวถึง       เมืองหนึ่งซึ่งมีโจรชุกชุมทั้งๆที่มีการจัดเวรยามควรตรวจตราในตอนกลางคืน พระราชาเกิดความสงสัย เมื่อตกกลางคืนจึงปลอมตัวเป็นโจร ปรากฏว่าพระราชาได้พบเจอโจรอีกหลายคน ซึ่งโจรคนหนึ่งถูกชะตากับพระราชาในคราบโจร จึงพาไปยังซ่องโจร ในซ่องโจรพระราชาเห็นข้าราชการหลายๆคนอยู่ในหมู่โจร จึงเข้าใจว่าเพราะเหตุใดเมืองจึงยังมีโจรชุกชุม เมื่อพระราชากลับไปที่เมือง จึงยกกองกำลังมาตีซ่องโจร และจับหัวหน้าโจรได้ พระราชาลงโทษหัวหน้าโจรโดยให้ตอกตะปูตรึงมือและเท้าไว้กับแผ่นกระดาน  จากนั้นแห่ประจาน ขณะนั้นลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่งเห็นหัวหน้าโจร ก็ตกหลุมรัก นางขอให้บิดาไปขอโจรจากพระราชา แต่ถูกบิดาปฏิเสธ เมื่อถึงวันประหาร หัวหน้าโจรรู้เรื่องที่ลูกสาวเศรษฐีตกหลุมรักตน จึงร้องไห้ออกมา แต่ครู่หนึ่งก็หัวเราะ จากนั้นหัวหน้าโจรก็ถูกประหาร ลูกสาวเศรษฐีเมื่อเห็นหัวหน้าโจรตายจึงฆ่าตัวตายตาม ฝ่ายบิดาของนางเมื่อเห็นลูกสาวตายจึงฆ่าตัวตายตามด้วย
                    บุตรของพระวิกรมาทิตย์สงสัยว่า นายโจรหัวเราะเพราะเหตุใด จึงถามบิดา พระวิกรมาทิตย์จึงตอบว่า “หัวเราะเยาะที่นางบ้าเหลือเกิน” เวตาลเมื่อได้ยินดังนั้น จึงอธิบายเพิ่มว่า “โจรร้องไห้เพราะไม่รู้         จะแทนคุณนางที่คิดจะช่วยชีวิตอย่างไร ขณะเดียวกันก็หัวเราะเยาะนาง กับการที่นางเลือกมารักโจรที่จะตายอยู่แล้ว” เมื่อเวตาลพูดจบ มันจึงลอยกลับไปที่เดิม
                    นิทานเรื่องที่ 6 พระวิกรมาทิตย์ตามไปนำเวตาลลงมา เวตาลเริ่มเล่านิทานเรื่องที่ 6 เนื้อเรื่องกล่าวถึง ครอบครัวของพราหมณ์ ซึ่งมีลูกสาวและลูกชาย เมื่อลูกสาวโตขึ้น ทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายต่างก็คิดจะหาคู่ให้        โดยทั้ง3คน ได้ออกปากยกนางให้ชายหนุ่ม3 คนพร้อมกัน โดยที่แต่ละคนในครอบครัวไม่รู้ว่าได้ยกให้ พร้อมกัน เมื่อถึงเวลาชายหนุ่ม3คน มาทวงสิทธิ์ ปรากฏว่าขณะนั้นหญิงสาวถูกงูกัดจนตาย ชาย3คนเศร้า       เสียใจมาก ชายคนที่1 จึงเก็บกระดูกของนางไว้ และประพฤติตนเป็นไวเศษิก ถือศีล ชายคนที่2เก็บเถ้าถ่านของนาง แล้วบำเพ็ญตนเป็นวารปรัสถฺ บูชาไฟ ขายคนที่3ไม่ได้เก็บสิ่งใด เขาบวชเป็นโยคี วันหนึ่งชายคนที่3 ได้พบครอบครัวซึ่งมีตำราชุบชีวิตคนได้ เขาจึงขโมยมา และรีบมาหาชายอีกสองคน เพื่อรวมเถ้าและกระดูกของนางเพื่อทำพิธีชุบชีวิต
                    จากนั้นเวตาลจึงถามว่า “ใครเหมาะสมเป็นสามีนาง” พระวิกรมาทิตย์จึงกล่าวว่า “ชายคนที่2 เหมาะสมเป็นสามีนางมากที่สุดเพราะเก็บเพียงเถ้าถ่าน ขณะที่ชายคนที่ 1 เก็บกระดูกเหมือนเป็นลูก ส่วนชายคนที่ 3 ให้ชีวิตเปรียบดังพ่อ” เมื่อเวตาลฟังพระวิกรมาทิตย์ตอบ มันจึงลอยกลับไปที่เดิม
                    นิทานเรื่องที่ 7 พระวิกรมาทิตย์ตามไปนำเวตาลลงมา เวตาลเริ่มเล่านิทานเรื่องที่ 7 เนื้อเรื่องกล่าวถึงพราหมณ์หนุ่มที่ตกหลุมรักพระธิดาเมืองหนึ่ง ขณะนั้นมีพราหมณ์สองคนผ่านมาคือ มูลเทวะ และศศี  พราหมณ์มูลเทวะเห็นใจพราหมณ์หนุ่ม เขาจึงมอบลูกอมให้ โดยเมื่ออมจะกลายเป็นผู้หญิงอายุ 12 ปี ทั้งนี้ห้ามกลืนไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ผล จากนั้นพราหมณ์มูลเทวะได้แปลงร่างเป็นพราหมณ์แก่ เขาได้พาพราหมณ์หนุ่มในร่างผู้หญิงไปฝากไว้กับพระราชา โดยบอกว่าคือภรรยาตน แต่ตนต้องไปทำธุระยังเมืองอื่น จึงขอฝากไว้ก่อน พระราชาให้พระธิดาคอยดูแล ซึ่งเข้าทางพราหมณ์หนุ่ม เมื่อตกกลางคืนเขาก็คายลูกอม กลายร่างเป็นชาย และอยู่กินกับนางโดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ จนกระทั่งพระธิดาตั้งท้อง ประกอบกับพราหมณ์หนุ่มเริ่มเบื่อที่ต้องทนอุดอู้ในห้อง เขาจึงขอให้นางพาไปข้างนอก บุตรชายโกษาธิบดีเห็นพราหมณ์หนุ่มในร่าง  หญิงสาวเกิดตกหลุมรัก จึงมาสู่ขอ พระราชายอมยกให้ ทำให้พราหมณ์หนุ่มต้องไปอยู่บ้านบุตรชายโกษาธิบดี แต่เขาก็ใช้อุบายขออยู่แยกห้องก่อน เมื่อตกกลางคืนเขาเผลอกลืนลูกอมลงคอ เนื่องจากภรรยาอีกคนหนึ่งของบุตรชายโกษาธิบดีมาเคาะห้อง เขาจึงต้องกระโจนหนี ขณะนั้นพราหมณ์ศศีเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงตำหนิสิ่งที่พราหมณ์มูลเทวะได้ทำ คือช่วยเหลือพราหมณ์หนุ่ม พราหมณ์ศศีจึงปลอมตัวเป็นพราหมณ์เฒ่าแทน และไปขอพราหมณ์หนุ่มหรือภรรยาสาวคืนจากพระราชา แต่ไม่มีใครหาภรรยาสาวเจอพระราชาจึงต้องจำยอมยกพระธิดาให้ ขณะเดียวกันพระธิดาก็รีบตอบตกลง เนื่องจากยิ่งนับวันท้องยิ่งใหญ่ขึ้นทุกวัน พราหมณ์หนุ่มเมื่อทราบข่าว จึงมาทวงพระธิดาคืน
                    จากนั้นเวตาลจึงถามว่า “ใครควรได้เป็นสามีนาง” พระวิกรมาทิตย์จึงตอบว่า “พราหมณ์ศศี เพราะไม่มีใครรู้ว่าพราหมณ์หนุ่มเป็นพ่อ แต่พราหมณ์ได้แต่งงานกับพระธิดา ทุกคนรู้เห็นเหตุการณ์หมด” เมื่อเวตาลฟังพระวิกรมาทิตย์ตอบ มันจึงลอยกลับไปที่เดิม
                    นิทานเรื่องที่ 8 พระวิกรมาทิตย์ตามไปนำเวตาลลงมา เวตาลเริ่มเล่านิทานเรื่องที่ 8 เนื้อเรื่องกล่าวถึง พระราชาองค์หนึ่งซึ่งลุ่มหลงในกิเลสตัณหา มัวเมาอยู่กับนางใน ทำให้ขุนนางผู้ซื่อสัตย์คนหนึ่งต้องทำงานแทน จนกระทั่งเขารับไม่ไหว เนื่องจากมีคนนินทาหาว่าเขากุมอำนาจ เขาจึงออกจากเมืองเพื่อเดินทางไปที่อื่น ระหว่างทางเขาพบนางฟ้าลอยขึ้นมาจากทะเล เมื่อเขาเดินทางกลับเมือง จึงเล่าให้พระราชาฟัง พระราชาเมื่อได้ยินเช่นนั้น จึงออกเดินทางไปเพื่อตามหานางฟ้า จนพบ พระราชาพานางกลับมายังเมือง ขุนนางผู้ซื่อสัตย์เห็นดังนั้นจึงเสียใจตรอมใจตาย
                    จากนั้นเวตาลจึงถามว่า “เพราะเหตุใดเขาจึงเสียใจจนตาย” พระวิกรมาทิตย์จึงตอบว่า “เพราะขนาดมนุษย์ พระราชายังลุ่มหลงไม่ทำงานใดๆ แล้วนี่เป็นถึงนางฟ้า พระราชาจะลุ่มหลงขนาดไหน ขุนนางผู้ซื่อสัตย์เหนื่อยมามากแล้ว หวังว่าพระราชาจะดีขึ้นแต่กลับเปล่าประโยชน์” เมื่อเวตาลฟังพระวิกรมาทิตย์ตอบ มันจึงลอยกลับไปที่เดิม
                    นิทานเรื่องที่ 9 พระวิกรมาทิตย์ตามไปนำเวตาลลงมา เวตาลเริ่มเล่านิทานเรื่องที่ 9 เนื้อเรื่องกล่าวถึงหญิงงามนางหนึ่ง นางเลือกแต่งงานกับชายคนหนึ่งในบรรดาชายสี่คนที่มาให้นางเลือก หลังจากแต่งงาน    สามีจึงพานางกลับบ้านเมืองของตน โดยมีเพื่อนของสามีไปด้วย ระหว่างทางเจอโจร นางแอบในโพรงไม้เมื่อโจรไปกันหมด นางออกจากโพรง นางเห็นศพสามีและเพื่อนสามีถูกหั่นกระจาย จึงรีบใช้มนตร์ที่สามีเคยสอนประกอบร่างทั้ง2คน แต่เนื่องจากตอนนั้นเป็นเวลากลางคืน นางมองเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง หัวของสามีนางจึงไปอยู่ที่ตัวของเพื่อนสามี และหัวของเพื่อนสามีก็มาอยู่ที่ตัวของสามีนาง
                    จากนั้นเวตาลจึงถามว่า “นางควรเป็นภริยาของใคร” พระวิกรมาทิตย์จึงตอบว่า “นางต้องอยู่กับกายของสามี เพราะกายคือที่อยู่ของวิญญาณ” เมื่อเวตาลฟังพระวิกรมาทิตย์ตอบ มันจึงลอยกลับไปที่เดิม
                    นิทานเรื่องที่ 10 พระวิกรมาทิตย์ตามไปนำเวตาลลงมา เวตาลเริ่มเล่านิทานเรื่องที่ 10 เนื้อเรื่องกล่าวถึง พระมเหสีและพระธิดาซึ่งหลบหนีโจรมาได้ และได้พบเจอกับพระราชาพร้อมบุตรชายของอีก   เมืองซึ่งมาเดินป่า บุตรชายได้บอกว่ารอยเท้าเล็กขอให้เป็นภรรยาตน ส่วนรอยเท้าใหญ่ให้บิดา ปรากฏว่าเมื่อเจอพระมเหสีและพระธิดา กลายเป็นว่ารอยเท้าเล็กคือของพระมเหสี รอยเท้าใหญ่คือพระธิดา ดังนั้นพระมเหสีจึงกลายเป็นภรรยาของบุตรพระราชา และพระธิดากลายเป็นมเหสีของพระราชา ต่อมาทั้งสองคู่ได้มีลูกอีกหลายคน
                    จากนั้นเวตาลจึงถามว่า “ลูกของพระธิดา และลูกของพระมเหสี จะนับญาติกันอย่างไร” แต่ปรากฏว่าพระวิกรมาทิตย์ไม่ยอมตอบ แม้เวตาลจะพยายามยั่วยุเพียงใดก็ตาม
                    เวตาลจึงเล่าความจริงที่เกิดขึ้นให้ฟัง และเตือนให้พระวิกรมาทิตย์ระวังโยคี  ครั้นพระวิกรมาทิตย์นำเวตาลไปมอบให้โยคี โยคีจึงพาพระราชาและราชบุตรไปยังเทวรูป เพื่อจะฆ่า แต่พระวิกรมาทิตย์ซ้อนแผนฆ่าโยคีแทน ทันใดนั้นพระอินทร์ก็ลงมาประทานพร พระวิกรมาทิตย์และบุตรจึงกลับเข้าวังและปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นสุขสืบไป

                   3.2.1 ตัวละคร
                             เรื่องนิทานเวตาลนั้น ปรากฏตัวละครหลายประเภท ทั้งที่เป็นคน ซึ่งเป็นคนจริงที่ปรากฏในเรื่อง เช่น พระวิกรมาทิตย์ นางปัทมาวดี พุทธิศริระ เป็นต้น ตัวละครที่เป็นอมนุษย์ ได้แก่ อสูร ปีศาจ เวตาล ตัวละครที่เป็นเทวดา เช่น พระเทวี พระอินทร์ ตัวละครที่เป็นสัตว์เช่น นกแก้ว นกขุนทอง
                             เรื่องนิทานเวตาลนั้น ผู้เขียนได้สร้างตัวละครให้เหมือนคนจริง เช่น พระวิกรมาทิตย์ ที่ถึงแม้จะมีความเพียรพยายาม แต่อารมณ์และความรู้สึกก็ยังไม่คงที่ ในบางช่วงยังปรากฏให้เห็นว่าทนความลำบากไม่ได้มากนัก นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้สร้างตัวละครแบบเหนือจริง เช่น โยคี ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆที่มากเกินปกติ เวตาล ซึ่งเป็นซากศพแต่สามารถพูดคุย เล่านิทานได้ ลอยได้ หรือแม้กระทั่งตัวละครที่อยู่ในนิทาน เช่น นกจุรามัน (นกแก้ว) นกโสพิกา(นกขุนทอง) ซึ่งนกทั้งสองตัวนี้สามารถพูดได้
                             วิธีการสร้างตัวละครนั้น ผู้เขียนใช้วิธีที่หลากหลายทั้งใช้พฤติกรรมของตัวละครเอง และใช้ปฏิกิริยาและคำพูดของตัวละครอื่นสร้างตัวละคร

                   3.2.2 ฉาก สถานที่
                             สถานที่ต่างๆที่ผู้เขียนเอ่ยถึงนั้น เป็นฉากที่เสมือนสถานที่จริง เช่น แม่น้ำยมุนา เมืองโภคนี เป็นต้น โดยผู้เขียนใช้คำบอกเวลาชัดเจน ดังตัวอย่าง
                             ในเมืองโภควดี  มีพระราชกุมารองค์หนึ่ง  ซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวได้ว่าทรงเกียรติคุณ  แลทรงศักดิ์ประดุจดังพระราชบุตรแห่งพระองค์  ซึ่งตามเสด็จอยู่    บัดนี้
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 63)

                   3.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             เรื่องราวในเวตาลนั้น ผู้เขียนลำดับเหตุการณ์ต่างๆไว้ โดยผู้เขียนเปิดเรื่องด้วย การเกริ่นนำถึงตัวละครหลักคือพระวิกรมาทิตย์  ส่วนการดำเนินเรื่อง ผู้เขียนใช้การดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา มีการย้อนกลับไปสิ่งที่ผ่านมาบ้างในบางครั้ง ในเรื่องนี้จะปรากฏบทสนทนาทั้งที่มีเครื่องหมายคำพูด และไม่มีเครื่องหมายคำพูด จากนั้นการปิดเรื่อง ผู้เขียนปิดเรื่องด้วยความสุข โดยที่พระวิกรมาทิตย์สังหารโยคีได้ และกลับวัง ปกครองวังอย่างมีความสุขสืบไป

          3.3 แนวคิด
                    จากเนื้อเรื่อง ผู้อ่านจะได้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับความเพียรพยายามของมนุษย์ กิเลสของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ส่วนแนวคิดย่อย มีหลายแนว เช่น ความซื่อสัตย์ ความอดทน ความมีสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด เป็นต้น




          3.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   3.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             วรรณคดีเรื่องนี้เป็นวรรณคดีรูปแบบนิทาน ที่แฝงคำสอนที่หลากหลาย ทั้งความเพียรพยายาม ความซื่อสัตย์ ความอดทน โดยทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจะสำเร็จได้หากมีทั้งสามสิ่งนี้ นอกจากนี้การมีกิเลสของมนุษย์ก็จะเป็นสิ่งที่นำพาความล้มเหลวมาให้ ดังนั้นเมื่อผู้อ่านได้อ่านนิทานเวตาลนั้น จะได้ข้อคิดต่างๆที่สอดแทรกอยู่มากมาย

                   3.4.2 คุณค่าทางปัญญา
                             วรรณคดีเรื่องนี้ ผู้เขียนใช้กลวิธีการเขียนที่ยอดเยี่ยม ทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วคิดตามไปตลอดเรื่องว่าปริศนาของเรื่องนี้คืออะไร และจะแก้ปริศนานั้นอย่างไร ดังนั้นการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้จะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และคิดแก้ปัญหาให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

                   3.4.3 คุณค่าทางอารมณ์
                             เรื่องนิทานเวตาลนี้ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลายของ ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์ประชดประชัน เป็นต้น
                             3.4.3.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       พระราชาตรัสตอบว่า  “ข้าเป็นพระราชาครององคราษฎร์  ทรงนามยศเกตุ ข้าได้ยินจากเพื่อนผู้เป็นที่เชื่อถือว่า  ถ้าใครเดินทางไปมาในทะเลนี้  ก็อาจได้เห็นนางผุดขึ้นจากทะเลบนต้นกัลปฤกษ์  ข้าจึงแต่งปลอมกายเช่นนี้  สละราชสมบัติเพื่อจะได้เห็นนาง  แลได้ตามนางลงมาทะเล  ขอนางจงบอกข้าว่านางเป็นอะไร  
                                       นางทูลตอบด้วยความรู้สึกอาย  รู้สึกรัก  แลรู้สึกยินดีว่า  “มีพระราชามีวาสนาองค์หนึ่งเป็นใหญ่ในหมู่วิทยาธร  ข้าพเจ้าเป็นธิดาของพระราชาองค์นั้น  พระบิดาของข้าพเจ้าเสด็จไปเสียจากกรุงนี้พร้อมด้วยวิทยาธรทั้งหลาย  ทิ้งข้าพเจ้าไว้ผู้เดียว  ด้วยเหตุไร  ข้าพเจ้าหาทราบไม่  ข้าพเจ้าอยู่ผู้เดียวก็มีความง่วงเหงา  จึงผุดขึ้นในทะเลแลนั่งร้องเพลงเล่นบนต้นกัลปพฤกษ์”  พระราชาได้ทรงฟังเพลิดเพลินสำเนียงนางทั้งรุมรึงรักรูปแลกิริยาทุกประการ  จึงตรัสเชิญนางให้ยินยอมวิวาหะกับพระองค์  นางก็ตอบตกลงตามพระประสงค์                                                                    (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 225)



                             3.4.3.1 ตัวอย่าง อารมณ์ประชดประชัน เช่น
                                       เวตาลเริ่มด้วยสำเนียงโอนอ่อนว่า  ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐพระองค์ทรงปัญญายิ่งล้นหาผู้เสมอมิได้ในสามภพก็จริง  แต่หมาซึ่งเป็นสัตว์สี่เท้ายังรู้พลาด  แลล้มในเวลาเหยียบที่ลื่นฉันใด  ผู้เป็นปราชญ์แม้ปัญญาจะทึบเพียงไร
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 135)

                                       เวตาลตอบว่า ความโง่ของข้าพเจ้าทะลุแล้ว  แต่ของพระองค์นั้นยัง  จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้กลับไปแขวนตัวอยู่ยังต้นอโศกในบัดนี้
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 177)

                   3.4.4 คุณค่าทางจินตนาการ
                             วรรณคดีเรื่องนี้เป็นนิทานซ้อนนิทาน ซึ่งผู้เขียนใช้จินตนาการในการร้อยเรียงเรื่องราวของนิทานแต่ละเรื่องได้อย่างดี มีการสร้างตัวละครที่เปลี่ยนแปลงสภาวะได้ คือ มนัสวี ชายหนุ่มจากนิทานเรื่องที่7  ซึ่งเมื่ออมยาอมแล้วเปลี่ยนร่างกลายเป็นหญิงอายุ 12 ปี ดังตัวอย่าง
                             3.4.4 ตัวอย่าง การเปลี่ยนร่าง เช่น
                                       พราหมณ์มูลเทวะรับสัญญาจะจัดการให้สมหมาย  แล้วพามนัสวีกลับไปบ้านของมูลเทวะ  เมื่อไปถึงบ้านแล้วก็รับรองเป็นอันดี  เชิญให้นั่งในที่อันสมควรแล้ว  มูลเทวะก็ไปหยิบลูกอมมา  2  ลูก  แล้วอธิบายที่ใช้แห่งลูกอมนั้นให้มนัสวีฟังว่า
                                       ในเรือนของเรานี้  มีวิชาลับซึ่งได้ส่งต่อเป็นมรดกกันมาหลายชั่วคน  แลข้าใช้วิชานี้กระทำประโยชน์ให้เกิดแก่มนุษย์  แต่การใช้ความรู้ของข้านี้จะสำเร็จประโยชน์ได้  ก็ต่อเมื่อผู้ซึ่งมาขอให้ช่วยนั้นมีใจบริสุทธิ์  แลตั้งใจจริงที่จะรับประโยชน์จากลูกอมนี้  ถ้าเจ้าอมเข้าในปาก  เจ้าจะกลายเป็นหญิงอายุ  12  ปี  ถ้าเอาออกจากปากจึงจะคืนรูปเดิม  ถ้าข้าให้ลูกอมนี้แก่เจ้า  เจ้าต้องตั้งใจแน่นอนว่าจะเอาไปใช้แต่ทางที่ดี  มิฉะนั้น  จะเกิดเหตุเป็นทุกข์แก่เจ้าอย่างใหญ่  เหตุฉะนั้นเจ้าจงตรึงตรองในใจให้ดีเสียก่อน  จึงรับลูกอมนี้ไปใช้  ถ้าไม่แน่ใจก็อย่ารับไปเลย
                                       (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2554, น. 185)

                             นอกจากนี้ผู้เขียนยังใช้จินตนาการในการสร้างปริศนาของนิทานให้ผู้อ่านได้คิดตาม ดังนั้นวรรณคดีเรื่องนี้จึงเปี่ยมไปด้วยจินตนาการของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมจินตนาการของผู้อ่านได้อีกด้วย


                   3.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             3.4.5.1 น้ำเสียง
                             ในเรื่องนี้ ผู้เขียนใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย ดังนี้
                                      3.4.5.1.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงเหน็บแนม เช่น
                                                การที่นักปราชญ์คิดทำให้นกรู้ประสาเช่นนี้ก็มีคุณดีบ้าง แต่มีคุณชั่วมากเหมือนความคิดนักปราชญ์ทั้งปวง คือเมื่อนกมีความคิดแลพูดได้แล้วก็คิดอย่างฉลาดแลพูดอย่างดี คำที่กล่าวล้วนเป็นคำสัตย์ ครั้นมนุษย์พูดเหลวไหลปราศจากสัตย์ นกก็พูดติเตียน จนมนุษย์เบื่อความสัตย์เข้าเต็มที่ก็ทิ้งวิชาทำให้นกพูดได้นั้นเสีย ความรู้จึงเสื่อมด้วยประการเช่นนี้ ในปัตยุบันถ้านกแก้วแลนกขุนทองยังพูดได้ก็พูดเหลวๆเพราะความจำอย่างเดียว ไม่ใช่พูดด้วยรู้คิดอย่างแต่ก่อน มนุษย์ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยความสัตย์แห่งนกอีกต่อไป
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 102)

                                      3.4.5.1.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงสั่งสอน เช่น
                                                ก็บิดามารดาซึ่งมีปัญญานั้นควรทำอย่างไรเล่า จึงจะหลีกทางทั้งสองนี้ได้ ธรรมดาบิดามารดาผู้มีปัญญาย่อมเอาใจใส่สังเกตนิสัยบุตรของตน แลดำเนินการระมดระวังตามนิสัยซึ่งมีในตัวบุตร ถ้าลูกสาวมีนิสัยดีอยู่ในตัว บิดามารดาที่ฉลาดก็คงจะวางใจปล่อยให้ดำเนินความประพฤติตามใจในเขตอันควร ถ้าบุตรสาวมีนิสัยกล้าแข็ง บิดามารดาก็คงจะแสดงกิริยาประหนึ่งว่าไว้วางใจในบุตร แต่คงจะลอบระมัดระวังอยู่เสมอ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2515, น. 133)

4. เรื่อง สามกรุง
          สามกรุง วรรณคดีที่สะท้อนสภาพสังคม การเมือง การปกครอง ในแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี ด้วยการร้อยเรียงภาษา สำนวน โวหาร ในแบบที่เรียกว่า “สำนวน น.ม.ส.” ซึ่งมีวิธีการใช้ภาษาที่สละสลวย นำเสนอความคิดอย่างแยบคาย หากผู้อ่านอ่านโดยที่ไม่คิดตาม อาจจะไม่เข้าใจเนื้อหาที่ปรากฏ  น.ม.ส. หรือ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กวีผู้ประพันธ์เรื่องนี้ได้นำเสนอมิติที่หลากหลายของประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

          4.1รูปแบบคำประพันธ์
                    วรรณคดีเรื่องสามกรุง จัดอยู่ในประเภทของกวีนิพนธ์ โดยมีรูปแบบที่หลากหลาย
ทั้งการบันทึกประวัติศาสตร์ ยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ บันทึกการเมืองการปกครองและวิจารณ์
การเมืองในสมัยนั้น จึงเรียกได้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้มีความครบเครื่องเป็นอย่างยิ่ง
          การนำเสนอผลงานซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของกวีแต่ละคน ในเรื่องสามกรุงนี้ แตกต่างจากวรรณคดีเรื่องอื่น ตรงที่ มีการนำเสนอผลงานด้วยร้อยกรองในช่วงต้น และนำเสนอผลงานด้วยร้อยแก้วในภาคผนวก
                   การนำเสนอผลงานด้วยร้อยกรอง กวีใช้ร้อยกรองหลายประเภท ทั้งร่าย โคลง ฉันท์ โดยกวีนำเสนอด้วยหลายวิธี ทั้งการบรรยายหรือพรรณนาอย่างเดียว บรรยายหรือพรรณนาสลับกับบทสนทนาโดยไม่มีเครื่องหมายคำพูด แต่มีคำขึ้นต้นไว้ด้านหน้าบทว่าเป็นคำของใคร เป็นต้น ดังตัวอย่าง
                             ปิ่นณรงค์ทรงขับช้าง                ทอดพระเนตรเวียงร้าง
                   อีกทั้งวังโรยฯ
                             ทรากตึกนึกน่าแค้น                 อิฐห์หักกากปูนแม้น
                   ป่าช้าแห่งความ งามแฮฯ
                             ปราสาทเคยผงาดฟ้า                ยอดเยี่ยมเอี่ยมโอ่อ้า
                   ฟุบเฟี้ยมเทียมธุลีฯ
                             พระสถูปพุทธรูปล้วน                หล่นสลายปลายด้วน
                   แม่นแม้นมารทำฯ
                                                (พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2518, น.89)     
                   การนำเสนอผลงานด้วยร้อยแก้ว ซึ่งเป็นภาคผนวกซึ่งอธิบายเนื้อเรื่อง อธิบายคำ หรือความที่ปรากฏในเรื่อง ซึ่งกวีได้นำข้อมูลจากแหล่งต่างๆมาประกอบด้วย เช่น พงศาวดาร         เกร็ดความรู้ต่างๆ  หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ เป็นต้น

                             น่า ๒๕๕ “เราไทยในแหล่งนี้                 ลำเนา รัฐนา
                                      อ่อนหัดปรัชญาเยาว์                แยบย้อม”
                             ศัพท์ว่า ปรัชญา ที่ใช้ในสามกรุงนี้เป็นคำสำสกฤต แปลว่าปัญญาเท่านั้นเอง จะได้แลหย่อนกว่านั้นไปหามิได้ ในสามสี่ปีที่แล้วมานี้ ภาษาไทยทางราชการบัญญัติให้ปรัชญาแปลว่า philosophy แต่การบังคับให้คำสำสกฤตมีความหมายผิดไป หรือแคบเข้า หรือกว้างออกไปกว่าที่วรรณคดีไทยเคยใช้แลเคยเข้าใจกันมา หากจะไม่เป็นการลำบากแก่กวีผู้ไม่ฟังบังคับ ก็ลำบากแก่ผู้อ่านที่ต้องการจะทราบความหมายของกวี.
                                      (พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2518, น.437)   


          4.1.1 ภาษา
                   ภาษาหรือสำนวน น.ม.ส. เรียกได้ว่าเป็นภาษาที่สละลวย และมีความแยบคายในการสร้างสรรค์ภาษา แต่ทั้งนี้ในเรื่องสามกรุงก็มีการใช้ภาษามาตรฐาน ผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจได้โดยง่าย มีคำราชาศัพท์ปรากฏอยู่บ้าง แต่ในตอนท้ายกวีก็ได้มีการให้คำอธิบายในคำยาก จึงช่วยให้ผู้อ่านสามารถอ่านและเข้าใจได้โดยตลอด ตรงตามวัตถุประสงค์ของกวี
                   บุบผชาติช่างฉลาดแสร้ง            แปรงผจง กมังแม่
          สั่งเก็บประทานนงราม                        เพื่อนไท้
          แดงเอื้องม่วงเหลืองมง                        คลเนตร
          จิตจ่อช่อกล้วยไม้                              จ่ออนงค์ฯ
                                       (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 41)

          จากบทนี้ กวีได้อธิบายคำว่า “แปรง” ไว้ในภาคผนวก ดังนี้

                   ที่เขียนว่าแปรงข้างบนนี้คือแปรงระบายสี ไม่ใช่แปลง ขอบอกไว้เพราะเกรงจะมีผู้         “ช่วย” แก้ใน ภายน่า.
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 350)

          โดยในเรื่องสามกรุง ยังปรากฏการใช้คำภาษาต่างประเทศ ทั้งการเลียนเสียง และสร้างคำใหม่แทนคำภาษาต่างประเทศนั้น
                   4.1.1.1 ตัวอย่าง การเลียนเสียงคำภาษาต่างประเทศ เช่น
                             อันองค์ปฐมราชเจ้า                  จักรี
                   พระชตาบารมี                                เลมียดห้อม
                   คือ แมน ออฟ เด็สทินี                        แท้แน่
                   เด่นระดับมหัปผลพร้อม                       เพริศแพร้วแนวเจริญฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 228)

                             เอกาธิปัตย์เที้ยร                     ทางฉิบ หายฮา
                   คือดิกเตเตอร์ชิป                               เชิดชั้น
                   เสรีที่ยกหยิบ                                  มากล่าว
                   เป็นแต่เพียงหมอกกั้น                         ไม่ให้ใครเห็นฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 257)

                             สามสิบปีข้างน่า                     นึกเห็น
                   โอกาสปาลิเม็นต์                              เหมาะใกล้
                   ฉัฎฐราชย์อาจจักเป็น                         ปฐมฤกษ์
                   เริ่มรัฐธรรมนูญไร้                             โรคร้ายภายหลังฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 258)

                   4.1.1.2 ตัวอย่าง การสร้างคำใหม่แทนคำภาษาต่างประเทศ เช่น
                             เราไทยในแหล่งนี้                    ลำเนา รัฐนา
                   อ่อนหัดปรัชญาเยาว์                          แยบย้อม
                   การเมืองเครื่องมึนเมา                         มีมาก
                   แม้ว่ายังไม่พร้อม                              เพลี่ยงพล้ำทำเสียฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 255)
                   จากบทนี้กวีได้อธิบายคำว่า ปรัชญา ไว้ในภาคผนวกว่า คำว่า “ปรัชญา” เป็นคำสันสกฤต แปลว่าปัญญา โดยทางราชการบัญญัติให้คำว่าปรัชญา มีความหมายเดียวกับคำว่า philosophy
                             ตาเต็งเล็กน้ำหนัก                   ไหนขาด อยู่นา
                   เพียรเพิ่ม ดุลย์อำนาจ                         เนิ่นไว้
                   ขวักไขว่ใฝ่หาชาติ                             ร่วมชื่อ
                   เป็นฝักเป็นฝ่ายให้                             อุ่นน้ำใจนอนฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 266)
                   จากบทนี้ปรากฏคำว่า “ดุลย์อำนาจ”  ซึ่งกวีได้อธิบายไว้ในภาคผนวกว่า ดุลย์อำนาจคือ Balance of Power ซึ่งหมายถึงการถ่วงกำลังกัน ระหว่างแต่ละฝ่าย

                   4.1.2 โวหาร
                             ในเรื่องสามกรุง กวีได้ใช้โวหารหลากหลาย ซึ่งสร้างอรรถรสให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี โวหารที่พบได้แก่ นามนัย อุปนัย สมนัย ปฏิปุจฉา อติพจน์ ปฏิวาทะ อุทาหรณ์ ปฏิรูปพจน์ เป็นต้น
                             4.1.2.1 ตัวอย่าง นามนัย เช่น
                                       ราษฎรข่อนแค้นขาด      อาหาร
                             โหยเหี่ยวเที่ยวขอทาน               ทุกข์กล้ำ
                             โซเซดุจเวตาล                       ตฤบเลือด
                             ภัยรบภัยโรคซ้ำ                     แสบไส้ภัยหิวฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 88)

                             4.1.2.2 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                       วังเวียงเพียงป่าหญ้า       เยิงยล
                             แทบบ่มีที่พล                         พักได้
                             ควบคุมประชุมคน                   คับแคบ
                             เมื่อศัตรูสู่ใกล้                        เศิกกล้ามากวนฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 89)

                                       ฉาวๆป่าวประโยชน์โฆษณา         จูงใจไพร่ฟ้าประชากร
                             อ้างเหตุบ้านเมืองเคืองเข็ญ          เป็นทางวาจาอุทาหรณ์
                             พูดอะไรพูดได้ ไม่อาวรณ์                     ราษฎรโง่เง่าเหมือนเต่าปลา
                             ห่มจีวรสบงเหมือนทรงศีล                     แต่ป่ายปีนไปปราศสาสนา
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 104)

                                      เดชาภินิหาร ดังองค์อวตาร ไม่มีทัดทาน แก่งแย่งแคลงใจ เหล่าข้าราชการ สำราญหฤทัย ฝ่ายน่าฝ่ายใน นบน้อมพร้อมกันฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 161)

                             4.1.2.3 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
                                       เจ็บหนักจักหน่วงน้ำ                เนตรไฉน ได้นอ
                             ภัยพาธยิ่งพยาธิ์ใน                            น่าไข้
                             สังเวชประเทศไทย                            เทียมทาส
                             ข่ายเขทเหตุให้ไห้                             เหือดแห้งแรงโรยฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 89)

                                       อาวุธดุจเทพเอื้อ                     อวยสมัย โน้นนา
                             คือพระขรรค์ชัยศรี                            ศักดิ์กล้า
                             ขอมราชบุราณใน                             กาลอดีต
                             ปทุมสุริยวงษ์ทรงหล้า                         แหล่งไท้เทียมสรวงฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 179)

                             4.1.2.4 ตัวอย่าง ปฏิปุจฉา เช่น
                                       ทำมาก็มากแม้น                     มโนหวัง
                             ท้อหทัยไยยัง                                  อยู่น้อย
                             รบสู้ริปูพัง                                     แพ้เพิด แล้วแฮ
                              ทุกข์ระทมปมด้อย                            ปุ่มด้วนควรไฉน
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 92)

                                       งวยงงทรงหยุดยั้ง                    ยืนยล
                             พิศยิ่งพิศวงจง                                 จิตไท้
                             เวียงล่มถล่มทน                               ทุกข์ทับ
                             ไฉนจึ่งดีฉนี้ได้                                 เนื่องด้วยอันใดฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 93)

                             4.1.2.5 ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
                                       เมื่อจอมกัมพุชผู้                     ภักดี
                             ถวายพระขรรค์ชัยศรี                         แด่ไท้
                             ฟ้าลั่นสั่นปัฐพี                                 ในฤกษ์ นั้นนอ
                             แสดงพระเดชท่านให้                         ทราบถ้วนทวยชนฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 179)

                             4.1.2.6 ตัวอย่าง ปฏิวาทะ เช่น
                                       ครานั้นเถนะเจ้าพระฝาง ทราบทางทัพธนเกลื่อนกล่นหลาย
                             กำลังหลั่งหลากดูมากมาย           ยืดยาวข่าวร้ายตายหละตู
                             ทำมาก็มากถึงเพียงนี้                ร้ายดีทำนองจะต้องสู้
                             วาศนามากน้อยก็คอยดู             หดหู่ไม่ได้ในครั้งนี้ฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 107)


                             4.1.2.7 ตัวอย่าง อุทาหรณ์ เช่น
                                       ฝ่ายเราเนานิ่งได้                     ฉันใด
                             กัมพุชดุจอามัย                                หมกด้าว
                             พิษแพร่จะแผ่ภัย                              สู่เพื่อน เมืองนอ
                             ทามริกพลิกรัฐร้าว                            เรื่องร้ายหลายเหลือฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 139)

                                       ฉันใดอยุธเยศล้ม                     ลงสลาย
                             ยศยุบหุบโอษฐ์อาย                           อกเศร้า
                             หลายแฉกแยกกันกจาย                      กเจิงถิ่น
                             ต่างก๊กยกเป็นเจ้า                             จัดตั้งยังตนฯ
                                       ฉันนั้นธนบุเรศสิ้น                   รัศมี
                             ไทยจะเกิดกาลกลี                             รุ่มเร้า
                             ภายในไม่สามคี                                ครัดเคร่ง
                             โอกาสชาติอื่นเข้า                                       ขี่ข้ามตามเคยฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 156)

                             4.1.2.8 ตัวอย่าง ปฏิรูปพจน์ เช่น
                                       อุมมัตต์กษัตร์ด้าว          ใดมี
                             ภาษิตสองพันปี                                กล่าวไว้
                             อาณาประชาชี                                ชอมเทวศ
                             แดเหือดเดือดให้ได้                            ทุกข์ร้อนลาญรทมฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 142)
                             จากบทกวีข้างต้น กวีได้เขียนอธิบายไว้ในภาคผนวกว่าได้นำมาจากภาษิตภาษาละติน ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Kings go mad, the Greeks suffer. แปลว่า ประเทศใดเจ้า แผ่นดินเป็นบ้า ราษฎรก็ได้ทุกข์

                                       สงครามเป็นเครื่องค้า                ของกษัตร์
                             เหตุว่าขัติโยปบัติ                              บ่มไว้
                             ใฝ่ศึกฝึกหัดจัด                                เจนจบ
                             แรงมากมักอยากได้                           ช่องแว้งแรงลองฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 268)
                             จากบทกวีข้างต้น กวีได้เขียนอธิบายไว้ในภาคผนวกว่าได้นำมาจากไดรเด็นจินตกวีอังกฤษ (poet Laureate) ซึ่งเขียนไว้ประมาณ 250ปี แล้วว่า “War is the trade Kings.”

          4.2 เนื้อหา
                    เนื้อหาในเรื่องสามกรุง แบ่งออกเป็น 3 ภาค คือสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยกรุงศรีอยุธยา กวีได้นำเสนอเรื่องราวช่วงท้ายของสมัยอยุธยา ซึ่งกำลังจะเสียกรุง ต่อเนื่องไปถึงการสร้างกรุงธนบุรีของพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นภาคที่2 ในภาคนี้ กวีนำเสนอเรื่องราวตั้งแต่พระเจ้าตากสินรวบรวมไพร่พลตีเมืองจันทบุรีได้ กอบกู้ราชธานี สร้างกรุงธนบุรี การปราบปรามกบฏต่างๆ  ไปจนถึงการล่มสลายของกรุงธนบุรี ภาคที่3 คือกรุงรัตนโกสินทร์ กวีได้นำเสนอเรื่องราวตั้งแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ การสถาปนาราชวงศ์จักรี การรบกับเวียงจันทร์ สงคราม9 ทัพ  จากนั้นเป็นเรื่องราวของแต่ละสมัยว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้าง ตั้งแต่สมัย ร.1-ร.7

                   4.2.1 ตัวละคร
                             เรื่องสามกรุง ปรากฏทั้งคนจริงและคนสมมติ คนจริงที่ปรากฏในเรื่อง เช่น พระเจ้าเอกทัศ พระเอกาทศรถ พระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นต้น คนสมมติ เช่น ศรีสนม ซินแสหมอดู เป็นต้น นอกจากคนที่ปรากฏในเรื่องแล้วนั้น ยังมีตัวละครที่เป็นสัตว์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจินตนาการที่กวีได้สร้างสัตว์สมมติขึ้น เช่น ตะบองพลำ นกยางรับเบอร์  เป็นต้นกลวิธีต่อมา คือกลวิธีการสร้างตัวละคร ซึ่งกวีใช้ทั้งการบรรยายของกวีเพื่อให้เห็นลักษณะของตัวละคร และใช้พฤติกรรมของตัวละครอธิบายพฤติกรรมของตนเอง

                   4.2.2 ฉาก สถานที่
                             ฉาก เวลา และสถานที่ ที่ปรากฏในเรื่องสามกรุง เป็นอีกส่วนสำคัญที่กวีได้สร้างฉากให้มีความน่าสนใจ โดยอาศัยจินตนาการของกวี สร้างฉากแบบมัณฑนศิลป์ คือตกแต่งให้มีความสวยงาม โดยจะเห็นได้จากฉากชมปลา ซึ่งกวีได้บอกไว้ชัดเจนว่าได้นำชื่อปลาพันธ์ต่างๆมาจากตำรา ซึ่งเป็นนัยยะของการตกแต่งให้ท้องน้ำหรือเรื่องราวมีความสวยงามและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่าง
                             ซิกซี้พระศรีสนาม                   รื่นอารมณ์ชมนที
                    นานามัตสยามี                                ที่บ่งไว้ในตำราฯ
                             ปลาใหญ่ในหนังสือ                  ท่านเรียกชื่อ ปลาโลมา
                    เมียผัวสองตัวปลา                             หนุนธรณีที่อาไศรยฯ
                             โลมาปลามีโลม                      ฤๅรูปโฉมเป็นฉันใด
                    สืบความถามใครใคร                          ก็ไม่รู้มันอยู่ลึกฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 31)
                             ในขณะที่สถานที่ ที่ปรากฏในเรื่องสามกรุง เป็นสถานที่จริง เช่น ค่ายโพธิ์สามต้น เมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ เป็นต้น

                             นอกจากนี้กวียังใช้คำบอกเวลาที่ชัดเจน จะเห็นได้จากเมื่อขึ้นฉากใหม่ หลายๆฉาก กวีจะใช้ช่วงเวลาบอกอย่างชัดเจน
                                         ภาค ๑
                                     กรุงศรีอยุธยา
                                  (สมัยอยุธยาวสาน)
                                       . . .
                             ปีกุญนพศก พ.ศ.๒๓๑๐
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 2)

                             ปีจออัฐศก พ.ศ.๒๓๐๙
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 7)

                             เก้าปีเอกทัศได้                       ครองดิน
                   สมเด็จสุริยามรินทร์                           ฤกษร้าย
                   เสียฉัตรปิ่นปัฐพินทร์                          เสียชีพ
                   ขาดปุดดุจดังด้าย                             ดึ่งด้นหนสลายฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 48)

                             ปีหนูสู่ปีขาล ว่างราชการศึกพม่า กว่ายุทธ์ม่านจักมี เจ้าพระยาสุรสีห์พิศณ                วาธิราช           ทรงอำนาจปราศเปลือง ครองเมืองพิศณุโลก โชคกำลังมลังเมลือง...
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 110)

                             ปีมะเส็งอ่อนเพลีย ปีมะเมียกลับคึก เตรียมการศึกแบบใหม่ ใฝ่หาเลศ                      รำบาญ คิดทำการแรมปี ตีกรุงเทพให้ได้...
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 220) 
                             มาฆมาส ๑๔ ค่ำขึ้น                 ครุวาร
                   สองราชยาตร์ยุทธการ                        กลั่นกล้า
                   โยธีวิถีธาร                                     ทางมุ่ง
                   เพ่งภักตร์ผลักพม่าข้า                         ศึกให้ไกลสยามฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 223)

                    4.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             การลำดับเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องนั้น ตั้งแต่การเปิดเรื่อง ดำเนินเรื่อง ไปสู่การปิดเรื่อง กวีใช้กลวิธีที่หลากหลาย สร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องราว
                             การเปิดเรื่อง กวีเปิดเรื่องด้วยคำปรารภ คล้ายคำนำของกวี โดยบรรยายถึงการประพันธ์เรื่องนี้ กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และทิ้งท้ายด้วยการอธิบายความว่ามีการนำเรื่องราวบางส่วนมาจากพงศาวดาร
                             การดำเนินเรื่อง กวีลำดับเหตุการณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นตามแต่ละสมัย คือ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเรื่องราวดำเนินไปตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ในบางตอนกวีใช้การท้าวความหรือเล่าเรื่องย้อนหลัง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์นั้น การปิดเรื่อง  กวีปิดเรื่องด้วยการที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ในขณะที่ประเทศไทยนั้น   จะต้องทำเช่นใด                ยังไม่มีคำตอบ ดังตัวอย่าง
                             ใคร่ครวญส่วนปัจจุบัน อันบุคคลควรคะนึง ต่อไปถึงภายน่า ว่าที่สุดยุทธ                   แม้ ญี่ปุ่นแพ้สงคราม สยามจะผันฉันใด ใครสามารถก่อกู้  ใครรู้ลู่ทางบ้าง  ไทยจะ            เท้งเคว้งคว้าง ไขว่คว้าหาหน ไหนเอยฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 274)
                             และท้ายที่สุดของเรื่องสามกรุง กวีได้ทิ้งท้ายซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของกวีที่ประพันธ์เรื่องสามกรุงไว้
                             พิทยาลงกรณแกล้ง                  เกลาความ
                   สามท่อนกลอนสามกรุง                       กล่าวเกื้อ
                   ลูกหลานอ่านเล่นตาม                         ใจรัก เถิดรา
                   สังเขปเลปนเนื้อ                               เรื่องรู้ตูแถลงฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 275)
         


          4.3 แนวคิด
                    วรรณคดีเรื่องนี้เป็นวรรณคดีที่เห็นทรรศนะของกวีได้มากที่สุด ซึ่งในบางครั้งกวีได้แทรกทรรศนะทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทรรศนะที่กวีต้องการสื่อคือเรื่องของสังคม การเมือง การปกครองของไทย โดยกวีได้นำเสนอในรูปของการบรรยาย พรรณนาและวิพากษ์วิจารณ์ไว้ ด้วยความที่กวีแสดงทรรศนะไว้มากในเรื่อง ในตอนท้ายกวีจึงมีบทอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าส่วนใดเป็นทรรศนะของกวี ไม่ใช่พงศาวดารหรือประวัติศาสตร์
                   เนื้อเรื่องที่นำมาแต่งสามกรุงนี้ยืนเค้าตามพงษาวดาร แต่ก็มีแซมโน่นแซกนี่ เพื่อ  โอกาสที่จะแต่งให้วิตถารออกไป ให้มีรศหลายอย่าง ผู้ทราบพงษาวดารย่อมทราบแล้วว่า      ตรงไหนเป็นเรื่องจริง ตรงไหนเป็นเรื่องแซก แต่ผู้อ่านที่ลืมรายเลอียดในพงษาวดารเสียแล้วก็         คงจะมี แม้ที่ไม่เคยรู้เลยก็คงจะมีบ้าง จึ่งมีความเห็นผู้อื่นแสดงแก่ข้าพเจ้าว่า ถ้าที่ไหนเป็น เรื่องแซกแท้ๆก็ควรบอกไว้ให้ชัดในภาคผนวก อย่าให้      โอกาสให้ผู้อ่านบางคนพาซื่อเชื่อว่าเป็น      เรื่องจริงในพงษาวดารได้....
                                    (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 304-305)
                    จากทรรศนะดังกล่าว นำไปสู่แนวคิดที่ปรากฏในเรื่องสามกรุง แนวคิดหลักที่ปรากฏ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ชาติไทย และการเมืองการปกครองในประเทศไทย ส่วนแนวคิดย่อย ได้แก่ สภาพสังคม วิถีชีวิตของคนไทย ความเชื่อของคนไทย

          4.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   4.4.1 คุณค่าทางปัญญา
                             สามกรุงเป็นวรรณคดีที่กวีนำเสนอความคิดเกี่ยวกับสภาพสังคม การเมือง การปกครอง โดยผู้อ่านจะได้อ่านความคิดของกวี และได้ความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคม ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึง สมัยรัชกาลที่7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้ผู้อ่านจะต้องคิดวิเคราะห์ตาม เนื่องจากกวีได้นำเสนอเรื่องราวทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงและวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้อย่างแยบคาย

                   4.4.2 คุณค่าทางอารมณ์
                             4.4.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์เคียดแค้น เช่น
                                      มาจะกล่าวบทถึง          ทองอินกายไทยใจพม่า
                             เป็นคนแคบสั้นปัญญา               โอกาศวาศนาครานั้น
                             เห็นขี้ว่าดีกว่าไส้                     น้ำใจเติบโตโมหันธ์
                             หมายกำอำนาจราชทัณฑ์           กำเริบเสิบสันแสนร้าย
                             เข้าช่วยศัตรูขู่ข่ม                     ได้สบอารมณ์สมหมาย
                             พะม่ามอบให้เป็นนาย               รักษาป้อมค่ายเมืองธน
                                      (พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2518, น.81)     

                             4.4.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                      พระองค์ทรงรักข้า         เรืองคุณ
                             เพราะพึ่งมาพึ่งบุญ                  บาทเจ้า
                             ไป่ช้าพระการุณ                      จักร่วง โรยแฮ
                             เบือนเบื่อเมื่อแก่เถ้า                 ทอดทิ้งทางถุล ฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2518, น.14)     

                             4.4.2.3 ตัวอย่าง อารมณ์ขัน เช่น
                                       ปลาลิง วานรหรือ         หรือว่าชื่อเชิงประวิง
                             นึกหน้า ปลาขี้ลิง                    ลิงถ่ายไว้ในวารีฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 31)

                                       ปลาจิ้มฟันจระเข้          มีอุปเท่ห์เล่ห์กลใด
                             จิ้มฟันมันทำไม                      ฤๅหมายลิ้มชิมอาหารฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 32)

                   4.4.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             วรรณคดีเรื่องนี้ ปรากฏทั้งวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมต่างชาติ เนื่องจากเนื้อหาของเรื่องมีตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีต่างๆปรากฏ จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้น กวีจึงได้สอดแทรกวัฒนธรรมต่างชาติไว้ ทั้งการใช้ภาษา และการแต่งกายของชาวต่างชาติ
                             4.4.3.1 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม เช่น
                                       เวลานาฬิกาสาม  ได้ฤกษ์งามยามดี นายโยธีพร้อมสรรพ ขับทหารไทย ทหารจีน เข้าป่ายปีนกำแพง ทั้งด้านแวงด้านฉวาง...
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 75)


                             4.4.3.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องความฝัน เช่น
                                       เทวัญสรรเสกให้                     ฝันเห็น
                             ปราสาทราชฐานเย็น                         อยู่ยั้ง
                             ภาพกรุงรุ่งเรืองเป็น                           ปรกติ
                             ทุกสิ่งยิ่งกว่าครั้ง                              เมื่อบ้านเมืองดีฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 92)

                   4.4.4 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
                             วรรณคดีเรื่องนี้ มีเนื้อหาที่อิงประวัติศาสตร์ นักวิชาการหลายท่านยกย่องเรื่องสามกรุงว่าเป็นวรรณคดีประวัติศาสตร์ชั้นยอด เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาซึ่งกำลังจะเสียกรุง ต่อเนื่องไปถึงกรุงธนบุรี จวบจนกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ผู้อ่านยังได้รับรู้ประวัติของสถานที่ต่างๆ จากวรรณคดีเรื่องนี้อีกด้วย ดังตัวอย่าง
                             4.4.4.1 ตัวอย่าง ประวัติสถานที่สำคัญ เช่น
                                       นมสาวจาวเจิดนั้น                   นามเกาะ
                             โผล่สมุทสุดเหมาะ                            มารคนี้
                             เต่งตั้งดุจดังเดาะ                              ดูเด่น
                             สืบเรื่องเนื่องนานกี้                            เก่าล้ำตำนาร ฯ
                                       เรื่องราวชาวถิ่นนี้                    นานนาม
                             ม่องล่าย นายอ่าวสยาม                       ย่านใกล้
                             ยมโดย ธิดางาม                               พะงารุ่น
                             สองบ่าวกล่าวขอให้                           เลือกข้างทางไหน ฯ
                                       (พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2518, น.77)    

                   4.4.5 คุณค่าทางจินตนาการ
                             กวีได้ใช้จินตนาการเพื่อสร้างความสนุกสนานให้ผู้อ่านได้ผ่อนคลายจากอารมณ์ตึงเครียดจากเนื้อหาในเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีเรื่องนี้มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึก การสงคราม กวีสอดแทรกตัวละครในจินตนาการไว้มากมาย โดยมีกลวิธีในการนำเสนออย่างแยบคาย จนในบางครั้งผู้อ่านคิดว่าตัวละครเหล่านั้นคือตัวละครจริง หรือเหตุการณ์จริง ดังตัวอย่าง
                             ไส้ตันความป่วยเจ็บ                 ผ่าแล้วเย็บพอเยียวยา
                   เร็วเรียก ปลาหมอ มา                        ให้ช่วยผ่า ปลาไส้ตันฯ
                                      (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 32)
                    4.4.6 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             4.4.6.1 การเล่นคำ
                                       การเล่นคำที่ปรากฏในเรื่องนี้ มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเล่นคำคือการนำคำมาสร้างให้เกิดความสนุก หรือแสดงความสามารถในการเล่นคำของกวี ดังตัวอย่าง
                                      4.4.6.1.1 ตัวอย่าง การสลับที่คำ เช่น
                                                เราน้อยเขามากด้วย                 กำลัง
                                      เขาอยู่ในกำบัง                                เยี่ยงด้อม
                                      เราเกลี้ยงเสบียงดัง                            เราคาด
                                      เขาจะออกนอกป้อม                          ป่ายต้อนตีเรา
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 72)

                                       4.4.6.1.2 ตัวอย่าง การสลับคำและการใช้คำพ้องเสียง เช่น
                                                เรียนจริงอิงหลักได้                  ดีเรียน
                                      ฤๅว่าสักแต่เลียน                               ว่ารู้
                                      เพียรเรียนใช่เลียนเพียร                       พิทเยศ
                                      ปราศวิชาพาคู้                                 คุดเค้าเดาเดิน
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 251)
                  
                                      4.4.6.1.3 ตัวอย่าง การซ้ำคำและสัมผัสอักษร เช่น
                                                ตังๆตรังค์โลดเต้น          ตายเตียน แล้วโวยญ
                                      เห็นคลื่นเกิดคลื่นเหียน                        หะห้าย
                                      คลื่นไส้ใคร่อาเจียน                            รดคลื่น
                                      พระสมุทสุดโหดร้าย                          เหิ่มล้ำกำลังฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 213)

                             4.4.6.2 น้ำเสียง
                                       การใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับเรื่อง เป็นอีกกลวิธีหนึ่งที่กวีใช้ น้ำเสียงที่ปรากฏในเรื่องนี้ มีหลากหลายดังนี้
                                      4.4.6.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงเหน็บแนมแกมประชดประชัน เช่น
                                      ฉันเป็นผู้นำชาติอาจนำให้ ทั้งชาติได้ประจักษ์ศักดิ์สุขสันต์
                                      ฉันนี่แหละเป็นผู้รู้เท่าทัน  เพราะเหตุว่าชาตินั้นคือฉันเอง
                                      ท่านรักชาติแม้จะม่วยต้องช่วยชาติ ไม่บังอาจพูดโป้งทำโฉงเฉง
                                      ฉันคือชาติๆคือฉันหันตามเพลง     จงยำเยงจอมโยธีผู้มีปืนฯ
                                              (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 105)

                                                เสรีมีไม่ช้า                           ชิมรศ
                                      แปรธาตุฝาดเฝื่อนกรด                        กัดลิ้น
                                      โอษฐ์หุบอุบอิบหด                            หัวหู่
                                      อ่อนจิตอิศรสิ้น                                สุดแล้วเสรีฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 256)

                                       4.4.6.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงเชิงสั่งสอน เช่น                  
                                                เขามีความรู้หลาก                   หลายนัย
                                      ล้วนซึ่งเราพึงใจ                               ใคร่รู้
                                      ความคิดวิชชาใด                              ควรทราบ
                                       จงอย่าวางใจสู้                                สืบคว้าหาหนฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 236)
                  
                                      4.4.6.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงชื่นชม เช่น
                                                สยามินทร์ปิ่นธเรศเจ้า               จุลจอม จักรเอย
                                      นึกพระนามความหอม                        ห่อหุ้ม
                                      อวลอบกระหลบออม                         ใจอิ่ม
                                      เพราะพระองค์ทรงอุ้ม                        โอบเอื้อเหลือหลายฯ
                                                ความรู้สู่ท่านถ้วน                    ทางเสถียร
                                       เมื่อพระเยาว์เล่าเรียน                         เริ่มปั้น
                                       พลันเพลินเจริญเพียร                         พิทยเพิ่ม ภูลแฮ
                                      เพ่งพิจารณ์การหมั้น                          สติหมั้นปัญญาฯ
                                             (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, 2505, น. 246)



สรุป
          การศึกษาวรรณคดีไทยสมัยใหม่ ในสมัย ร.6-ร.8 นั้น วงการวรรณคดีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ประกอบกับการที่รัชกาลที่6 ทรงสนับสนุนวรรณคดีจึงทำให้เกิดวรรณคดีรูปแบบใหม่คือบทละครพูด ในสมัยนี้ มีบทละครพูดเป็นจำนวนมาก และเรื่องที่ได้รับความนิยม และได้รับการยกย่อง คือเรื่อง มัทนะพาธา วรรณคดีเรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากเนื้อหาไม่ซับซ้อน ใช้ภาษามาตรฐานทำให้อ่านเข้าใจง่าย โวหารที่ปรากฏในเรื่องมีหลากหลาย นอกจากนี้กวียังได้ใช้จินตนาการเป็นส่วนสำคัญในการสร้างตัวละคร เนื้อเรื่อง ฉาก สถานที่ แม้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้จะเป็นบันเทิงคดี แต่ก็ได้ให้แนวคิดที่สำคัญคือ ความรัก ความหลง และความต้องการ ย่อมนำไปสู่ความทุกข์  ส่วนการแปลวรรณคดีต่างประเทศก็ยังมีปรากฏสืบเนื่องมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากเรื่องนิทานเวตาล ซึ่งเป็นนิทานซ้อนนิทาน โดยมีนิทานทั้งหมด10เรื่อง นิทานแต่ละเรื่องนั้นจะมีปริศนาของเรื่องในตอนท้าย ซึ่งกระตุ้นให้ผู้อ่านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเพื่อช่วยคิดหาคำตอบ เรื่องนี้ใช้ภาษามาตรฐานและมีโวหารที่หลากหลาย ทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน  นอกจากวรรณคดีที่เป็นบันเทิงคดีแล้ว วรรณคดีประเภทเสียดสีสังคม การเมือง ก็มีปรากฏให้เห็น ดังจะเห็นได้จากเรื่องสามกรุง ซึ่งมีการนำเสนอเรื่องราวที่อิงประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการใช้ภาษามาตรฐาน โวหารที่หลากหลาย และเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ จึงทำให้นักวิชาการหลายท่านยกย่องวรรณคดีเรื่องนี้ว่าเป็นวรรณคดีชั้นเลิศอีกเรื่องหนึ่ง

คำถามทบทวน






 
เอกสารอ้างอิง

กุหลาบ มัลลิกะมาส. (2555). ความรู้ทั่วไปทางวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
เจตนา นาควัชระ และบุญเหลือ เทพยสุวรรณ,ม.ล. (2520). วรรณไวทยากร. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนา         พานิช จำกัด.
พิทยาลงกรณ์, พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (2505). สามกรุง. พระนคร: ไทยสัมพันธ์.
_______.  (2515). นิทานเวตาล. พระนคร: บำรุงสาส์น.
_______. (2518). สามกรุง. กรุงเทพฯ: เจริญรัตน์.
_______.  (2554). นิทานเวตาล (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2551). มัทนะพาธา (พิมพ์ครั้งที่ 27). กรุงเทพฯ:      สกสค.
สุภา ฟักข้อง. (2530). วรรณคดีไทยก่อนรับอิทธิพลจากตะวันตก. กรุงเทพฯ: กรมการฝึกหัดครู.
สำนักราชเลขาธิการ. (2537). ไกลบ้าน. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด          (มหาชน).
ยุพา แสงทักษิณ. (2538). วรรณคดีการเมืองเรื่องสามกรุง. กรุงเทพฯ: มติชน.



 
 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง