ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทที่ 10 การศึกษาวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.4 – ร.5)

1. ประวัติ ความเป็นมาของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.4 – ร.5)
          ในช่วงสมัยรัชกาลที่4 และ รัชกาลที่ 5 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในการบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษาเริ่มแพร่ออกจากวัด วัง และบ้านขุนนาง มีการพิมพ์หนังสือ คือหนังสือพิมพ์รายวัน
          ในสมัยนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคหัวเลี้ยวของวรรณคดีไทย มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเกิด และการล้มหายตายจากของวรรณคดี มีการรับอิทธิพลตะวันตกเข้ามา ซึ่งในสมัยนี้เป็นสมัยแรกเริ่มที่วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยมากที่สุด วรรณคดีประเภทร้อยกรองเริ่มน้อยลง ในขณะที่วรรณคดีประเภทร้อยแก้วเริ่มมีมากขึ้น วรรณกรรมอีกชนิดหนึ่งที่เข้ามาในประเทศไทยคือ นวนิยาย เรื่องสั้น (เจตนา นาควัชระ และบุญเหลือ เทพยสุวรรณ, 2520)
          จะเห็นได้ว่าสมัยนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางวงวรรณคดีไทยเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงหัวเลี้ยวนี้ มีวรรณคดี2 เรื่องที่สำคัญ ซึ่งเป็นประเภทที่แตกต่างจากสมัยก่อน คือ จดหมายและบันทึก และ ปกิณกคดี ซึ่ง2 เรื่องนี้ คือ ไกลบ้าน และอิศรญาณภาษิต

2. สุภาษิตอิศรญาณ
          สุภาษิตอิศรญาณ หรือบางครั้งก็มีคนเรียกว่า เพลงยาวเจ้าอิศรญาณ    เป็นปกิณกคดี ประเภทคำสอน โดยผู้แต่งคือ หม่อมเจ้าอิศรญาณ

          2.1 รูปแบบคำประพันธ์
                   สุภาษิตอิศรญาณ กวีใช้ร้อยกรองในการเสนอผลงาน โดยใช้การบรรยาย พรรณนา คำสอนต่างๆ ดังตัวอย่าง
                             ถ้าทำดีก็จะดีเป็นศรีศักดิ์
                             ถ้าทำชั่วชั่วจักตามสนอง
                             ความชั่วเราลี้ลับอย่ากลับตรอง
                             นอนแล้วมองดูผิดในกิจการ
                                                (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 35)

                   2.1.1 ภาษา
                             สุภาษิตอิศรญาณเป็นวรรณคดีคำสอนที่ผู้อ่านเมื่ออ่านแล้วเข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากกวีใช้คำในภาษามาตรฐาน  คือ คำสุภาพ เป็นคำที่ผู้อ่านสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ ดังตัวอย่าง

                                      เกิดเป็นคนเชิงดูให้รู้เท่า
                             ใจของเราไม่สอนใจใครจะสอน
                             อยากใช้เขาเราต้องก้มประนมกร
                             ใครเลยห่อนจะว่าตัวเป็นวัวมอ
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 31)

                   2.1.2 โวหาร
                             โวหารที่ปรากฏในเรื่องช่วยทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสจากการอ่านวรรณคดีเป็นอย่างมาก โวหารที่ปรากฏในเรื่อง มีดังนี้

                             2.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
                                       วาสนาไม่คู่เคียงเถียงเขายาก
                             ถึงมีปากมีเสียเปล่าเหมือนเต่าหอย
                             ผีเรือนตัวไม่ดีผีอื่นพลอย
                             พูดพล่อยพล่อยไม่ดีปากขี้ริ้ว
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 33)
                  
                             2.1.2.2 ตัวอย่าง ปฏิปุจฉา เช่น
                                       ว่าพระพุทธองค์ไปอาศัยผี           ผีไปพึ่งบารมีที่ตรงไหน
                             ถ้อยทีถ้อยพึ่งกันนั้นอย่างไร                  ครั้นว่าไล่เข้าก็ซัดลัทธิแรง
                                                                    (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 43)

          2.2 เนื้อหา
                    เรื่องราวในวรรณคดีเรื่องนี้เกี่ยวกับคำสอนต่างๆ เช่น การช่วยเหลือกัน การทำความดี การทำบุญ การทำตามผู้ใหญ่ การรู้ค่าของสิ่งต่างๆ การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น

                   2.2.1 ตัวละคร
                             ในเรื่องนี้ กวีได้กล่าวถึงคนต่างๆ ได้แก่ นักเลง ผู้หญิง เมีย ผัว เป็นต้น และได้กล่าวถึงอมนุษย์ คือ ผี โดยเป็นการเปรียบเทียบหรือยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นพฤติกรรมของคนและอมนุษย์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

                   2.2.2 ฉาก สถานที่
                             เรื่องสุภาษิตอิศรญาณ ไม่ได้ระบุเวลา และสถานที่ แต่จากเนื้อความก็สามารถทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพของฉากได้ ดังตัวอย่าง
                                      อันคลื่นใหญ่ในมหาชลาสินธุ์
                             เข้าฝั่งสิ้นสาดเข้าไปที่ในฝั่ง
                             เสียงกลองดังฟังดูเพียงหูพัง
                             ปากคนดังอึงจริงยิ่งกว่ากลอง                                                                                                       (หม่อมเจ้าอิศรญาณ,  2553, น. 34)

                   2.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             ในเรื่องสุภาษิตอิศรญาณ  กวีเปิดเรื่องด้วย การเกริ่นนำถึงการแต่งสุภาษิตอิศรญาณ วัตถุประสงค์ในการแต่ง  การดำเนินเรื่อง กวีไม่ได้ลำดับเหตุการณ์ต่างๆตามเวลา เนื่องจากเป็นคำสอนต่างๆ ส่วนการปิดเรื่อง กวีปิดเรื่องด้วยการสรุปให้ทุกคนเร่งทำความดี เพื่อเข้าสู่นิพพาน

          2.3 แนวคิด
                    แนวคิดหลักที่ปรากฏในสุภาษิตอิศรญาณ คือ คำสอนเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ส่วนแนวคิดย่อย ในสุภาษิตอิศรญาณ มีหลายแนว เช่น ความรัก ธรรมะ เป็นต้น

          2.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   2.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             สุภาษิตอิศรญาณ เป็นวรรณคดีคำสอนที่สอดแทรกเรื่องราวของธรรมะในการสอนด้วย โดยเนื้อหามุ่งเน้นให้คนทำความดี เพื่อเข้าสู่นิพพาน เมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วจะสามารถนำธรรมะที่ปรากฏไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ดังตัวอย่าง
                                      คืนและวันพลันดับก็ลับล่วง        
                                      ท่านทั้งปวงจงอุตส่าห์หากุศล
                                      พลันชีวิตคิดถึงรำพึงตน
                                      อายุคนนั้นไม่ยืนถึงหมื่นปี
                                      อันความมรณาถ้วนหน้าสัตว์
                                      แต่พระตรัสเป็นองค์ประชินศรี
                                      แสนประเสริฐเลิศภพจบธาตรี
                                      ยังจรลีเข้าสู่นิพพานเอย ฯ
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 42)

                   2.4.2 คุณค่าทางปัญญา
                             วรรณคดีเรื่องนี้มุ่งสอนมนุษย์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง โดยให้ความรู้ทั้งด้านการคบคน การพิจารณาคน รวมไปถึงการประพฤติตน ผู้อ่านจะได้รับความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
                             2.4.2.1 ตัวอย่าง การคบคน เช่น
                                      คดสิ่งอื่นหมื่นแสนแม้นกำหนด
                                      โกฏิล้านคดซ้อนซับพอนับถ้วน
                                      คดของคนล้นล้ำคดน้ำนวล
                                      เหลือกระบวนที่จะจับนับคดค้อม
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 41)

                                      อย่าคบมิตรจิตพาลสันดานชั่ว
                                      จะพาตัวให้เสื่อมที่เลื่อมใส
                                      คบนักปราชญ์นั่นแหละดีมีกำไร
                                      ท่านย่อมให้ความสบายหลายประตู
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 40)

                             2.4.2.2 ตัวอย่าง การประพฤติตน เช่น
                                      กิ่งไม้เรียวหนามหนาศิลาหัก
                                      เห็นเสียบปักอยู่ที่ทางกลางสถาน
                                      หยิบทิ้งเสียบุญหนักหนาอย่าขี้คร้าน
                                      ทำไปนานแล้วก็ก้างไม่ค้างคอ
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 39)

                                      ถ้าทำดีก็จะดีเป็นศรีศักดิ์
                                      ถ้าทำชั่วชั่วจักตามสนอง
                                      ความชั่วเราลี้ลับอย่ากลับตรอง
                                      นอนแล้วมองดูผิดในกิจการ
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 35)

                   2.4.3 คุณค่าทางอารมณ์
                             ในเรื่องนี้ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลายของคน ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์เหน็บแนม ประชดประชัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             2.4.3.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                      รักสั้นนั้นให้รู้อยู่เพียงสั้น
                                      รักยาวนั้นอย่าให้เยิ่นเกินกฎหมาย
                                      มิใช่ตายแต่เขาเราก็ตาย
                                      แหงนดูฟ้าอย่าให้อายแก่เทวดา
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 30)

                             2.4.3.2 ตัวอย่าง อารมณ์เหน็บแนม เช่น
                                      แก่ตัณหานี้ทำไมจึงไม่แก่
                                      ยังปกแผ่พังพานผึงตึงใจหาย
                                      เห็นสาวสาวเข้ายังตะเกียกตะกาย
                                      คิดอุบายจะใคร่เฉ่งแต่เกรงจน
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 46)

                   2.4.4 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             วัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องนี้ จะเห็นได้ชัดเจนคือ ความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของคนในสังคมสมัยนั้น ซึ่งจะมีความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความละอายและเกรงกลัวต่อบาป

                   2.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             2.4.5.1 การเล่นคำ
                                      ในเรื่องนี้กวีเล่นคำโดยการใช้คำซ้ำ เพื่อเน้นความให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น  ดังตัวอย่าง
                                       ดูตระกูลกิริยาดูอากัป
                                       ดูทิศจับเอาที่ผลต้นพฤกษา
                                       ดูฉลาดเล่าก็เห็นที่เจรจา
                                       ดูคงคาก็พึงหมายสายอุบล
                                                (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 45)

                             2.4.5.2 น้ำเสียง
                                       ในเรื่องนี้ กวีใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย เช่น น้ำเสียงเชิงสั่งสอน น้ำเสียงเหน็บแนม และประชดประชัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                                      2.4.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงเชิงสั่งสอน เช่น
                                                สูงอย่าให้สูงกว่าฐานนานไปล้ม
                                                จะเรียนคมเรียนเถิดอย่าเปิดฝัก
                                                คนสามขามีปัญญาหาไว้ทัก
                                                ที่ไหนหลักแหลมคำจงจำเอา
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 31)

                                      2.4.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงเหน็บแนม เช่น
                                                น้ำใจเอยเห็นกรรมไม่ทำชั่ว
                                                บวชตั้งตัวตั้งใจบวชได้เรื่อง
                                                บวชหลบราชการหนักบวชยักเยื้อง
                                                บวชหาเฟื้องหาไพบวชไม่ตรง
                                                          (หม่อมเจ้าอิศรญาณ, 2553, น. 38)

3. เรื่อง ไกลบ้าน
          ไกลบ้าน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยวรรณคดีเรื่องนี้ในความจริงแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล โดยพระองค์ทรงบันทึกพระราชกรณียกิจประจำวัน การเดินทาง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศต่างๆ ซึ่งรูปแบบการเขียนนั้นจะเป็นดังจดหมายเหตุ บันทึกเรื่องราว และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ดังนั้นไกลบ้านจึงจัดอยู่ในงานเขียนประเภทจดหมายและบันทึก



          3.1 รูปแบบคำประพันธ์
                    ในเรื่องนี้ผู้เขียนนำเสนอผลงานด้วยร้อยแก้ว โดยใช้รูปแบบการเขียนจดหมาย บรรยาย พรรณนาเรื่องราวต่างๆ มีการแต่งบทร้อยกรองแทรกบ้างในบางฉบับ นอกจากนี้ยังปรากฏบทสนทนาแต่ไม่มีเครื่องหมายคำพูด ดังตัวอย่าง
                             อ้ายคนังหายทุกข์ร้อน บอกว่าอน่อย มาแต่วานนี้แล้ว กรมประจักษ์คลั่งล้อคนเรื่องเมียๆ เขาพากันอาราธนาให้พ่อแต่งให้กรมประจักษ์บ้าง พึ่งลงมือบัดนี้ได้ ๓ บทแล้ว
                                      แถลงปางบำราศแก้ว      กลอยใจเรียมเอย
                                      ตามเสด็จปิ่นไผท           สู่ด้าว
                                      ยุรปรัตนกรุงไกร           เรียมมุ่ง ถึงแฮ
                                      ชื่อรงับดับอกร้าว          ร่องริ้วรอยสมาน ฯ
                                      จักนานจักเนิ่นพ้น         จันทร์เพ็ญ พี่เอย
                                      สู่เทศเขตรหนาวเย็น       ยอกช้ำ
                                      แลนวมนุ่มบเห็น           หายแห่ง ใดฤๅ
                                      เติมแต่เติมทุกข์กล้ำ        กลัดกลุ้มเหลือกลืน ฯ
                                      กลางคืนศุกรปักษ์เปลื้อง   เดือนฉาย
                                      สุกสกาวเกศหาย           ห่างหน้า
                                      ทำเนานึกประกาย         พลอยเกลื่อน
                                      ดาวดั่งดวงแก้วฟ้า          ชื่อพ้องพลอยสูญ ฯ
                             กรมประจักษ์เตรียมมาก จะแต่งนิราศสู้หม่อมราโชทัย กำลังถามหาอะไรเก่า ๆ ต่าง ๆ และตื่นอะไรต่าง ๆ อิ๋อยู่เสมอ
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 6)

                   3.1.1 ภาษา
                             ไกลบ้านเป็นวรรณคดีอีกหนึ่งเรื่อง ที่ผู้อ่านเมื่ออ่านแล้วจะเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย เนื่องจาก ผู้เขียนใช้ภาษาในราชการ ภาษาสุภาพ มีการใช้คำที่หลากหลาย ทั้งคำทับเสียง เช่น สกิปปิง (skipping) แอคแควเรียม (aquarium) เฟิสต์คลาส (first class) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้คำทับเสียงภาษาต่างประเทศสลับกับคำไทยอยู่บ่อยครั้ง ดังตัวอย่าง
                             เวลาค่ำแต่งเสื้อเย็น ไปดินเนอที่คอเวอนเมนต์เฮาส์ การมันออกจะพิลึกอยู่บ้าง ผิดกว่าแต่ก่อน ....
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 20)
                             เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ไปที่สตูเดียวของมากอตตีซึ่งอยู่ไม่ห่างกันกับวิลลานี้นัก .....
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 179)

                   3.1.2 โวหาร
                             โวหารที่ปรากฏในเรื่องนั้น มีเพียงอุปนัยเท่านั้น น่าจะเนื่องมาจากวรรณคดีเรื่องนี้ ได้นำเสนอเหตุการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริง จึงมีเพียงการเปรียบเปรยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเท่านั้น

                             3.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย  เช่น
                                      ...ไปขึ้นรถไฟที่สเตชั่นแตงก์โรด รถไฟนั้นก็เหมือนรถไฟในเมืองมลายูทั้งปวง...
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 13)

                                       ...งามหรูเหมือนเครื่องเฟอนิเช่อฝรั่งเศส..
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 25)

          3.2 เนื้อหา
                    เรื่องราวในวรรณคดีเรื่องนี้เกี่ยวกับการเดินทางประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 ระหว่างการเดินทางพระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระธิดา จำนวน 43 ฉบับ บอกเล่าการเดินทาง สภาพบ้านเมือง ประเพณีวัฒนธรรมของต่างประเทศ

                   3.2.1 ตัวละคร
                             วรรณคดีเรื่องนี้ เป็นการบันทึกเรื่องราวการเดินทาง คนที่ปรากฏในเรื่องจึงเป็นคนจริง เช่น รัชกาลที่5 สมเด็จพระ(ศรีพัชรินทรา)บรมราชินีนาถ เจ้าพระยาภาณุวงษ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เป็นต้น

                   3.2.2 ฉาก สถานที่
                             สถานที่หรือฉากต่างๆที่อยู่ในเรื่อง เป็นสถานที่จริงและฉากจริง เช่น กรุงเทพฯ อ่าวสยาม ทะเลจีน ประเทศสิงคโปร์ เมืองปีนัง เป็นต้น โดยวัน เวลาจะระบุไว้อย่างชัดเจนในตอนต้นของจดหมายทุกฉบับ

                   3.2.3 การลำดับเหตุการณ์
                             การลำดับเหตุการณ์ในเรื่องไกลบ้าน ผู้เขียนลำดับเหตุการณ์ได้ชัดเจน ทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจได้โดยง่าย โดยผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการเกริ่นนำการเดินทางทางเรือ บรรยายสภาพเรือ การดำเนินเรื่อง ผู้เขียนดำเนินเรื่องตามลำดับเวลา มีการย้อนไปอดีตบ้าง เป็นการอ้างถึงเหตุการณ์ในอดีต และในส่วนการปิดเรื่อง ผู้เขียนสรุปประโยชน์จากการเดินทาง ลักษณะแผ่นดินยุโรป ความก้าวหน้าของยุโรป

          3.3 แนวคิด
                    เรื่องไกลบ้านมุ่งนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ การเดินทางไปสถานที่ต่างๆในต่างประเทศ ส่วนแนวคิดย่อยนั้น มีหลายแนว เช่น ความรักของพ่อ วัฒนธรรมต่างๆของต่างประเทศ เป็นต้น

          3.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
                   3.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
                             วรรณคดีเรื่องไกลบ้านได้ถ่ายทอดความรักของพ่อที่มีต่อลูก โดยผู้เป็นพ่อแม้ว่าจะเป็นถึงพระมหากษัตริย์ ก็มีความรักลูกไม่แพ้สามัญชน และต้องการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอ ให้ลูกได้รู้ผ่านจากจดหมาย วรรณคดีเรื่องนี้จะทำให้ผู้อ่านได้ข้อคิดเกี่ยวกับบทบาทของผู้เป็นพ่อ ความรักของพ่อ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความซื่อสัตย์ของข้าราชสำนักที่ตามเสด็จ ซึ่งมีความซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก

                   3.4.2 คุณค่าทางปัญญา
                             วรรณคดีเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวการเสด็จประพาสยุโรป ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายเรื่องราวการเดินทาง สภาพแวดล้อมต่างๆโดยละเอียด ผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ อย่างชัดเจน
                             5.4.2.1 ตัวอย่าง ความรู้ทางภูมิประเทศ เช่น
                                      คลองตอนนี้พ้นอิสไมเลียที่เปนกึ่งทางมาแล้ว ประเดี๋ยวเดียวก็ถึงตอนลงเขื่อนสำเร็จ แต่ได้ความว่าตอนกลางเขื่อนยังไม่สำเร็จเหมือนกัน ที่จริงมันอัศจรรย์มาก คือในระหว่างเอเชียกับอาฟริกา แต่ก่อนนั้นเปนทเลแคบๆ เช่นทเลแดงทีหลังตื้นขึ้น จะเปนด้วยเขาไฟฤๅทรายบนฝั่งมีพยุพัดเปนลมบ้าหมูโปรยลงไปนานเข้าก็ตื้นขึ้นได้ ที่ซึ่งทเลลึกแลกว้างทรายถมไม่เต็มได้ก็เปนทเลเล็กบ้างใหญ่บ้างน้ำไหลไปไหนไม่ได้ ที่ทรายโรยมากก็ดอนสูง ที่น้อยก็เปนทรายพอน้ำแฉะๆ แต่น้ำยังเค็มอยู่ จึงเปนเกลือในที่ที่น้ำท่วมเท่านาเกลือ
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 79)
                    3.4.3 คุณค่าทางอารมณ์
                             แม้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้จะเป็นการบันทึกการเดินทาง เรียกได้ว่าเป็นจดหมายเหตุ แต่ผู้อ่านก็ยังได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งอารมณ์ขัน อารมณ์รัก เป็นต้น ดังตัวอย่าง

                             3.4.3.1 ตัวอย่าง อารมณ์ขัน เช่น
                                       พ่อตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือบอกข่าวให้รู้เปนส่วนตัวต่างหากจากที่จะรู้ทางราชการ แต่จะเขียนด้วยกระดาษหนาแลดีกว่านี้ก็จะโตนักไป จึงเขียนแผ่นใหญ่แลให้กระดาษบางๆเช่นนี้ ว่าทางลมจับก็เสียค่าส่งน้อย
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 1)

                             3.4.3.2 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
                                       พ่อคิดถึงลูกเหลือประมาณทีเดียว สารพัดในการหนังสือที่เคยใช้ต้องทำเองทั้งสิ้น จนนอนฝันไปว่าให้หญิงน้อยอ่านหนังสือ Development of the European Nations ให้ฟัง (เพราะพ่อกำลังอ่านอยู่) นอนฟังสบายเพราะนอนจริงๆ นึกเปลี่ยวใจที่ไม่มีใครช่วยในการหนังสือยังไม่เคยลืมคิดถึงแต่สักวันหนึ่งเลย
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 86)

                    3.4.4 คุณค่าทางวัฒนธรรม
                             วรรณคดีเรื่องนี้เป็นวรรณคดีไทยเล่มแรกๆ ที่นำเสนอวัฒนธรรมต่างชาติให้เห็นอย่างชัดเจน ด้วยความที่วรรณคดีเรื่องนี้บันทึกเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นผู้อ่านจะได้ทราบถึงวัฒนธรรมทางการทูตของไทย และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมไทยในสมัยนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             3.4.4.1 ตัวอย่าง วันและประเพณีสำคัญของต่างประเทศ เช่น
                                       ตอนเช้าวันนี้จะไปเที่ยวก็เกิดขัดข้อง ด้วยวันนี้เปนวันที่ ๑ เดือนพฤษภาคม เปนวันตามนักขัตฤกษ์ของพวกโซเชียลลิสต์ คือบุคคลจำพวกที่ไม่ชอบผู้มีทรัพย์มียศทุก ๆ เมือง คนพวกนี้มีแห่ ถือธง ตีกลอง เป่าแตร เป็นฤกษ์ที่เจ้านายผู้มีบรรดาศักดิไม่ออกจากบ้าน ด้วยกลัวจะกระทบกระทั่งชวนวิวาทกันขึ้น ถ้าเปนเมืองที่สำคัญ ๆ โทษถึงต้องเตรียมทหารประจำโรง ด้วยเกรงพวกนี้ เมื่อมากเข้าด้วยกันจะเที่ยวข่มเหงผู้อื่น
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 146)
                            
                             3.4.4.2 ตัวอย่าง การแต่งกายของชาวต่างประเทศ เช่น
                                       ตาแก่ตาเถ้าผู้ชายในแถบนั้นใส่เสื้อเชิ้ด เสื้อกั๊ก ไม่มีเสื้อชั้นนอก สีต่าง ๆ เปื้อน ๆ หมวกผ้า ๆ ผู้หญิงก็ใช้ห่มผ้าคลุมไหล่ตะแบงมานเปนพื้น มันน่าเอ็นดูแต่พวกเด็ก ๆ แต่งตัวปู้ยี้ปู้ยำเหมือนผู้ใหญ่ แต่หน้าพองโต ๆ แก้มแดงไหม้เกรียม
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 144)

                    3.4.5 คุณค่าทางประวัติศาสตร์
                             วรรณคดีเรื่องนี้ เป็นเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งเนื้อหาทั้งเรื่องนั้นได้บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การเดินทางโดยทางเรือ สภาพบ้านเมือง รวมไปถึงสถานที่ต่างๆที่ผู้เขียนเดินทางไปถึง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             3.4.5.1 สภาพบ้านเมือง เมืองเวนิศ ตัวอย่าง
                                      เมืองตั้งอยู่ในที่ดอนชายทเล ห่างจากฝั่งถึงสองไมล์ครึ่ง แต่ไม่ใช่เปนเกาะเปนเขา เปนพื้นราบพอปริ่มๆน้ำ แบ่งเปนแผ่นใหญ่แผ่นเล็กด้วยลำคลองใหญ่สายหนึ่ง รูปร่างเหมือนตัวเอส S แลมีคลองเล็ก ๆ ซอยไปเหมือนถนนไม่ใช่ตรง ๆ คดอ้อมวงเป็นถนนอย่างเก่าไม่ใช่ถนนอย่างใหม่ คลองเหล่านี้เปนคลองน้ำเค็มทั้งนั้น ขึ้นก็ไม่มากลงก็ไม่มาก เดี๋ยวนี้ประหลาดที่ตึกริมคลองที่เขาก่อขึ้นนั้น ไม่ได้ไว้คันคลองเลย ก่อผนังตึกขึ้นมาเหมือนเขื่อนที่ลงริมน้ำ พอเปิดประตูเรือนก็ถึงน้ำทีเดียว
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 253)
                             3.4.5.2 โฮเตลชไวซาฮอฟ เมืองนอยเอาเซน ตัวอย่าง
                                      โฮเตลนี้ออกจะอยู่ข้างปอนๆสักหน่อย เพราะเหตุที่เมืองไม่เปน สลักสำคัญอันใดเลย สิ่งสำคัญที่จะดูได้นั้นมีแต่น้ำตกอย่างเดียว แต่ที่ตั้งดีเพราะเปนตลิ่งสูง สูงกว่าทำนบที่กั้นน้ำฤๅน้ำตกนั้นมากอาจจะแลเห็นได้ตลอดขึ้นไปไกลจนพ้นสพานรถไฟอันข้ามแม่น้ำที่เหนือน้ำตกขึ้นไป ฝ่ายข้างใต้น้ำก็แลเห็นลงไปไกลจนสุดสายตา ทำทางเดินจากด้านหน้าโฮเตลลงไปเปนทางทบไปทบมาหลายทบ ไปในใต้ร่มไม้ข้างทางก็เปนเมโด ประดับด้วยดอกไม้ป่าสีต่าง ๆ ลงไปจนถึงพื้นถนนใหญ่ เมื่อข้ามถนนใหญ่ลงไปอิกจึงถึงท่าเรือแลเรสเตอรองต์อันตั้งอยู่ริมน้ำทีเดียว แลตั้งอยู่บนเกาะด้วย มีสะพานข้ามออกไปจากฝั่ง หลังเกาะกับฝั่งน้ำเขากั้นทำนบไว้ ปิดประตูเสียไม่ให้สายน้ำพัดมาเชี่ยวเปนที่สำหรับเก็บเรือซึ่งจะข้ามฟาก
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 308)

                             3.4.5.3 การเล่นโมเตอร์คาร์ ตัวอย่าง
                                      การเล่นโมเตอร์คาร์นั้นมันเปนอินสติตูชั่นใหญ่ที่มีคนเล่นเปนอันมาก มีคลับที่เข้ากันไม่ว่าชาติใดภาษาใด ไม่ใช่แต่มีแผนที่เฉภาะสำหรับแต่เดินโมเตอร์คาร์ มีป้ายปักทุกหนทุกแห่งในที่ทางสองแพร่ บอกให้ไปทางโน้นทางนี้ ป้ายนั้นเขียนหลายภาษา ใช่แต่เท่านั้น ถ้าเปนทางขึ้นเขา ลงห้วย เลี้ยวหัก เลี้ยวอ้อม เขียนลูกศรไว้ที่ป้ายนั้นด้วยเปนที่สังเกต ลูกศรนั้นหันปลายไปในทิศต่าง ๆ แลเห็นไปแต่ไกลก็รู้ได้ว่าที่นั่นจะต้องขึ้นจะต้องลงจะต้องเลี้ยวเช่นนั้น ๆ ผู้ที่จะขับรถโมเตอคาร์ต้องอ่านหนังสือภาษาใดภาษาหนึ่งออก ต้องอ่านเครื่องหมายเช่นนั้นเข้าใจ ( ถึงคนที่จะขับรถได้ดีปานใด จะขับรถไปไหนไม่รอดเมื่ออ่านป้ายไม่ได้ คงจะไปมาได้แต่ที่เคยไปเคยมาในเมืองฤๅขับตามเขาไป หลวงโสภณฤๅอ้ายฟ้อนก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ถึงจะไล่ได้เซอติฟิเกตก็ไปไหนไม่ได้ เพราะมันอ่านหนังสือของเขาไม่ออก ) เพราะเหตุฉนั้นการเที่ยวโมเตอร์คาร์จึงเปนที่สะดวกนัก
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 311)

                             3.4.5.4 ประวัติเมืองไฮเดลแบ็ก ตัวอย่าง
                                      เมืองไฮเดลแบ็กนี้มีคนสี่หมื่นเศษ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเนกกา มีเขาเปนเทือกใหญ่อยู่ทั้งสองฝั่ง เมืองตั้งอยู่ในหว่างเขาสองฟากน้ำ ที่คาเซอลนี้ได้เปนวังของเคานต์ปะละตีนประมาณเจ็ดร้อยปีเศษมาแล้ว ได้อยู่สืบต่อ ๆ กันมาจนกลายเปนเมืองขึ้น ได้เปนเมืองหลวงของปะละติเนตประมาณสักห้าร้อยปี ภายหลังเกิดความลำบากด้วยเรื่องสาสนาไม่ถูกกันกับพวกโปรเตสตันตในเมือง จึงได้ย้ายไปอยู่มันไฮม์ เมืองไฮเดลแบ็กเปนของแกรนด์ดัชชีออฟบาเดนมาได้ร้อยปีเศษ
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 349)

                   3.4.6 คุณค่าทางวรรณศิลป์
                             3.4.6.1 การเล่นคำ
                                       การเล่นคำ ในเรื่องนี้ผู้เขียนเล่นคำโดยการซ้ำคำ และการนำคำที่มีเสียงใกล้เคียงกันมาเรียงต่อกัน
                                      3.4.6.1.1 ตัวอย่าง การซ้ำคำ เช่น
                                                อ้ายบ้างก็นุ่งกางเกงไม่มีเสื้อ อ้ายบ้างก็มีเสื้อนุ่งขัดเตี่ยว อ้ายบ้างก็ห่มหอง        ด้วยผ้าขาวเหมือนพระ พอลงเรือแล้วอ้ายบางคนตี อ้ายบางคนหยุด...
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 79)




                                      3.4.6.1.2 ตัวอย่าง การนำคำที่มีเสียงใกล้เคียงกันมาเรียงต่อกัน เช่น
                                                ...นอกนั้นเมาคลื่นเปนพ่อสวิงพ่อสวายพ่อระทวยพ่อ  ชอ้อนนอนหมด....
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 99)

                             3.4.6.2 น้ำเสียง
                                       น้ำเสียงที่ปรากฏในเรื่อง กวีใช้น้ำเสียงที่หลากหลาย เช่น น้ำเสียงอ่อนใจ น้ำเสียงตักเตือน น้ำเสียงเห็นใจ น้ำเสียงสมเพชเวทนา เป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                                      3.4.6.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงอ่อนใจ เช่น
                                                ...หน้าตามันก็สิงคโปร์นั้นเองนึกเอาเถิด อ่อนใจเขียนไม่ไหว...
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 11)

                                      3.4.6.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงตักเตือน เช่น
                                                ...มาในเรือนี้ต้องระวังอย่างเดียวอย่าตะกลามกินให้มาเกินไปเท่านั้น ค่ำมือดึกดื่นจะกินอะไรมันได้ไปเสียทั้งนั้น ที่จะหาเวลาหิวอิกขยับจะยาก นั่ง ๆ อยู่ ๒ชั่วโมงคงได้กินอะไรต่ออะไร เว้นแต่เราจะไม่กิน ถ้าคนไม่มีโรค ชั่วแต่เดินทางกินกับนอนอาจจะอ้วนท้องพลุ้ยกลับไปบ้านได้ พ่อช่างอยากให้ลูกมาจริง ๆ
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 29)

                                      3.4.6.2.3. ตัวอย่าง น้ำเสียงเห็นใจ เช่น
                                                ...ความเหน็ดเหนื่อยของคนในเรือมันมากจริงๆตื่นยังค่ำ กลางคืนกว่าจะได้นอนก็จนดึก ยืนเกือบจะเปนนิจไม่เห็นมีเวลานั่งเล่นเลย ...
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 51)

                                       3.4.6.2.4 ตัวอย่าง น้ำเสียงสมเพชเวทนา เช่น
                                                ที่พวกเราชอบดูมากนั้นเรื่องผัวเปนขี้ข้าเมีย มันน่าสมเพชเวทนา ถึงเราก็ต้องสัพพียกเก้าอี้ให้ผู้หญิงจริงแล แต่ยังไม่ถึงคู่หนึ่ง ซึ่งถูกดูเสียจริงๆแลบ่นกันไม่หยุด คือดาดฟ้าชั้นที่หนึ่งกับที่สองมันเดินไม่ถึงกัน เวลาจะมาใช้ให้ผัวยกเก้าอี้ตามหลัง พอมาถึงจัดการตั้งเก้าอี้ให้ แต่แม่เจ้าประคุณไม่นั่ง เพราะจะมีแดดถูกตีนนิดหนึ่งเขียวให้ตั้งใหม่จึงได้นั่ง ตาผัวยังยืนอยู่หันไปพูดกับใคร เรียกมาเขียวไม่ให้พูด บังคับให้นั่งลงกับพื้นที่ข้างเก้าอี้ เจ้าผัวกว่าจะนั่งลงได้ประดักประเดิดโก้งเก้งกันอยู่เปนนานจึงนั่งได้...
                                                                   (สำนักราชเลขาธิการ, 2537, น. 53)

สรุป
ในสมัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงด้านวรรณคดี และวรรณกรรม รูปแบบงานเขียนประเภทร้อยกรองค่อยเลือนหาย ร้อยกรองยังคงมีอยู่แต่เริ่มเป็นร้อยกรองขนาดสั้น ดังจะเห็นได้จากเรื่องอิศรญาณภาษิต ซึ่งเป็นวรรณคดีคำสอนที่สอดแทรกเรื่องราวธรรมะ เป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง วรรณคดีเรื่องนี้ผู้อ่านสามารถอ่านเข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากกวีใช้คำในภาษามาตรฐาน ประกอบกับโวหารที่หลากหลาย ช่วยสร้างความไพเราะยิ่งขึ้น แนวคิดจากเรื่องนี้ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันงานเขียนประเภทร้อยแก้วก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยรูปแบบงานเขียนประเภทร้อยแก้วก็มีหลากหลายมากขึ้น เห็นได้จากเรื่องไกลบ้าน ซึ่งจัดอยู่ในรูปแบบจดหมายเหตุ กลวิธีการนำเสนอผลงานก็มีความสร้างสรรค์ขึ้น คือใช้การเขียนจดหมายเพื่อบันทึกเหตุการณ์ เป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีบทร้อยกรองแทรกบ้าง ภาษาที่ใช้ในการเขียนเป็นภาษาสุภาพ แต่จะมีการพิเศษกว่าวรรณคดีเรื่องอื่น เนื่องจากมีการใช้คำทับเสียงภาษาต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง เพราะคำเหล่านั้นไม่มีการสร้างเป็นคำในภาษาไทย เรื่องราวในจดหมายจะเกี่ยวกับการเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 ดังนั้นตัวละครที่ปรากฏในเรื่องจึงเป็นคนจริงทั้งหมด ผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการเดินทาง ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ประเพณี สังคมของประเทศต่างๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นวรรณคดีอีกหนึ่งเรื่องที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

คำถามทบทวน


 
เอกสารอ้างอิง

กุหลาบ มัลลิกะมาส. (2555). ความรู้ทั่วไปทางวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
เจตนา นาควัชระ และบุญเหลือ เทพยสุวรรณ,ม.ล. (2520). วรรณไวทยากร. กรุงเทพฯ: ไทย      วัฒนาพานิช จำกัด.
สุภา ฟักข้อง. (2530). วรรณคดีไทยก่อนรับอิทธิพลจากตะวันตก. กรุงเทพฯ: กรมการฝึกหัดครู.
สำนักราชเลขาธิการ. (2537). ไกลบ้าน. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด          (มหาชน).
อิศรญาณ,หม่อมเจ้า. (2553). สุภาษิตพระร่วงและสุภาษิตอิศรญาณ. กรุงเทพฯ: วิสดอม.


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 4 กลวิธีของการประพันธ์

          กลวิธีของการประพันธ์ คือ วิธีการประพันธ์ในแบบเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าลีลาการประพันธ์ โดยการศึกษากลวิธีการประพันธ์นั้น ผู้เรียนสามารถพิจารณาได้จากเรื่องต่างๆดังนี้                    1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)                    2. การกำหนดแนวเรื่อง (theme)                    3 . การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง (plot)                    4. การสร้างตัวละคร (characterization)                    5. การสร้างฉาก (Scene)                    6. วิธีการนำเสนอผลงาน (presentation)                    7. กรรมวิธีเบ็ดเตล็ด (Other creators)           ในบทนี้ จะนำเสนอการศึกษาใน 3 ข้อแรก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณคดี ส่วนอีก 4 ข้อ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในบทต่อไป 1. การเลือกสรรวัตถุดิบ (material)           วัตถุดิบ คือส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี ซึ่งผู้ประพันธ์จะนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณคดีแต่ละเรื่อง ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่กวีหรือนักประพันธ์เลือกมา ปรุงแต่งวรรณคดี อาจมาจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น 1.1 จินตนาก

บทที่ 2 องค์ประกอบของวรรณคดี

องค์ประกอบของวรรณคดีนั้น ผู้เขียนใช้หลักการตามแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือ วรรณคดีศึกษา(ว่าด้วยหลักการอ่าน) ( วิภา กงกะนันทน์, 2556) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้           1. เนื้อหา คือ เรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา โดยมีคนหรือตัวละครปรากฏในเรื่อง อาจเป็นได้ทั้งคนจริงคือคนที่มีตัวตนอยู่จริง หรือ ตัวละครคือคนสมมติที่ผู้เขียนคิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนี้การที่เนื้อหาจะสมบูรณ์จะต้องมีฉาก ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ ผู้เขียนจะสร้างฉากให้สมจริง และกลมกลืนไปกับเรื่องราว เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน ในส่วนของเนื้อหาจะปรากฏทรรศนะของผู้เขียนอยู่ทุกเรื่อง เนื่องจากวรรณคดีทุกเรื่องจะเปรียบดังตัวแทนของผู้เขียน ผู้เขียนจะแทรกเรื่องราวหรือทรรศนะของตนเองในเรื่องอยู่เสมอ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตจะไม่พบส่วนนี้ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในส่วนเนื้อหา ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน           2. ภาษาที่ใช้ ภาษาคือเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือเนื้อหาข้างต้น ดังนั้นการใช้ภาษาจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ผู้เขียนจะรังสรรค์ถ้อยคำ เรียบเรียงภาษา เพื่อให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานวรรณคดี

1.ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” หรือ “วรรณกรรม”           นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” ไว้ ดังนี้           พระยาอนุมานราชธน (2518 , น. 8 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า วรรณคดีคือความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม           รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ( 2523 , น. 4 ) กล่าวว่า “วรรณคดีมาจากคำว่า วรรณหรือ บรรณ ซึ่งแปลว่า ใบไม้หรือหนังสือ กับคำว่า คติ แปลว่า ทาง วรรณคดีจึงแปลตามรูปศัพท์ว่าแนวทางของการแต่งหนังสือ”           ศรีวิไล ดอกจันทร์ (2529 , น. 3 ) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ว่า หมายถึง หนังสือที่เรียบเรียงด้วยถ้อยคำเกลี้ยงเกลาไพเราะ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งยังเป็นหนังสือที่สอดแทรกคุณค่าต่าง ๆ และสารัตถประโยชน์ไว้อีกด้วย           พระวรเวทย์พิสิฐ (2534, น. 4) ให้ความหมายของคำว่า “วรรณคดี” ไว้ว่า วรรณคดีคือหนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะพริ้ง มีรสปลุกมโนคติ ให้เพลิดเพลิน กระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง